ก่อนถึงวันพิพากษา คดี ” 1 คนอยากเลือกตั้ง” ไม่ไปฝากขัง: ตำรวจอ้างจำเลยจะออกไปชุมนุม

 

อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์

แม้ว่าเสียงกลองแห่งการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า (พ.ศ.2562) จะดังขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว แต่การดำเนินคดีของกลุ่มผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งได้จัดการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งตลอดต้นปีที่ผ่านมา กลับร้อนแรงเข้ามาทุกที ๆ

คดีต่อไปนี้เป็นคดีที่นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ หนึ่งในจำเลยคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ร่วมชุมนุมหน้ากองบัญชากองทัพบก (Army57) จะปฏิเสธไม่ไปศาล การตัดสินใจครั้งนั้นนำมาสู่การถูกออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 61 ซึ่งศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 พ.ย. ที่จะถึงนี้

วันที่ 24 ต.ค. 61 ที่ศาลแขวงดุสิต เป็นนัดสืบพยานคดีที่อัยการพิเศษศาลแขวงกรุงเทพ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ หนึ่งในจำเลยคดีคนอยากเลือกตั้งที่ชุมนุมบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ในวันที่ 24 มี.ค. 61 หรือคดี “Army57” ในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 เนื่องจากผู้ต้องหาไม่เดินทางไปศาลตามคำสั่งพนักงานสอบสวน

สำหรับการสืบพยาน มีทั้งการสืบพยานในประเด็นข้อเท็จจริงและประเด็นทางข้อกฎหมายที่สำคัญได้แก่

1.ข้อต่อสู้ถึงอำนาจของพนักงานสอบสวนสั่งให้จำเลยมาศาล และ

2.ข้อต่อสู้ถึงเหตุแห่งการขัดขางการชุมนุมสาธารณะของประชาชน

และอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินคดีผู้ใช้สิทธิชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งถูกดำเนินคดีไปแล้วกว่า 130 คน

การออกหมายขัง แต่ไม่แจ้งเหตุ

ศาลเริ่มกระบวนการสืบพยานโจทก์ปากแรก คือ ร.ต.ท.สหพล คำพอง พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลสามเสน พยานเบิกความตอบช่วงโจทก์ถามว่า ขณะเกิดเหตุ (วันที่ 18 เม.ย. 61) พยานมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน โดยพยานได้รับแจ้งสำนวนจาก พ.ต.ท.ประจักษ์ พงษ์ปรีชา รองผู้กำกับการด้านพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ให้ทำการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาต่อนายอภิสิทธิ์ หลังจากทราบว่าจำเลยกับพวกรวม 41 ซึ่งถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง และนายอภิสิทธิ์ไม่เดินทางไปศาลแขวงดุสิต ตามคำสั่งการส่งตัวเพื่อขอฝากขังต่อศาลในคดีชุมนุมทางการเมืองหน้ากองบัญชาการทหารบก (การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค.61) (อ่านเรื่องนี้ได้ใน: ชุมนุมหน้ากองทัพบกทวงเลือกตั้ง-เรียกร้องทหารกลับเข้ากรมกอง)

พยานได้เบิกความว่า วันที่ 18 เม.ย. พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายอภิสิทธิ์ในความผิดฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป และมีคำสั่งให้จำเลยเดินทางมาศาลแขวงดุสิต เพื่อดำเนินการขอฝากขังในเวลา 14.00 น. โดยมีผู้ต้องหาทั้งหมด 41 คนที่ถูกสั่งให้มาศาลตาม
คำสั่งของพนักงานสอบสวน แต่พบว่าผู้ต้องหาเดินทางมาศาลเพียง 40 คน เจ้าพนักงานรอจนกระทั่งศาลได้ปิดทำการแต่ก็พบว่า มีหนึ่งในผู้ต้องหาไม่มาศาลคือนายอภิสิทธิ์ที่เป็นจำเลยในคดีนี้

หลังจากนั้นจึงได้มีการลงบันทึกประจำวัน และออกหมายจับนายอภิสิทธิ์ในวันที่ 20 เม.ย. ต่อมา ให้ผู้ต้องหาได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวน และพยานได้เรียก พ.ต.ท.ประจักษ์ พงษ์ปรีชา หัวหน้าพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีชุมนุมหน้ากองบัญชาการกองทัพบกมาสอบคำให้การ

ต่อมาวันที่ 21 พ.ค. ผู้ต้องหาได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ที่สน.สามเสน โดยนายอภิสิทธิ์ได้ให้การปฏิเสธพร้อมยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร และพนักงานสอบสวนสน.สามเสน ได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการ อัยการศาลแขวงจึงมีคำสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานโดยไม่มีข้อแก้ตัวที่สมควร

ทนายความจำเลยได้ถามค้านการที่จะสั่งให้จำเลยเดินทางไปศาลตามมาตรา 134 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อขอศาลออกหมายขังตามมาตรา 71 จะต้องเป็นการอิงกฎหมายตามมาตรา 66 เข้าประกอบด้วย พยานทราบเรื่องนี้หรือไม่ เนื่องจากเหตุที่จะออกหมายขังได้จะต้องเป็นกรณีที่มีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันสมควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น พยานตอบว่าทราบ

ประเด็นถัดมา พยานรับว่าในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาต่อจำเลยที่สั่งให้จำเลยเดินทางไปศาลเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ไม่พบข้อความแจ้งเหตุแห่งการฝากขังและเหตุผล รวมถึงข้อเท็จจริงในการสั่ง อีกทั้งถ้าหากจำเลยไม่ไปศาล เจ้าพนักงานมีอำนาจจับกุมตัวได้ ไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินคดี ตาม วิ.อาญา มาตรา 134 วรรค 5 (อ่านเรื่องนี้ใน: ‘หนุ่ย อภิสิทธิ์’ ให้การเพิ่มคดีไม่ไปศาล ยืนยันว่าตร.ขอศาลให้ขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย)

ในประเด็นเดียวกัน ทนายความจำเลยให้พยานดูบันทึกการแจ้งกล่าวหาและรับมอบตัวผู้ต้องหาวันที่ 18 เม.ย. 61 เบิกความว่าในบันทึกนี้ ไม่ได้ระบุเหตุที่จะออกหมายขังไว้ในเอกสาร ขณะเดียวกันในคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขัง พยานเบิกความว่าไม่เคยเห็นเอกสาร ซึ่งระบุเหตุที่ยังไม่สามารถจะฟ้องได้ว่า จะต้องสอบสวนพยานอีก 20 ปาก รอผลการตรวจลายนิ้วมือ ผลตรวจคอมพิวเตอร์ และผลพิมพ์มือผู้ต้องหา

ดังนั้นเหตุที่อ้างเพื่อขอฝากขัง จึงไม่ใช่เหตุตามมาตรา 66 แต่เป็นเหตุขอผัดฟ้องเท่านั้น

 

ภาพการชุมนุมของกลุ่มอยากเลือกตั้งกองบัญชาการกองทัพบก (24 มี.ค.61)

ทราบว่าผู้ต้องหาจะชุมนุมอีก จึงใช้ดุลพินิจขออำนาจศาล 

สำหรับพยานฝ่ายโจทก์ คนต่อมาขึ้นเบิกความคือ พ.ต.ท.ประจักษ์ พงษ์ปรีชา รองผู้กำกับการสอบสวน สน.ชนะสงคราม ซึ่งร่วมสอบสวนคดีคนอยากเลือกตั้งชุมนุมหน้ากองบัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. พยานเบิกความว่าเนื่องจากคดีนี้มีผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นกองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงได้มีการสั่งการให้มีการตั้งคณะพนักงานสอบสวนขึ้นมา เพื่อสอบคำให้การผู้ต้องหาทั้งหมด 41 คน โดยใช้สถานที่ สน.นางเลิ้งเป็นสถานที่สอบคำให้การ และไม่ทราบว่าจำเลยแจ้งต่อพนักงานสอบสวนคนหรือไม่ว่าจะไม่มาศาล

ทั้งนี้พยานเบิกความว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจในการสั่งให้จำเลยเดินทางไปศาลเพื่อขอฝากขัง ซึ่งเป็นดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน เพราะเกรงว่าจำเลยจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น อีกทั้งจำเลยมีแนวโน้มจะออกไปชุมนุมครั้งต่อไปอีก จึงใช้ดุลยพินิจไปขออำนาจศาล ออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ก่อน

ไม่ทราบว่าการชุมนุม อยู่ในความสนใจของคสช. 

ทนายความได้ถาม พ.ต.ท.ประจักษ์ พงษ์ปรีชา ในประเด็นที่น่าสนใจคือ บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาฉบับลงวันที่ 18 เม.ย. 61 ที่สั่งให้จำเลยเดินทางไปศาลแขวงดุสิตเพื่อขอฝากขัง ไม่ได้แจ้งเหตุผลและข้อเท็จจริงไว้ให้จำเลยทราบในเอกสารดังกล่าว

นอกจากนั้นทนายความจำเลยได้ถามพยานว่า คดีที่ผู้ต้องหาเข้าร่วมชุมนุม เป็นคดีที่ คสช.ให้ความสนใจหรือไม่ จำเลยเบิกความว่าไม่ทราบ แต่ผู้แจ้งความคือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของคสช. เมื่อพยานได้รับแจ้งความแล้วกองบังคับการตำรวจนครบาล จึงได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อประชุม และเตรียมความพร้อมในการแจ้งข้อกล่าวหา โดยมีการจัดทำแบบฟอร์มการแจ้งข้อกล่าวหาให้แก่คณะทำงานไว้สอบปากคำ

ประเด็นถัดมา พยานเบิกความว่า โดยหลักการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกติกาสากลระหว่างประเทศ จึงสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เหตุที่ต้องนำผู้ต้องหามาฝากขัง เนื่องจากเห็นว่าผู้ชุมนุมประกาศนัดหมายชุมนุมอีกซึ่งดุลพินิจนี้ไม่ใช่ของผู้บังคับบัญชาแต่เป็นดุลพินิจของพยาน โดยการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นหมายถึง การชุมนุมในวันที่ 19 พ.ค. 61 ซึ่งมีการแจ้งถึงเรื่องชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะไว้

จำเลยเบิกความในฐานะพยานในคดีตนเอง

เวลา 13.30 น. จำเลยขึ้นเบิกความในฐานะพยาน โดยตอบคำถามของอัยการฝ่ายโจทก์ถึงเหตุที่ไม่ไปรายงานตัวต่อศาลตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนใน 2 ประเด็น คือ

1.เนื่องจากคดีการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งก่อนหน้านี้ พนักงานสอบไม่ได้มีการส่งตัวจำเลยไปขอฝากขังต่อศาลแต่อย่างใด

2.เนื่องจากคดีนี้จำเลยเห็นว่าเป็นคดีทางการเมือง การส่งตัวไปขอฝากขัง โดยคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นสิ่งที่สร้างภาระให้กับประชาชน และสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนที่ต้องการออกมาเรียกร้องการเลือกตั้ง

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการสืบพยานจำเลย ศาลได้มีการอ่านกระบวนการพิจารณาและคำเบิกความของพยานจำเลย ก่อนจะมีคำสั่งให้คู่ความมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 พ.ย.61 เวลา 9.00 น. ที่ศาลแขวงดุสิต

X