จับตา 3 พ.ค. นี้: เริ่มสืบพยาน ‘พันเอกบุรินทร์’ ปากแรกในชุดคดีคนอยากเลือกตั้ง

ทันทีที่ประชาชนราว 500 คนชุมนุม กันที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 61 พวกเขาประกาศข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบเลิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเร่งจัดการเลือกตั้งตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ โดยให้มีการตั้งรัฐบาลรักษาการทำหน้าที่เปลี่ยนผ่านประเทศสู่ประชาธิปไตย ดูเหมือนสิ่งที่ได้รับมานับจากนั้น เป็นการเพิ่มจำนวนหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหามากกว่าการสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของพวกเขา

การเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้ง ในนาม “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ปรากฏขึ้นหลายพื้นที่ตลอด 5 เดือนแรกของปี 2561 ได้แก่ 1.การชุมนุมบริเวณลานสกายวอร์คหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง (MBK39) เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 61 2. การชุมนุมเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 61 ที่ชายหาดหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัลพัทยาบีช เมืองพัทยาจังหวัดชลบุรี (PTY12) 3. การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 61 หรือ (RDN50) 4. การชุมนุม “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ 14 ก.พ.61 ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU06) 5. การเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพบกเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 61 (Army57) และ 6. การชุมนุมในวาระครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร 2557 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และบริเวณหน้าที่ทำการสหประชาชาติ (UN62)

หมายเหตุ– มีเพียงเดือนเมษายน 2561 ที่ไม่มีการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง แต่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งต้องประสบกับการคุกคามถึงบ้านหรือที่สื่อมักเรียกว่า “เยี่ยมบ้าน” ที่ คสช.มักนำมาใช้อย่างสม่ำเสมอ (อ่านเรื่องนี้ใน: ปฏิบัติการเยี่ยมบ้านคนอยากเลือกตั้ง เพิ่มอุณหภูมิแล้งร้อนให้ประเทศไทย)

หลายคดีนี้เดินทางมาถึงนัดตรวจพยานหลักฐานและสืบพยานคดีแล้ว ขณะบางคดีก็ถูกจำหน่ายไป โดยหนึ่งในคดีความที่ยังคงดำเนินกระบวนการอยู่คือกรณี คนอยากเลือกตั้งเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 61 (Army57) ในส่วนของผู้ชุมนุม ซึ่งจะเป็นการสืบพยานปากแรก ที่ศาลแขวงดุสิต เวลา 9.00 น. วันที่ 3 พ.ค.นี้

ภาพคนอยากเลือกตั้งเดินเท้าไปยังกองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 61

ลำดับเหตุการณ์คดีและความเป็นมา “Army57″

คดีนี้เกิดขึ้นหลังจากประชาชนที่รอคอยการเลือกตั้งตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.2557 มีความไม่พอใจที่รัฐบาลทหารประกาศว่าจะให้มีเลือกตั้ง แต่กลับเลื่อนเวลาออกไปหลายครั้ง ทำให้ประชาชนเหล่านี้ออกมารวมตัวในนาม “คนอยากเลือกตั้ง” ชุมนุมกันเรียกร้องให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนภายในปี 2561 และเรียกร้องให้ คสช. หยุดสืบทอดอำนาจทางการเมือง

วันที่ 24 มี.ค. 61 คนอยากเลือกตั้งชุมนุมที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และเดินเท้าไปแสดงเจตจำนงที่กองบัญชาการกองทัพบก ก่อนจะถูกแจ้งความดำเนินคดีในภายหลัง โดยมีผู้ถูกแจ้งความดำเนินคดีแบ่งเป็นแกนนำ 10 คน และผู้ชุมนุมอีก 47 คน ในข้อหาร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ว่าด้วยการชุมนุมทางการเมือง

การชุมนุมครั้งนั้นเปิดฉากขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 2561 ในชื่อกิจกรรมว่า “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง” เดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มุ่งสู่กองบัญชาการกองทัพบก

เวลา 13.10 น. ประชาไทรายงานว่า ตำรวจเตรียมกำลังบริเวณสนามหลวงและรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการตรวจวัตถุระเบิดบริเวณ ถ.ราชดำเนิน เนื่องจากมีนัดรวมตัวคนอยากเลือกตั้ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเดินหน้าสู่กองบัญชาการกองทัพบก

17.45 น. ขณะที่ผู้ชุมนุมประมาณ 300 คนเริ่มเดินเท้าออกจาก ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปยังกองทัพบกมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 150 นาย ตั้งแถวกั้นตลอดเส้นทางการเดินทาง 18.20 น. ตำรวจตั้งแถวกั้นผู้ร่วมกิจกรรมรวมพลคนอยากเลือกตั้งที่เดินอยู่บนผิวถนนช่องซ้ายสุดของ ถ.ราชดำเนิน บริเวณใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้กลับขึ้นไปบนทางเท้า ขณะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยล้อมรั้วเหล็กและตรึงกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจแน่นหนา

19.00 น. ตำรวจตั้งแผงเหล็กกั้นบริเวณ ถ.ราชดำเนินนอก เพื่อไม่ให้ผู้ร่วมกิจกรรมรวมพลคนอยากเลือกตั้งเดินเข้าไปถึงบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก แต่ผู้ชุมนุมก็ผลักดันจนเข้าไปถึงบริเวณรั้วด้านข้างได้

19.25 น. กลุ่มคนอยากเลือกตั้งปักหลักอยู่ด้านข้างกองบัญชาการกองทัพบก ก่อนจะพับจรวดกระดาษเพื่อปาเข้าไปภายในกองบัญชาการกองทัพบก ด้านตำรวจประกาศให้ยุติกิจกรรมภายใน 19.45 น.

19.45 น. ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งยุติการชุมนุม เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ห้ามผู้ชุมนุมอยู่บนผิวการจราจร ห้ามใช้เครื่องขยายเสียง และห้ามเคลื่อนขบวนการชุมนุมหลัง 18.00 น. แต่ผู้ชุมนุมเจรจาขอทำกิจกรรมให้จบ

20.20 น. ขณะที่มีการเจรจาเพื่อขอขยายเวลาชุมนุมจนถึง 21.00 น. ผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าไปมอบดอกกุหลาบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุมเวลา 20.40 น. พร้อมนัดหมายมาชุมนุมอีกครั้งวันที่ 5 พ.ค. 2561

จนกระทั่งวันที่ 1 เม.ย. 61 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า วันที่ 30 มีนาคม 2561 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมายส่วนงานการรักษาความสงบแห่งชาติ เดินทางเข้าพบ พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม เพื่อร้องทุกกล่าวโทษ ประชาชนจำนวน 57 คน โดยแบ่งเป็นแกนนำ 10 คน และผู้เข้าร่วมชุมนุมที่เหลืออีก 47 คนในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/58 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติลงวันที่ 1 เมษายน 2558 ข้อ 12 ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายนั้น

โจทก์อ้างสืบพยาน 43 ปาก ด้านจำเลยอ้างสืบพยาน 59 ปาก

18 เม.ย. 61 ได้มีการสอบปากคำ โดยจำเลยให้การปฏิเสธทั้งหมด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ยื่นคำร้องฝากขังต่อจำเลย 42 ที่เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันนั้น ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งไม่อนุญาตฝากขังในวันดังกล่าว ก่อนที่อัยการศาลแขวงดุสิตมีความเห็นสั่งฟ้องในเวลาต่อมา

เมื่อถึงขั้นตอนการตรวจพยานและหลักฐาน โจทก์แถลงว่าประสงค์สืบพยานบุคคล 43 ปาก ในส่วนของพยานเอกสาร ซึ่งเป็นบันทึกการสอบสวน ถ้อยความจากการถอดเทปคำปราศรัยโจทก์ยังนำส่งให้ทนายความฝ่ายจำเลยไม่ครบถ้วน เนื่องจากว่าการสอบสวนหาข่าวเป็นความลับทางราชการ โดยขอส่งเอกสารดังกล่าวระหว่างการสืบพยาน

ทางด้านทนายความจำเลย ได้แถลงคัดค้านเนื่องจากเอกสารที่โจทก์อ้างถึงว่าเป็นความลับทางราชการนั้น เป็นพยานหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ จึงไม่เป็นความลับ และการที่โจทก์อ้างส่งเอกสารในวันสืบพยาน จะทำให้เอกสารที่มีเป็นจำนวนมากย่อมทำให้ฝ่ายจำเลย ตรวจสอบเอกสารไม่ทัน เช่น เอกสารถอดเทปคำปราศรัย ซึ่งอาจจะไม่ตรงกัน จึงขอให้โจทก์ส่งเอกสารดังกล่าวให้ฝ่ายจำเลยได้ตรวจสอบก่อนขึ้นสืบพยาน ในประเด็นนี้ศาลให้รอวินิจฉัยพร้อมกับคำพิพากษา

ต่อมาทนายความจำเลยได้แถลงบัญชีพยานและหลักฐาน โดยระบุใช้พยานจำนวน 59 ปาก ใช้เวลาในการสืบพยาน 8 นัดเช่นเดียวกับฝ่ายโจทก์ ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์รวมทั้งหมด 16 นัด โดยเบื้องต้นคู่ความสามารถนัดสืบพยานโจทก์ได้เพียง 2 นัดก่อน คือวันที่ 3 และ 30 พ.ค. 62 โดยจะเป็นการพิจารณาลับหลังจำเลย ซึ่งทำให้จำเลยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาศาลเพื่อฟังการพิจารณาด้วยตนเองได้

 

อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ 1 ในจำเลยคดี Army57 ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานอีกคดี

กว่าจะมาถึงการสืบพยานปากแรกของคดี   

ในวันที่ 3 พ.ค. 62 จะเป็นนัดสืบพยานปากแรกของฝ่ายโจทก์ คือ พันเอกบุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนที่ร่วมชุมนุมในวันดังกล่าว จนกระทั่งอัยการศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งฟ้องผู้ชุมนุมในฐานความผิดร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่รับอนุญาตจากคสช., ร่วมกันชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนในที่สาธารณะ, เดินขบวนเคลื่อนบ้ายการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม, ไม่เลิกการชุมนุมตามระยะเวลาที่แจ้งไว้และเดินขบวนในลักษณะกีดขวางจราจร

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 20 พ.ย. 61 ศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดี Army57 คือคดีฝ่าฝืนคำสั่งฝากขังเจ้าพนักงาน ของนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์หนึ่งในจำเลยคดี Army57 ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จำนวน 41 คน ที่สน.นางเลิ้งเมื่อวันที่ 18 เม.ย.61 และพนักงานสอบสวนมีคำสั่งให้ผู้ต้องหาทั้ง 41 คน เดินทางไปศาลแขวงเพื่อทำการฝากขัง แต่นายอภิสิทธิ์ไม่ไปตามคำสั่งของพนักงานสอบสวน

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้มีการลงบันทึกประจำวัน และออกหมายจับนายอภิสิทธิ์ในวันที่ 20 เม.ย. จนกระทั่งวันที่ 21 พ.ค. นายอภิสิทธิ์เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา ที่ สน.สามเสน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน โจทก์นำพยานตำรวจ 2 นาย ที่รับผิดชอบคดีขึ้นเบิกความ โดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากวินิจฉัยว่า ในการดำเนินการกับผู้ต้องหา เจ้าพนักงานมีวิธีการเฉพาะอยู่แล้ว ซึ่งกำหนดให้เป็นโทษต่อจำเลย จึงไม่ได้อยู่ในความมุ่งหมายตามข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด (อ่านเรื่องนี้ใน: ยกฟ้อง ‘อภิสิทธิ์’ ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานในคดีชุมนุมหน้ากองทัพบก)

กรณีนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินคนอยากเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินคดีกับผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง โดยมีการใช้หลักฐานภาพถ่ายและติดตามผู้ชุมนุม ออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา จนกระทั่งมีการส่งฝากขังผู้ชุมนุมที่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในคดีเกี่ยวกับการชุมนุม

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 ในกิจกรรม “รวมตัวกัน รวมพลคนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ฟังคำพิพากษายุติคดี “RDN50″ ในส่วนผู้ชุมนุม

นอกจากนี้ในวันที่ 3 พ.ค. 62 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับการสืบพยานปากแรกของคดี Army57 ศาลยังได้นัดฟังคำพิพากษายุติคดีการชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 61 หรือ (RDN50) ในส่วนของผู้ชุมนุมด้วยซึ่งจนถึง ณ ขณะนี้ คดี RDN50 และ Army57 (ส่วนของผู้ชุมนุม) ที่ อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งศาลในสองประเด็น คือ หนึ่ง ทนายความยื่นคำร้องขอให้ศาลแขวงวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมาย ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ข้อ 12 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วด้วยการตรา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยหากศาลเห็นว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกและใช้แทนคำสั่งที่ 3/58 ข้อ 12 แล้ว คำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 จะไม่ถูกนำมาพิจารณาในคดีนี้

และสอง เป็นการยื่นคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 โดยระหว่างนี้ศาลจะนำคำร้องของทนายความจำเลยไปพิจารณา ล่าสุดศาลแขวงดุสิตได้เลื่อนฟังคำสั่งไปวันที่ 20 พฤศจิกายน

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 12 ก.พ. 62 ศาลได้แจ้งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งจำหน่ายคดีเรื่องที่ศาลแขวงดุสิตได้ส่งคำร้องของทนายความจำเลย 4 คน ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

นัดฟังคำพิพากษานี้เป็นผลมาจากทนายความจำเลย 13 คน ได้ยื่นให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเนื่องจากขณะนี้ได้มีคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ 22/2561 ซึ่งให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ว่าด้วยการชุมนุมทางการเมือง โดยกรณีนี้โจทก์แถลงว่าเป็นจริงตามที่ทนายจำเลยได้แถลงไป ศาลจึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลย และให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 3 พ.ค. 62 เวลา 9.00 น. วันเดียวกับที่มีการสืบพยานปากแรกของคดี Army57

ความคืบหน้ากลุ่มคดีคนอยากเลือกตั้งคดีอื่น ๆ ได้แก่ คดี MBK39 กลุ่มผู้ชุมนุมยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นอัยการ ส่วนคดี UN 62 และคดี PTY 12 นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล มีเพียงคดี CMU06 เท่านั้นที่ศาลแขวงเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจึงยังต้องเดินหน้าต่อสู่ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป แม้วันนี้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

X