25 ต.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ต้น” (สงวนชื่อสกุล) ฟรีแลนซ์และรับงานด้านกราฟฟิกดีไซน์ วัย 27 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีชูป้ายข้อความในกิจกรรมคาร์ม็อบ #มินิด่วนนครพิงค์เชียงใหม่ไล่ประยุทธ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564
คดีนี้มี พ.ต.ท.มนัสชัย อินเถื่อน อดีตรองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ กับพวก เป็นผู้กล่าวหาว่า ต้นได้ร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบดังกล่าว และได้ชูป้ายกระดาษกล่องสีน้ำตาล เขียนข้อความโดยปากกาเมจิก ออกมาจากในรถยนต์ ผู้กล่าวหาระบุว่าข้อความในป้ายเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ฯ จึงเข้าเรียกให้รถคันดังกล่าวหยุดและแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมขอตรวจยึดป้ายดังกล่าวไว้ แต่ยังไม่ได้มีการควบคุมตัว
ต่อมา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้ออกหมายเรียกต้นให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 โดยเขาให้การปฏิเสธ และจากนั้นอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2565 โดยกล่าวหาว่าข้อความในป้ายทำให้พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง
จากนั้นก่อนเริ่มการสืบพยานในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2566 ต้นได้ตัดสินใจกลับคำให้การ เป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลได้สั่งให้มีการสืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลยเพิ่มเติม เพื่อประกอบคำพิพากษา โดยได้มีนัดฟังผลการสืบเสาะไปเมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในที่สุด
.
วันนี้ ต้นและทนายความเดินทางมาศาล โดยมีประชาชนหนึ่งรายที่ทราบข่าวมาติดตามให้กำลังใจ ศาลนั่งพิจารณาเวลาประมาณ 9.25 น. ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลรอฟังผลด้วย
ศาลได้อ่านเฉพาะส่วนการพิจารณาโทษของจำเลย เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน พิจารณาจากรายงานการสืบเสาะและคำแถลงประกอบคำรับสารภาพ เห็นว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ และเห็นว่าจำเลยสำนึกในการกระทำ เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้ริบของกลาง (ป้ายข้อความ)
.
หลังฟังคำพิพากษา ต้นเปิดเผยว่ารู้สึกโล่งขึ้น หลังจากถูกดำเนินคดีมากว่า 2 ปี แม้ยังต้องรอว่าอัยการจะอุทธรณ์อีกหรือไม่ แต่ก็หวังว่าคดีจะสิ้นสุด ไม่ต้องลางานมาตรงนี้บ่อย ๆ
ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2563-64 เขาไปร่วมชุมนุมทางการเมืองไม่กี่ครั้ง โดยเคยไปที่ประตูท่าแพ และมาร่วมคาร์ม็อบในครั้งนี้ แต่ก็ทำให้ถูกดำเนินคดี ในตอนแรก เขาคิดว่าจะต่อสู้คดีได้ แต่เมื่อคดีใช้เวลาค่อนข้างนาน และไม่อยากจะยืดเยื้อต่อไป เนื่องจากเขามีภาระในการงานอยู่ ทำให้เขาต้องตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การ
การถูกดำเนินคดี ต้นระบุว่าทำให้เขาได้รับผลกระทบในด้านการเสียโอกาสการทำงาน โดยระหว่างถูกดำเนินคดีนี้ เขาเคยไปทำงานที่กรุงเทพฯ อยู่ช่วงหนึ่ง แต่เมื่อต้องเดินทางกลับมาต่อสู้คดีบ่อยครั้ง ทำให้มีภาระค่าใช้จ่าย สุดท้าย เขาก็ตัดสินใจกลับมาอยู่ที่เชียงใหม่ดีกว่า นอกจากนั้น ยังมีช่วงที่เพื่อนของเขาชวนไปทำงานที่ต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้ไป เนื่องจากเขาเห็นว่ายังมีภาระทางคดีอยู่ ทำให้หากต้องบินกลับไปมา จะมีค่าใช้จ่ายสูง
นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบด้านจิตใจ เนื่องจากความกังวลต่อคดีที่เกิดขึ้น ในช่วงแรก ๆ ไม่รู้ว่าคดีมันจะเป็นไปอย่างไร และจะส่งผลยังไงบ้าง แต่ดีว่าครอบครัวและคนใกล้ชิดมีความเข้าใจว่าเป็นเรื่องการแสดงออกทางการเมือง และให้กำลังใจเขา
ก่อนหน้านี้ ศาลจังหวัดเชียงใหม่เคยพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 ลักษณะเดียวกัน ของสองนักศึกษา “เกด” และ “ยุ้ย” ซึ่งถูกกล่าวหาจากการชูป้ายในกิจกรรมคาร์ม็อบ #ด่วนนครพิงค์เจียงใหม่ไล่ขึดประยุทธ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ก่อนหน้าคดีของต้นด้วย
.