ศาลเชียงใหม่ยกฟ้องคดี “รามิล” แสดงศิลปะเคลื่อนไหวร่างกายบนป้าย มช. ชี้พยานโจทก์สืบไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตาม ม.112 

วันที่ 8 พ.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ “รามิล” นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม artn’t ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีแสดง Performance art หรือ ศิลปะการแสดงสด ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 โดยเขาถูกกล่าวหาว่าเคลื่อนไหวท่าทางต่างๆ เช่น ท่าครุฑ และนอนหงายพร้อมใช้เท้าชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10

คดีนี้มี พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง ตำรวจฝ่ายสืบสวนของสถานีตำรวจภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นผู้กล่าวหา ข้อต่อสู้สำคัญในคดีนี้ของจำเลยได้แก่ กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง อีกทั้งบริเวณที่เกิดเหตุหน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่ซึ่งมีการจัดกิจกรรมเรียกร้องทางการเมืองอยู่เป็นประจำ จำเลยไม่ได้มีเจตนากระทำการตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด รวมทั้งการดูศิลปะการแสดงสดต้องดูตลอดทั้งการแสดง ไม่ใช่การตัดเฉพาะภาพถ่ายเพียงภาพเดียวมากล่าวหาและพิจารณาเจตนาของจำเลย

ย้อนอ่านการต่อสู้คดี >> เมื่อ Performance Art ขึ้นสู่ศาล: ประมวลการต่อสู้คดี ม.112 “รามิล” เหตุราดสี-แสดงศิลปะเคลื่อนไหวร่างกายบนป้าย มช.

.

เวลาประมาณ 9.15 น. จำเลยพร้อมด้วยทนายความได้เข้าฟังคำพิพากษา โดยมีเพื่อนของจำเลยที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มศิลปิน และอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมกว่า 20 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษา แต่เนื่องจากห้องพิจารณามีขนาดเล็กจึงมีเพียงบางส่วนได้เข้าฟังคำพิพากษาพร้อมจำเลยและทนายความ ส่วนที่เหลือรอฟังผลคำพิพากษาอยู่ด้านนอกห้อง นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ศาลยังให้คดีอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฟังคำพิพากษารออยู่นอกห้องพิจารณาก่อนด้วย 

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีที่อ่านคำพิพากษาในวันนี้ ได้แก่ ณิชนารา ลิ่มสุวรรณ ก่อนเริ่มการอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งว่าจะอ่านในส่วนการพิเคราะห์ของศาลเลยโดยไม่อ่านทวนรายละเอียดการต่อสู้ของโจทก์และจำเลย 

คำพิพากษาโดยสรุประบุว่า ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยในคดี ได้ข้อเท็จจริงโดยยุติว่าจำเลยได้กระทำการแสดงท่าทางและทำการราดสีตนเองบริเวณป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทราบการจัดกิจกรรมเข้าติดตามสังเกตการณ์มีการถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นหลักฐาน พยานโจทก์ยืนยันว่าการที่จำเลยกระทำการดังกล่าวย่อมเล็งเห็นว่าน้ำสีแดงของจำเลยจะถูกพระบรมฉายาลักษณ์และข้อความ “ทรงพระเจริญ” ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว 

อีกทั้งฝ่ายโจทก์ยังได้นำสืบว่าจำเลยเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่จัดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่มาโดยตลอด อาทิ การชุมนุมบริเวณสนามรักบี้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีการนำธงชาติมาถือแสดง และการชุมนุมบริเวณประตูท่าแพ เป็นต้น จากกิจกรรมดังกล่าวฝ่ายโจทก์เห็นว่าจำเลย มีพฤติการณ์ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งยังมีพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่และ นักวิชาการด้านกฎหมายที่เข้ามาให้ความเห็นต่อการกระทำของจำเลย 

ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ไม่มีปากใดที่ชี้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการอาฆาตมาดร้าย ส่วนการหมิ่นประมาทนั้นจะต้องมีการใส่ความด้วยการชี้ยืนยันข้อเท็จจริงบางประการ ส่วนการดูหมิ่นก็ต้องระบุตัวบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร 

พยานหลักฐานโจทก์จึงยังชี้ไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท อีกทั้งการแสดงของจำเลยไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล ประกอบกับป้ายหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่ชุมนุมอยู่เป็นประจำ การแสดงกิจกรรมดังกล่าวก็เรียกร้องเรื่องสิทธิการประกันตัว 

เมื่อไม่มีพยานโจทก์ที่เบิกความยืนยันว่าจำเลยจงใจกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์และข้อความ “ทรงพระเจริญ” ส่วนการเข้าร่วมการชุมนุมของจำเลยก็ไม่ใช่เครื่องยืนยันการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ อีกทั้งพยานโจทก์ได้เบิกความถึงคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวซึ่งเป็นพยานหลักฐานในคดี แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการนำส่งเข้ามาในการพิจารณาคดีนี้ จึงทำให้พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัย พิพากษายกฟ้องจำเลย 

.

.

หลังฟังคำพิพากษาแล้ว “รามิล” เปิดเผยความรู้สึกว่า คำพิพากษาวันนี้ก็ออกมาตามเนื้อหาข้อมูลตั้งแต่วันสืบพยาน ที่ทางโจทก์กล่าวหาว่าหมิ่นฯ  จากการไปทำการแสดงที่ป้ายหน้ามหาวิทยาลัย  แต่ก็เป็นพยานโจทก์เองที่สืบไม่ได้ว่าเป็นการหมิ่นฯ ยังไง

“หลังได้ยินว่ายกฟ้อง ก็ยกฟ้องอะครับ คือจริงๆ มีคนถามมาเยอะเหมือนกันว่าคดี 112 ที่โดนจะเป็นยังไง ผมก็สงสัยว่าถามทำไม ถามผมทำไม คือมันเป็นอำนาจหน้าที่ของประชาชนเหรอที่จะสามารถบอกได้ ถามทนาย ทนายก็ไม่รู้ ถามเรา เราก็ไม่รู้ เพราะยังไงชีวิตเราอยู่บนเส้นด้ายของอำนาจศาล ตุลาการ และรัฐนี้อยู่แล้ว เขาจะกำหนดให้เราเป็นยังไง ก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจะถามผมว่ารู้สึกยังไงกับการยกฟ้อง ก็บอกได้ว่ามันไม่ใช่ชะตาชีวิตของเรา” 

ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษาในศาลชั้นต้นแล้ว ยังต้องติดตามการอุทธรณ์คดีของฝ่ายอัยการโจทก์ต่อไป หากไม่มีการอุทธรณ์ คดีจึงจะสิ้นสุดลง

สำหรับ “รามิล” นอกจากคดีนี้แล้ว เขายังถูก ศรีสุวรรณ จรรยา กล่าวหาในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง กรณีแสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงิน โดยคดีนี้สืบพยานเสร็จสิ้นที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 ส.ค. 2566 

.

อ่านเรื่องราวของ “รามิล” เพิ่มเติม

รู้จัก ‘วิธญา คลังนิล’: จากเยาวชนชายแดนใต้ สู่โลกปรัชญา-บทกวี-ศิลปะ และคดีทางการเมือง

.

X