รู้จัก ‘รามิล’: จากเยาวชนชายแดนใต้ สู่โลกปรัชญา-บทกวี-ศิลปะ และคดีทางการเมือง

(เพิ่มเติมข้อมูลวันที่ 18 ม.ค. 2566)

วิธญา คลังนิล หรือ “รามิล” (เปลี่ยนชื่อสกุลเป็นศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์) ในวัย 24 ปี เป็นคนหนุ่มผู้เติบโตมาจากจังหวัดนราธิวาส ชายแดนใต้สุดของประเทศ พื้นที่ซึ่งความรุนแรงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เขายังเป็นนักศึกษาภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้สนใจเนื้อหาทางปรัชญา สุนทรียศาสตร์ การแสวงหาความหมายในชีวิต และเขายังเป็นสมาชิกกลุ่มศิลปะ artn’t (ชาวศิลปะ‘ไม่) กลุ่มศิลปะที่ทำงานท้าทายตั้งคำถามต่อเรื่องราวทางการเมือง รวมทั้งยังเข้าร่วมงานกับกลุ่มลานยิ้มการละคร ซึ่งทำงานละครที่สะท้อนสังคม

เราเริ่มเห็นบทบาทของวิธญา จากการขึ้นอ่านบทกวีในท่วงทำนองแปลกประหลาด จะเป็นการกล่าวปราศรัยก็ไม่ใช่ จะเป็นการแสดงก็ไม่เชิง บนเวทีการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ช่วงปี 2563 ตามมาด้วยการเห็นบทบาทของเขาจากการแสดง Performance Art โดยการใช้ร่างกายแสดงออกทางสัญลักษณ์หลากหลายรูปแบบ ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ รวมทั้งในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาทางการเมืองที่สถานีตำรวจ

ตั้งแต่กลางปี 2563 ที่กระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนนักศึกษาเริ่มต้นขึ้น ในเวลาเพียงปีเศษ วิธญากลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีจากการแสดงออกทางการเมือง ไปแล้ว 9 คดี ทั้งไม่เพียงแต่เป็นคดีจากการเคลื่อนไหวในจังหวัดเชียงใหม่ เขายังเพิ่งถูกกล่าวหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ที่ไกลถึง จ.นราธิวาส บ้านเกิดของเขาเอง นั่นคือคดีเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบนราธิวาสเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2564

ในจำนวนคดีที่เขาถูกกล่าวหา ยังเป็นคดีที่มีข้อหาซึ่งถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ “ความมั่นคง” ถึง 4 คดี ได้แก่ คดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดี จากการแสดงงานศิลปะแถบสีคล้ายธงชาติ แต่ไม่มีสีน้ำเงิน และล่าสุดจากการแสดง Performance Art ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเขาเพิ่งเข้ารับทราบข้อกล่าวหา และคดีที่มีข้อหาตามมาตรา 116 อีก 2 คดี จากการขึ้นเวทีอ่านบทกวีในการชุมนุมที่ประตูท่าแพสองครั้ง เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 และ 9 ส.ค. 2563

ล่าสุด เขากำลัง “แสดงงาน” Performance Art ในชื่อ CALMER ROUGE โดยปักหลักตลอด 24 ชั่วโมง อยู่บริเวณข่วงประตูท่าแพ ไม่ไปไหน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม ถึง 14 ตุลาคม 2564 เป็นเวลารวม 192 ชั่วโมงต่อเนื่องกัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนสนทนากับเขาถึงภูมิหลังและตัวตนบางส่วนเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เขาเติบโตมาอย่างไร พบเห็นอะไรมาบ้าง อะไรเป็นสิ่งที่พัฒนาความสนใจ แรงดลใจ และองค์ประกอบในชีวิต จนกระทั่งกลายมาเป็น “รามิล” นักศึกษา-นักกิจกรรม ผู้ปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านบทกวีและงานศิลปะในปัจจุบัน

.

.

พื้นเพชีวิต: ชายแดนใต้ ศาสนา ความรุนแรง และความอยุติธรรม

เริ่มด้วยชื่อเล่นที่มิตรสหายเรียกกันว่า “รามิล” นั้น เขาบอกว่าเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเอง ไม่ได้เป็นชื่อที่ครอบครัวตั้งให้ เขาได้ยินคำนี้จากที่ไหนสักแห่งตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยม แล้วชอบคำๆ นี้ ก็เลยนำมาตั้งเป็นชื่อเล่นตัวเองใหม่ และเพื่อนๆ ก็เรียกกันมา

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก บ้านเกิดของวิธญาคืออำเภอที่ตั้งของสถานีรถไฟสถานีสุดท้ายทางด้านใต้สุดของประเทศ นั่นคืออำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

“ช่วงเด็กๆ จำความได้ ก็โตในดงงูเห่า มันเป็นสลัมอยู่ในพื้นที่รถไฟ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีโฉนด มีคนเวียนกันไปเวียนกันมา เป็นช่วงที่เป็นเด็กมากๆ 2-3 ขวบ พอเริ่มโตมาหน่อย แม่ก็แต่งงานกับพ่อ คือผมเป็นลูกบุญธรรมแม่ด้วย พอแม่แต่งงานกับพ่อ ‘อาเยาะห์’ ในภาษามลายู แปลว่า พ่อ ทีนี้เขาก็เข้าอิสลามกัน ผมก็ต้องเข้า และย้ายไปอยู่อำเภอสุคิริน ตั้งแต่ประมาณ 4-5 ขวบ จนจบชั้นมัธยมปลายเลย

“ตอนเด็กๆ ก็เป็นมุสลิม แต่ก็มีจุดเปลี่ยนของชีวิต ที่ทำให้เราหันมาไม่นับถือศาสนา เราไม่รู้ว่าจะเป็นมุสลิมต่อไปทำไม คือมันมีเรื่องราวเหตุการณ์ที่พ่อแม่เลิกกัน แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสฟูมฟายแบบนั้นนะ…มันก็เป็นช่วงแก๊ปชีวิต ที่ทำให้เราได้กลับไปถามถึงรายละเอียดของตัวเองหลายๆ อย่าง รวมถึงความศรัทธา มันมีแก๊ปให้เราเริ่มตั้งคำถามว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับเรา สิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออะไร ซึ่งคำถามต่อเรื่องศาสนาก็เป็นหนึ่งในนั้น

“เราค้นพบว่าความศรัทธาของเรามันหายไป เราไม่ได้ศรัทธาต่อพระเจ้าอีกแล้ว ก็เลยไม่ได้มีเหตุผลให้เราจะอยู่อย่างนั้นต่อ เป็นช่วงประมาณมัธยม 4-5”

วิธญาเล่าว่า แม้เขาจะไม่ถึงกับได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดำเนินต่อเนื่องมานับสิบปี แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับ ‘ความหลอกหลอน’ จากความรุนแรงเหล่านั้นเข้าไปอยู่ในสำนึกและความรับรู้ เพราะมันได้ลงไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่เขาเติบโตมา

“มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สุไหงโก-ลก มันมีระเบิด เราก็ขับรถผ่านตรงนั้น จะกลับไปสุคิริน พอไปถึงอำเภอแว้ง แล้วไฟมันกระตุก เราก็คุยกับแม่ว่ามันน่าจะเกิดอะไรขึ้นแหละ สักอย่างหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าที่ไหน แล้วพอกลับดูข่าวที่บ้าน ก็พบว่ามีระเบิดที่สุไหงโก-ลก ซึ่งมันเป็นทางที่เราผ่านมาพอดี มันจะเห็นได้ว่าไม่ว่าเราจะอยู่ส่วนไหนของพื้นที่ เรามีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากมันทั้งหมด  มันสามารถเกิดโดยเราไม่รู้ตัว แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว กลายเป็นซากปรักหักพัง มันก็ยังหลอกหลอนเราอยู่ เพราะเราก็ใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในที่นั้น เราก็ขับรถผ่านที่ต่างๆ”

นอกจากประสบการณ์ที่อาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้ทุกขณะ วิธญายังเรียนรู้ประสบการณ์ของความอยุติธรรมชองรัฐที่หล่อเลี้ยงทำให้สถานการณ์ความรุนแรงยังดำรงอยู่ได้ต่อไป สิ่งเหล่านี้กลายเป็นพื้นฐานที่หล่อหล่อมเขาให้ตระหนักถึงปัญหาการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐต่อพลเมืองในอีกแง่หนึ่ง

“มันให้ความรู้สึกถึงเรื่องความอยุติธรรมมันเกิดขึ้นอยู่ในทุกที่ มีช่องว่างมากมายที่ทำให้ความอยุติธรรมมันเกิดขึ้นได้ อย่างในสามจังหวัดภาคใต้ มันถูกเรียกแบบเข้าใจกันว่าเป็น ‘พื้นที่อนุญาตฆ่า’ ซึ่งมันก็ฆ่ากันจริงๆ มันไม่ใช่เรื่องแค่เรื่องของกลุ่มขบวนการปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ยังปฏิบัติต่อกลุ่มขบวนการ แล้วบางทีมันก็ไปโดนใครก็ไม่รู้ ความหลอกหลอนตรงนี้ มันก็หลอกหลอนเจ้าหน้าที่รัฐด้วย รวมถึงการพาคนไปซ้อมทรมานในค่าย มันกลายเป็นพื้นที่ลี้ลับ เป็นพื้นที่ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ และเป็นพื้นที่ที่กฎอัยการศึกอยู่มาต่อเนื่อง ทหารจะทำอะไรก็สามารถทำได้ที่นั้น

“มันเป็นสองทางแยก ที่ท้าทายเราเหมือนกัน ว่าเราชินชากับความรุนแรงหรือเปล่า เราเห็นมันจนเป็นเรื่องปกติหรือเปล่า กับอีกอย่างหนึ่งคือ เราต้องการมันหรือเปล่า ถ้าเราไม่ต้องการมัน มันก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ความรุนแรง แม้แต่การขับเคลื่อนการต่อสู้ของเรา มันส่งผลไม่ใช่แค่กับตัวเราและคู่กรณี เขามีปืน เรามีปืน แต่ว่าคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีปืนกับเรา ไม่ได้อยากจะใช้ความรุนแรง แต่มันรับผิดชอบร่วมกันหมด

“ชีวิตผมอยู่ในสามจังหวัดฯ เราเห็นความตายมามากพอแล้ว เราไม่ได้อยากจะเห็นมันอีก เวลาที่ผมได้ยินเพื่อนๆ กัน มาบ่นใส่กัน เรื่องขบวนการเคลื่อนไหวตอนนี้ ว่าทำไมยังไม่ตอบโต้กับรัฐกลับไปสักที คือผมไม่รู้นะ เขาจินตนาการออกไหม ว่าถ้าพื้นที่ที่เขาอยู่ตอนนี้ เป็นพื้นที่อนุญาตฆ่าแบบที่บ้านผม เขาจะรับกับมันได้ไหม เราจะตื่นมาตอนเช้าแล้วพบว่ามีความรุนแรงเต็มไปหมดได้ไหม เรายินดีที่จะได้กลิ่นคาวเลือดอยู่ตลอดเวลาเหรอ ขับรถไปในเมือง แล้วพบว่าพื้นที่บางพื้นที่พังทลายลงไป เราไม่เข้าใจว่าจะอยากใช้ความรุนแรงกันไปทำไม”

.

.

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา: การเรียนรู้ที่พาไปไกลกว่าโลกที่ยืนอยู่

แม้เติบโตในพื้นที่เช่นนั้น และเขาบอกตรงไปตรงมาว่าไม่ชอบการเรียนในโรงเรียนมาตั้งแต่ชั้นมัธยม แต่ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้สำคัญของชีวิต วิธญาให้เครดิตอย่างมากกับการได้ไปร่วมกิจกรรมของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจัดโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง มีทั้งค่ายเรียนรู้ในลักษณะใช้เวลาค่อนข้างยาว และกิจกรรมการลงพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ  

“ช่วงปิดเทอม ม.2 ขึ้น ม.3 ได้ไปร่วมค่ายชื่อว่า “รถไฟสายสันติภาพ” เป็นโครงการนั่งรถไฟจากสุไหงโก-ลก ไปถึงสถานีน้ำตก จ.กาญจนบุรี เพื่อจะไปลงพื้นที่ที่คลิตี้ล่าง (หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยจากการทำเหมืองแร่) เขาพาเราไปอยู่ในต่างวัฒนธรรม มีเรื่องราวซึ่งต่างกันกับพื้นที่ของเรา มันทำให้โลกที่เราเห็นในชีวิตของเรา มันไปไกลกว่าโลกที่เราอยู่ มันทำให้เราสนใจประเด็นอื่นๆ มากขึ้น

“แล้วก็มีกิจกรรมเดินเพื่อสานสัมพันธ์ เดินสันติภาพ เพื่อจะปลอบประโลมซึ่งกันและกันของคนที่เจอเหตุการณ์ความรุนแรง คือถึงเราจะไม่ได้โดนโดยตรง แต่เราก็อยู่ในพื้นที่ของความขัดแย้ง มันก็มี trauma (บาดแผล) ผมก็ได้ไปร่วมเดินช่วงสั้นๆ เพราะติดเรียน รด. เดินจากอำเภอเมืองนราธิวาส ไปตากใบ ซึ่งก็เป็นช่วงสุดท้ายแล้ว เขาเดินในทั้งสามจังหวัดเนอะ จากยะลา ไปปัตตานี แล้วมาที่นราธิวาส โดยเรื่องตากใบ มันก็เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของความรุนแรงร่วมสมัยในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้”

“ตอนแรกก็ไม่ได้อินกับอะไรแบบนี้หรอกครับ ชีวิตวัยเด็กก็เห่อหมอย อยากไปนู้นไปนี่ แต่พอได้ไปแล้ว มันก็ซึมซับแหละ พาให้เราได้ออกนอกพื้นที่ ชีวิตผมก็ถือว่ามีโอกาสที่ดี ที่ได้รู้จักสถาบันสิทธิฯ ซึ่งมีทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องสันติวิธี เราก็ได้เรียนรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพด้วย ซึ่งมันไม่ใช่อะไรที่เราไว้บอกกันว่าคือ ‘สันติ’ แต่เป็นกระบวนการปฏิบัติ เป็น practical คือมันต้องทำ และเชื่อมั่นกับมัน อย่างผม ความโกรธแค้นหรือความเกลียดชัง มันเกิดขึ้นไหม มันก็มีแหละ เวลาเราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศแบบนี้ แต่เราจะทำยังไง”

กิจกรรมของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ยังมีส่วนอย่างสำคัญให้วิธญาสนใจประเด็นทางสังคมการเมือง ผ่านการเวิร์คช็อปในกิจกรรมต่างๆ มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะค่ายที่ชื่อ “แตกมัน(ส์) สันติ ริอ่านการเมือง” เป็นค่ายประมาณครึ่งเดือน เขาจำได้ว่ามีการพูดถึงเรื่องอำนาจ เรื่องรัฐ และเรื่องปฏิบัติการไร้ความรุนแรงต่างๆ ในตัวเนื้อหาเวิร์คช็อป และมีการนำผู้เข้าร่วมลงพื้นที่ โดยจำได้ว่าตอนนั้นมีการพาไปลงพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อเรียนรู้เรื่องแรงงานข้ามชาติด้วย

“ตอนนั้นไปสัตหีบมั้งครับ ก็จะมีชุมชนแรงงานข้ามชาติ เราก็ได้ไปพูดคุยกับเขา มันก็เป็นการเมืองแรกๆ ที่เรารู้จักเลยนะ หลังจากนั้น เราก็มีความสนใจมันมากขึ้น แล้วเราก็ได้ทำงานต่อจากนั้น คือเราพูดกันเล่นๆ ว่าพอเรารู้อะไรๆ มากขึ้น มันจะธาตุไฟแตก มันจะแบบ เฮ้ย แบบนี้เหรอ เฮ้ย คือมุมมองต่ออะไรหลายๆ อย่างของเรา มันจะเปลี่ยนไป ไอ้สิ่งที่เราคุ้นชิน มันไม่ใช่ ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น เหมือนธาตุไฟแตก มีปัญหากับทุกอย่างบนโลกนี้เต็มไปหมด (หัวเราะ)”

.

.

สู่รั้วมหาวิทยาลัย: วิชาปรัชญา ความรู้ และคำถามท้าทายชีวิต

หลังชีวิตวัยมัธยมในจังหวัดทางใต้สุดของประเทศ ปี 2559 วิธญาระเหเร่ร่อนขึ้นมาเรียนระดับมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ นั่นคือที่จังหวัดเชียงใหม่ ไกลจากบ้านเกือบ 2,000 กิโลเมตร เขาเล่าเหตุผลที่เลือกเรียนไกลไปจากพื้นที่ที่เติบโตมา ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากหาจินตนาการใหม่ๆ ในการเรียนรู้

“พอเราอยู่ในพื้นที่ไกลแบบนั้น สิ่งที่เราอยากเป็น มันก็เป็นไปได้ยาก เราก็เลยคิดว่าอยากไปเจอที่อื่นบ้าง ตั้งแต่ตอนเราอยู่มัธยม เราก็โหยหาว่าจะไปที่อื่น แล้วเราก็เห็นว่าโลกมันกว้างขวางกว่าที่เราอยู่มากๆ  จริงๆ ผมก็อยากเรียนธรรมศาสตร์ แต่มันไม่ติด อันนี้คือความจริง อยากไปเรียนปรัชญา ที่ธรรมศาสตร์ แต่ไม่ติด เลยได้มา มช.”

วิธญาเลือกและตั้งใจจะเรียนทางด้าน ‘ปรัชญา’ มาตั้งแต่ต้น โดยเขาเล่าว่าตัวเองเริ่มสนใจสาขานี้มาตั้งแต่ช่วง ม.ปลาย ด้วยความรู้สึกแบบเด็กไม่ชอบโรงเรียน ที่ไม่อยากเรียนแบบที่เรียนอยู่ในตอนนั้นแล้ว ประกอบกับการได้อ่านหนังสือจริงจังมากขึ้น และได้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มบ้างจากการอ่านเอาเองในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งกำลังเริ่มเข้ามามีบทบาทในเวลานั้น

“ครั้งหนึ่ง ผมเสิร์ชกูเกิล (หัวเราะ) คือผมเป็นเด็กทุนที่โรงเรียน ก็เลยได้ซื้อคอมพิวเตอร์ มีอินเทอร์เน็ต แล้วโลกมันติดต่อเชื่อมกัน ผมก็จำไม่ได้แล้วว่ามันไปของมันยังไง คือตอนแรกอยากเรียนจิตวิทยา ก็ได้ยินแล้วรู้สึกสนใจ มันไม่ใช่แบบครู ตำรวจ พยาบาล ปลัด มันทำให้รู้สึกสนใจ แล้วพอเราอ่านๆ แล้วก็พบว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ปรัชญา’ อยู่ด้วย มันเชื่อมๆ ต่อกันไปแบบไม่เป็นเหตุเป็นผลเท่าไรนะ

“แล้วจำได้ว่า ‘ปรัชญา’ ในอินเทอร์เน็ตมันขายฝันเรา ไอ้ที่แนะนำว่าปรัชญาคืออะไร มันโคตรจะขายฝันเลย ปรัชญาคือจุดเริ่มต้นของความรู้ทั้งหมด ปรัชญาเป็นแม่ของทุกศาสตร์ ปรัชญาเป็นการพูดถึงความจริง ความรู้ ความดี ความงาม เราก็เลยอยากเรียน

“แล้วผมเริ่มอ่านหนังสือจริงๆ จังๆ ตั้งแต่ชั้น ม.ปลาย ตอนนั้นก็อ่านรีวิวในหนังสือ ที่พูดถึงเรื่องของซาร์ต (ฌอง ปอล ซาร์ต นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส) คือเราก็ไปรีเสิร์ชว่าอะไรเป็นหนังสือปรัชญา สนองความอยากรู้ตัวเอง แต่พอเราไปอ่านซาร์ต อ่านกามูส์ (อัลแบร์ กามูส์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส) ก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลยน่ะ มาเริ่มทำความเข้าใจกับมันได้บ้าง ก็ตอนมาเรียนปรัชญานี่แหละ”

.

.

ปรัชญาที่เรียนรู้เอาเองแบบงูๆ ปลาๆ กับปรัชญาที่เรียนผ่านชั้นเรียน แม้จะแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สำหรับวิธญา มันยังเป็นสาขาวิชาที่ ‘ใช่’ สำหรับเขา เมื่อมันได้พาเขาไปสู่โลกที่ตั้งคำถามกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตมากขึ้น กระทั่งตั้งคำถามที่ถอนรากถอนโคนต่อชีวิตโดยตรงด้วย ปรัชญาจึงเป็นวิชาที่ชอบ แต่ก็โหดร้ายพอสมควร

“พอเรามาเรียนปรัชญา เราก็ค้นพบว่ามันใช่น่ะ แต่ว่าปรัชญาที่เรารู้ภายหลังจากการเรียนแล้ว มันโหดร้ายกับเรากว่ามาก มันไม่ใช่สิ่งที่น่ารักสำหรับชีวิตเท่าไร มันคาดคั้นตัวเราด้วย เราซึ่งเป็นผู้ถือครองความรู้นั้น มันคาดคั้นตัวเรา แล้วเราก็คาดคั้นตัวเอง ที่จะไม่ได้เรียนไปให้มันผ่านๆ เลย

“อย่างผมเรียน Existentialism (อัตถิภาวนิยม – ความคิดทางปรัชญาแขนงหนึ่ง) แม่งก็ท้าทาย และชี้ชวนให้เราไปตายอยู่ตลอดเวลา (หัวเราะ) กับความหมายในชีวิต คือแม่ง ถ้ามึงจะไม่มีอะไรแล้ว ก็ไปตายๆ ซะเถอะ ถ้ามึงจะหาความหมายในชีวิตนี้ไม่ได้ขนาดนั้น

“เวลาที่เราถามคำถามอย่าง ‘เราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร’ ‘เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร’ มันเป็นคำถามที่ดูตรงไปตรงมา และรุนแรงแล้วน่ะ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ ทำไมเราจะต้องอยู่ไปเพื่ออะไรด้วยว่ะ หรือแม้แต่แบบจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ไอ้คำถามตรงนี้มันฟิกซ์เรา การเกิดขึ้นของเรามาบนโลกใบนี้ เราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร มีชีวิตอยู่อย่างไร มันบังคับให้เราต้องมีชีวิตอยู่ ในคำถามนี้ แต่ถ้าคำถามแบบหนักๆ เลย เราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ในความหมายคือมันให้เราไปตายได้น่ะ การที่เราอยู่ตอนนี้ มันก็ appearance ความหมายบางอย่าง ให้เรายังเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

“ถ้าจะยกเครดิตสิ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ ผมก็ยกให้สถาบันสิทธิฯ กับวิชาปรัชญานี่แหละ มันทำให้เราเฉยไม่ได้ และทำให้เรามีความจำเป็นจะต้องรู้มากกว่าสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว คือเราปฏิเสธการไม่รับรู้ไม่ได้ เมื่อเรารู้ว่าสิ่งต่างๆ มันเกิดขึ้น เราจะนิ่งเฉยได้อย่างไร คือการนิ่งเฉย มันก็เป็น choice แบบหนึ่ง แต่เป็นการเลือกที่บอกให้มันเกิดขึ้นต่อไป”

.

.

กิจกรรมในมหาวิทยาลัย สู่เรื่องราวในบทกวี และปฏิสัมพันธ์จากการอ่าน

ไม่เพียงแต่โลกในห้องเรียน และโลกของนักปรัชญา โลกในมหาวิทยาลัยยังนำเขาไปสู่การทำกิจกรรมที่จริงจังมากขึ้น ผ่านการเข้าร่วมชุมนุมชมรม งานเสวนา เคลื่อนไหวต่อต้านระบบโซตัสที่ดำรงอยู่ ไปกระทั่งถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในปัจจุบัน

“ด้วยความที่เราทำกิจกรรมทำนองนี้มาตั้งแต่มัธยม เราก็ได้รู้จักใครหลายคน พอมันมีกิจกรรมอะไร เราก็ไปกับเขา เราก็ไปร่วมตามกลุ่มต่างๆ ทั้งชุมนุมวรรณศิลป์ สมัชชาเสรี มช. (กลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย)”

“ช่วงแรกๆ ที่เข้ามหาลัย แล้วเราก็ค้นพบว่า ภาพจำของปรัชญาว่าเป็นความรู้อันสูงสุด บวกกับมหาวิทยาลัย ที่ภาพจำว่าน่าจะต้องเป็นที่มีองค์ความรู้ เรามาเจอรับน้อง เราก็งง เราไม่เอารับน้องตั้งแต่อยู่ในภาค เราก็มาทำเรื่องโซตัส เรื่องรับน้อง แต่เราก็ต่อต้านด้วยความกวนตีนทางวัฒนธรรมแหละ ก็เข้าไปอยู่ในนั้น แต่ไม่ให้ความร่วมมือ แล้วก็โดนเพื่อนด่า แล้วเราก็ทำหนังสือส่งในภาค เพื่อที่จะไม่เอารับน้อง เราก็พอหากลุ่มเพื่อนลักษณะนี้ได้อยู่บ้าง ตั้งเป็นกลุ่มพวก ‘หนีว๊าก’

“หรือมีช่วงที่ฝุ่นควันในเชียงใหม่มันขึ้น 700 ผมก็ไปวิจารณ์มหาลัย เรื่องการไม่ดูแลสวัสดิการคนทำงาน มหาลัยมันไม่ใช่มีแค่นักศึกษา แต่มันมีลุงขับรถม่วง แรงงาน มีครอบครัวแรงงาน ที่ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท ก็เรียกร้องให้แจกหน้ากาก และให้มีสวัสดิการกับคนทุกกลุ่ม ช่วงนั้น ถ้ามันมีอีเวนต์ หรือมีจัดผู้บริหารพบปะนักศึกษา เราก็ไป คือตอนนั้นผมเคยเป็นประธานฝ่ายวิชาการ ของสโมสรนักศึกษาฯ อยู่ช่วงหนึ่ง”

“แล้วผมก็ชอบงานวรรณกรรมด้วย พวกบทกวี ผมก็เขียนบทกวี อยู่ๆ ก็ไปรู้จักชมรมวรรณศิลป์พอดี แล้วช่วงนั้นเขาไม่มีคนทำต่อ ผมก็เลยไปทำ ไปหาคนมาเป็นทีมทำงาน ก็ได้ทำชมรมนี้อยู่สองปี ส่วนใหญ่ทำพวกงานเสวนา แต่เป็นงานแบบที่ไม่ได้ต้องการให้คนที่มีความรู้มาพูด เป็นวงเสวนาแบบที่ชวนกันคุย แรกๆ คุยกันเรื่องถ้าไม่นับถือศาสนา เราจะนับถืออะไร ทำนองนี้”

เมื่อถามว่าทำไมถึงสนใจบทกวี และการอ่านบทกวี วิธญาเล่าว่ามาจากประสบการณ์การอ่านหนังสือนั่นเอง โดยเขาเริ่มอ่านหนังสือที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมซีไรต์ โดยเฉพาะเล่ม “ไม่มีหญิงสาวในบทกวี” ของซะการีย์ยา อมตยา ซึ่งผู้เขียนมีพื้นเพมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกันกับเขา และทำให้เกิดความสนใจบทกวีที่ไร้ฉันทลักษณ์ แต่สามารถสื่อสารความรู้สึกหรือความคิดทางปรัชญาออกมาได้ และยังได้ต่อยอดการอ่านบทกวีแปลของนักเขียนในยุคโรแมนติกหรือนักเขียนรางวัลโนเบลด้วย

“จริงๆ ผมอ่านบทกวีไม่เยอะ อ่านเรื่องในสามจังหวัดฯ แล้วก็ส่วนใหญ่จะเขียนมันออกมาเองมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบทกวีไม่มีฉันทลักษณ์  ถ้าเราดูในพื้นที่ของม็อบ มันอาจจะเห็นเราไปอ่านกวีการเมือง แต่ผมก็ไม่ได้เขียนแต่กวีเรื่องการเมือง มีเป็นแบบดัดบ้าง บิดบ้าง มีใช้แบบกลอนสุภาพมาใช้บ้าง แต่ก็ไม่ได้อยู่ในร่องในรอยของฉันทลักษณ์เท่าไร

“ผมเคยรวมเล่มบทกวีแบบทำมือนะ คือก็อยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง ก็เขียนไปเรื่อยๆ บางทีมันก็ไหลเข้ามา คำที่ไหลเข้ามา ผมก็โพสต์เฟซบุ๊กทิ้งไว้ หรือแม้แต่ ถ้ามันมายาวๆ เลย ก็เขียนทิ้งไว้ แต่ถ้าผมรู้สึกว่าพอใจ หรือรู้สึกว่าเสร็จแล้ว ผมก็จะลงนามปากกาไว้

“ก่อนหน้าการไปอ่านในที่ชุมนุม ส่วนใหญ่อ่านกับตัวเอง ไม่ได้เคยไปอ่านให้ใครฟัง คือถ้าคนที่เขารู้ว่าผมเขียนผมอ่านบทกวี เขาก็ให้ผมไปอ่านบ้าง ผมเคยขึ้นไปอ่านบทกวี ช่วงเรียกร้องไม่เลื่อนเลือกตั้ง แต่ไม่ได้อ่านบทของเราเอง ก็เป็นอีเวนต์เล็กๆ กว่าสมัยหลังนี้”

ความสนใจในการอ่านบทกวีนี่เอง ที่เป็นที่มาที่วิธญานำบทกวีที่เขาแต่งเอง ขึ้นอ่านในเวทีการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเริ่มครั้งแรกในช่วงกลางปี 2563 พร้อมๆ กับการเริ่มต้นชุมนุมของเยาวชนปลดแอก

“พูดไปอาจเป็นเรื่องตลก ก็คือครั้งแรกๆ เลย มันไม่มีใครขึ้นเวที เป็นช่วงแรกหลังโควิดรอบแรกปี 63 ผ่อนคลาย แล้วคืนก่อนจัดเวที เพื่อนก็บอกว่าขึ้นปราศรัยไหม ช่วงนั้นมันเพิ่งมีเรื่องของพี่ต้าร์ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหาย เราก็รู้สึก suffer เราก็เอาออกมา แล้วก็เอาไปอ่าน ช่วงนั้น ผมรู้สึกว่าบทกวีที่ออกมา มันเป็นบทที่เราพอใจ เพราะว่าเรามีอยู่แล้ว เราได้เขียนไว้ก่อน

“คือคุยกันว่าการอ่านบทกวีบนเวทีปราศรัย มันก็ touch คนได้ มันดึงพลัง ให้อารมณ์คนที่กระจัดกระจายสามารถร่วมกันได้ ทำให้คนรู้สึกว่ามีพลัง มีความมุ่งหวัง มีความรู้สึกร่วมกัน ก็ไม่ได้ต้องปราศรัยอะไร

“คือการอ่านบทกวีสำหรับผม มันต้องอ่านออกมาน่ะ มันเป็น relationship ระหว่างเรากับบทกวี คือไม่ว่าคนเขียนบทกวี จะเขียนมันไว้ยังไง แต่เราจะมี relationship กับบทกวีนั้นใหม่ทุกๆ ครั้งที่เราอ่าน แม้เราไม่ได้เขียนบทกวีนั้นเอง หรือเราจะเขียนเองก็ตาม คือเราเขียนเสร็จมันก็จบในแง่ของงานเขียน แต่บทกวีที่อ่าน มันเริ่มต้นใหม่ในทุกครั้งที่เราเริ่มอ่าน มันสร้างขึ้นจาก relationship ระหว่างเรากับ text ความรู้สึกที่เรารับรู้ต่อมัน สิ่งที่เราพูดออกมา และการอ่านออกเสียงมันออกมา”

.

.

Performance Art: การทดลองสื่อสารประเด็นทางสังคม และการท้าทายโลกของศิลปะ

อีกหนึ่งความสนใจ ที่วิธญาลงมือฝึกฝนและทุ่มเทเรียนรู้ในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัยนี้ คือศิลปะการแสดง ที่ไม่ใช่แค่การแสดงละครเวที แต่เป็นลักษณะศิลปะการแสดงสด หรือการ Performance นำความรู้สึกนึกคิดหรือแนวคิดบางอย่างออกมาสื่อสาร ผ่านการแสดงออกโดยใช้ร่างกายและอุปกรณ์ ทั้งใช้การแสดงเหล่านั้นปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ที่ไม่ใช่โรงละครหรือสถานที่แสดงงานศิลปะ

“ต้องเริ่มฝึกฝนร่างกายเยอะเหมือนกัน ตั้งแต่ช่วงขึ้นมหาลัย ก็ได้รู้จักกับพี่ที่ทำละครหน้ากาก เป็นครั้งแรกเลยที่ทำให้ผมรู้จัก theater ที่มากกว่าละครเวที แล้วก็รู้จักเพื่อนๆ กลุ่มลานยิ้ม คือรู้จักมาตั้งแต่เข้ามหาลัยแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำงานด้วยกัน จนเริ่มได้มางานด้วยกัน ตอนทำการแสดงเรื่อง ‘แม่งูเอ๋ย’ ช่วงต้นปี 2563

“คือผมสนใจประเด็นทางศิลปะ ทางสุนทรียศาสตร์อยู่แล้ว แล้วก็อยากไปต่อในเรื่องแบบ Conceptual Art ก็เลยไปลองใช้งาน Performance Art ในการพูดเรื่องการเมืองด้วย และใช้เป็นทั้งเครื่องมือในการสื่อด้วย แต่สำหรับผม มันเป็นแค่เครื่องมือไม่พอนะ ตัวมันเองจะต้องไปไกลกว่านั้นด้วย แต่ก็ยังตอบไม่ได้ทั้งหมดว่าไปไกลแบบไหน

“ในความตั้งใจ เราอยากให้งานศิลปะ ใช้การ Performance มันผลักทั้งประเด็นทางการเมืองไปให้ไกลกว่านี้ และผลักวิธีคิดทางศิลปะ โลกทางศิลปะ ออกไปให้ไกลกว่านี้ด้วย เป็นสองด้าน

“อีกอันหนึ่ง มันถามคำถามในแวดวงเดียวกันด้วย อย่างเช่น ผมอ่านบทกวี มันก็จะถามคำถามกลับไปด้วย ว่าตาลุงเนาวรัตน์ (พงษ์ไพบูลย์) กวีใหญ่ มันเป็นคำถามกลับไป ว่าบทกวีมัน intention แบบไหน คือแง่หนึ่ง เวลาที่เราอ่าน มันอาจจะแยกบทกวีออกจากผู้เขียน เพราะมันไม่ต้องการความหมายที่ผู้เขียนฟิกซ์ไว้ แต่อีกแง่หนึ่ง งานของเขาเอง มันก็เปิดเผยตัวเขาเองว่าเขาเป็นคนยังไงด้วย ในเรื่อง Performance ก็เหมือนกัน ในวงการศิลปะ ศิลปินใหญ่ทั้งหลายเยอะแยะเต็มไปหมด คำถามคือเขาทำอะไรอยู่ เขาอยู่ที่ไหน ในภาวะตรงนี้

แม้เขาจะบอกไม่ได้ชัดเจนว่าต้องการผลักให้รูปแบบการแสดงหรือการสื่อสารนี้ไปไกลถึงไหน แต่ดูเหมือนเขาจะตระหนักว่างานเหล่านี้น่าจะมีศักยภาพในการสร้างความเคลื่อนไหว ท้าทายและเขย่าพื้นที่ กระทั่งไปถึงการมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

“เวลาที่เราคุยกันกับเพื่อน เราบอกกันว่าไม่อยากทำงานเป็น event ที่มันเกิดขึ้น แล้วก็จบไป เราอยากทำงานที่มันเป็น movement คือวันที่ไป สภ.เมืองเชียงใหม่ (วันที่ 16 ก.พ. 2564 วิธญาเข้ารับทราบข้อหาในคดีชุมนุมพร้อมกับผู้ถูกออกหมายเรียกคนอื่นๆ) มัน performance แล้วเชื่อมร้อยกัน ผม performance โดยการอ้วกออกมาด้วย แล้วก็มีอีกคนมา performance โดนการเช็ดอ้วก คือในพื้นที่เดียวกัน สิ่งที่ศิลปินแต่ละคนทำไว้ มันสามารถมาทำงานร่วมกันได้ไหม มันน่าสนใจ แล้วมันเข้าไปในพื้นที่ที่ตัวเองไม่เคยไป

“ผมไม่ได้บอกว่าการทำงานแกลเลอรี่ผิดหรือถูกนะ ไม่ได้พูดแบบนั้น แต่สำหรับผมมันง่ายไป ในการทำงานในพื้นที่ที่ตัวเองมีตัวตนอยู่แล้ว แต่ลองทำงานในพื้นที่ที่แบบ ‘อะไรของมึงเนี่ย’ ผมว่ามันท้าทายเรา มันสนุกด้วย ในแง่ที่ว่ามันทำให้เราเจออะไรแบบที่ไม่เคยเจอ มันจะ happening เราอยู่ตลอดเวลา มันเป็นการเล่นแบบหนึ่ง มันเลยเป็นงาน ที่มีอะไรมากระทบต่อเรา เราจะตอบกลับยังไง อะไรที่เราเตรียมมา มันอาจใช้ไม่ได้

ทั้งงานบทกวี และงาน performance มันเป็นคนละตัวบทกัน แต่มันก็เป็นพื้นที่ที่เราได้ทดลองเหมือนกัน เป็นพื้นที่ที่เราได้ใช้บางซากส่วนของชีวิตในการที่จะลองทำมันออกมา สองอันนี้มันคือส่วนหนึ่งของเรา  บทกวี มันจะมีเรื่องเล่าของมัน ที่การแสดงให้ไม่ได้ มีวิธีคิดและการสื่อความรู้สึกแบบหนึ่ง แล้วก็กลับกัน performance ก็พาเราไปสู่โลกที่อีกสิ่งหนึ่งให้ไม่ได้ ผมก็เลยยังอยากทำอยู่ทั้งคู่ อย่างน้อยมันทำให้เราได้ลองเป็นอะไรที่มากกว่าที่เรากำลังเป็นอยู่”

.

.

“ความสิ้นหวัง ที่เราสิ้นหวังไม่ได้” ในนามการต่อสู้ทางการเมือง และคดีความ

เมื่อถามว่าอะไรเป็นแรงผลักดันหรือบันดาลใจให้ตัวเขาเอง ต้องออกไปขึ้นเวที ออกไปแสดงออกทางการเมืองด้วยวิธีการแบบที่เขาทำอยู่ แม้จะนำมาซึ่งความเสี่ยงในการถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับตา ในการถูกกล่าวหาดำเนินคดี และอาจนำไปสู่การติดคุกติดตะรางในประเทศแบบนี้

“คือผมรู้สึกแค่ว่ามันต้องไป คือเรารู้เรื่องต่างๆ แล้ว จะให้เราอยู่ดูความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊กอย่างเดียว ผมรับตัวเองไม่ได้ อย่างตอนมีการสลายการชุมนุมครั้งแรกในกรุงเทพ เดือนตุลาคม 2563 เราทำได้แค่ดูความเป็นไปในเฟซบุ๊กจริงๆ เราทำอะไรไม่ได้ แล้วรู้สึกว่ามันกระจอก มันรู้สึกแบบทำอะไรไม่ได้ เราก็ดูเหตุการณ์ แล้วก็ไม่ได้นอน เช้าวันที่ 15 ตุลา ก็มีเพื่อนบอกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง แล้ว 7.00 น. เช้า เราก็ออกไปสองคน ยืนกันอยู่ที่วงเวียนหอนาฬิกา มช. เราก็เห็นคนให้ความสนใจ ทั้งหยุดดู ยืนอยู่ไกลๆ เข้ามาร่วม จนมันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เราก็เดินไปชุมนุมที่ตึกหน้าของ มช. อะไรแบบนี้

“สำหรับผม การเรียกร้องมันไม่ได้แค่เรียกร้องต่อคนอื่น แต่มันเรียกร้องต่อสามัญสำนึกของเราเองด้วย คือผมเข้าใจว่าหลายๆ คนก็มีเงื่อนไข แต่เราเอง พอที่จะปฏิเสธเงื่อนไขบางอย่างได้ พอมันผ่านบางจุดมาแล้ว ชีวิตเราก็อยากจะใช้ให้มันสาสม ที่บ้านเขาก็เป็นห่วง แต่เขาก็รู้แล้วว่าห้ามไม่ได้

“ตอนแรก ผมก็พยายามจะไม่ทำให้ตัวเองโดนคดี แต่พอเริ่มโดนแล้ว มันก็…อ้าว มันก็ข้ามเงื่อนไขเราไปแล้ว การโดนคดีครั้งแรกมันไม่ได้ทำให้เราหยุดได้ มันกลายเป็นการ challenge เงื่อนไขตัวเราเอง พอมันไกลกว่าเงื่อนไขที่เคยมีอยู่ มันก็ไปเรื่อยๆ เลย มันอาจจะเลยไปถึงขั้นถูกขัง ก็คือโดนขัง แต่คือเราก็อยู่ในประเทศสนธยานี้ ประเทศลี้ลับพิศวงนี้ เราก็เห็นกันอยู่

“การถูกดำเนินคดีก็เป็นความใหม่ในชีวิต ชีวิตนี้โดนคดีทางการเมืองหลายคดี ไม่ใช่ว่าเราอยากโดนนะ แต่มันทำให้เห็นว่าประเทศที่เราอยู่นี้ มันเป็นยังไง ทำไมมันโดนกันง่ายจังว่ะ ผมโดน ม.116 สองคดี ยุยงปลุกปั่น ผิดความมั่นคงของรัฐ เฮ้ย ผมขึ้นไปอ่านบทกวี ข้อหาเหมือนกูมีกองกำลัง มันเลอะเทอะมากเลย อะไรจะขนาดนั้นว่ะ

“การโดนดำเนินคดี เราก็ไม่ได้เซ็นเซอร์ตัวเองลงนะ ไม่ได้หมายความว่าเราอยากโดนเพิ่มอีกนะ แต่มันมาถึงขนาดนี้แล้ว เราก็ต้องไปต่อ มันยังเป็นสิ่งที่ยังติดค้างอยู่ในใจเรา คือมันรู้สึกว่าสองมือเราโรยแรงเหลือเกิน ทำอะไรไม่ได้มาก เราทำได้เท่านี้

“มันก็เป็นภาวะความรู้สึกหนึ่งของมนุษย์ มันเป็นความสิ้นหวัง ที่เราจะสิ้นหวังไม่ได้ ถ้าเราสิ้นหวังกับมันจริงๆ เมื่อไร มันก็จบ เราก็จะไม่ทำอะไรแล้ว ถ้ามันสิ้นหวังกับสิ่งที่เป็นอยู่ แล้วเราไม่มีจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ มันสิ้นหวัง แต่สิ่งที่เราเห็นตอนนี้ มันโคตรจะท้าทาย มันก็เลยทำอยู่ แม้จะทำได้แค่นี้ เรายังไม่ตาย เราก็ต้องทำ และมีความหวัง”

.

X