นักกิจกรรมศิลปะถูกแจ้ง ม.112 หลังแสดง Performance art หน้าป้าย มช. ตร.กล่าวหาแสดงอุจาดตา/ใช้เท้าชี้ฟ้าใต้รูป ร.10 เป็นกริยาดูถูกเหยียดหยาม

วันที่ 5 ต.ค. 64 ที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์  วิธญา คลังนิล นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่มศิลปิน artn’t ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในคดีที่มี พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง เป็นผู้กล่าวหา ในข้อกล่าวหา “ดูหมิ่นกษัตริย์” ตามมาตรา 112 จากการแสดง Performance art หรือ ศิลปะการแสดงสด ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 64

ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม วิธญาได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์  แต่เนื่องจากในช่วงดังกล่าว เขาเดินทางไปทำโครงการศิลปะที่จังหวัดนราธิวาส บ้านเกิดของเขา และได้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019 จนเกิดการล็อคดาวน์ระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัด ทำให้วิธญาไม่สามารถเดินทางกลับมาจังหวัดเชียงใหม่ได้ จึงได้ขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อหาออกมาก่อน

บรรยากาศก่อนการรับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดเตรียมกำลังทั้งในเครื่องแบบ, ชุดปฏิบัติการพิเศษและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ รวมไม่น้อยกว่า 60 นาย กระจายตัวโดยรอบ อีกทั้งมีการตั้งแผงเหล็กกั้นรอบสถานี ให้มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว และมีการตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิผู้ที่จะเข้าไปภายใน ตำรวจยังพยายามป้องกันไม่ให้ประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจวิธญา ราว 10 คน เข้าไปในพื้นที่บริเวณ สภ. ได้ โดยมีการติดตามบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอประชาชนไว้โดยตลอด อีกทั้งยังมีการประกาศห้ามการชุมนุมมั่วสุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นระยะ

ส่วนวิธญาได้เดินทางมายังสถานีตำรวจโดยการแต่งชุดคอสเพลย์เป็นตัวละคร “ลูฟี่” ในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องวันพีซ โดยมีการแสดงขนาดสั้นก่อนเดินทางเข้ารับทราบข้อหา

.

คอสเพลย์ของวิธญาในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

พ.ต.ท.อดุลย์ สวยสม รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ได้เป็นผู้แจ้งข้อหากับวิธญา โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 64 วิธญากับพวกราว 7 คน ได้จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ บริเวณประตู ทางเข้า-ออก หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้ต้องหาได้สวมใส่ชุดสีขาว และปืนขึ้นไปบนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเหนือถัดขึ้นไปเป็นป้ายอักษรข้อความว่า “ทรงพระเจริญ” และมีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 อยู่

ผู้ต้องหาได้สาดเทน้ำสีแดงราดเนื้อตัวตนเองจนเปียกโชกทั้งตัว เป็นที่อุจาดตาแก่ผู้คนที่สัญจรไปมาที่พบเห็น นอกจากนั้นทําให้สีกระเด็นและเปรอะเปื้อนตั้งแต่ป้าย พระบรมฉายาลักษณ์ ป้ายข้อความทรงพระเจริญ ลงมายังป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนแสดงการเคลื่อนไหวร่างกายอันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น นั่งห้อยขา, นั่งยองๆ, ยืนเอาถังสีสวมครอบศีรษะ, แสดงท่าครุฑ ซึ่งเป็นของสูง เนื่องจากครุฑเป็นตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ เทพพาหนะของพระนารายณ์ ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอํานาจแห่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของชาติ

ผู้ต้องหายังแสดงท่านอนหงายโดยใช้เท้าขวาชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่ใกล้กัน ซึ่งตามประเพณีวัฒนธรรมของไทยย่อมทราบกันดีว่า เท้าเป็นของต่ำ การกระทําตลอดจนการแสดงทั้งหมดที่กล่าวมา มีลักษณะเป็นการหยาบคาย อันเป็นการไม่ถวายพระเกียรติต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการแสดงกริยาสบประมาท ดูถูกเหยียดหยาม ต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงดํารงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนคนไทย เป็นการประทุษร้ายต่อความรู้สึกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และความรู้สึกของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ

ผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ”

ด้านวิธญาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนรายละเอียดอื่นๆ นั้น จะขอให้การเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวนภายใน 20 วัน ต่อไป

หลังการรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว วิธญาได้ถูกนำตัวไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ก่อนตำรวจจะปล่อยตัวเขากลับไปโดยไม่มีการควบคุมตัว เนื่องจากผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ทั้งเข้ามาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง

.

ภาพระหว่างการแสดง Performance art ที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้

.

หลังการรับทราบข้อกล่าวหาคดีนี้แล้ว วิธญา พร้อมทั้ง ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์อีกรายหนึ่ง ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดี การแสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติ ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธง ไปเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 64 ได้ถูก พ.ต.ท.เอนก ไชยวงค์ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ แจ้งว่าคดีดังกล่าวทำการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว จึงขอส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสองพร้อมสำนวนคดีให้อัยการต่อเนื่องกัน

ตำรวจจึงได้นำตัวทั้งสองขึ้นรถตู้ของตำรวจไปส่งที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งตัวและสำนวนคดีให้อัยการพิจารณาต่อไป ทางเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการได้รับสำนวนคดีไว้ พร้อมนัดหมายเพื่อคำสั่งทางคดีต่อไปในวันที่ 19 ต.ค. 64 เวลา 10.00 น. 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังมีการนำมาตรา 112 มาบังคับใช้อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 148 ราย ใน 148 คดี  โดยวิธญาถูกกล่าวหาในสองคดีแล้ว

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

X