11 พ.ค. 64 เวลา 9.00 น. ที่สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ นายวิธญา คลังนิล นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งสองคนยังเป็นสมาชิกกลุ่มศิลปิน artn’t ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธงฯ จากกรณีการแสดงงานศิลปะ
ก่อนหน้านี้ ทั้งสองคนได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ว่าได้ส่งหมายเรียกผู้ต้องหาไปยังภูมิลำเนาของทั้งสองคน กำหนดให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 3 พ.ค. 64 โดยนักศึกษาทั้ง 2 ราย ต่างยังไม่ได้รับหมายเรียกตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งไว้แต่อย่างใด จึงขอเลื่อนการนัดหมายออกมา
บรรยากาศการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตั้งรั้วเหล็กกั้นทางเข้าอาคารสถานีตำรวจ และมีการวางกำลังตำรวจในเครื่องแบบราว 15 นาย และนอกเครื่องแบบอีกไม่ต่ำกว่า 20 นาย อยู่โดยรอบสถานี ขณะที่มีนักศึกษา อาจารย์ และประชาชนราว 40 คน เดินทางมาให้กำลังใจ
เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้ทราบ โดยอ้างถึงคำสั่งของจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงห้ามการรวมตัวทำกิจกรรมเกินกว่า 10 คน ด้วย
ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา นายวิธญาได้แสดง Performance Art โดยบางขณะได้มีการกรีดหน้าอกตัวเองเป็นเลข “112” ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้ามาห้าม และดึงตัวไม่ให้แสดงต่อ ส่วนนายยศสุนทรได้ใส่เสื้อที่ใช้สีเขียนเป็นข้อความ “ในนามของศิลปะ” มารับทราบข้อกล่าวหา ก่อนที่ต่อมานักศึกษาทั้งสองคน พร้อมทนายความจะเข้าไปยังสถานีตำรวจ
พ.ต.ท.เอนก ไชยวงค์ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสองคน ใน 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหา “ใช้ ชัก หรือแสดงธงที่คล้ายคลึงกับธง” ตาม พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522
พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 64 เวลาประมาณ 17.00 น. เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ได้ออกสืบสวนหาข่าวความเคลื่อนไหว กรณีมีการชุมนุมแสดงออกทางการเมืองของมวลชนในพื้นที่ บริเวณสนามรักบี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีมวลชนเข้าร่วมประมาณ 70 คน โดยมีนายวิธญา คลังนิล และนายยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ ทำการกางแผ่นพลาสติกใส ระบายสีประกอบด้วยแถบสีขาวและสีแดง ลักษณะคล้ายธงชาติไทย แต่ไม่มีสีน้ำเงิน ลงบนพื้นสนามในพื้นที่จัดกิจกรรม เบื้องต้นยังไม่มีข้อความใดบนแผ่นพลาสติกดังกล่าว
ต่อมาพิธีกรได้กล่าวเชิญชวนมวลชนผู้ร่วมกิจกรรม เข้ามาเขียนความคิดเห็นลงในแผ่นพลาสติกดังกล่าว จากนั้นทั้งสองคนได้นำแผ่นพลาสติกดังกล่าวขึ้นมาแสดง โดยเป็นผู้ถือแสดงและปรากฏภาพตามสื่อต่างๆ จากนั้นได้เก็บแผ่นพลาสติกดังกล่าวไป
ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนฯ ได้สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด และตรวจสอบภาพวัตถุคล้ายธงชาติไทยจากสื่อต่างๆ ประกอบกับภาพจากการลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุ ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้เขียนถ้อยคำหรือข้อความในลักษณะดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือลบหลู่ ถอดข้อความแล้วปรากฏว่ามีข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และตาม พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 ในธงดังกล่าวด้วย อาทิเช่น “FUCK 112 IF YOU USE 112 FUCK YOU TOO” “สุนัขทรงเลี้ยงออกไป” “พอทีภาษีกูเลี้ยงหอย”
ข้อความที่ปรากฏสื่อถึงองค์พระมหากษัตริย์ ล้วนแต่เป็นถ้อยคำดูหมิ่นแทบทั้งสิ้น ประกอบกับวัตถุคล้ายธงชาติไทย แต่ไม่มีแถบสีน้ำเงินดังกล่าว ซึ่งสีน้ำเงินเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการสื่อให้เห็นว่าผู้จัดทำวัตถุคล้ายธงดังกล่าว ไม่ประสงค์ที่จะให้มีสถาบันกษัตริย์ในประเทศ คงให้มีแต่สีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศาสนา และสีแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติเท่านั้น
จากคำให้การของนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้กล่าวหาที่ 2 ให้การว่าประมาณวันที่ 24 มี.ค. 64 ขณะอยู่ที่สำนักงานสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยฯ ได้เปิดโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เข้าไปในแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก พบว่ามีการเสนอข่าวผ่านทางสื่อมวลชนอย่างแพร่หลายมีข้อความว่า “เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 64 เมื่อกลุ่มคณบดีและรองคณบดี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับเจ้าหน้าที่จากหอศิลป์ ได้เข้ามายึดผลงานศิลปะของนักศึกษา และบอกว่ามีการใช้พื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต จากนั้นก็เอาผลงานของนักศึกษาใส่ถุงดำ และเอาขึ้นรถกระบะ นักศึกษาจึงพากันประท้วง และพยายามเอาของคืน” ซึ่งปรากฏพบวัตถุคล้ายธงผืนดังกล่าวนี้ในข่าว และในส่วนการจัดแสดงนิทรรศการดังกล่าวด้วย ซึ่งเป็นวัตถุคล้ายธงเดียวกันกับในเหตุชุมนุมเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 64
หลังรับทราบข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ดังกล่าว นักศึกษาทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมต่อไป
ทางทนายความได้ชี้แจงว่านักศึกษาทั้งสองไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ จึงอยากให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาปล่อยตัวนักศึกษาทั้งสองในชั้นสอบสวนเลย
จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ให้ทั้งสองคนพิมพ์ลายนิ้วมือ และลงบันทึกประจำวันไว้ โดยไม่มีการนำตัวไปขอฝากขังที่ศาล ตามที่พนักงานสอบสวนแจ้งกับทนายความและผู้ต้องหาไว้ในตอนแรก และได้นัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 31 พ.ค. 64
ทั้งนี้กรณีงานศิลปะลักษณะคล้ายธงชิ้นนี้ ปรากฏเป็นข่าวข้อพิพาท เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 64 หลังผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์เข้ามาเก็บงานแสดงศิลปะของนักศึกษาใส่ถุงดำ ขณะเดียวกันในคืนก่อนหน้านั้น ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจสอบงานศิลปะถึงในพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย ก่อนที่เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 64 นายศรีสุวรรณ จรรยา จะได้เดินทางไปที่สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงงานศิลปะดังกล่าว
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบันอย่างน้อย 91 ราย ใน 84 คดี แล้ว ในจำนวนนี้มีคดีที่ประชาชนทั่วไปเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 36 คดี คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษ 8 คดี และมีคดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 3 คดี
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64