ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลจาก ผศ.ดร.นัทมน คงเจริญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 64 เวลาประมาณ 10.00 น. ตนได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่ปิง นัดหมายให้ไปพบกันบริเวณร้านกาแฟในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ในเวลาประมาณ 14.00 น.
ก่อนหน้านี้ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 นัทมนเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าติดตามที่บ้านมาแล้วครั้งหนึ่งเนื่องจากรัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏในเขตภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 8-11 ธันวาคม 2563 ระหว่างการเข้าติดตามดังกล่าว นัทมนขอให้ตำรวจติดต่อนัดหมายทางโทรศัพท์ก่อนหากจะมาติดตามอีก
ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ ขอนัดหมายเข้าติดตามสอบถามเช่นเดียวกับครั้งก่อน แต่ นัทมนไม่ต้องการให้ตำรวจมาพบที่บ้าน จึงนัดหมายพบกันที่ร้านกาแฟ เมื่อถึงเวลานัด ได้พบชายแต่งกายชุดไปรเวทหนึ่งคนซึ่งไม่ใช่ตำรวจนายเดียวกับที่มาติดตามครั้งก่อน เจ้าหน้าที่แนะนำตัวว่าเป็นตำรวจจากสภ.แม่ปิง และให้ดูบัตรประจำตัวข้าราชการตำรวจ แต่จำชื่อและยศไม่ได้ และไม่ทราบว่าใช้ยานพาหนะชนิดใด เนื่องจากเดินเข้ามาในร้านกาแฟ
เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่า นัทมนเป็นผู้มีรายชื่ออยู่ใน “ลิสต์เฝ้าระวัง” และเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีจะเสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมาติดตามและสอบถาม
เจ้าหน้าที่ระบุกับนัทมนว่าตนต้องมานัดหมายตามคำสั่ง ขอให้เห็นใจด้วย พร้อมสอบถามว่ากลุ่มนักศึกษาหรือนักกิจกรรมจะไปจัดกิจกรรมที่ไหนหรือไม่ และหากมีการจัดกิจกรรมจะเข้าร่วมหรือไม่
นัทมนตอบว่าตนไม่ทราบว่าจะมีการจัดกิจกรรมหรือไม่ และหากมีการจัดกิจกรรมก็จะเข้าร่วมเนื่องจากตนร่วมแสดงออกทางการเมืองเป็นประจำอยู่แล้ว และตนเป็นนายประกันของนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองด้วย
จากนั้นนัทมนให้ความรู้แก่ตำรวจในหัวข้อเสรีภาพในการแสดงออก การสนทนาใช้เวลาประมาณ 10 นาที และก่อนเดินทางกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ถ่ายรูปนัทมนไว้ด้วย
ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 64
ก่อนหน้านี้ นัทมนยังเป็นหนึ่งในคณาจารย์ผู้ถูกคุกคามจากกรณีรัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏในเขตภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 8-11 ธ.ค. 63 มาแล้ว
>> ร.10 เสด็จเชียงใหม่: ตร.บุกถึงที่พัก-โทรเช็คติดตามน.ศ. อาจารย์ นักกิจกรรม ไม่น้อยกว่า 30 ราย
นัทมนย้อนเล่าว่าช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อผ่านทางผู้ใหญ่บ้านเพื่อขอนัดพบ ในวันนัดหมายมีชายหนึ่งคน แต่งกายในชุดไปรเวทมาพบที่บ้าน
ชายคนดังกล่าวแนะนำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.แม่ปิง พร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัว ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “ดาบ” แต่ไม่สามารถจำชื่อและยศได้ จากนั้นจึงสนทนากันบริเวณประตูรั้วหน้าบ้าน เนื่องจากการเข้าพบของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการคุกคาม และเกรงว่าหากมารดาของตนซึ่งอายุมากแล้ว ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบจะรู้สึกไม่สบายใจ
การสนทนาในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลว่าเนื่องจากจากพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็มาจังหวัดเชียงใหม่ และนัทมนเป็นหนึ่งใน “รายชื่อเฝ้าระวัง” จึงมาติดตามสอบถามความเคลื่อนไหว และขอถ่ายรูปเพื่อนำกลับไปรายงาน
นัทมนให้ความเห็นว่าบทสนทนาในการติดตามของตำรวจทั้งสองครั้ง แม้ว่าตำรวจที่มาติดตามจะเป็นคนละคนกัน แต่มีรูปแบบเดียวกัน โดยเริ่มจากการอ้างว่ามีความเห็นทางการเมืองสอดคล้องกัน แต่ต้องมาทำตามคำสั่ง และแจ้งความจำเป็นของการมาติดตาม พร้อมสอบถามว่าจะมีการเคลื่อนไหวหรือไม่
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในช่วงเวลาก่อนและระหว่างการเสด็จจังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 22 มี.ค. 64 พบว่ามีเหตุที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าติดตามนักเรียนนักศึกษา ประชาชน และอาจารย์มหาวิทยาลัย อย่างน้อย 6 กรณี บางกรณีใช้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเฝ้าคอยติดตามประชาชนที่ดำเนินชีวิตตามปกติ นอกจากนั้นหนึ่งในผู้ถูกคุกคามในครั้งนี้เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี
เหตุที่คณะวิจิตรศิลป์ มีตร.เข้าตรวจสอบงานศิลปะนักศึกษา ก่อนวันถัดมาผู้บริหารเข้าเก็บ
ขณะเดียวกัน กรณีข้อพิพาทที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทางผู้บริหารคณะเข้าเก็บงานแสดงศิลปะของนักศึกษาใส่ถุงดำ ในวันที่ 22 มี.ค. 64 นั้น น่าสังเกตว่าก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ในคืนวันที่ 21 มี.ค. 64 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจสอบงานศิลปะดังกล่าวก่อนแล้ว
ศูนย์ทนายฯ ได้รับข้อมูลว่าในคืนดังกล่าวเวลาประมาณ 21.45 น. นักศึกษาประมาณ 4 คน ทำงานศิลปะอยู่ในบริเวณ “ลานมีเดียอาร์ท” ภายในหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากประตูทางเข้าประมาณ 500 เมตร ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 2 นายเดินเข้าในบริเวณดังกล่าว
ตำรวจทั้งสองนายแต่งกายในเครื่องแบบ สวมหน้ากากอนามัย ติดกล้องวิดีโอขนาดเล็กที่กระเป๋าเสื้อ ไม่ทราบว่าเดินทางมาด้วยยานพาหนะอะไร เนื่องจากเดินเท้าเข้ามาในบริเวณนั้น แต่นักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ให้ข้อมูลว่าก่อนการเข้ามาของตำรวจ ได้ยินเสียงรถยนต์จำนวนหลายคันเข้ามาจอดบริเวณลานจอดรถของหอศิลปวัฒนธรรมฯ ด้วย
นักศึกษาคนหนึ่งใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก และถามตำรวจทั้งสองว่ามาทำอะไร ตำรวจนายหนึ่งแนะนำตัวว่าเป็นร้อยเวรปราบปรามของ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ และตำรวจอีกนายที่มาด้วยเป็นสิบเวร อ้างว่า “มาตรวจตราตามปกติ”
นักศึกษาระบุว่าตามปกติแล้ว ไม่ได้มีตำรวจเข้ามาตรวจถึงภายในหอศิลปวัฒนธรรมฯ สายตรวจก็เพียงแต่ขับรถผ่านหน้าทางเข้า อีกทั้งภายในหอศิลปวัฒนธรรมฯ ยังมีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำอยู่แล้ว
นักศึกษาสังเกตว่าตำรวจทั้งสองนายจับจ้องงานศิลปะบางชิ้นที่วางอยู่บนพื้นเป็นพิเศษ หลังจากการถ่ายทอดสดผ่านไปประมาณ 2 นาที ตำรวจทั้งสองนายก็เดินออกไปจากบริเวณดังกล่าว
แม้ว่าตำรวจทั้งสองนายจะเดินออกไปจากลานมีเดียอาร์ทแล้ว แต่รถยนต์ที่เข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกันไม่ได้ออกไปจากหอศิลปวัฒนธรรมด้วย นอกจากนั้นหลังจากตำรวจทั้งสองนายเดินออกไปแล้ว บริเวณลานจอดรถมีแสงสว่างซึ่งไม่ได้เกิดจากหลอดไฟปกติของหอศิลปวัฒนธรรม ทำให้นักศึกษาที่อยู่ในบริเวณมีเดียอาร์ทไม่กล้าเดินทางกลับ เป็นเวลานานกว่าหนึ่งชั่วโมงแสงสว่างดังกล่าวจึงดับลง จากนั้นได้ยินเสียงรถยนต์หลายคนขับออกไป
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในวันถัดมา (22 มี.ค.) ก็ได้เกิดเหตุที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์เข้าตรวจสอบและเก็บงานศิลปะของนักศึกษา