ร.10 เสด็จเชียงใหม่: ตร.บุกถึงที่พัก-โทรเช็คติดตามน.ศ. อาจารย์ นักกิจกรรม ไม่น้อยกว่า 30 ราย

จากกรณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในเขตภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 8-11 ธันวาคม 2563 ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ปรากฎว่าตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง ได้เข้าติดตามความเคลื่อนไหวของนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย นักกิจกรรม นักแสดงละคร และประชาชน หลายราย รวมทั้งทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อแสดงตัวว่าพวกเขาและเธอเป็น “เป้าหมาย” การจับตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แทบทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่พูดคุยย้ำว่าไม่อยากให้ทำกิจกรรมใดๆ ในช่วงที่มีการเสด็จในจังหวัดเชียงใหม่

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีบุคคลที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามถึงที่พัก เข้าสอบถามเพื่อนบ้าน โทรศัพท์สอบถามที่อยู่ และปรามการทำกิจกรรมในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างน้อย 30 ราย โดยคาดว่าจะมีจำนวนมากกว่านั้นด้วย ต่อไปนี้เป็นข้อมูลการติดตามคุกคามบางส่วนที่เกิดขึ้น

 

 

กลุ่มนักกิจกรรมการละคร 2 กลุ่ม ถูกติดตามถึงที่อยู่และโทรพูดคุยสอบถามการทำกิจกรรม

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 63 “กอล์ฟ” สมาชิกกลุ่มศิลปะ ในนาม “Free act” ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้าไปอยู่กับเพื่อนในอำเภอเชียงดาว ได้รับแจ้งจากเพื่อนว่ามีเจ้าหน้าที่ 2 นาย ระบุว่าเป็นตำรวจ ไปที่บ้านของเพื่อน พร้อมกับผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านดังกล่าว เพื่อสอบถามหาตัวสมาชิกกลุ่มศิลปะ

ทางเจ้าหน้าที่ได้สอบถามว่ารู้จักกับตัวสมาชิกกลุ่มศิลปะ ในนาม “Free act” คนดังกล่าวหรือไม่ ที่บ้านของเพื่อนระบุว่ารู้จักเป็นเพื่อนของลูกที่ทำงานเรื่องการแสดงละครร่วมกัน ทางเจ้าหน้าที่จึงระบุว่าช่วงนี้ไม่อยากให้จัดกิจกรรมทางการเมือง ที่บ้านของเพื่อนจึงให้ติดต่อกอล์ฟโดยตรง เจ้าหน้าที่จึงได้ขอเบอร์โทรศัพท์ ก่อนจะเดินทางกลับไป

กอล์ฟคาดว่าเจ้าหน้าที่น่าจะได้ข้อมูลของเขามาจากการแจ้งจัดการชุมนุมในจังหวัดเชียงใหม่ของกลุ่ม Free act ครั้งหนึ่งที่บริเวณประตูท่าแพ เพราะขณะที่แจ้งการชุมนุมได้มีการถ่ายสำเนาบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์แนบไว้ด้วย

ต่อมาวันที่ 5 ธ.ค. 63 ได้มีเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ โทรศัพท์มาหากอล์ฟ สอบถามว่าอยู่ที่ไหนช่วงนี้ เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ทราบว่ากอล์ฟไม่ได้อาศัยอยู่ตามทะเบียนบ้าน จึงโทรมาสอบถาม กอล์ฟระบุว่าหากทางตำรวจมีอะไรให้ติดต่อมาโดยตรง ไม่ต้องไปที่บ้านเพื่อน ทางเจ้าหน้าที่จึงได้พยายามสอบถามที่อยู่ของเขาใหม่ และระบุว่าถ้าหากมีอะไร จะขอติดต่อทางโทรศัพท์มาใหม่

ปรากฏว่าวันเดียวกันนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 2 นาย พร้อมผู้ใหญ่บ้าน ใช้รถยนต์ตำรวจเข้ามาที่บ้านของเพื่อนกอล์ฟอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ได้เดินเข้ามาจนถึงภายในตัวบ้าน เพื่อนกอล์ฟที่อยู่ในบ้านต่างตกใจ ตำรวจแจ้งว่ามาสอบถามหากอล์ฟอีกครั้ง พร้อมถามข้อมูลส่วนตัว เช่น กอล์ฟเรียนที่ไหน  มีนิสัยอย่างไร มีพฤติกรรมไปเกี่ยวข้องกับการชู 3 นิ้วด้วยใช่หรือไม่ ระหว่างพูดคุยตำรวจมีการถ่ายรูปทั้งบ้านและเพื่อนของกอล์ฟไว้ เมื่อเพื่อนของกอล์ฟสอบถามว่าตำรวจชื่ออะไร ทางเจ้าหน้าที่ไม่บอกแล้วหันไปคุยเรื่องอื่นแทน

ล่าสุดวันที่ 8 ธ.ค. 63 มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 3 นาย เข้ามาที่บ้านเพื่อนของกอล์ฟอีกครั้ง โดยจากการสอบถาม เจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นรองสารวัตรสืบสวน สภ.เชียงดาว มาทำตามหน้าที่เพื่อรายงานนาย มีการขอถ่ายรูปบ้านไปว่าได้มาพบแล้ว จากนั้นก็สอบถามคล้ายๆ กับเจ้าหน้าที่ชุดก่อนๆ หน้า ว่ากอล์ฟอาศัยอยู่ที่ไหน เป็นคนอย่างไร ทำกิจกรรมอะไร ทำงานอะไรอยู่ พร้อมกับระบุว่ามาติดตามตามหน้าที่ เจ้าหน้าที่ไม่ได้จะเป็นศัตรูอะไร และระบุว่าเดี๋ยวครั้งหน้าจะมาอีก

นอกจากนี้ ยังมีรายงานอีกว่ากลุ่มการแสดงที่ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าพบอีกกลุ่มหนึ่ง คือ “กลุ่มลานยิ้มการละคร” โดยเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 63 เวลาประมาณ 12.50 น. ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบใส่เสื้อโปโลสีเหลือง กางเกงยีนส์ เข้ามายังสถานที่ซ้อมละครของกลุ่ม แนะนำตัวว่าเป็นตำรวจจาก สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ ขอสอบถามข้อมูลว่าช่วงนี้จนถึงปลายปี จะมีการจัดกิจกรรมใดหรือไม่ สมาชิกลานยิ้มระบุว่ามีกิจกรรมการแสดงวันที่ 16-20 ธ.ค. เจ้าหน้าที่จึงได้สอบถามว่ามีใครแสดงบ้าง สมาชิกลานยิ้มจึงแจ้งว่าให้ติดต่อผู้ประสานงานของกลุ่ม คือนายนลธวัช มะชัย

เจ้าหน้าที่จึงได้สอบถามว่าน้องกอล์ฟที่เรียนแมสคอม และเคยทำกิจกรรมเรื่องชัยภูมิ ป่าแส ใช่หรือไม่ เมื่อสมาชิกกลุ่มลานยิ้มตอบว่าใช่ ทางเจ้าหน้าที่ระบุว่ามีเบอร์โทรศัพท์อยู่แล้ว และจะโทรติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลต่อไป โดยก่อนเดินทางกลับเจ้าหน้าที่ได้ขอถ่ายรูปคู่กับสมาชิกลานยิ้มและภาพของสถานที่เอาไว้ เมื่อสอบถามว่าจะถ่ายไปทำไม เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องนำไปรายงานว่ามาพบกลุ่มนี้แล้ว

ขณะที่ “ยอร์ช” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มลานยิ้มการละคร ก็ได้รับแจ้งจากทางบ้านว่าเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 63 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ติดต่อแม่ของเขา โดยเป็นตำรวจในพื้นที่อำเภอสันทราย และได้ขออนุญาตเข้ามาถ่ายรูปที่บ้านของยอร์ช เมื่อแม่สอบถามว่าจะเอาไปทำอะไร ตำรวจระบุว่าเป็นหน้าที่ถ่ายรูปเก็บไว้เฉยๆ ตำรวจยังได้ขอเบอร์ของยอร์ชเพื่อติดต่อและแจ้งว่าจะเข้าไปพบกับเขาด้วย แต่ยอร์ชยังไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าว

 

ผู้พิการที่ตกเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง ในคดี ม.116 ถูกตำรวจนัดคุยกินกาแฟ

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 63 นายสุริยา แสงแก้วฝั้น หรือ “เยล” ผู้พิการซึ่งปราศรัยเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคเพื่อคนพิการ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งโทรนัดหมายให้ไปพบเพื่อพูดคุยที่ร้านกาแฟ ถนนเลียบคันคลองชลประทาน ในเวลาประมาณ 17.30 น. เมื่อไปถึง ตำรวจคนดังกล่าวได้แจ้งว่าจะมีเพื่อนของเขา 3-4 นายมาพูดคุยกับสุริยาด้วย จากนั้นมีชาย 4 คน ตัดผมทรงรองทรงสูง ใส่เสื้อยืดกางเกงยีนต์ โดยหนึ่งในนั้นสวมเสื้อกั๊กสกรีนคำว่า “ฝ่ายปกครอง” ทับเสื้อยืดด้วย เข้ามาพบสุริยาพร้อมตำรวจคนดังกล่าว จึงเข้าใจว่าอาจจะไม่ได้เป็นตำรวจทั้งหมด

เจ้าหน้าที่ทั้งสี่คนไม่แสดงตนว่าเป็นใคร ไม่แสดงเอกสารระบุตัวตนใดๆ แต่นำกระดาษหนึ่งแผ่นมาแสดงให้สุริยาดู หัวกระดาษปรากฎคำว่า “ทะเบียนราษฎร” และรูปถ่ายของสุริยาที่ขยายจากภาพถ่ายบัตรประชาชน ที่หมึกสีแดงข้อความว่า “ผู้ต้องหาตามหมายจับ” พิมพ์ทับภาพถ่ายนั้น สุริยาไม่ทราบว่าเอกสารดังกล่าวคือเอกสารอะไร เนื่องจากผู้แสดงเอกสารไม่อนุญาตให้สุริยาอ่านเอกสารและไม่ได้อ่านให้ฟัง รวมทั้งไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพไว้อีกด้วย

เจ้าหน้าที่ไม่ทราบชื่อคนหนึ่งพูดคุยโดยสรุปว่าช่วงนี้เป็นช่วงพระราชพิธี ห้ามเขาไม่ให้ไปเคลื่อนไหวที่ไหน พ้นช่วงนี้ไป จะไปเคลื่อนไหวก็ได้ เป็นสิทธิของเขา จากนั้นพยายามสอบถามว่าสุริยาพักอยู่ที่ไหน พักกับใคร กลับบ้านไปหาบิดามารดาบ้างหรือไม่ ซึ่งสุริยาก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถามทั้งหมด นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังพยายามสอบถามว่าช่วงนี้จะมีการจัดกิจกรรมที่ไหนอีกหรือไม่ ซึ่งสุริยาปฏิเสธว่าไม่ทราบ เพราะตนไม่ใช่แกนนำ

หลังจากนั้น  กลุ่มเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอาสาจะไปส่งเขา แต่สุริยาปฏิเสธ และเลือกเดินทางกลับด้วยตนเอง

 

 

นักเรียนเชียงใหม่ถูกตำรวจติดตามถึงบ้าน ย้ำเฝ้าระวังจับตา 3 เวลา ช่วงวันที่ 8-11 ธ.ค.

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 63 “โจโจ้” นักเรียนอายุ 19 ปี สมาชิกกลุ่มนักเรียนเชียงใหม่ ระบุว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปที่บ้านพักของเขาถึง 2 ครั้ง ในเวลาประมาณ 9.00 น. และ 12.30 น. แต่ไม่ได้พบกัน เพราะเขาเข้าร่วมการสัมมนาในตัวเมืองเชียงใหม่

การมาครั้งที่สองของตำรวจ ทำให้คุณยายโทรศัพท์ติดต่อเขา เพื่อแจ้งว่ามีชายสองคนแต่งชุดตำรวจครึ่งท่อน ขับรถตำรวจมาหาโจโจ้ที่บ้าน เขาจึงได้ขอพูดคุยกับตำรวจผ่านทางโทรศัพท์ จากการสนทนาทำให้ทราบว่าเป็นตำรวจยศร้อยตรีและสิบตรี ตำรวจระบุว่าโจโจ้อยู่ใน “รายชื่อเฝ้าระวัง 17 รายชื่อ” ของกลุ่มนักเรียนเชียงใหม่ ซึ่งโจโจ้ชี้แจงว่าตัวเขาไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่เคยขึ้นปราศรัย เพียงแค่เคยช่วยจัดเวทีของนักเรียนเท่านั้น ตำรวจไม่ได้กล่าวห้ามเขาไม่ให้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างชัดเจน แต่สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มนักเรียนเชียงใหม่ สมาชิกคนอื่นๆ และกิจกรรมที่จะจัดในอนาคต

จากนั้นวันที่ 8 ธ.ค. 63 เวลาประมาณ 9.30 น. ได้มีชายสองคนตัดผมเกรียน แต่งกายชุดตำรวจครึ่งท่อน มาพบโจโจ้ที่บ้านอีกครั้ง หนึ่งในนั้นใส่เสื้อกั๊กตำรวจและแขวนป้ายแสดงตนว่าเป็นตำรวจ พร้อมแสดงบัตรตำรวจด้วย แต่ชายอีกคนไม่แสดงตนว่ามาจากหน่วนใดและไม่แสดงเอกสารใดๆ ซึ่งเขาได้ขอแอดไลน์ของเจ้าหน้าที่ทั้งสองนายไว้ โดยปรากฎข้อมูลว่า ชายสวมเสื้อกั๊กซึ่งแสดงบัตรตำรวจใช้ชื่อไลน์ว่า “หมวดวีระวัฒน์ พูเลื่อน” และชายอีกคนใช้ชื่อไลน์ว่า “ดาบบุญเด็น โนจา”

“หมวดวีระวัฒน์” พูดคุยกับโจโจ้ว่า เขาอยู่ในหนึ่งรายชื่อเฝ้าระวังของกลุ่มนักเรียนเชียงใหม่ ตำรวจจึงมาพูดคุยด้วยเพราะจะมีการจัดพระราชพิธี เกรงว่าทางกลุ่มจะไปปั่นป่วนงาน และกล่าวว่าตนต้องทำรายงานต่อผู้บังคับบัญชา “หมวดวีระวัฒน์” ยังให้ข้อมูลว่าจะมีการมาเยี่ยมบ้านและถ่ายภาพของโจโจ้ ในช่วงเวลา 9.00 น. 13.00 น. และ 16.00 น. ของทุกวัน ระหว่างวันที่ 8-11 ธ.ค. 63 ซึ่งมีการเสด็จ อีกทั้งโจโจ้สังเกตเห็นว่าระหว่างพูดคุย ชายอีกคนที่ใช้ชื่อว่า “ดาบบุญเด็น” ได้ถ่ายภาพเขา โดยไม่มีการขออนุญาตใดๆ

 

นักศึกษาปัจจุบัน-อดีตนักศึกษา ถูกติดตามถึงที่บ้าน โทรศัพท์สอบถามข้อมูล

กรณีแรก วันที่ 27 พ.ย. 63 อดีตนักศึกษาซึ่งเพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเคยร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม “คณะคันนา” ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 2 นาย ขี่รถจักรยานยนต์มาที่บ้าน โดยตำรวจได้พูดคุยกับตาและแม่ของเขาระบุว่า “นาย” สั่งมา ให้มาสอบถามข้อมูล เจ้าหน้าที่ได้ถามถึงเบอร์โทรศัพท์ของอดีตนักศึกษารายนี้ โดยตำรวจระบุข้อมูลส่วนตัวของเขากับญาติได้หลายอย่าง อาทิ เคยเรียนอยู่ที่ไหน คณะอะไร รหัสนักศึกษาอะไร พักหอพักที่ไหน ทำให้คาดว่าทางมหาวิทยาลัยอาจส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจยังระบุกับญาติของเขาว่ามาเตือนๆ ไว้ก่อน เรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ยังไม่มีปัญหาอะไร ก่อนเดินทางกลับไป โดยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการเสด็จ

กรณีที่สอง เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 63 นายธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคดีมาตรา 116 จากการชุมนุมในจังหวัดเชียงใหม่  ระบุว่า แม่ของเขาได้โทรศัพท์แจ้งว่ามีชายสองคนไม่ได้สวมเครื่องแบบ อ้างตนว่าเป็นตำรวจนำภาพถ่ายของธนาธรมาสอบถามกับพนักงานรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน โดยถามว่าในหมู่บ้านนี้มีบุคคลนี้อยู่หรือไม่ พนักงานรักษาความปลอดภัยปฏิเสธที่จะตอบคำถามและเชิญชายสองคนออกจากหมู่บ้าน เนื่องจากไม่สวมเครื่องแบบและไม่มีการแสดงเอกสารประจำตัวใดๆ และได้แจ้งเหตุกาณ์ดังกล่าวต่อแม่ของธนาธรไว้

กรณีที่สาม เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 63 นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชั้นปีที่ 4 ซึ่งกำลังฝึกงานในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาพบถึงที่ฝึกงาน โดยเข้าไปสอบถามหาตัวเขา พร้อมแจ้งกับที่ทำงานว่าเขามีอยู่ใน “รายชื่อบุคคลต้องจับตา” ในช่วงที่รัชกาลที่ 10  เสด็จมาในจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้มาติดตามตัวโดยเฉพาะ นักศึกษาคนดังกล่าวได้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าการมาที่ทำงานอย่างนี้ไม่ถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่าต้องมาพบไว้ เพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนไหวในช่วงนี้ ซึ่งเขาก็ได้ยืนยันว่าไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ที่ทำงานของเขาตกใจเป็นอย่างมากด้วย

ต่อมาราววันเสาร์ที่ 5 ธ.ค. 63 ยังได้มีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งแชทติดต่อมาทางเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา โดยระบุว่าให้ติดต่อกลับทางเจ้าหน้าที่ด้วย พร้อมทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ให้ แต่เขาก็ไม่ได้ติดต่อกลับแต่อย่างใด

กรณีที่สี่ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 63 เวลาประมาณ 18.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่าเป็นร้อยตำรวจเอกฝ่ายสืบสวนของ สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ โทรศัพท์ติดต่อมายังพ่อของนายนพดล พอใจ บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำรวจระบุว่าจะสอบถามข้อมูลของนพดล พ่อจึงให้นพดลพูดกับทางตำรวจ เมื่อสอบถามว่าได้เบอร์พ่อของตนมาได้อย่างไร ตำรวจระบุว่าได้มาจากตำรวจในจังหวัดน่าน บ้านเกิดของเขา

จากนั้นตำรวจสอบถามว่าตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน ยังเรียนอยู่หรือไม่ นพดลระบุว่าเรียนจบแล้วและทำงานในจังหวัดน่าน ตำรวจจึงสอบถามว่าเขามาเชียงใหม่บ่อยหรือไม่ และถามว่าเขาเคยทำกิจกรรมทางการเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ใช่หรือไม่ ส่วนนพดลพยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าโทรมาด้วยเรื่องอะไร ตำรวจระบุว่าได้รับคำสั่งจาก “ส่วนกลาง” ให้มาสอบถามข้อมูล ไม่ได้มีอะไร แค่สอบถามข้อมูลเฉยๆ ก่อนจะวางสายไป นพดลจึงคาดว่าการที่ตำรวจโทรมา มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสด็จช่วงวันที่ 8-11 ธ.ค. ในจังหวัดเชียงใหม่

 

 

อดีตอาจารย์ มช. ถูกตำรวจโทรศัพท์ติดต่อขอนัดพบ – อดีตกรรมการภาคเหนือพรรคอนาคตใหม่ ถูกตามถึงบ้าน

ชัชวาล บุญปัน อดีตอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหนึ่งในคณาจารย์ที่เคยทำกิจกรรมในนามมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน  ได้โพสต์เฟซบุ๊กเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 63 เวลาประมาณ 19.00 น. ตนได้รับการโทรศัพท์ติดต่อจากดาบตำรวจจาก สภ.เมืองเชียงใหม่ สอบถามว่าผู้บังคับบัญชาของดาบตำรวจคนดังกล่าวจะขอมาพบเขาในวันพรุ่งนี้เช้าได้หรือไม่ ชัชวาลระบุว่าไม่สะดวก ขอคุยกันทางโทรศัพท์ได้หรือไม่ ดาบตำรวจจึงได้สอบถามข้อมูลส่วนตัวเรื่องบ้านพักอาศัยของเขา ทำงานที่ไหน อยู่ในเชียงใหม่ใช่หรือไม่ มีการเดินทางไปไหนหรือไม่ และถามว่ายังทำกิจกรรมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนอยู่หรือไม่

ขณะเดียวกัน เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ อดีตกรรมการสัดส่วนภูมิภาค ภาคเหนือ และ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่าเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 63 เวลาประมาณ 8.40 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสภ.สันทรายหลวง จำนวน 2 นาย เดินทางเข้าไปที่บ้านของเธอ เพื่อสอบถามว่าบ้านเลขที่นี้ใช่ชื่อของเยาวลักษณ์หรือไม่ เธอพยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ว่ามาพบเธอด้วยเหตุผลอะไร แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ได้ข้อมูลเพียงว่าได้รับคำสั่งมาเมื่อเช้านี้ให้มาดู  ขณะที่ตำรวจอีกนายก็ได้ทำการถ่ายภาพของเยาวลักษณ์และบ้านของเธอระหว่างการพูดคุยไปด้วย

 

ร้านหนังสือและนักแปลอิสระ ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัวสอบถามกิจกรรมช่วงเสด็จ  

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 63 เวลาประมาณ 15.47 น. ที่ร้านหนังสือ Book Re:public ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 4 นาย เข้ามาที่ร้าน โดยได้เข้ามาสอบถามกลุ่มนักศึกษาภายในร้านว่ามาหาพี่รจเลข วัฒนพาณิชย์ เจ้าของร้าน

เมื่อพบกับรจเลข เจ้าหน้าที่แนะนำตัวว่าเป็นตำรวจยศผู้กอง มาจากสภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ มาขอข้อมูลของเธอ โดยจะขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อ แต่เธอไม่ได้ให้ไป รจเลขได้ถามว่าเจ้าหน้าที่มาเพราะจะมีเสด็จใช่ไหม ตำรวจรับว่าใช่  ตำรวจจึงได้ถามต่อว่าจะมีกิจกรรมอะไรช่วงนี้หรือไม่  ระหว่างพูดคุยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนายหนึ่งยังได้ยกมือถือขึ้นมาถ่ายรูป รจเลขได้ต่อว่าไปว่าถ่ายรูปแบบนี้ได้ขออนุญาตหรือยัง ทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าขอถ่ายรูปเพียงรูปเดียว ต้องใช้ในการรายงาน ต้องขอโทษจริงๆ รจเลขจึงระบุว่าบอกว่าตนมีงานอยู่ จึงต้องขอตัว ทางกลุ่มเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจึงได้เดินทางกลับไป

วันเดียวกันนั้น พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาติดตามหาตัวที่บ้าน แต่ไม่มีใครอยู่ ทางเจ้าหน้าที่จึงไปสอบถามข้อมูลจากเพื่อนบ้าน โดยแนะนำตัวว่าเป็นตำรวจจากสภ.สันกำแพง สอบถามหาชื่อ “พิภพ” ระบุว่าจะมีขบวนเสด็จในจังหวัดเชียงใหม่ และเขาเป็นคนโพสต์เฟซบุ๊กรุนแรง ตำรวจเลยต้องมาติดตามดู เมื่อไม่พบตัวก็ได้เดินทางกลับไป

ต่อมาวันที่ 6 ธ.ค. 63 ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่แนะนำตนเอง เข้ามาที่บ้านของพิภพอีกครั้ง พบกับลูกชายของเขา จึงได้สอบถามพิภพอยู่หรือไม่ เนื่องจากจะมีขบวนเสด็จในจังหวัดเชียงใหม่ จึงต้องมาสอบถามว่าช่วงนี้พิภพจะเดินทางไปที่ไหน ทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ แต่ลูกของเขาระบุว่าพิภพไม่อยู่ เจ้าหน้าที่ยังขอเบอร์ติดต่อของพิภพ แต่ลูกชายก็ไม่ได้ให้ไปแต่อย่างใด

ในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 5-10 ธ.ค. 63 ที่บ้านของภัควดี วีระภาสพงษ์  นักเขียนและนักแปลอิสระอีกหนึ่งคน และยังเป็นอดีตผู้ถูกกล่าวหาในคดีทางการเมือง จากการชูป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปติดตามที่บ้านรวมกันถึงสี่ครั้ง แต่ที่บ้านไม่มีใครอยู่ จึงไม่ได้พบกับเจ้าหน้าที่ มีเพียงคำบอกเล่าของคนภายในหมู่บ้าน ระบุว่ามีตำรวจมาหาเธอที่บ้าน

ทั้งเมื่อวันจันทร์ที่ 7 ธ.ค. 63 ช่วงเย็น ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ มาจอดรถยนต์ตำรวจอยู่ที่บ้านของภัควดี เมื่อเห็นว่าไม่มีใครอยู่ เจ้าหน้าที่พร้อมกับภรรยาจึงได้เข้าไปในบ้านของเพื่อนบ้าน เพื่อสอบถามว่ารู้จักภัควดีหรือไม่ และจะติดต่อเธอได้อย่างไร แต่เพื่อนบ้านไม่มีเบอร์ เจ้าหน้าที่จึงได้ให้เบอร์ของภรรยาตัวเองไว้กับเพื่อนบ้าน โดยฝากให้ภัควดีติดต่อทางเจ้าหน้าที่กลับด้วย ก่อนจะเดินทางกลับไป

 

 

2 นักกิจกรรมในจังหวัดลำพูน ที่เคยเข้าร่วมชุมนุมในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกตำรวจโทรศัพท์ติดต่อ-ผกก.สภ.เมืองลำพูนเข้าพูดคุย

ศราวุธ ชมสวน นักกิจกรรมในจังหวัดลำพูน ที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมที่เชียงใหม่หลายครั้ง เล่าว่าเขาถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นประจำตั้งแต่เริ่มทำกิจกรรมทางการเมือง เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว โดยรูปแบบการคุกคามจากตำรวจส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาพูดคุยสอบถามถึงบ้านโดยไม่มีเหตุ หรือหมายใดๆ มีการขับรถมาจอดใกล้บ้าน บางครั้งมีการถ่ายรูปบ้าน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 63 ได้มีตำรวจโทรศัพท์ติดต่อแจ้งว่ารัชกาลที่ 10 จะเสด็จมาเชียงใหม่ และจะมีตำรวจมาติดตามสอดส่องพฤติกรรมของเขา ตั้งแต่วันนั้น ศราวุธจึงสังเกตว่ามีรถยนต์น่าสงสัยขับมา และลดความเร็วลงบริเวณใกล้บ้านของเขาในช่วงเวลาสาย เย็น และกลางดึก เป็นประจำทุกวัน

ต่อมาวันที่ 4 ธ.ค. 63 เวลาประมาณ 10.00 น. มีชายสามคนมาพบศราวุธที่บ้าน ทั้งสามแต่งกายนอกเครื่องแบบ แต่แสดงบัตรประจำตัวตำรวจให้เขาดู อ้างว่ามาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาและเครือข่ายกิจกรรมที่เขารู้จัก ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. ผู้กำกับสภ.เมืองลำพูน ยังเดินทางมาพบกับศราวุธที่บ้าน โดยแต่งเครื่องแบบเต็มยศ พร้อมทั้งแสดงบัตรประจำตัว แนะนำตัวว่าเพิ่งย้ายมาประจำการ จึงมาทำความรู้จัก เมื่อพูดคุยกันช่วงหนึ่งก็ได้เดินทางกลับไป

ขณะเดียวกัน เกษตรกรในจังหวัดลำพูนอีกรายหนึ่ง ที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมที่เชียงใหม่เช่นกัน ก็เผยว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 63 เวลาประมาณ 15.00 น. ได้มีตำรวจมาหาตนบ้านพัก แต่ไม่ได้พบกัน เนื่องจากตนไปทำธุระที่อื่น ตำรวจจึงได้พบกับญาติที่พักอยู่ที่บ้าน จากคำบอกเล่าของญาติ มีตำรวจประมาณ 3-4 คน แต่งกายในเครื่องแบบ แต่ไม่แสดงบัตรประจำตัว พยายามถามว่าเกษตรกรรายนี้ไปอยู่ที่ไหน เมื่อทราบว่าไม่อยู่ จึงได้ฝากข้อความไว้ว่าไม่อยากให้เขาเดินทางไปเชียงใหม่ในช่วงนี้ เนื่องจากรัชกาลที่ 10 ทรงเสด็จมา

 

ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกติดตามด้วยพูดคุยห้ามเคลื่อนไหว

ขณะเดียวกันนอกจากนักกิจกรรมและผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแล้ว ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตามถึงที่พักด้วย โดยเมื่อ วันที่ 26 พ.ย. 63 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 1 นาย อ้างว่าเป็นหน่วยสืบสวน แต่ไม่ทราบว่าสังกัดใด เดินทางมาที่บ้านตามทะเบียนบ้านของ ทนายเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายหนึ่ง โดยตำรวจสอบถามถึงทนาย แต่เขาไม่ได้อยู่ในขณะนั้น เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งคนที่อยู่บ้านว่าเนื่องจากในหลวงจะมาพระราชทานปริญญาบัตรในช่วงเดือนธันวาคม จึงจะมาสอบถามข้อมูลเอาไว้

วันเดียวกันนั้น ยังได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 7 นาย เดินทางไปที่บ้านที่มีชื่อของทนายธีรพล คุ้มทรัพย์ ทนายเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในทะเบียนบ้าน บริเวณอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้พบกับเพื่อนของทนายธีรพลเจ้าหน้าที่ได้สอบถามถึงทนายธีรพลว่าอยู่บ้านหลังนี้หรือไม่ เพื่อนแจ้งว่าไม่ได้อยู่ เจ้าหน้าที่จึงแจ้งว่ามาเยี่ยมเพื่อเตือนๆ กันไว้ ไม่ได้มีเรื่องการกระทำความผิด แต่เนื่องจากจะมีการเสด็จบ่อยในช่วงนี้ จึงไม่อยากให้ไปทำกิจกรรมทางการเมืองใด ชุดเจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้าไปในบ้าน แต่ได้ถ่ายรูปของเพื่อนทนายธีรพลไป และยังขอได้เบอร์โทรศัพท์เพื่อนไปด้วย

จนกระทั่งวันที่ 7 ธ.ค. 63 ได้มีชายวัยกลางคนหัวเกรียน 3 คน แสดงตัวเป็นตำรวจ แจ้งว่ามาจากสภ.แม่ริม เดินทางมาพบธีรพลถึงหอพัก ทางตำรวจระบุว่ามีคำสั่งให้มาเตือนเขาว่าอย่าเคลื่อนไหวช่วงนี้เพราะจะมีเสด็จ ทนายธีรพลจึงแจ้งกลับไปว่าตนรู้สึกโกรธมากที่ทางเจ้าหน้าที่มาทำแบบนี้ ตนเองเป็นทนายความ ตำรวจก็ทราบดีเพราะไปทำคดีบ่อย ทำไมจึงไม่โทรศัพท์ติดต่อมา จากนั้นคนที่อ้างตัวว่าเป็นผู้กองชื่อ “ไพฑูรย์” ได้กล่าวขอโทษ และขอถ่ายรูปทนายธีรพลไว้ จากนั้นจึงได้ขอแลกเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์กันไว้  ก่อนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจะเดินทางกลับไป

 

 

กระบวนการติดตามคุกคามนอกกฎหมายยังดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ กระบวนการเข้าติดตามถึงบ้านนักเรียน นักศึกษา นักกิจกรรมและทนายความที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ไม่ใช่กระบวนการที่มีกฎหมายรองรับให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิบัติการได้ จนอาจไปถึงขั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการข่มขู่ให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หลายครั้งเจ้าหน้าที่ไม่สวมใส่เครื่องแบบ ไม่ระบุชื่อสังกัด และไม่แสดงบัตรประจำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอาจเป็นใครแอบอ้างมากระทำการดังกล่าวก็ได้ ไม่ต่างจากโจรผู้ร้าย

อีกทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่ถูกติดตามเหล่านี้เกือบทั้งหมดเพียงแต่ใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา โดยไม่ได้มีความเคลื่อนไหวที่จะไปแสดงออกรบกวนการเสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเลยแม้แต่น้อย การเข้าติดตามข่มขู่ พร้อมกับจัดทำรายชื่อ “บุคคลเฝ้าระวัง” เช่นนี้ของเจ้าหน้าที่ จึงมีลักษณะเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ และละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

หากสังคมอยู่ในระบอบประชาธิปไตยและหลักการนิติรัฐที่เป็นสากล ปฏิบัติการเหล่านี้จะต้องถูกตรวจสอบและนำเจ้าหน้าที่ทั้งระดับปฏิบัติการและระดับสั่งการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย จนไปถึงการลงโทษต่อการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย

 

X