หลังจากเย็นวานนี้ (9 มิ.ย. 64) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้ว ได้เข้าอายัดตัวนายอุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล หรือ “ก้อง” อายุ 23 ปี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาชิกเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเพิ่งได้รับการประกันตัวจากคดีมาตรา 112 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ก่อนนำตัวไปยังสภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง
>> นศ.ราม-ประชาชน ได้ประกันตัวคดี ม.112 หลังถูกตร.ปอท.แจ้งข้อหา-สอบสวน โดยไม่มีทนาย-ผู้ไว้ใจอยู่ด้วย
เมื่อไปถึง สภ.บางแก้ว ได้มีทนายความและนักกิจกรรมจากเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ติดตามไปที่สถานีตำรวจด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดทำบันทึกการจับกุม โดยพบว่าหมายจับที่ใช้จับกุมอุกฤษฏ์ เป็นหมายจับเลขที่ 257/2564 ออกโดยศาลจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 64 ระบุข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
การจับกุมเกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ท.ศุภฤกษ์ จงรักษ์ รองผู้กำกับสืบสวน สภ.บางแก้ว โดยมีชุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.บางแก้ว 3 นาย นำโดย ร.ต.อ.สุนทร ทองพงษ์เนียม รองสารวัตรสืบสวน สภ.บางแก้ว โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ทราบว่านายอุกฤษฏ์ถูกจับกุมตัวอยู่ที่ บก.ปอท. จึงได้เดินทางไปยังที่ดังกล่าว และได้เข้าจับกุมในเวลาประมาณ 17.00 น. ระหว่างนายอุกฤษฏ์เดินอยู่หน้าประตูลิฟท์ทางขึ้นลงอาคารบี ชั้นที่ 4 ของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ทั้งนี้นายอุกฤษฏ์ปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม
จากนั้น พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อนายอุกฤษฏ์ ในสองข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 63 นายศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ผู้กล่าวหา ได้นั่งดูเฟซบุ๊กในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของตนเอง พบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กได้แชร์ข้อความเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงกษัตริย์ไทยที่หน้าโรงแรมในประเทศเยอรมนี และได้เขียนข้อความประกอบการแชร์ว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย”
ต่อมานายศิวพันธุ์ได้ให้เพื่อนที่รู้จัก นำชื่อบัญชีเฟซบุ๊กซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ แต่สะกดภาษาไทยได้เป็นชื่อสกุลของนายอุกฤษฏ์นั้น ไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร พบว่ามีชื่อดังกล่าว และมีใบหน้าตรงกับภาพโปรไฟล์ของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว จึงเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ต่อบุคคลที่สาม คือประชาชนทั่วไปที่ได้เข้ามาเห็นและอ่านข้อความ อันประการจะทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา
อุกฤษฏ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป โดยพนักงานสอบสวนได้พิมพ์ลายนิ้วมือ และลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน พร้อมควบคุมตัวเขาไว้ที่สถานีตำรวจในช่วงคืนที่ผ่านมา
ก่อนที่ในช่วงเช้าวันนี้ (10 มิ.ย. 64) ร.ต.อ.ชนธัญ พรหมรักษา พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว จะได้นำตัวอุกฤษฏ์ไปยื่นขอฝากขังที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ โดยระบุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจลายนิ้วมือของผู้ต้องหา จึงมีความจำเป็นต้องขอฝากขังเป็นระยะเวลา 12 วัน และยังคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา แต่ไม่ได้ระบุเหตุผลการคัดค้านเอาไว้
ต่อมา ศาลได้อนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักทรัพย์ประกัน
เวลา 14.30 น. ศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวอุกฤษฏ์ ก่อนที่เขาจะได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563 นายอุกฤษฏ์เคยได้รับหมายเรียกพยานจาก สภ.บางแก้ว ลงวันที่ 16 ต.ค. 63 ระบุว่าให้เขาไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นพยานประกอบคดี ซึ่งนายศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ได้กล่าวหาว่ามีผู้โพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีหมายเรียกผู้ต้องหามาแต่อย่างใด จนนายอุกฤษฏ์ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการในคดีที่เกิดขึ้นนี้
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในคดีมาตรา 112 ซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ สภ.บางแก้ว มีนายศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้จำนวนอย่างน้อย 7 คดีแล้ว โดยทั้งหมดเป็นการไปแจ้งความไว้ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปี 2563 ผู้ถูกดำเนินคดีหลายรายเคยได้รับหมายเรียกพยานมาก่อนแล้ว ก่อนตำรวจจะเริ่มมีการดำเนินคดีในปี 2564 นี้ ทั้งในรูปแบบการออกหมายเรียก หรือไปขอศาลออกหมายจับ อย่างในกรณีของอุกฤษฏ์
นอกจากนี้ พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ยังมีแนวทางการนำตัวผู้ต้องหาที่มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไปขออนุญาตศาลฝากขัง ทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกควบคุมตัวและใช้หลักทรัพย์ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกด้วย
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับจากเริ่มมีการนำมาตรา 112 มาบังคับใช้ใหม่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดอย่างน้อย 99 ราย ใน 94 คดี โดยแนวโน้มในช่วงหลังคดีเกิดขึ้นจากการแสดงออกบนโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ คือรวมแล้วมีจำนวน 42 คดี จากคดีเท่าที่ทราบทั้งหมด
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64