เมื่อ Performance Art ขึ้นสู่ศาล: ประมวลการต่อสู้คดี ม.112 “รามิล” เหตุราดสี-แสดงศิลปะเคลื่อนไหวร่างกายบนป้าย มช.

วันที่ 8 พ.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ “รามิล” นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม artn’t ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีแสดง Performance art หรือ ศิลปะการแสดงสด ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 โดยเขาถูกกล่าวหาว่าเคลื่อนไหวท่าทางต่างๆ เช่น ท่าครุฑ และนอนหงายพร้อมใช้เท้าชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10

คดีนี้มี พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง เป็นผู้กล่าวหา พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 โดยรามิลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ต่อมาศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยไปทั้งหมด 5 นัด เมื่อวันที่ 18 – 20, 25 – 26 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา 
.

ประเด็นการต่อสู้คดี: โจทก์อ้างใช้เท้าชี้พระบรมฉายาลักษณ์เป็นการหมิ่นกษัตริย์ – จำเลยต่อสู้ เป็นการแสดง performance art ประท้วงมหาลัย

ในการสืบพยาน ฝ่ายอัยการโจทก์พยายามนำสืบว่าจำเลยจงใจเลือกสถานที่ที่มีป้ายข้อความ “ทรงพระเจริญ” และมีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 อยู่ พร้อมใช้น้ำสีแดงเทราดตัวไปจนเปรอะเปื้อนรูปและป้ายข้อความ ขณะที่การแสดงกิริยาเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ ด้วยการนั่งห้อยขา นั่งยองๆ แสดงท่าครุฑ ยืนเอาถังสีสวมครอบศีรษะ และนอนหงายโดยใช้เท้าขวา ซึ่งเป็นอวัยวะเบื้องต่ำ ชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งฝ่ายโจทก์อ้างว่าเป็นการแสดงพฤติกรรมที่มีลักษณะจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

อัยการโจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบ 12 ปาก ได้แก่ 1. ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ จินะธรรม เจ้าพนักงานตำรวจผู้เห็นเหตุการณ์ 2. พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง ผู้กล่าวหา 3. พ.ต.ท.นรากร ปิ่นประยูร เจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำรายงานสืบสวน 4. รัตนะ แสนเพ็ญ เจ้าหน้าที่กองกฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5. ขวัญชัย ตันแจ้ เจ้าหน้าที่จัดการงานเอกสารของงานรักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 6. อุดม สุภาษี เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้เห็นเหตุการณ์ 7. พรพิมล ยี่ตันสี รองผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ 8. พิชิตชัย เกลอดู ผู้อำนวยการศูนย์ยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ 9. สุกิจ เดชกุล ประธานกลุ่มไทยภักดี 10. มนตรี วงศ์เกษม พยานความเห็น 11. พันธ์ุทิพย์ นวานุช คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ และ 12. พ.ต.ท.อดุลย์ สวยสม พนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์

ส่วนฝ่ายจำเลยปฏิเสธและต่อสู้คดี โดยยืนยันว่าตนไปทำศิลปะการแสดงสด Performance Art ที่บริเวณบนป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากต้องการแสดงออกเรียกร้องความเป็นธรรมต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะที่ผ่านมาตนมีปัญหาขัดแย้งกับคณบดี ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์มาก่อน ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษา ไม่มีเจตนากระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์

ฝ่ายจำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบ 4 ปาก ได้แก่ 1. จำเลย 2. ภาสกร อินทุมาน อาจารย์วิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 4. กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

.

ภาพประกอบ ขณะแสดง Performance Art ที่ป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพขณะการแสดง Performance Art ที่ป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 1 พ.ค. 64

.

ผู้กล่าวหา – พนักงานตำรวจผู้เห็นเหตุการณ์ เห็นจำเลยร่ายรำ ทำท่าครุฑและใช้เท้าชี้รูป แต่ไม่มีใครเข้าจับกุม

พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง รองผู้กำกับฝ่ายสืบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ผู้กล่าวหา เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 1 พ.ค. 2564 เวลา 18.00 น. ที่บริเวณประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ จินะธรรม ผบ.หมู่ป้องกันและปราบปราม และ ร.ต.อ.โสภณ ตามา รองสารวัตรสืบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้เห็นเหตุการณ์ รายงานให้ พ.ต.ท.อานนท์ ทราบเป็นระยะ 

เหตุการณ์เริ่มจากมีกลุ่มบุคคลประมาณ 6-8 คน กำลังทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “ยืน หยุด ขัง” และถือป้าย “คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน” ระหว่างที่ผู้เห็นเหตุการณ์ทั้งสองมาถึง ก็พบจำเลยยืนอยู่บนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีสีแดงราดตัว และแสดงกริยาท่าทางต่างๆ ในลักษณะเป็นการร่ายรำ ยกมือ เท้าเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และหยุดเป็นพักๆ เพื่อให้มีบุคคลอื่นมาถ่ายภาพ โดยรวมใช้เวลาแสดงประมาณ 40 นาที 

โดยสภาพพื้นที่ ฐานของป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สูงจากพื้นดินประมาณ 2.30 เมตร ส่วนบนสุดของป้ายมหาวิทยาลัยอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 4 เมตร ส่วนรูปพระบรมฉายาลักษณ์ และป้าย “ทรงพระเจริญ” อยู่สูงจากป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกประมาณ 90 เซนติเมตร โดยลักษณะของพระบรมฉายาลักษณ์จะอยู่บริเวณตรงกลางด้านบนของป้าย เป็นจุดเด่น ประชาชนทั่วไปสามารถพบเห็นได้

ในการแสดงร่ายรำของจำเลย มีจังหวะที่นอนลงและใช้เท้าชี้ขึ้นไปด้านบน ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ตั้งอยู่ ห่างออกไป 90 เซนติเมตร และจำเลยยังแสดงทำท่าครุฑ ซึ่งจากความเห็นของของผู้เชี่ยวชาญในทางนาฏศิลป์นั้น เป็นการสื่อถึงพระมหากษัตริย์ อีกทั้งการแสดงท่าครุฑนั้นเป็นของสูง จึงไม่มีการนำมาแสดงกันเป็นการทั่วไป 

นอกจากนี้พยานโจทก์ยังกล่าวถึงการแสดงออกทางการเมืองครั้งอื่นๆ ของจำเลยที่อ้างว่าเชื่อมโยงกับประเด็นสถาบันกษัตริย์ โดยมี พ.ต.ท.นรากร ปิ่นประยูร สารวัตรสืบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นผู้จัดทำรายงานสืบสวนการทำกิจกรรมทางการเมืองครั้งอื่นๆ ของจำเลย เพื่อพยายามแสดงว่าจำเลยมีพฤติกรรมต่อต้านกษัตริย์ 

อาทิเช่น คดีความที่จำเลยทำผืนผ้าลักษณะคล้ายธงที่มีสีแดง ขาว แต่ไม่มีสีน้ำเงิน และเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปมาเขียนข้อความลงผืนผ้าดังกล่าว ซึ่งคดีนี้มี อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมทั้งนำธงดังกล่าวมามอบให้พนักงานสอบสวน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการสืบพยาน และกิจกรรมการแสดง Performance art ครั้งอื่นๆ ของจำเลยที่เป็นการแสดงออกทางการเมืองและสุ่มเสี่ยงต่อการหมิ่นกษัตริย์ฯ นอกจากนี้เอกสารโจทก์ยังปรากฏแผนผังอ้างความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับกลุ่มนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ ด้วย

จากการเห็นภาพของจำเลยที่กำลังแสดงดังกล่าว พ.ต.ท.อานนท์ ผู้กล่าวหาและพยานโจทก์ ต่างก็เชื่อว่าจำเลยจงใจเตรียมการไปแสดงศิลปะเคลื่อนไหวที่ป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องจากมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และเป็นสถานที่ที่ประชาชนทั่วไปพบเห็นได้ การใช้สีราดใส่ตัว ย่อมคาดหมายได้ว่าสีจะไปเปรอะเปื้อนพระบรมฉายาลักษณ์ และการแสดงการต่อต้านผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็สามารถไปแสดงที่อื่นได้ 

พยานโจทก์ตอบทนายความถามค้าน พ.ต.ท.อานนท์ รับว่าตนเป็นหนึ่งในผู้กล่าวหาคดีผืนผ้าแถบสีลักษณะคล้ายธงชาติที่จำเลยถูกดำเนินคดีอีกคดีหนึ่งด้วย และในคดีนั้นจำเลยก็ไม่ใช่ผู้เขียนข้อความที่ไม่เหมาะสมลงบนผืนผ้าแต่อย่างใด 

ในวันเกิดเหตุคดีนี้ พ.ต.ท.อานนท์ ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง แต่ได้รับรายงานสถานการณ์เป็นระยะจาก ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ และ ร.ต.อ.โสภณ ผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ และมีการถ่ายวิดีโอภาพเคลื่อนไหวการแสดงดังกล่าวไว้ แต่โจทก์ไม่มีการส่งให้ศาลได้ดูแต่อย่างใด ทั้งนี้การแสดงท่าทางต่างๆ ของจำเลยไม่ได้มีความหมายชัดเจน แต่ พ.ต.ท.อานนท์ เข้าใจว่าเป็นการหมิ่นกษัตริย์ ซึ่งเป็นความคิดเห็นของพยานเอง 

ส่วน ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ ตอบทนายความว่า สภาพพื้นที่บนป้ายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีพื้นที่แคบพอจะยืนอยู่ได้เท่านั้น และตนถ่ายภาพรายงานผู้บังคับบัญชาโดยเลือกถ่ายภาพนิ่งเฉพาะบางท่าทางตามที่คิดว่าควรจะถ่าย ไม่ได้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวเป็นวิดีโอรายงาน และตนเห็นว่าการยกเท้าของจำเลยตามภาพถ่ายมีลักษณะยกขึ้นไปตรงๆ ไม่ได้เอียงชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์ เพียงแต่ทำท่าทางดังกล่าวใกล้กับพระบรมฉายาลักษณ์ และเมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นภาพดังกล่าวก็ไม่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์เข้าไปทำการจับกุมจำเลยทันทีหรือสั่งการให้เข้าไปหยุดจำเลยการกระทำดังกล่าว

นอกจากนี้ ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ และ ร.ต.อ.โสภณ รับว่าทั้งสองไปพบจำเลยในพื้นที่เกิดเหตุหลังจากกิจกรรมเริ่มไปสักพัก หลังจากที่จำเลยปีนขึ้นไปบนป้ายมหาวิทยาลัยและเทสีแดงราดตัวแล้ว จึงไม่เห็นเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ โดยทั้งสองยืนอยู่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อฝั่งตรงข้าม ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากจุดที่จำเลยทำกิจกรรมประมาณ 20-30 เมตร นอกจากนี้ ร.ต.อ.โสภณ และ พ.ต.ท.นรากร ยังให้การต่อไปว่าเห็นจำเลยแสดงท่าทางต่างๆ ยกมือยกเท้าไปเรื่อยๆ เป็นเวลา 40-50 นาที แต่โดยรวมแล้วตนเองก็ไม่เข้าใจว่าการแสดงท่าทางดังกล่าวของจำเลยต้องการสื่อถึงอะไร 

พนักงานอัยการถามติง พ.ต.ท.อานนท์, ร.ต.อ.โสภณ และ ส.ต.ท.พงศ์ฤทธิ์ ยืนยันคล้ายกันว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงออกทางร่างกาย มีการสาดสี แสดงท่าทางครุฑซึ่งเป็นของสูง และท่าทางอื่นๆ ใกล้กลับพระบรมฉายาลักษณ์ จึงเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาเพราะบุคคลทั่วไปจะไม่แสดงท่าทางอย่างที่จำเลยทำ และยังเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เสียดสีสถาบันกษัตริย์ แต่เหตุที่ พ.ต.ท.อานนท์ ไม่ได้สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปจับกุมจำเลยทันทีเนื่องจากไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า โดยต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานและประชุมหารือกันเสียก่อน

.

พนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ – เห็นภาพนิ่งที่ตำรวจนำมาให้ดู จึงเห็นว่าเป็นการแสดงความไม่เคารพรัชกาลที่ 10

อุดม สุภาษี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความถึงเหตุการณ์ในวันที่ 1 พ.ค. 2564 ซึ่งอุดมเข้าเวรอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเห็นเหตุการณ์ในวันดังกล่าว ว่ามีบุคคลขึ้นไปนั่งอยู่บนป้ายของมหาวิทยาลัยที่ด้านบนมีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ตามเนื้อตัวเปื้อนสีแดงและเหยียดเท้า เหยียดมือขึ้นไปด้านบน แต่ไม่แน่ใจและไม่ทันเห็นว่าบุคคลดังกล่าวชูเท้าขึ้นหรือไม่ จากนั้นจึงโทรแจ้งศูนย์วิทยุของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเข้าไปตักเตือนว่าไม่เหมาะสม แต่กลุ่มบุคคลดังกล่าวยังทำกิจกรรมต่อไป โดยใช้เวลารวมประมาณครึ่งชั่วโมง เสร็จแล้วจึงมีบุคคลอื่นมารับตัวจำเลยไป เมื่อเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว อุดมจึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยนั้นไม่สมควร ไม่เคารพพระมหากษัตริย์

ขวัญชัย ตันแจ้ เจ้าหน้าที่จัดการงานเอกสารของงานรักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความถึงวันเกิดเหตุว่า ช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. ได้รับแจ้งจากหัวหน้างานให้เข้าไปตรวจสอบเหตุการณ์แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในพื้นที่บริเวณประตูมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เมื่อไปถึงก็ไม่พบกิจกรรมดังกล่าวแล้ว และเห็นว่ามีกลุ่มบุคคลกำลังทำความสะอาดป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และพระบรมฉายาลักษณ์อยู่ พบว่าทั้งป้ายและรูปมีการทำความสะอาดแล้ว แต่บ่อน้ำพุหน้าป้ายมหาวิทยาลัยมีน้ำเป็นสีแดง เมื่อเห็นแล้วพยานเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความไม่เคารพรัชกาลที่ 10

รัตนะ แสนเพ็ญ เจ้าหน้าที่กองกฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความว่าตนเป็นผู้เข้าร่วมประชุมกับรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อเหตุการณ์ที่มีกลุ่มวัยรุ่นมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์หน้ามหาวิทยาลัย ซึ่งตนได้มีความเห็นทางกฎหมายและได้รับคำสั่งให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ว่ามีกลุ่มบุคคลไปล้างสีจนทำให้บ่อน้ำพุบริเวณหน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เต็มไปด้วยสีแดง และใช้น้ำของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ตามความเห็นของพยาน กิจกรรมนี้ทำให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับความเสียหาย จากที่บริเวณดังกล่าวมีสีเปื้อน ส่วนที่มีคนใช้เท้าชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ตามความเห็นของพยาน เป็นการกระทำที่ดูหมิ่น แต่ไม่ถึงกับอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์

อย่างไรก็ตามพยานโจทก์ ตอบทนายความถามค้าน อุดมรับว่าตนเองให้การในชั้นพนักงานสอบสวนว่าไม่แน่ใจว่าเห็นเหตุการณ์ที่จำเลยเหยียดเท้าขึ้นด้านบนหรือไม่ และขวัญชัยรับว่าตนเองไม่เห็นเหตุการณ์เลย แต่ได้ดูเพียงภาพที่ตำรวจนำมาให้ดูเท่านั้น ซึ่งเมื่อดูภาพนิ่งและวิดีโอภาพเคลื่อนไหว อาจจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันก็ได้

ส่วนรัตนะ รับว่าเมื่อเห็นภาพเหตุการณ์ที่จำเลยชี้เท้าขึ้นด้านบนแล้วรู้สึกว่าไม่เหมาะสมนั้นเป็นความรู้สึกส่วนตัวของพยานเอง และหากจำเลยไม่มีเจตนาทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ถือว่าไม่มีความผิดมาตรา 112 และความเสียหายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเพียงน้ำในบ่อน้ำกลายเป็นสีแดง ซึ่งสามารถเปลี่ยนน้ำได้

.

พยานด้านนาฏศิลป์ เห็นว่าจำเลยทำท่าเลียนแบบครุฑ ซึ่งเป็นของสูงจงใจหมิ่นกษัตริย์ การแสดงนี้ไม่ใช่วัฒนธรรมอันดีงาม

พรพิมล ยี่ตันสี รองผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ เบิกความว่า ตนได้รับหมายเรียกให้เข้ามาเป็นพยานในคดีนี้เนื่องจากตนมีความรู้ด้านการแสดง โดยพนักงานสอบสวนให้พยานแปลภาษากายจากรูปภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ ปรากฏมีภาพที่จำเลยทำท่าทางคล้ายครุฑ เนื่องจากท่าทางลักษณะกางปีกเหมือนพญาครุฑ ซึ่งเป็นยานพาหนะของเทพ โดยพระมหากษัตริย์เป็นตัวแทนของพระนารายณ์ เปรียบเสมือนสมมุติเทพเป็นสัตว์สูงสุด ทั้งตราครุฑยังเป็นตราแผ่นดิน ดังนั้นตราครุฑคือตัวแทนของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ 

ตามความเห็นของพรพิมลแล้ว การแสดงนั้นจะต้องเป็นการแสดงที่สื่อออกมาถึงสุนทรียะ แต่จากที่พยานดูภาพที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดู ภาพที่ออกมานั้นดูไม่งดงาม รู้สึกไม่ดี พร้อมการแสดงยังทำต่อหน้ารูปพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่บังควร ไม่เหมาะสมอีกด้วย แม้ตนเองก็ไม่เข้าใจว่าการแสดงของจำเลยจะสื่อถึงอะไร แต่เห็นว่าเป็นการไม่ถวายพระเกียรติ์ต่อพระมหากษัตริย์โดยการยกเท้าขึ้นไปด้านบน ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในทางศิลปะของไทย

ส่วน พิชิตชัย เกลอดู ผู้อำนวยการศูนย์ยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เบิกความต่อศาลว่า วัฒนธรรมคือสิ่งดีงามโดยมาจากการที่ทุกคนเห็นด้วยกันว่าเป็นสิ่งที่ดี และควรปฏิบัติสืบต่อกันมา ต้องเป็นที่ยอมรับและยึดถือร่วมกัน แต่เห็นว่าการแสดงของจำเลยถือว่าเป็นการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมที่ได้กระทำกับสิ่งอันเป็นที่รักและเคารพของบุคคลอื่น เพราะสถานที่เกิดเหตุเป็นป้ายหลักของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังมีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งเป็นตัวแทนของรัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์ ซึ่งการกระทำของจำเลยเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ดีและไม่ควรทำ

ต่อมา พรพิมล ตอบทนายความถามค้านรับว่าที่พยานเบิกความว่าจำเลยทำท่าครุฑนั้นเป็นเพียงการเลียนแบบครุฑ เพราะการแสดงท่าทางไม่ถูกต้องตามหลักการแสดงท่าครุฑ และพยานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ซึ่งเป็นเพียงสาขาหนึ่งของศิลปะการแสดงซึ่งมีหลากหลายแขนง 

ทั้งนี้พยานรู้ว่ามีตัวละครครุฑอยู่ในวรรณคดีไทย เช่น  “กากี” แต่ครุฑในเรื่องดังกล่าวไม่ได้สื่อถึงพระมหากษัตริย์ ส่วนพิชิตชัยเบิกความรับว่า ในแต่ละพื้นที่และแต่ละบุคคลก็มีศิลปะและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไปได้ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ดีพรพิมลตอบอัยการถามติงต่อไปว่า พยานไม่แน่ใจว่าบุคคลทั่วไปจะเข้าใจท่าทางจำเลยว่าแสดงเป็นครุฑหรือไม่ และจากการแสดงของจำเลยไม่ทำให้เกิดสุนทรีย์และไม่ใช่ศิลปะด้วย ซึ่งหากจำเลยลงมาแสดงบนถนนด้านล่างจะทำให้เป็นศิลปะนามธรรมทันที 

ส่วนพิชิตชัยเบิกความในประเด็นวัฒนธรรมและศิลปะต่อไปว่า การกระทำที่ไม่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปพยานเห็นว่าไม่เป็นวัฒนธรรม โดยการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม คนทั่วไปไม่อาจยอมรับได้

.

พยานด้านกฎหมาย – เห็นรูปภาพจำเลยใช้เท้าชี้ไปทางรูป เป็นการหมิ่นกษัตริย์

ผศ.ดร.พันธ์ุทิพย์ นวานุช คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเชียงใหม่ เบิกความว่าที่มาเป็นพยานในคดีนี้เนื่องจากพนักงานสอบสวนเป็นลูกศิษย์ของตน เมื่อเห็นรูปภาพที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ดูเพียงภาพเดียว ซึ่งเป็นภาพมีคนกำลังนอนและเปื้อนไปด้วยสีแดงตามร่างกายและยกเท้าขวาไปทางรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 พยานรู้สึกว่าเป็นการไม่สุภาพ บ่งบอกถึงการดูหมิ่นเหยียดหยามและในทางกฎหมายก็ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 

ต่อมาพันธ์ทิพย์ตอบทนายความถามค้านรับว่า ตนเองได้มาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีมาตรา 112 ในจังหวัดเชียงใหม่หลายคดี และในคดีนี้พนักงานสอบสวนให้ตนดูภาพเหตุการณ์ในวันดังกล่าวเพียงภาพเดียวพร้อมกับเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง โดยเป็นภาพนิ่งซึ่งตนไม่ทราบรายละเอียดของเหตุการณ์ก่อนและหลังว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ถึงแม้ตนจะไม่เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดและเห็นภาพนิ่งเพียงภาพเดียวที่เป็นการกระทำไม่เหมาะสม มีสีเลอะเทอะ และใช้เท้าชี้ ก็ถือเป็นการดูหมิ่นแล้ว 

อย่างไรก็ตาม บริเวณที่เกิดเหตุมีทั้งป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และรูปพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งบุคคลในภาพจะสื่อถึงป้ายมหาวิทยาลัยหรือรูป พยานไม่อาจทราบเจตนาของบุคคลดังกล่าวได้

พันธ์ทิพย์ตอบพนักงานอัยการถามติง ถึงองค์ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เห็นว่าไม่สามารถนำหลักการ “ดูหมิ่นซึ่งหน้า” ตามมาตรา 393 มาใช้กับมาตรา 112 ได้ และหลักทางกฎหมายอาญา “การกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนา” พฤติการณ์ที่จำเลยใช้เท้าชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ก็ถือให้เห็นเจตนาของจำเลยแล้ว

.

พยานความเห็นของบุคคลทั่วไป – เข้าไปเป็นพยานที่ สภ.ด้วยตนเอง เพราะรู้สึกโกรธแค้น เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมกระทบจิตใจคนไทย

สุกิจ เดชกุล ประธานกลุ่มไทยภักดี  เบิกความว่าขณะเกิดเหตุตนเป็นประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีคนไปยืนบนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีพระบรมฉายาลักษณ์ตั้งอยู่ แล้วคนนั้นก็เอาสีแดงราดตัวเอง มันดูเหมือนเลือด และเอาเท้าชี้ขึ้นฟ้าต่อหน้ารูป ในฐานะประชาชนไทยเห็นว่าเป็นการกระทำที่รับไม่ได้ ต่อมาพยานจึงไปปรึกษากลุ่ม “ไทยภักดี” ทางกลุ่มเห็นว่าจะต้องดำเนินการด้านกฎหมายจึงนัดกันไปที่สถานีตำรวจ โดยตนเองได้รวบรวมรูปภาพเกี่ยวกับคดีนี้และข้อความจากสื่อต่างๆ ไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 

สุกิจยังเบิกความต่อไปว่าเมื่อเห็นภาพเหตุการณ์วันดังกล่าวแล้วทำให้รู้สึกโกรธแค้น เพราะความรักที่ตนมีต่อพระมหากษัตริย์และตนสำนึกต่อพระมหากรุณาธิคุณ โดยเหตุการณ์นี้ทำร้ายความรู้สึกของปวงชนชาวไทย ลบหลู่ดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ 

ต่อมาสุกิจ ตอบทนายความถามค้านรับว่า ตนอยู่ในกลุ่มไทยภักดีโดยในช่วงเกิดเหตุ ตนมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านการชุมนุมของนักศึกษาในช่วงนั้นด้วย โดยกลุ่มไทยภักดีปกป้องสถาบันกษัตริย์จากการบิดเบือนเรื่องจริง-ใส่ร้ายป้ายสีพระมหากษัตริย์ และในกลุ่มมีการแบ่งปันข้อมูลของผู้กระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์นอกจากคดีนี้ ตนยังเคยแจ้งความดำเนินคดี ม.112 กับนักศึกษาอีกคดีด้วย

ส่วน มนตรี วงศ์เกษม ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป ก็เห็นภาพที่เผยแพร่บนสื่อโซเชียลมีเดีย เห็นบุคคลกระทำการอันไม่บังควรโดยสาดสีไปที่พระบรมฉายาลักษณ์และแสดงท่าทางต่างๆ จึงเดินทางไปที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อขอเป็นพยานในฐานะประชาชนทั่วไป โดยรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการดูถูก ดูหมิ่น โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพระมหากษัตริย์ แค่ทำการชี้เท้าไปที่ใครก็ถือว่าเป็นการดูหมิ่นได้

มนตรีตอบทนายความถามค้านรับว่า ตนเองรู้จักกับสุกิจ แต่ตนไม่ได้อยู่ในกลุ่มไทยภักดี โดยตนได้บันทึกทั้งภาพและวิดีโอส่งให้กับพนักงานสอบสวนแล้ว ในฐานะประชาชนก็เห็นว่าแต่ละคนมีความเห็นที่แตกต่างกันได้

.

พนักงานสอบสวน – ไม่เคยมีวิดีโอวันเกิดเหตุในสำนวน มีแต่รูปภาพที่ฝ่ายสืบส่งมาให้

ในคดีนี้มี พ.ต.ท.อดุลย์ สวยสม เป็นพนักงานสอบสวน ผู้รวบรวมพยานหลักฐาน สอบสวนพยานทั้งหมดในคดี จัดทำสำนวนและมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องจำเลยส่งต่ออัยการ โดยพยานยืนยันว่าไม่มีคลิปวิดีโอเหตุการณ์วันเกิดเหตุในคดีนี้ เนื่องจากชุดสืบสวนไม่ได้ส่งคลิปวิดีโอให้พนักงานสอบสวน

พ.ต.ท.อดุลย์ ตอบทนายความถามค้าน ถึงที่มาของการได้พยานความคิดเห็นของสุกิจและมนตรี เนื่องจากทั้งสองเดินทางมาให้การด้วยตนเองที่สถานีตำรวจ แต่ไม่ใช่ผู้แจ้งความ โดยทั้งสองไม่ได้มอบหลักฐานอะไรไว้ให้ตน และตนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทำให้เห็นแต่เพียงในรูปภาพที่ฝ่ายสืบสวนส่งมาให้เท่านั้น การถ่ายภาพจากมุมใดแตกต่างกันออกไป แต่ในบางครั้งไม่ว่าถ่ายจากมุมใดก็ให้ความหมายอย่างเดียวกัน ซึ่งการสร้างรูปภาพถูกจัดองค์ประกอบโดยผู้ถ่ายภาพ และความรู้สึกในการดูภาพนิ่งของแต่ละคนก็สามารถมีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไปได้ 

นอกจากนี้จำเลยให้การปฏิเสธมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนว่าไม่มีเจตนาดูหมิ่นกษัตริย์ เพียงแต่ต้องการต่อต้านการลิดรอนสิทธิเสรีภาพโดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เท่านั้น และเห็นว่าจำเลยไม่ได้ทำท่าครุฑแต่เพียงขยับเคลื่อนไหวร่างกายไปมาเท่านั้น

ต่อมาพนักงานอัยการถามติง ถึงอีกคดีหนึ่งถึงพฤติการณ์ที่จำเลยเคยทำผืนผ้าแถบสีคล้ายธงชาติ ซึ่งกิจกรรมดูหมิ่นหรือแอบแฝงการดูหมิ่นกษัตริย์มาก่อน และคณะทำงานของพยานเป็นผู้มีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง โดยจะต้องเข้าที่ประชุมหารือกันก่อนและคณะทำงานจะเป็นผู้มีความเห็นฟ้องหรือไม่ฟ้องไปตามลำดับชั้น แต่ในความเห็นพยานก็เห็นว่าควรสั่งฟ้อง

.

ภาพขณะ Performance Art ที่ป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

.

จำเลย – การแสดงตั้งใจสื่อถึง มช. เนื่องด้วยเหตุขัดแย้งกับผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ ถึงความรู้สึกถูกกดขี่

ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ จำเลยในคดีนี้ เบิกความต่อศาลถึงเหตุการณ์วันที่ 1 พ.ค. 2564 ว่าตนเห็นโพสต์ในโซเชียลมีเดียเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้า-ออกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงคิดว่าจะไปเข้าร่วมแสดง Performance Art 

จากนั้นเวลาประมาณ 17.00 น. ตนได้ไปซื้อถังและน้ำสีแดง แล้วจึงเกิดทางมาที่จุดเกิดเหตุเวลาประมาณ 17.30 น. ซึ่งมีกลุ่มบุคคลทำกิจกรรม ยืน หยุด ขัง อยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้นัดกันมา จากนั้นตนจึงขึ้นไปบนป้ายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

จำเลยย้อนเล่าถึงเหตุการณ์ช่วงเดือน มี.ค. 2564 ที่กลุ่มนักศึกษารวมทั้งตน มีเหตุขัดแย้งกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณบดี อัศวิณีย์ หวานจริง และคณะผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ได้นำเอางานศิลปะของนักศึกษาไปจากอาคารเรียนของคณะที่มีชิ้นงานหลายชิ้นที่เอาไว้ส่งธีสิส (Thesis) เพื่อเรียนจบ รวมไปถึงผลงานที่กำลังพัฒนาของนักศึกษาคนอื่นๆ โดยเอาไปใส่ในถุงดำ เพราะกลัวว่าผลงานเหล่านี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงเกิดความไม่พอใจจากนักศึกษา 

กลุ่มนักศึกษารวมทั้งตนจึงเดินทางไปสอบถามเหล่าผู้บริหารถึงคำตอบของเหตุการณ์ดังกล่าว แต่สุดท้าย ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมา หลายวันต่อมากลุ่มนักศึกษาจึงเดินทางไปสอบถามที่กองพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสอบถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยตอบกลับมาโดยใช้คำเรียกนักศึกษาว่าเป็น “กลุ่มบุคคล” ดูเหมือนว่ามหาวิทยาลัยจะไม่ได้มองว่าตนและกลุ่มนักศึกษาเป็นนักศึกษาเลย และตอบมาในประเด็นการลิดรอนสิทธิต่างๆ ว่าฝ่ายผู้บริหารได้ทำถูกต้องแล้ว ทำให้ตนรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพการแสดงออกของนักศึกษาเลย ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วศิลปินจะสร้างสรรค์ผลงานย่อมขึ้นอยู่ว่าผู้สร้างผลงานจะสื่อความหมายออกมาในเรื่องใด หากศิลปินมีความสนใจทางด้านสังคมก็จะผลิตงานศิลปะทางสังคมออกมา

นอกจากนี้ก่อนเหตุการณ์วันดังกล่าวหนึ่งวัน มีเหตุการณ์ที่คุณแม่ของเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ซึ่งขณะนั้นถูกคุมขังระหว่างพิจารณามาหลายวันแล้ว ส่งผลให้แม่ของเพนกวินไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คือการโกนหัวตนเองที่ศาลอาญา พยานจึงเกิดความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมและสร้างความสะเทือนใจกับตนเป็นอย่างมาก 

ทั้งสองเหตุการณ์ จึงเป็นสาเหตุให้ตนเลือกจะไปแสดงศิลปะการแสดงสดตรงป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสื่อสารถึงมหาวิทยาลัย ถึงการกดขี่ผู้ไม่มีอำนาจอย่างนักศึกษา

เมื่อตนมาถึงที่เกิดเหตุ ก็ขึ้นไปบนป้ายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทันที ตรงบริเวณฐานของป้ายจะมีส่วนที่ยื่นออกมาเล็กน้อย พื้นที่จากป้ายมหาวิทยาลัยจนถึงฐานของป้าย ประมาณ 30 – 40 ซม. ยาวตลอดป้าย จากนั้นตนจึงได้ทำการแสดง Performance Art ซึ่งเป็นกลุ่มการแสดงประเภท Body movement ซึ่งหากจะเข้าใจความหมายของการแสดงประเภทนี้จะต้องดูการแสดงทั้งหมดเพื่อทราบความหมายของมัน เพราะการแสดงมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

ต่อมาตนเอาสีราดตัวพร้อมกับแสดง แต่สีที่ราดไปนั้นทำให้พื้นที่ยืนอยู่เกิดความลื่น อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวมีพื้นที่จำกัดตนจึงใช้ได้เพียงร่างกายในท่ายืน นั่ง นอน และยกแขนขาได้เพียงเล็กน้อย เพราะจำเป็นจะต้องรักษาสมดุลร่างกาย จึงทำให้การเคลื่อนไหวต้องมีจังหวะที่ช้า โดยรวมแล้วการแสดงดังกล่าวตนต้องการจะสื่อถึงความเจ็บปวดของมนุษย์ผ่านที่แคบ เพื่อเรียกร้องหรือสื่อถึงบรรยากาศทางการเมืองที่มีความอึดอัดในตอนนั้น โดยการแสดงท่าทางตนเองไม่ได้คิดไว้ว่าภาพที่ได้ถูกผู้อื่นถ่ายจะออกมาอย่างไร คิดเพียงอย่างเดียวคือแสดงเคลื่อนไหวโดยไม่ให้ตกลงไป

นอกจากนี้พยานยังเคยแสดง Body Movement มาบ่อยครั้งหลายสถานที่ โดยมักจะเลือกสถานที่เพื่อสื่อถึงกลุ่มคนที่อยู่ที่นั่นและมีความเกี่ยวข้องกับสถานที่นั้นๆ รวมทั้งคดีนี้ที่ตนเลือกสถานที่ป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อสื่อถึงกลุ่มนักศึกษาและผู้บริหารของมหาวิทยาลัย

สถานที่ป้ายหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังเป็นสถานที่ที่นักศึกษาใช้จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มาโดยตลอด และในการแสดงตนสามารถควบคุมเพียงท่าทางเท่านั้น ไม่สามารถควบคุมมุมกล้องที่บุคคลอื่นถ่ายมาได้ ซึ่งภาพที่ปรากฏแตกต่างออกไปจะสื่อถึงความหมายของภาพในมุมที่แตกต่างออกไป โดยในระหว่างการสืบพยานทนายความได้นำวิดีโอคลิปในวันเกิดเหตุเปิดให้ศาลดู

ต่อมาจำเลยตอบ พนักงานอัยการถามค้าน ว่าการแสดง Body movement ของตนไม่มีชื่อเรียก ซึ่งแสดงถึงความอึดอัดใจ ไม่ได้สื่อถึงพระบรมฉายาลักษณ์แต่อย่างใด โดยตนขึ้นไปแสดงบนป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เท่านั้น และที่ผ่านมาตนเองก็ไม่เคยจัดกิจกรรมหรือแสดงออกถึงการต่อต้านพระมหากษัตริย์มาก่อน 

อย่างไรก็ตามตนไม่ขอตอบคำถามพนักงานอัยการว่ารักสถาบันกษัตริย์หรือไม่เนื่องจากเห็นว่าไม่เกี่ยวกับคดีนี้ เพราะการแสดงดังกล่าวไม่ได้สื่อถึงสถาบันกษัตริย์มาตั้งแต่ต้น

.

พยานผู้เชี่ยวชาญด้านการละคอน ตีความหมาย Performance Art จะต้องดูตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่สามารถตีความเพียงรูปภาพเดียว การตีความหมายของแต่ละคนแตกต่างกันได้ แต่จะต้องไม่ใช้ความเห็นตัวเองเหนือกว่าความเห็นอื่น

ภาสกร อินทุมาร หัวหน้าสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบิกความต่อศาลว่า คำว่า Performance Art คือ “ศิลปะการแสดงสด” เป็นการแสดงแขนงใหม่ โดยการแสดงปกติจะมีบทมาให้นักแสดงเพื่อให้ทำการแสดงตามมีทิศทางให้ผู้ชมตีความ 

ในการแสดง Performance Art นั้น เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการละครและการแสดง สรุปคือ เป็นการแสดงด้วยร่างกายซึ่งไม่มีโครงสร้างการเล่าเรื่อง หรือบทที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นไปที่การเคลื่อนไหวทางร่างกายเพื่อสื่อความหมายหรือประเด็นบางอย่างออกมาแก่ผู้ชม 

อย่างไรก็ดีนอกจากการเคลื่อนไหวตอนทำการแสดงแล้ว พื้นที่ที่ใช้แสดงก็เป็นปัจจัยต่อผู้แสดงด้วย รวมไปถึงสภาวะภายในของผู้แสดงด้วย สิ่งสำคัญของการแสดง Performance Art นั้นเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้มีการตีความได้อย่างเต็มที่แล้วแต่ผู้ดูจะตีความ ซึ่งต่างจากการแสดงปกติที่มีการวางบทบาทไว้อย่างชัดเจนให้ตีความได้ตามที่ผู้แสดงจะถ่ายทอดออกมาเท่านั้น ทั้งนี้ในมหาวิทยาลัยที่ตนสอนอยู่ก็มีการเรียนการสอนวิชาศิลปะการแสดง Performance Art นี้ด้วย

พยานเห็นว่า การตีความ ดูความหมายของการแสดงไหนก็ตาม จะต้องดูตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่สามารถดูแค่ภาพเพียงภาพเดียวและตีความออกมาได้เลย ตามภาพนิ่งที่โจทก์อ้างในคดีนี้ เมื่อพยานดูแล้วเห็นว่ายากต่อการตีความ เพราะไม่เห็นการแสดงทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งหากเห็นคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวร่างกายก็สามารถตีความออกมาได้อีกแบบหนึ่ง 

หลังจากนั้นทนายความเปิดคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ดังกล่าวให้ดู พยานให้ความเห็นว่าผู้แสดงพยายามเล่นกับสีแดงที่สื่อถึงเลือด และร่างกายบิดเบี้ยวตามความเห็นสื่อถึงความเจ็บปวดของคนๆ หนึ่ง และที่แคบสื่อถึงพื้นที่ของเสรีภาพที่ถูกจำกัดเสรีภาพจากผู้บริหารหรือผู้นำที่มีอำนาจในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การนำป้ายพระบรมฉายาลักษณ์เข้ามาตีความนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผู้แสดงไม่ได้แสดงกิริยาต่อรูปแต่อย่างใด 

ต่อมาภาสกรตอบ พนักงานอัยการถามค้าน ว่าตนเคยเคลื่อนไหวเรียกร้องกรณีนักศึกษาถูกจับกุมด้วย แม้ประชาชนทั่วไปจะไม่รู้จัก Performance art และอาจตีความแตกต่างออกไปจากความคิดของพยานก็ได้เพราะผู้ชมแต่ละคนมีภูมิหลัง มุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งหลักการของการตีความนั้นจะต้องไม่ให้ความหมายใดความหมายหนึ่งไปมีอำนาจมากกว่าหรือเหนือกว่าอีกความหมายหนึ่งได้ มีแต่เพียงความหลากหลายทางความคิดเท่านั้น เพราะไม่มีการตีความใดถูกต้องที่สุด

ภาสกรตอบ ทนายความถามติง ว่าเหตุที่ตนออกไปเรียกร้องกรณีนักศึกษาถูกจับกุมนั้นเนื่องจากตนมองว่านักศึกษามีสิทธิจะแสดงออกทางความคิดเห็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

.

.

อาจารย์วิจิตรศิลป์ – ศิลปะไม่จำเป็นต้องเท่ากับความงาม ศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกายถ้าดูเพียงภาพถ่าย ไม่อาจสื่อความหมายทั้งการแสดงได้

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความต่อศาลถึงความหมายของศิลปะในภาพกว้าง คือ การแสดงออกทางความคิด ความใฝ่ฝัน จินตนาการ ต่อตนเองและสังคม จึงมีการแสดงออกซึ่งศิลปะที่มีความหลากหลาย ศิลปะย่อมสอดคล้องกับสังคม ศิลปะและสังคมเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กันมาตลอด 

จากประสบการณ์ของตนในงานศิลปะที่ดีและมีความหมาย คือศิลปะที่มีการสื่อหรือบ่งบอกสังคมให้รับรู้ถึงปัญหา ในการแสดงศิลปะที่ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากเป็นสิ่งที่กระทำออกมาได้ดีกว่า เนื่องจากการกระทำในรูปแบบธรรมดาให้หรือสื่อออกมาไม่ได้โดยตรงในชีวิตประจำวันของเราๆ ศิลปะจึงต้องอาศัยสื่อต่างๆ เช่น ร่างกาย การเคลื่อนไหว กล้อง ต่างๆ เหล่านี้ก็คือสิ่งที่จะสร้างศิลปะขึ้นมาได้ หากเมื่อผู้คนไม่สามารถแสดงหรือสื่ออะไรออกมาได้ ศิลปะจึงเข้ามามีบทบาทแทน

ในความหมายของคำว่า “ความงาม” นั้นเป็นเพียงความหมายหนึ่งและเป็นความหมายเล็ก ของสิ่งที่เรียกว่า “สุนทรียศาสตร์” เพราะโดยภาพรวมของสุนทรียศาสตร์นั้นคือ เป็นการแสดงออกทางความรู้สึกต่างๆ ซึ่งโดยมากแล้วศิลปะบางครั้งอาจเป็นสิ่งตรงข้ามกับความงามก็ได้

Performance Art คือศิลปะที่อาศัยการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งหากจะดูเพียงภาพนิ่งแล้วทำการตีความไม่ได้ เพราะการถ่ายภาพนิ่งแต่ละมุมจะสื่อความหมายใหม่เสมอ ซึ่งอาจผิดไปจากความหมายหรือเจตนารมณ์เดิม อย่างเช่น เหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์แต่ถูกถ่ายจากกล้องคนละตัว เช่นนี้ภาพที่ออกมาจะสื่อความหมายคนละแบบ และความหมายเปลี่ยนไปด้วย โดยหากดูภาพในแต่ละมุมกล้องจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความหมายที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันได้ 

นอกจากนี้การถ่ายทอดเพียงภาพถ่ายไม่อาจสื่อความหมายทั้งการแสดงได้ และความหมายของการแสดงจะไปขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายภาพนิ่งแทน เนื่องจาก Performance Art เป็นศิลปะเคลื่อนไหว หากมีการถ่ายภาพนิ่งก็เปรียบเสมือนกับการดึงคำพูดออกมาจากประโยคเพียง 1 คำ ยกตัวอย่าง ประโยคว่า “ฉันอยากกินข้าวขาหมู” แต่การถ่ายภาพคือการดึงคำว่า “หมู” มาตีความเพียงคำนี้คำเดียว ซึ่งการตีความจากการดูภาพนิ่งเพียงภาพเดียวนั้นไม่สามารถทำได้

เมื่อได้เห็นรูปภาพนิ่งในคดีนี้ ศรยุทธเบิกความต่อไปว่าการตีความจากภาพดังกล่าวในฐานะผู้เชี่ยวชาญจะสามารถตีความได้เพียงแค่มีบุคคล มีถัง และสีแดง นอกจากนี้เห็นว่ามีการจัดร่างกายทรงตัวบนป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดี เพราะเป็นพื้นที่แคบ อีกส่วนหนึ่งคือสีหน้าของบุคคลในภาพที่จะสื่อความหมายถึงความเจ็บปวดทรมานให้กับผู้ชม โดยคู่กับการใช้สีแดงเพื่อสื่อให้สังคมรับรู้ร่วมกัน ไม่ใช่ความหมายจากผู้แสดง

ต่อมาทนายความเปิดคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวให้พยานดูแล้วถามถึงความเห็น พยานเบิกความถึงการตีความของตนว่า ผู้แสดงคงมีความทุกข์ใจ ดูจากสีแดงที่ผู้แสดงเลือกใช้ จุดที่เด่นที่สุดคือสีหน้า มันดูมีการบีบคั้น มีการแสดงตบหน้าตัวเอง ทำร้ายร่างกาย โดยบุคคลดังกล่าวกำลังจะสื่ออะไรบางอย่างให้ผู้ชมอยู่ ซึ่งผู้แสดงและผู้ชมมีร่วมกันทั้งสองฝ่าย 

ถ้าหากต้องการจะรู้ความหมายแท้จริงนั้นต้องไปสัมภาษณ์ผู้แสดง แต่ในฐานะผู้ชมหากมีหัวใจเป็นธรรมจะเข้าใจความหมายได้ ถึงแม้จะไม่สามารถอธิบายออกมาคำพูดได้ก็ตาม ในงานศิลปะคือการรับรู้ได้ด้วยหัวใจ การแสดงนี้ถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่เรียกว่า Performance Art เมื่อมาดูภาพเคลื่อนไหวแล้วจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันสิ้นเชิง เพราะภาพเคลื่อนไหวจะเห็นการแสดงท่าทาง การเคลื่อนไหว แต่หากกลับไปดูภาพนิ่งจะไม่เห็นถึงสิ่งเหล่านี้ได้ 

ต่อมาศรยุทธ พนักงานอัยการถามค้าน ว่าไม่รู้จักกับบุคคลในภาพเป็นการส่วนตัวมาก่อนแต่ทราบว่าเป็นประธานสภานักศึกษา และการตีความของตนพยายามให้ความเห็นอย่างระมัดระวังและอยู่บนกรอบของวิชาการ เนื่องจากไม่ได้ถามความหมายมาจากผู้แสดงก่อน ทั้งนี้นักวิชาการคนอื่นๆ อาจมีความเห็นที่แตกต่างออกไป ซึ่งต้องเคารพซึ่งความคิดเห็นของกันและกันด้วย

.

อาจารย์นิติศาสตร์ – การกระทำของจำเลยคลุมเครือเกินกว่าจะเป็นความผิดมาตรา 112

กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความต่อศาลว่า องค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สิ่งที่จำเป็นต้องตีความคือ การกระทำต้องเป็นการดูหมิ่น ซึ่งสอดคล้องกับหลักการลดทอนศักดิ์ศรี โดยการให้ความหมายของการดูหมิ่นนั้นจำเป็นต้องใช้หลักการ “ดูหมิ่นซึ่งหน้า” ตามหลักการของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 โดยความหมายที่เป็นการดูหมิ่นนั้นต้องชัดเจน

เมื่อเห็นภาพในคดีนี้ตนเห็นว่ากิริยาของจำเลยเป็นการใช้เท้าชี้ฟ้า ซึ่งเป็นกิริยาของการแสดงของศิลปินต่างๆ เช่น ฮิปฮอป บัลเลต์ ซึ่งไม่สามารถตีความได้ชัดเจน อย่างมากสุดคงเป็นความไม่เรียบร้อย และคงไม่สามารถตีความเจตนาของผู้กระทำได้เพียงการดูภาพเพียงภาพเดียว เมื่อดูคลิปแล้วยิ่งทำให้การกระทำของจำเลยยิ่งไม่ชัดเจนมากกว่าการดูภาพนิ่ง เนื่องจากการแสดงของจำเลยมีท่าทางที่หลากหลายและมากมายความหมาย ส่วนการทำท่าครุฑก็ไม่มีกฎหมายคุ้มครองครุฑบัญญัติไว้ และครุฑก็ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ จึงไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112

กฤษณ์พชรเห็นว่า การกระทำหรือการแสดงของจำเลยไม่มีความหมายชัดเจน เมื่อไม่ทราบความหมายที่ชัดเจนแล้วก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าจำเลยกำลังดูหมิ่นใคร หรือว่าทำอะไร เช่นนี้หลักการลดทอนคุณค่าจึงไม่เกิดขึ้น การดูหมิ่นอาจจะแสดงออกผ่านทางร่างกาย เช่น การชูนิ้วกลาง เช่นนี้จะเป็นการแสดงที่สื่อออกมาได้อย่างชัดเจน

ต่อมากฤษพชรตอบพนักงานอัยการถามค้าน ว่าการตีความของตนก็อาจแตกต่างกับประชาชนคนอื่นๆ ได้ และทั้งมาตรา 112 และมาตรา 393 การจะรู้ว่าการกระทำใดเป็นการดูหมิ่นหรือไม่นั้น ต้องใช้ความเห็นจากวิญญูชนด้วย 

.

ดูฐานข้อมูลคดีนี้

คดี 112 “วิธญา” นศ. แสดง Performance Art หน้าป้าย มช. ถูกกล่าวหาใช้เท้าชี้รูป – เหยียดหยามกษัตริย์

อ่านเรื่องราวของ “รามิล” เพิ่มเติม

รู้จัก ‘วิธญา คลังนิล’: จากเยาวชนชายแดนใต้ สู่โลกปรัชญา-บทกวี-ศิลปะ และคดีทางการเมือง

.

X