อัยการสั่งฟ้องคดี ม.112 “รามิล” แสดง Performance Art หน้า มช. อ้างใช้เท้าชี้รูป เป็น ‘การจาบจ้วง’

28 ก.พ. 2565 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ หรือ วิธญา คลังนิล (ชื่อเดิม) นักศึกษาภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่มศิลปิน Artn’t ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีแสดง Performance art หรือ ศิลปะการแสดงสด เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 โดยเขาถูกกล่าวหาว่าได้ใช้เท้าขวาชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 

คดีนี้มี พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง เป็นผู้กล่าวหา ก่อนหน้านี้ศิวัญชลีได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2565 โดยเขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้กับอัยการเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2565 โดยเขาถูกนัดให้ไปรายงานตัวที่สำนักงานอัยการเดือนละครั้ง รวม 3 ครั้ง กระทั่งอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี

>> นักกิจกรรมศิลปะถูกแจ้ง ม.112 หลังแสดง Performance art หน้าป้าย มช. ตร.กล่าวหาแสดงอุจาดตา/ใช้เท้าชี้ฟ้าใต้รูป ร.10 เป็นกริยาดูถูกเหยียดหยาม

.

หลังศิวัญชลีเข้ารายงานกับพนักงานอัยการในช่วงสาย อัยการได้แจ้งว่าจะฟ้องคดีนี้ในช่วงบ่าย ทำให้ตั้งแต่เวลาราว 13.15 น. เขาถูกนำตัวไปควบคุมที่ห้องขังใต้ถุนศาลจังหวัดเชียงใหม่

ด้านทนายความได้ยื่นขอประกันตัว โดยขอใช้ตำแหน่งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นนายประกัน ต่อมาเวลาประมาณ 17.40 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมคดีต่อไปในวันที่ 25 ก.ค. 2565 เวลา 9.00 น. รวมเวลาที่จำเลยถูกคุมขังใต้ถุนศาลราว 4 ชั่วโมงเศษ

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้องคดี นายณัฐเมธส์ สิริไตรรัตนกุล พนักงานอัยการเป็นผู้เรียงพิมพ์ ระบุโดยสรุปว่าเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. จำเลยเจตนาเลือกสถานที่ที่มีป้ายข้อความ “ทรงพระเจริญ” และที่มีรูปพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ทำการแสดงสัญลักษณ์ด้วยป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน” และด้วยการปีนขึ้นไปบนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้น้ำสีแดงเทลาดใส่เนื้อตัว โดยมุ่งประสงค์ให้น้ำสีแดงได้กระเด็นไปเลอะเทอะเปรอะเปื้อนพระบรมฉายาลักษณ์ และป้ายข้อความ “ทรงพระเจริญ” ซึ่งประดิษฐานอยู่เหนือป้ายชื่อมหาวิทยาลัย

จากนั้นจำเลยได้แสดงกิริยาท่าทางเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ ด้วยการนั่งห้อยขา นั่งยองๆ แสดงท่าครุฑ ยืนเอาถังสีสวมครอบศีรษะ และนอนหงายโดยใช้เท้าขวา ซึ่งเป็นอวัยวะเบื้องต่ำชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ อันเป็นการแสดงพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นการแสดงออกทางกิริยาท่าทางจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยการไม่ถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย โดยประการที่น่าจะทำให้พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง 

และโดยสัญลักษณ์ป้ายผ้าข้อความ “คืนสิทธิประกันตัวให้ประชาชน” นั้น เมื่อประชาชนทั่วไปได้พบเห็นทำให้เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้สนับสนุนผู้นำรัฐบาลปัจจุบัน ให้กระทำการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความแตกแยก และเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก เพื่อก่อความไม่สงบในบ้านเมือง อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และเป็นการทำด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชม หรือแสดงกิริยาทั่วไปที่วิญญูชนพึงกระทำโดยสุจริต

อัยการยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เกรงว่าจำเลยจะหลบหนีและไปก่อคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ซ้ำอีก

คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ของศิวัญชลี ที่ถูกอัยการสั่งฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนหน้านี้เขากับเพื่อนกลุ่ม Artn’t ได้ถูกสั่งฟ้องกรณีแสดงงานศิลปะคล้ายธงชาติที่ไม่มีสีน้ำเงินมาแล้วคดีหนึ่ง 

ขณะที่หากนับคดีจากการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด ศิวัญชลีถูกกล่าวหามาแล้วรวม 9 คดี โดยนอกจากในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 7 คดี มีคดีที่เขาถูกกล่าวหาจากกิจกรรมคาร์ม็อบที่นราธิวาส บ้านเกิดของเขา และคดีจากการชุมนุม #ม็อบ12ธันวา64 #ราษฎรพิพากษามาตรา112 ที่สี่แยกราชประสงค์ ในกรุงเทพมหานคร โดยที่เขาเพียงแต่ไปอ่านบทกวีสั้นๆ ในงานดังกล่าวเท่านั้น ทำให้เขาถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

.

ฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “วิธญา” นศ. แสดง Performance Art หน้าป้าย มช. ถูกกล่าวหาใช้เท้าชี้รูป – เหยียดหยามกษัตริย์

.

อ่านเรื่องราวของ “รามิล” เพิ่มเติม

รู้จัก ‘วิธญา คลังนิล’: จากเยาวชนชายแดนใต้ สู่โลกปรัชญา-บทกวี-ศิลปะ และคดีทางการเมือง

X