“เจ๊จวง – เจ๊เทียม” ถูกแจ้งข้อหา ม.112 เหตุติดป้ายหน้าร้านก๋วยเตี๋ยว เรียกร้องยกเลิก 112 – ปล่อยเพื่อนเรา 2 ป้าย เมื่อปี 66

18 มี.ค. 2567 เวลา 13.00 น. ที่ สน.บางนา “เจ๊จวง” (สงวนชื่อสกุล) วัย 53 ปี และ “เจ๊เทียม” (สงวนชื่อสกุล) วัย 57 ปี สองแม่ค้าขายบะหมี่-ก๋วยเตี๋ยว ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุจากการติดป้ายบริเวณหน้าร้านซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรา 112, งบประมาณแผ่นดิน และเรียกร้องให้ “ปล่อยเพื่อนเรา” จำนวน 2 ป้าย ในระหว่างวันที่ 17 – 18 ม.ค. 2566

คดีนี้มี ทรงชัย เนียมหอม สมาชิกกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) เป็นผู้กล่าวหา โดยทรงชัยอ้างว่า ถ้อยคำภายในแผ่นป้ายดังกล่าวนั้น เป็นถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและมาตรา 112

ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 เจ๊จวงได้รับหมายเรียกในคดีนี้ ลงวันที่ 6 มี.ค. 2567 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ในข้อหาตามมาตรา 112 และตำรวจยังแจ้งว่ามีการออกหมายเรียก “เจ๊เทียม” ซึ่งเป็นพี่สาวของเธอให้ไปรับทราบข้อหาด้วย โดยทั้งสองคนได้ขอเลื่อนการเข้าพบตำรวจออกไป 

ในวันนี้ (18 มี.ค. 2567) เจ๊จวงและเจ๊เทียมเดินทางมาที่ สน.บางนา โดยมีเพื่อนและนักกิจกรรมเดินทางมาให้กำลังใจกว่า 20 คน นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนมาทำข่าวหลายสำนัก

เวลาประมาณ 12.40 น. ที่ห้องสอบสวน เจ๊จวงและเจ๊เทียมเข้าพบ พ.ต.ท.เศกสิทธิ์ แพลอย รองผู้กำกับการสอบสวน และ ร.ต.อ.กองพล วงค์จันทร์ รองสารวัตรสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยมีทนายความ, ผู้ไว้วางใจ และเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุพฤติการณ์โดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2566 ทรงชัยได้มากล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งสอง ในความผิดตามมาตรา 112 โดยผู้กล่าวโทษพบโพสต์ภาพและข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กซึ่งเป็นสาธารณะในวันที่ 18 ม.ค. 2566 เวลาประมาณ 18.30 น. เป็นแผ่นป้ายที่ติดแสดงอยู่บริเวณหน้าร้านขายก๋วยเตี๋ยว จำนวน 2 แผ่นป้าย ที่ประชาชนทั่วไปสามารถพบเห็นได้ ซึ่งถ้อยคำเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญไทยและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กที่ผู้กล่าวหาระบุว่าตรวจพบภาพและข้อความนั้น ไม่ใช่ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนแต่อย่างใด

ต่อมาพนักงานสอบสวนได้เรียกนักวิชาการและนักภาษาศาสตร์มาสอบปากคำและให้ความหมายก่อนเรียกผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหาในวันนี้ (18 มี.ค. 2567) 

ผู้ต้องหาทั้งสองได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และประสงค์จะส่งคำให้การในชั้นสอบสวนเป็นหนังสือและรายงานตัวภายในวันที่ 22 เม.ย. 2567 เวลา 13.00 น.

หลังจากรับทราบข้อกล่าวหาและพิมพ์ลายนิ้วมือเสร็จสิ้น เจ๊จวงได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนและร่วมถ่ายภาพกับคนที่เดินทางมาให้กำลังใจบริเวณหน้า สน.บางนา

เจ๊จวงกล่าวยืนยันกับสื่อมวลชนว่า ยังคงสู้ต่อไป และไม่ได้กังวลเรื่องคดีความ เนื่องจากมีคนมาเยี่ยมและให้กำลังใจตลอด ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเองก็มีคนมาอุดหนุนและให้กำลังใจ เมื่อคนเห็นว่าเราถูกกระทำ ถูกกดขี่อย่างไร

เจ๊จวงยังฝากถึงผู้กล่าวหาว่า บางครั้ง คุณไม่ใช่ผู้เสียหาย คุณไม่ได้มีหน้าที่ไปแจ้งความเรื่องแบบนี้ เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่ได้เกิดประโยชน์กับใครเลย บางครั้งไม่ควรทำเรื่องแบบนี้ให้คนอื่นเดือดร้อน

หลังจากการให้สัมภาษณ์ กลุ่มคนที่มาให้กำลังใจได้ตะโกน 3 ข้อเรียกร้องว่า “ยกเลิก 112”, “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” และ “นิรโทษกรรมประชาชน”

ทั้งนี้ คดีนี้นับว่าเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่สองของเจ๊จวงที่ถูกกล่าวหา โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 เธอเคยไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ยานนาวา ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุจากการปราศรัยประเด็น ‘ขบวนเสด็จ’ หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 โดยคดีนี้มี ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ จากกลุ่ม ศปปส. เป็นผู้ไปกล่าวหาไว้

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการกลับมาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือน พ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ไปแล้วอย่างน้อย 269 คน ใน 298 คดี (อัปเดตสถิติเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567)

X