“เจ๊จวง” ถูกแจ้งข้อหา ม.112 เหตุปราศรัยเรื่อง ‘งบประมาณขบวนเสด็จ’ หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อปี 65

20 ก.พ. 2567 เวลา 13.00 น. ที่ สน.ยานนาวา “เจ๊จวง” (สงวนชื่อสกุล) แม่ค้าบะหมี่หมูกรอบวัย 53 ปี ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุจากการปราศรัยประเด็น ‘ขบวนเสด็จ’ หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565

สำหรับ “เจ๊จวง” ที่เข้ามารับทราบข้อกล่าวหาวันนี้นับว่าเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่เธอถูกกล่าวหา โดยก่อนหน้านี้ในปี 2566 เธอเคยไปรับทราบข้อกล่าวหาและเปรียบเทียบจ่ายค่าปรับที่ สน.ยานนาวา ในข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เหตุจากการปราศรัยหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ มาก่อนแล้ว

หมายเรียกปี 66 “พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ” – หมายเรียกเพิ่มเติมปี 67 “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ”

ย้อนไปเมื่อปี 2566 เจ๊จวงเคยได้รับหมายเรียกจาก สน.ยานนาวา ลงวันที่ 21 เม.ย. 2566 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ในข้อหา ‘ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาต’ ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ จากหมายเรียกพบว่ามี “ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์” สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา

จากนั้นเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 เธอจึงได้ไปพบ พ.ต.ท.ฐิติวัชร์ พรศิวัฒน์ รองผู้กำกับการสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา และตำรวจเปรียบเทียบปรับเป็นเงินจำนวน 200 บาท 

บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาในวันดังกล่าวระบุโดยสรุปว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ ผู้กล่าวหาได้พบไลฟ์สดบน YouTube จากนั้นผู้กล่าวหาได้รวบรวมคลิปวิดีโอ ภาพนิ่ง และได้ถอดคำปราศรัย ซึ่งพบว่าผู้ต้องหาได้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าในการปราศรัยบริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 จากนั้นพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่าผู้ต้องหาไม่ได้ทำการขออนุญาต การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

ภาพหมายเรียกข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง ของเจ๊จวง ลงวันที่ 21 เม.ย. 2566

ต่อมา เจ๊จวงได้รับหมายเรียกครั้งที่ 1 ลงวันที่ 5 ก.พ. 2567 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.เดิม  ในวันที่ 15 ก.พ. 2567 โดยพบว่ามี “ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์” เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาเช่นเดียวกันกับก่อนหน้านี้ แต่เธอได้รับหมายเรียกในวันที่ 17 ก.พ. 2567 จึงขอให้ตำรวจออกหมายเรียกใหม่อีกครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธการออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ทำให้เธอจึงนัดหมายเข้าไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 20 ก.พ. 2567

ภาพหมายเรียกข้อหามาตรา 112 ของเจ๊จวง ลงวันที่ 5 ก.พ. 2567

ตำรวจอ้างพบพยานหลักฐานเพิ่มเติม จึงแจ้งข้อหา ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ เพิ่มหลังเกิดเหตุราว 2 ปี 

วันนี้ (20 ก.พ. 2567) เวลา 13.00 น. เจ๊จวงและทนายความเดินทางมาถึง สน.ยานนาวา เพื่อเข้าพบ พ.ต.ท.ฐิติวัชร์ พรศิวัฒน์ รองผู้กำกับการ (หัวหน้างานสอบสวน) ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ในคดีนี้ โดยวันนี้มีประชาชนและสื่อพลเมืองมาร่วมให้กำลังใจเป็นจำนวนหนึ่ง ในวันนี้เจ๊จวงต้องปิดร้านค้าเป็นเวลาหนึ่งวัน เพื่อเดินทางมาสถานีตำรวจ

ตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนบรรยายพฤติการณ์ในคดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 ที่บริเวณหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ มีกลุ่มผู้ชุมนุมมาร่วมปราศรัยเพื่อกดดันให้ศาลอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 พบว่าการปราศรัยดังกล่าวมี “เจ๊จวง” ได้ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงและแพร่ภาพสดผ่าน YouTube โดยคำปราศรัยนั้นมีประเด็นเกี่ยวข้องกับปัญหาของขบวนเสด็จและการจัดสรรงบประมาณในการเสด็จ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งกล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้นที่ไม่เป็นธรรม โดยที่คำปราศรัยดังกล่าวมิได้เอ่ยพระนามถึงกษัตริย์หรือบุคคลตามองค์ประกอบมาตรา 112 มีเพียงกล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณ

ต่อมาคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐาน แต่แล้วเห็นว่ายังไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดในข้อหาตามมาตรา 112 จึงได้หาพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 เจ๊จวงได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 200 บาท

ต่อมาจากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม ได้พบพยานหลักฐานในคดีนี้ที่สนับสนุนการกระทำผิดในข้อหาตามมาตรา 112 โดยพบว่าสาเหตุของการปราศรัยส่วนหนึ่งมาจากกรณีที่ “ใบปอ” และ “บุ้ง” ถูกถอนประกันตัวในคดีมาตรา 112 จากเหตุทำโพล “ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” ซึ่งในวันเกิดเหตุ เจ๊จวงปราศรัยเนื้อหาเกี่ยวกับขบวนเสด็จ และปราศรัยอ้างถึง “ใบปอ” และ “บุ้ง” โดยมีการหยิบยกนำเอาบริบทของคำว่า “ขบวนเสด็จ” ของทั้งสองคนมาขยายความเพื่อสนับสนุนการปราศรัยเพื่อโจมตีสถาบันฯ ในประเด็นการจัดสรรและการใช้งบประมาณในการเสด็จ

จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีพยานหลักฐานสนับสนุสนการกระทำความผิด และเพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” และ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” 

การแจ้งข้อกล่าวหาและการสอบสวนใช้เวลาราว 1 ชั่วโมงครึ่งจึงเสร็จสิ้น เจ๊จวงได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะส่งหนังสือคำให้การภายใน 15 วัน จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงให้เจ๊จวงลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา บันทึกประจำวัน และพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติ ก่อนให้เดินทางกลับไป ส่วนการส่งตัวให้กับอัยการจะมีการนัดหมายในภายหลัง

ทั้งนี้ในการแจ้งข้อกล่าวหาในวันนี้ ตำรวจไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการเผยแพร่การถ่ายทอดสดการปราศรัยดังกล่าวผ่านระบบคอมพิวเตอร์ฯ นั้น ปรากฏผ่านยูทูปในช่องใด 

.

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการกลับมาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือน พ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ไปแล้วอย่างน้อย 264 คน ใน 290 คดี 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-67

X