เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ที่ศาลจังหวัดสงขลา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 ได้ยื่นฟ้องคดีของ ‘ณัฐพล’ (สงวนนามสกุล) ประชาชนจากกรุงเทพฯ วัย 27 ปี ในข้อหาหลัก “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) (5)
คดีนี้สืบเนื่องมาจาก ทรงชัย เนียมหอม แกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ได้เป็นผู้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.คอหงส์ จังหวัดสงขลา โดยกล่าวหาผู้ที่รีทวีตข้อความในทวิตเตอร์เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่ปี 2564
ณัฐพลต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปรับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 โดยเขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และตำรวจได้นัดส่งตัวให้กับอัยการจังหวัดสงขลาเมื่อเดือนมกราคม 2567 หลังจากนั้นอัยการได้นัดฟังคำสั่งในแต่ละเดือนไปทั้งหมด 5 ครั้ง โดยมีการโอนสำนวนไปยังสำนักงานอัยการภาค 9 ก่อนจะมีคำสั่งฟ้องในการนัดครั้งที่ 6 นี้
.
ฟ้อง ม.112 กล่าวหาเหตุรีทวีตข้อความเกี่ยวกับ ร.10 ก่อนศาลให้ประกันตัว
สำหรับคดีนี้มี ธรรมศักดิ์ แสงจันทร์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 เป็นผู้เรียงฟ้องคดี โดยท้าวความว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ
คำฟ้องระบุเกี่ยวกับพฤติการณ์ของคดีว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 จำเลยได้ใช้บัญชีทวิตเตอร์เผยแพร่โพสต์สาธารณะที่ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยเขียนข้อความมีใจความว่า “เคยได้ยินตอนเด็กๆ มีครูมาเม้าให้ฟัง สรุปมันจริงหวะ” และมีการรีทวีตข้อความที่โพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ครั้งยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ คู่กับผู้หญิงคนหนึ่ง พร้อมมีเนื้อหาบรรยายที่โจทก์กล่าวหาว่ามีเจตนาจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ และหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10
อัยการกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความดังกล่าว ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นการทำลายสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา
จำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้อยู่ดุลพินิจของศาล
ในส่วนของข้อหาที่สั่งฟ้อง เดิมนั้นพนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 16 เรื่องการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย แต่อัยการภาค 9 เห็นว่าความผิดนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัว และมิได้ร้องทุกข์ตามระเบียบ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนในความผิดนี้ จึงไม่ฟ้องเฉพาะข้อกล่าวหานี้
ต่อมา ศาลจังหวัดสงขลาอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย ให้วางหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งกำหนดนัดวันตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 11 ก.ค. 2567
ในส่วนของแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันดังกล่าว จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าได้ดำเนินการแจ้งความคดีมาตรา 112 จำนวนหลายคดีไว้ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ โดยใช้วิธีการกล่าวหากระจายไปในหลายสถานีตำรวจ โดยมีผู้ถูกแจ้งข้อหาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ราย อาทิที่ สภ.ตะโหมด จ.พัทลุง, สภ.เมืองกระบี่, สภ.ทะเลน้อย จ.พัทลุง, สภ.เมืองพัทลุง โดยส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นประชาชนทั่วไป ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางภาคใต้แต่อย่างใด ทำให้แต่ละคนมีภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อสู้คดี
ทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่าคดีในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่ของสำนักงานอัยการภาค 9 นั้น ทางพนักงานอัยการโจทก์ที่เป็นผู้ฟ้องและว่าความในคดีนั้น ไม่ใช่อัยการจังหวัดเหมือนในพื้นที่ภาคอื่น ๆ แต่เป็นพนักงานอัยการที่ทำคดีด้านความมั่นคงจากสำนักงานอัยการภาค 9 มาเป็นผู้ทำคดีโดยเฉพาะ โดยเป้าประสงค์หลักของอัยการในส่วนนี้ ถูกระบุว่าเพื่อดูแลคดีที่เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะ แต่กลายเป็นว่าคดีมาตรา 112 กลับอยู่ในขอบข่ายไปด้วย แม้ไม่ใช่พื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ก็ตาม
.