แม่ค้าออนไลน์ภูเก็ตถูก ตร.ปอท. แจ้ง ม.112 เหตุคอมเมนต์โพสต์สมศักดิ์ เจียมฯ เกี่ยวกับข่าวลือ ร.10

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 64 เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ลักขณา (นามสมมติ) อายุ 22 ปี ประกอบอาชีพค้าขายออนไลน์ อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ต เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 พ.ต.ต.นิมิตร หงษ์เวียงจันทร์ ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับต่อลักขณา โดยกล่าวหาจากเหตุที่ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในโพสต์เฟซบุ๊กของ “Somsak Jeamteerasakul” ที่ปรากฎข้อความตั้งคำถามเกี่ยวกับข่าวลือเรื่องอาการประชวรของรัชกาลที่ 10

.

แจ้ง “112-พ.ร.บ.คอมฯ” ชี้ข้อความมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ลักขณา พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.พงศ์ปิติ ตรีนิคม รองสารวัตร (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. ซึ่งได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่ลักขณา

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 พ.ต.ต.นิมิตร หงส์เวียงจันทร์ ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้อง ทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่ง เนื่องจากบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้เข้าไปแสดงความคิดเห็น ในลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ในโพสต์เฟซบุ๊กของ “Somsak Jeamteerasakul” ที่มีเนื้อหาตั้งคำถามเกี่ยวกับข่าวลือเรื่องอาการประชวรของรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เวลา 16.50 น. 

ผู้กล่าวหาอ้างว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการดูหมิ่นพระเกียรติ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ต่อลักขณา ได้แก่ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์” ตาม มาตรา 112 และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ในชั้นสอบสวน ลักขณาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ลงลายมือชื่อไว้ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาไว้ หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ ลักขณาได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ถูกควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาปรากฎตัวต่อพนักงานผู้รับมอบตัวตามหมายเรียก

.

เจ้าตัวเผยหมดค่าเดินทาง-ที่พักกว่า ‘หมื่นบาท’ ชี้ไม่ว่าใครก็ไม่ควรถูกแจ้ง ม.112 เพียงเพราะแสดงความคิดเห็น 

ภายหลังจากรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น ลักขณาเปิดเผยว่า การเดินทางจากภูเก็ตไปรับทราบข้อกล่าวหาไกลถึง บก.ปอท. ที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ตนและพ่อแม่ต้องเสียเวลา ค่าที่พัก และค่าเดินทาง ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท 

นอกจากนี้ ลักขณายังพูดถึงความกังวลของตนเองที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 ว่า “ตอนนี้อัยการยังไม่สั่งฟ้อง มาตรา 112 แต่ก็รู้สึกกังวลอยู่ เรากังวลในทุกๆ ด้าน เพราะเราเป็นคนธรรมดา ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน แต่อยู่ๆ ก็มีหมายเรียกส่งมาทางไปรษณีย์ แจ้งว่าเราโดนดำเนินคดีมาตรา 112 เลยค่อนข้างเครียด ครอบครัวเราก็เครียด มันไม่ได้ทำให้เราแย่แค่คนเเดียว แต่คนรอบตัวก็แย่ไปหมด”

ลักขณายังกล่าวอีกด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 112 ของเจ้าหน้าที่ในการปิดกั้นแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ “ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นคนดัง คนออกไปม็อบ แกนนำชุมนุม หรือ ‘ธนาธร’ ก็ไม่มีใครควรโดนแจ้งมาตรา 112 เราก็ไม่เข้าใจเหตุผลของคนที่ไปฟ้องเหมือนกัน”  

ทั้งนี้นอกจากคดีของลักขณา ยังมีอย่างน้อยอีก 2 คดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบว่าเหตุแห่งการกล่าวหาเกิดจากการเข้าไปแสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าวของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้แก่ คดีของ “นันท์” (นามสมมติ) และคดีของ “ภู” (นามสมมติ) ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านี้ที่ บก.ปอท. เช่นเดียวกันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาต่างกันไปในแต่ละคดี

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 154 คน ใน 159 คดี 

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X