ตร.ปอท. แจ้ง ม.112 หนุ่มวัย 26 ปี เหตุคอมเมนต์โพสต์ “สมศักดิ์ เจียม” เกี่ยวกับข่าวลือ ร.10

15 ก.ย. 64 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท) “นัฏฐพล” (สงวนนามสกุล) หนุ่มวัย 26 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกลงวันที่ 27 ส.ค. 64 ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ต่อมาพบว่าถูกกล่าวหาจากการแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กของ “Somsak Jeamteerasakul” เกี่ยวกับข่าวลืออาการป่วยของรัชกาลที่ 10 เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

เวลา 12.00 น. นัฏฐพลพร้อมทนายความและบุคคลผู้ไว้วางใจ เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.ฐานันดร สาสูงเนิน รองสารวัตร (สอบสวน) ปรก.ฯ กก.3 บก.ปอท. พนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แก่นัฏฐพล

พฤติการณ์แห่งคดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 64 เวลากลางวัน พ.ต.ต.กิตติพงศ์ อมฤตโอฬาร ผู้กล่าวหา ได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชาทําการตรวจสอบโพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Somsak Jeamteerasakul” ซึ่งโพสต์ข้อความว่า “มีข่าวลือว่า วชิราลงกรณ์ป่วย อยู่ศิริราช มีใครยืนยันข่าวนี้ได้บ้าง?” โพสต์เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 64 เวลา 16.50 น. 

ต่อมาในวันเดียวกัน ได้มีผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กอีกราย ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็น (Comment) ตอบกลับไป โดยผู้กล่าวหาระบุว่าข้อความดังกล่าวนั้น เป็นข้อความดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในลักษณะสาปแช่งให้เป็นตายแบบทรมาน เป็นการจองเวร อาฆาต ประกอบโพสต์ข้อความการนําเสนอข้อมูลบิดเบือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อประชาชนทั่วไปได้พบเห็นทําให้เกิดความเสียหาย เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และเป็นการดูหมิ่น ด้อยค่าพระมหากษัตริย์

พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

ด้านนัฏฐพลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายในวันที่ 15 ต.ค. 64 โดยได้ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาไว้

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ นัฏฐพลได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ถูกควบคุมตัวไว้

นัฏฐพลระบุว่าตนเป็นประชาชนอีกคนหนึ่งที่ติดตามการเมืองไทยมาตลอด โดยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองบนโลกออนไลน์อยู่บ้าง หลังจากได้รับหมายเรียก ตนรู้สึกตกใจ ไม่รู้ว่าตัวเองไปโพสต์จากเรื่องไหน เนื่องจากส่วนใหญ่ไปแสดงความเห็นตามเพจต่างๆ ในเชิงตลกโปกฮาเสียมากกว่า หลังจากนี้กังวลว่าข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น อาจจะกระทบกับการงานที่ทำอยู่ และกล่าวปิดท้ายว่าหลังจากนี้ตนอาจจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันฯ น้อยลง หรืออาจจะแสดงความคิดเห็นที่รอบคอบกว่านี้ แต่ก็พร้อมจะต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหาต่อไป

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 130 คน ใน 132 คดี

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X