จับ นศ. ม.บูรพา 2 ราย แจ้งข้อหา ม.112 เหตุแขวนป้ายติดระเบียงหอพัก ก่อนศาลให้ประกัน เรียกหลักทรัพย์รวม 3 แสนบาท

25 ตุลาคม 2564 – ศาลจังหวัดชลบุรีได้มีคำสั่งให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน 2 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา ได้แก่ วัชระ และ วิรชัช (สงวนนามสกุล) กำหนดหลักประกันเป็นเงินสดรายละ 150,000 บาท หลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดตามที่ถูกกล่าวหาอีก เหตุจากการที่ทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแขวนป้าย “ผู้นำส้นตีน … ก็ส้นตีน” ที่ระเบียงหอพัก

สำหรับคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่ามีการจับกุมตัวนักศึกษาหนึ่งราย ตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม 2564 ต่อมาพบว่าคือนายวัชระ นักศึกษาวัย 19 ปี ถูกจับกุมจากที่พักตามหมายจับ ออกโดยศาลจังหวัดชลบุรี จากนั้นจึงถูกนำตัวไปยัง สภ.แสมดำ เพื่อทำบันทึกจับกุม จากนั้นได้นำตัวต่อไปยัง สภ.แสนสุข ซึ่งเป็นสถานีตำรวจเจ้าของคดี ทั้งนี้กรณีนี้ไม่เคยมีการออกหมายเรียกจากทางตำรวจมาก่อน

เนื้อหาในบันทึกจับกุม ซึ่งจัดทำที่ สภ.แสมดำ ระบุพฤติการณ์ว่าการจับกุมดังกล่าวอยู่ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.นิตติโชติ เพ็ญจำรัส ผกก.4 บก.ปอศ. พร้อมเจ้าหน้าที่อีก 3 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมรวมอย่างน้อย 15 นาย ทั้งจาก สภ.แสมดำ, สภ.แสนสุข, ​กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปอศ.) และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ในการจับกุมครั้งนี้ ศาลจังหวัดชลบุรีเป็นผู้ออกหมายจับ เลขที่ 422/2564 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ในส่วนพฤติการณ์การจับกุม ระบุว่า เจ้าพนักงานชุดจับกุมได้รับรายงานจากสายลับ ซึ่งประสงค์รางวัลนำจับ ถึงบ้านพักของวัชระ จึงได้สืบสวนติดตามการจับกุม ในเวลาประมาณ 14.20 น. ได้พบผู้ต้องหายืนอยู่ที่หน้าบ้านพัก มีรูปพรรณคล้ายกันกับข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและได้แสดงหมายจับให้ผู้ต้องหาดู พร้อมทั้งแจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบว่า ผู้ต้องหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ โดยการโฆษณา” โดยวัชระไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุม

จากนั้นวัชระได้ถูกนำตัวไปที่ สภ.แสนสุข โดยมีทนายความ ครอบครัว และอาจารย์ติดตามไป โดยเขาได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจในคืนนั้น

ขณะเดียวกัน วิรชัช นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพาเดียวกัน ซึ่งทราบว่าตนก็ถูกออกหมายจับเช่นเดียวกันนั้น แต่ยังไม่ได้ถูกจับกุม ได้ติดต่อนัดหมายเข้ามอบตัวตามหมายจับที่ สภ.แสนสุข ในช่วงบ่ายวันที่ 24 ตุลาคม 2564

พนักงานสอบสวน สภ.แสนสุข ได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนในข้อหาตามมาตรา 112 โดยกล่าวหาจากพฤติการณ์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ว่าผู้กล่าวหาได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายการข่าว กอ.รมน.ชลบุรี ถึงกรณีมีบุคคลนำป้ายผ้ามี “ข้อความมิบังควร” ไปแขวนไว้ที่ระเบียงหอพักในพื้นที่ตำบลแสนสุข ต่อมาเวลาประมาณ 9.00 น. ของวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.แสนสุข นำโดย พ.ต.อ.สุรสิทธิ์ เนื่องจำนงค์ ผู้กำกับ สภ.แสนสุข และผู้กล่าวหา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายการข่าว กอ.รมน. ชลบุรี ได้ร่วมเดินทางไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ และเข้าตรวจค้นห้องพักดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าผู้ต้องหาและผู้เกี่ยวข้องยินยอมให้ทำการตรวจค้น การตรวจค้นได้พบแผ่นป้ายข้อความที่มีลักษณะมิบังควรดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดป้ายไว้เป็นหลักฐาน พร้อมนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.แสนสุข

นักศึกษาทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยพนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นตำรวจนี้ และจะยื่นขอฝากขังต่อศาลต่อไป ขณะเดียวกันพนักงานสอบสวน สภ.แสนสุข ยังพยายามที่จะขอเก็บ DNA ของผู้ต้องหา แต่ทางทนายความของผู้ต้องหาทั้งสองปฏิเสธ เนื่องจากไม่มีเหตุอันควรใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีความ 

หลังเสร็จกระบวนการทั้งหมด นักศึกษาทั้งสองยังต้องถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สภ.แสนสุข อีกหนึ่งคืน จนกระทั่งวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ร.ต.ท.อภิรัชฏ์ อดิเรกพูลลาภ พนักงานสอบสวน สภ.แสนสุข ได้ยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองคนต่อศาลจังหวัดชลบุรี โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จ ยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 6 ปาก และรอผลการตรวจประวัติต้องโทษของผู้ต้องหา ทั้งยังระบุขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา อ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูง และเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น

หลังจากเสร็จการไต่สวน ศาลได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ทนายความของผู้ต้องหาจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

ในคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว ให้เหตุผลว่า คดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมผู้ต้องหาที่ 1 (วัชระ) ที่ห้องพัก ในขณะที่ผู้ต้องหาที่ 2 (วิรชัช) เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนด้วยตัวเอง การคุมขังผู้ต้องหาทั้งสอง จะเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ  ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนตลอดมา ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ทั้งยังมีสถานะเป็นนักศึกษา เข้าไปยุ่งเหยิงกับหลักฐานไม่ได้ และทั้งสองยังไม่เคยมีประวัติในการกระทำความผิด ไม่มีพฤติการณ์ใดที่เข้าตามหลักเกณฑ์ที่จะไม่ได้ประกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 108/1 อีกทั้งช่วงนี้ยังเป็นช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 หากถูกคุมขังอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ต้องหาทั้งสอง

ต่อมาศาลจังหวัดชลบุรีได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งสองคน โดยตีหลักประกันเป็นวงเงินคนละ 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามการกระทำใดในลักษณะตามที่ถูกกล่าวหาอีก

ทั้งนี้ กรณีของนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพาทั้งสองคนเคยปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 64 ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการควบคุมทั้งสองคน พร้อมเพื่อนอีกหนึ่งราย ไปสอบปากคำ โดยในตอนแรก เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ทนายความที่ติดตามไปเข้าพบผู้ถูกควบคุม โดยอ้างว่ายังไม่ใช่เป็นผู้ถูกจับกุม และยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา แต่จะสอบปากคำไว้เบื้องต้นเท่านั้น โดยมีการแยกกันสอบถามทั้งสามคนด้วย

จากนั้น ทั้งสามคนได้ขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เนื่องจากเห็นว่าตำรวจได้นำตัวมาโดยไม่มีหมายและไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 153 ราย ใน 157 คดี แล้ว

>>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X