ตร.ศรีสะเกษแจ้ง ‘112’ หนุ่มสวนยาง หลังอส.คนบ้านเดียวกัน กล่าวหาแชร์ภาพล้อเลียน ร.10 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 เวลา 13.00 น. “โอม” ชลสิทธิ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างกรีดยางพารา เดินทางไปที่ สภ.ขุนหาญ พร้อมครอบครัวและทนายความ ในนัดรับทราบข้อกล่าวหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากโอมถูกสมาชิกอาสารักษาดินแดน ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาว่าแชร์ภาพวาดล้อเลียน ร.10 ลงในสตอรี่เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม หลังรับทราบข้อกล่าวหา โอมให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนที่พนักงานสอบสวน สภ.ขุนหาญ จะขออำนาจศาลจังหวัดกันทรลักษ์ฝากขัง โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง และให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 2 แสนบาท ซึ่งได้ใช้เงินจากกองทุนดา ตอร์ปิโด วางเป็นหลักประกัน กำหนดนัดรายงานตัวที่ศาลในวันที่ 15 ธันวาคม 2564

บรรยากาศในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ขุนหาญ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. มีประชาชนและนักกิจกรรมในจังหวัดศรีสะเกษร่วม 50 คนเดินทางมาให้กำลังใจโอมพร้อมมอบดอกกุหลาบ 112 ดอก แทนสัญลักษณ์ความบริสุทธิ์ของการต่อสู้คดีครั้งนี้ 

เมื่อโอมและพรสิทธิ์ รักษาทรัพย์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไปถึงห้องสอบสวน พ.ต.อ.พฤทธิ์ บุญปก ผู้กำกับ สภ.ขุนหาญ กล่าวเตือนว่า ไม่อยากให้การอัดเสียง หรือแอบถ่ายภาพระหว่างกระบวนการสอบสวนคดีนี้ หากพบภายหลังจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด รวมถึงการที่มีบุคคลไลฟ์สดหน้า สภ. หากพบข้อความที่ด่าทอถึง สภ.ขุนหาญ ก็จะดำเนินคดีเช่นกัน 

ทนายความสอบถามว่า หลังแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนจะฝากขังต่อศาลหรือไม่ ผู้กำกับกล่าวอย่างสับสนว่า คงต้องมีการฝากขังและให้ศาลเป็นผู้พิจารณาว่าจะปล่อยตัวหรือไม่ เพราะเป็นการมาตามหมายเรียกไม่ใช่ตามหมายจับที่ตำรวจเป็นผู้ขอออกหมายเอง หากเป็นหมายจับ ตำรวจสามารถใช้ดุลพินิจได้ว่าจะปล่อยตัวหรือไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหา แต่คดีวันนี้ต้องขอฝากขังเพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะปล่อยตัวโอมหรือไม่

พ.ต.ท.สมเดช ไชยเทพ พนักงานสอบสวน แจ้งพฤติการณ์โดยสรุปว่า ก่อนเกิดเหตุ สมาชิกตรีอภิสิทธิ์ ไชยทอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอขุนหาญ เป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “XXX” ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 13.30 น. อภิสิทธิ์ได้พบเห็นเฟซบุ๊กดังกล่าวมีการโพสต์รูปภาพในสตอรี่ จึงเปิดดูแล้วเห็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ร.10 มีการแต่งเติมภาพในลักษณะล้อเลียน มีข้อความอยู่เหนือภาพระบุ วันที่ 19 กันยา ขุนหาญ 

เมื่อเห็นภาพก็ทราบทันทีว่าเป็นภาพพระบรมสาทิศลักษณ์ ร.10 และรู้สึกทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ จึงบันทึกภาพหน้าจอแล้วรายงานให้ปลัดอำเภอและผู้บังคับบัญชาทราบ ผู้บังคับบัญชาจึงให้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้วพบว่า โอมเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว รวมทั้งโพสต์ภาพดังกล่าวด้วย 

ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์

ตำรวจสอบถามว่าจะให้การอย่างไร โอมกล่าวให้การปฏิเสธและจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น อย่างไรก็ดีพนักงานสอบสวนสอบปากคำโอมเพิ่มเติมถึงเรื่องเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 ช่วง 17.00 น. ซึ่งตำรวจชุดสืบ สภ.ขุนหาญ เดินทางไปที่บ้านโอม เพื่อควบคุมตัวโอมมาสอบปากคำ วันถัดมาตำรวจเรียกตู้ (นามสมมติ) เพื่อนรุ่นพี่ของโอมไปพบโดยอ้างว่าสอบปากคำพยาน เนื่องจากตู้เป็นหนึ่งในสองคนที่เห็นสตอรี่เฟซบุ๊กดังกล่าว ก่อนโทรศัพท์แจ้งให้โอมลบภาพนั้นออกไป ซึ่งโอมรับว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง หลังสอบปากคำเสร็จจึงให้โอมไปพิมพ์ลายนิ้วมือ 

หลังจากนั้นเวลา 13.30 น. พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องออนไลน์ต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ฝากขังโอมเป็นเวลา 12 วัน อ้างว่ากระบวนการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังมีพยานบุคคลที่ต้องสอบปากคำเพิ่มเติม แต่หากผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราวก็ไม่คัดค้าน ขณะเดียวกันห่างออกไปราว 20 กิโลเมตร ที่ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ มี วัฒนา จันทศิลป์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนายประกัน ยื่นประกันตัวโอม โดยใช้เงินสด 200,000 บาท จากกองทุนดา ตอร์ปิโดเป็นหลักทรัพย์ 

ทนายความได้ระบุเหตุผลในการขอประกันโอมในชั้นสอบสวนตลอดถึงชั้นพิจารณาว่า ผู้ต้องหาไม่เคยกระทำความผิดอาญามาก่อน มีอาชีพเเละที่อยู่เป็นหลักเเหล่ง ทั้งจะไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน อีกทั้งระหว่างนี้มีสถานการณ์​โควิด-19 ระบาดอยู่ในเรือนจำ ประกอบกับคดีในลักษณะเดียวกัน และข้อกล่าวหาเดียวกันนี้ ศาลจังหวัดอุบลราชธานีเเละศาลจังหวัดกาฬสินธุ์​ได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 100,000 บาท และ 200,000 บาท ตามลำดับ 

ทั้งโอมและทนายความซึ่งยังอยู่ที่ สภ.ขุนหาญ ต้องรอการวีดีโอคอนเฟอเรนซ์จากศาลจนถึงเวลา 16.30 น. ธวัช ชูวิทย์สกุลเลิศ ผู้พิพากษากล่าวผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ว่า คดีนี้ผู้ต้องหาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธแล้ว แต่พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขัง เนื่องจากพนักงานสอบสวนเห็นว่ายังมีพยานบุคคลที่ต้องสอบปากคำเพิ่มเติม ผู้พิพากษาถามโอมว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่ ซึ่งโอมตอบว่าไม่คัดค้าน 

จากนั้นศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามที่พนักงานสอบสวน สภ.ขุนหาญ ทำคำร้องมา แต่เมื่อผู้ต้องหามีนายประกันมายื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท ประกอบกับผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และในวันเกิดเหตุ เมื่อผู้ต้องหาเห็นว่าภาพที่แชร์ลงในเฟซบุ๊กเข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงได้ทำการลบในทันที ศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณา และให้ผู้ต้องหาไปที่ศาลในวันถัดไป (29 ตุลาคม 2564) เพื่อรับทราบวันนัดรายงานตัวต่อไป

กระทั่งหมายปล่อยตัวจากศาลจังหวัดกันทรลักษ์มาถึงในช่วง 17.00 น. โอมจึงได้รับการปล่อยตัวที่ สภ.ขุนหาญ ท่ามกลางการแสดงความยินดีของญาติ เพื่อนๆ และนักกิจกรรมในจังหวัดศรีสะเกษที่มาติดตามสังเกตการณ์การรับทราบข้อกล่าวหาครั้งนี้อยู่ตลอดทั้งบ่าย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดี 112 ของโอมคดีนี้นับเป็นคดีแรกที่เกิดขึ้นในจังหวัดศรีสะเกษ สำหรับในวันเกิดเหตุ 19 กันยายน 2564 มีประชาชนกลุ่มหนึ่งจัดกิจกรรม คาร์ม็อบขุนหาญ เพื่อสะท้อนความล้มเหลวการจัดการสถานการณ์โควิด -19 ของรัฐบาลและต้องการกดดันนักการเมืองในจังหวัดที่เปลี่ยนขั้วการเมือง ทรยศต่อเสียงของประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา 

วันดังกล่าวขณะโอมเตรียมเดินทางไปร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ ช่วงเวลา 17.00 น.  มีตำรวจอ้างว่ามาจาก สภ.ขุนหาญ บอกให้เขาไปที่ สภ.เพื่อสอบปากคำ โอมจึงโทรศัพท์แจ้ง ‘ตู้’ เพื่อนรุ่นพี่ให้ไปเป็นเพื่อน เมื่อไปถึงตำรวจได้สอบปากคำโอมโดยไม่มีทนายความร่วมด้วย ครั้งนั้นโอมบอกตำรวจไปว่าเป็นคนแชร์ภาพดังกล่าวลงในสตอรี่เฟซบุ๊ก แต่เมื่อผ่านไปไม่กี่นาที ตู้โทรมาแจ้งว่าให้ลบภาพดังกล่าวออกไปตนจึงได้ลบภาพนั้นออกทันที 

อย่างไรก็ตาม วันที่ 20 กันยายน 2564 ตำรวจเรียกตู้ไปที่ สภ.ขุนหาญ ด้วย อ้างว่าให้ไปให้การในฐานะพยาน โดยตู้ก็บอกความจริงกับตำรวจไปว่า เป็นคนบอกให้โอมลบภาพดังกล่าวออกไป และโอมก็ได้ลบภาพนั้นทันทีจริง โดยขณะที่โอมแชร์ภาพดังกล่าว มีเพียงตนและชายที่ชื่อ อภิสิทธิ์ ไทรทอง  สมาชิกอาสารักษาดินแดนที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันได้ดูสตอรี่ดังกล่าว โดยไม่คาดคิดว่า อส.นายนั้นจะนำเรื่องไปแจ้งความที่ สภ. เพราะคิดว่าหากรูปดังกล่าวมีปัญหาจริง น่าจะเพียงตักเตือนกันก่อนได้ 

สำหรับโอมปัจจุบันอาศัยอยู่กับแม่เพียงสองคน เนื่องจากพ่อและแม่แยกทางกันตั้งแต่โอมยังเด็ก หลังจบ ปวส. สาขาอิเลคทรอนิกส์อุตสาหกรรม ที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งในตัวอำเภอขุนหาญ โอมได้เข้าไปเผชิญชีวิตที่กรุงเทพฯ โดยรับจ้างเป็นลูกมือคนขับรถบรรทุกได้ราวปีกว่าๆ ก่อนตัดสินใจกลับมาที่บ้านเพื่อมาอยู่กับแม่ที่มีโรคประจำตัว ทั้งโอมและแม่ทำอาชีพรับจ้างกรีดยางพารา ซึ่งรายได้ไม่แน่นอนขึ้นกับสภาพอากาศ หากวันไหนฝนตกหนักก็จะออกไปกรีดยางไม่ได้ ต้องขาดรายได้ไป เฉลี่ยแล้วโอมมีรายได้ต่อเดือนราว 6,000 บาท และหากว่างจากงานในสวนยาง โอมจะทำงานรับจ้างทั่วไปตามแต่มีผู้ว่าจ้าง เช่น ไปเป็นลูกมือติดตั้งเครื่องเสียงเวลามีงานดนตรีในตัวอำเภอ โอมกล่าวว่า โดยมากหลังได้รับเงินค่าจ้าง เขาจะนำมาให้แม่เก็บไว้

หลังได้รับการปล่อยตัว โอมกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ผมไม่รู้จะต้องใช้คำไหน ไม่รู้ว่าจะขอบคุณยังไง รู้สึกตื้นตัน ดีใจ ซึ้งใจ ขอบพระคุณทุกๆ คนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยผมอย่างเต็มที่ ถ้าไม่ได้ทุกคน ผมคงถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม และขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ ในกลุ่มขุนหาญไม่เอาเผด็จการ เพจแนวร่วมศรีสะเกษเพื่อประชาธิปไตย ที่ช่วยเป็นสื่อกลางประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ และได้มาร่วมให้กำลังใจผม ทั้งที่มาให้กำลังใจถึง สภ.ขุนหาญ และทางออนไลน์ ผมอาจจะตอบไม่หมดแต่ผมได้อ่านทุกเม้นแล้วนะครับ  ขอบพระคุณทุกท่านมากๆ ครับ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 154 คน ใน 159 คดี 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

X