วันที่ 2 กันยายน 2564 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ “เกด” (นามสมมติ) อายุ 20 ปี นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เหตุจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ชูป้ายที่ถูกกล่าวหาว่ามีข้อความหมิ่นพระมหากษัตริย์ ในงานชุมนุมคาร์ม็อบ “ด่วนนครพิงค์เจียงใหม่ ไล่ขึดประยุทธ์” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
เนื่องด้วย “เกด” ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2564 มี พ.ต.ท.ศรีพิงค์ ไหวยะ เป็นผู้กล่าวหา โดยให้ “เกด” ไปที่ สภ.เมืองจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพบ พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ จันทร์เจือแก้ว พนักงานสอบสวน
ในขณะเดียวกัน “ยุ้ย” (นามสมมติ) เพื่อนของเธอที่เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบด้วยกัน ได้ถูกพนักงานสอบสวนโทรแจ้งให้เข้าพบเพื่อสอบปากคำเป็นพยานในคดี จึงขอนัดเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันเวลาเดียวกัน
เวลา 10.00 น. พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ จันทร์เจือแก้ว พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดี ได้เชิญให้ยุ้ยเข้าสอบปากคำในฐานะพยานก่อน
เวลา 11.30 น. “เกด” พร้อมด้วยทนายความได้เข้าพบ พ.ต.ท.ทนงศักดิ์ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทําที่ถูกกล่าวหา โดยสรุปดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 18.26 น. ขณะผู้กล่าวหากับพวก แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาประท้วงแสดงออกทางการเมือง บริเวณหน้าลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์และบริเวณแยกหน้าโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย พบ “เกด” ยืนชูป้ายที่ถูกกล่าวหาว่ามีข้อความหมิ่นพระมหากษัตริย์
ผู้กล่าวหากับพวกจึงได้ทำการสืบสวนและพบว่าก่อนที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวจะมายืนชูป้าย ได้มีการชูออกนอกรถ ขณะที่นั่งรถยนต์ขับขี่มาทางถนนพระปกเกล้า ก่อนที่จะมาจอดที่บริเวณแยกถนนหน้าโรงเรียนยุพราช ผู้ต้องหาได้ลงมาจากรถยนต์และยืนชูป้ายที่มีข้อความดังกล่าวบริเวณที่เกิดเหตุ ส่วน “ยุ้ย” ยืนชูสามนิ้วอยู่ด้านข้าง ผู้กล่าวหากับพวกได้ถ่ายภาพและจัดทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา และร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” โดย “เกด” ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน ภายในวันที่ 2 ตุลาคม 2564 ผู้ต้องหาได้ลงลายมือชื่อในบันทึกรับทราบข้อกล่าวหาและบันทึกประจำวัน พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม
หลังการสอบปากคำ พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้กับ “เกด” และ “ยุ้ย” เพื่อให้เข้ามาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้ง เนื่องจากหลังจากสอบปากคำพยานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า “ยุ้ย” มีส่วนเกี่ยวข้องกับป้ายดังกล่าว ทางตำรวจจึงจะแจ้งข้อกล่าวหาต่อ “ยุ้ย” ในคดีนี้ด้วยในภายหลัง
ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะปล่อยตัว “เกด” ไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่การกลับมาใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ถึงอย่างน้อย 124 ราย ใน 126 คดี
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64