8 ธ.ค. 63 เวลา 10.00 น. และ 13.00 น. ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ประชาชน-นักศึกษา-นักกิจกรรมทั้งหมด 9 คนเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” โดย “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, วัชรากร ไชยแก้ว, “เอฟ” ชลธิศ โชติสวัสดิ์, เบนจา อะปัญ, กรกช แสงเย็นพันธ์, อัครพล ตีบไธสง และโจเซฟ (นามสมมุติ) มารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงเช้า ส่วน “บอล” ชนินทร์ วงษ์ศรี เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงบ่าย
ทั้ง 8 คนถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 “ยุยงปลุกปั่น” แล้วเมื่อวันที่ 5 พ.ย. และ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา มีโจเซฟรายเดียวที่ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยได้รับหมายเรียกมาตรา 116 และวันนี้พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้ง มาตรา 116 และมาตรา 112 หลังถูกกล่าวหาว่าอ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ
>> 7 นักกิจกรรมถูกแจ้งข้อหา ม.116 เหตุอ่านแถลงหน้าสถานทูตเยอรมัน ให้ตรวจสอบกษัตริย์ไทย
ในวันนี้ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, “เจี๊ยบ” อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และประทับจิต นีละไพจิตร จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights – OHCHR) เข้าสังเกตการณ์การแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมครั้งนี้ด้วย
เวลา 09.30 น. “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, วัชรากร ไชยแก้ว, เบนจา อะปัญ, ชลธิศ โชติสวัสดิ์ และโจเซฟเดินทางมาถึง สน.ทุ่งมหาเมฆ พูดคุยทักทายกับอาจารย์ประจักษ์และ ส.ส.อมรัตน์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบจากกองกำกับการตำรวจนครบาลและเทศกิจคอยถ่ายรูป
ราว 10.12 น. บริเวณหน้า สน.ทุ่งมหาเมฆ มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบไม่ต่ำกว่า 15 คน ตรึงกำลัง ส่วนบริเวณด้านข้างของอาคารมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบอีกประมาณ 10 กว่าคน เป็นที่น่าสังเกตว่า มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาควบคุมพื้นที่มากกว่าวันที่นักกิจกรรมเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ม.116 พอสมควร
ต่อมา เมื่อผู้ได้รับหมายเรียกทั้ง 8 คน เดินทางมาถึง สน.ทุ่งมหาเมฆ พนักงานสอบสวนจึงประสานงานให้ผู้ได้รับหมายเรียกพร้อมทนายความเข้าไปในห้องประชุมบริเวณชั้นล่างของ สน. แต่กลับไม่อนุญาตให้ผู้ไว้วางใจเข้าร่วมด้วย รวมถึงตัวแทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติที่มาสังเกตการณ์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เหตุผลว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนลงบันทึกประจำวันว่ามารายงานตัว ให้เข้าแค่ทนายความกับผู้ต้องหาเท่านั้น แล้วจะให้ผู้ไว้วางใจเข้าร่วมตอนสอบคำให้การเท่านั้น หลังผู้ได้รับหมายเรียกแยกย้ายเพื่อไปสอบคำให้การบริเวณห้องประชุมชั้นล่างและห้องพนักงานสอบสวนชั้น 3 ของ สน. ผู้ไว้วางใจสามารถเข้าร่วมการสอบสวนได้ตามปกติ
พ.ต.ท.ประจำ หนุนนาค รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.ทุ่งมหาเมฆ, พ.ต.ท.อาวุธ แก้วมณี สารวัตร (สอบสวน) สน.ทุ่งมหาเมฆ, พ.ต.ท.อดิศร แก้วโหมดตาด และร.ต.อ.ธนเดช จันทร์มาลา พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาทั้ง 7 คนในข้อหา “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” พร้อมอธิบายพฤติการณ์โดยสรุปคล้ายคลึงกับการแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 มีข้อแตกต่างที่เพิ่มมา ดังนี้
“เนื้อหาบางช่วงบางตอนในคําแถลงการณ์ทุกฉบับและคําปราศรัยดังกล่าวเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ ต่อผู้ร่วมชุมนุมและบุคคลที่อยู่ในบริเวณที่ชุมนุม เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระองค์ ทําให้พระองค์เสื่อมพระเกียรติ เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”
“ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ดังนั้น การพูดถึงพระมหากษัตริย์ ในลักษณะที่ปรากฎในแถลงการณ์จึงเป็นการจาบจ้วงล่วงเกิน ไม่เหมาะสม พูดใส่ ความ เพื่อปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมและประชาชนที่ผ่านไปมา มีความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์ โดยมุ่งหวังให้ประชาชนฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดินที่บัญญัติไว้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จนเป็นเหตุให้ประชาชนแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย ก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในประเทศ และอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ในแถบนั้นจนถึงขั้นก่อความไม่สงบได้”
“แม้ว่าผู้อ่านแถลงการณ์จะอ่านแถลงการณ์ฉบับภาษาไทย ฉบับภาษาอังกฤษ และฉบับภาษาเยอรมันคนละท่อนและข้อความที่บางคนอ่านอาจไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่เนื่องจากการอ่านแถลงการณ์ดังกล่าวนี้เป็นการแบ่งงานกันทำและมีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกัน จึงเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดมาตรานี้ ทั้งเนื้อหายังสอดคล้องกับคำปราศรัยของนางสาวภัสราวลีและนายอรรถพล จึงถือว่าการกระทำของภัสราวลีและอรรถพลนั้นเข้าข่ายความผิดตาม มาตรา 112 ด้วย”
ส่วนโจเซฟ พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมานอาญา มาตรา 112 และ 116 โดยระบุพฤติการณ์การกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหาเช่นเดียวกับทุกคน
ประมาณ 12.00 น. พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ ผบก.น.5 เดินทางมาดูแลการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในครั้งนี้ โดยกล่าวกับทนายความและผู้ต้องหาว่า พร้อมอำนวยความสะดวกและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมกับกำชับให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ในชั้นสอบสวนด้วย พนักงานสอบสวนจึงต้องแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวกับผู้ต้องหาทั้งแปดเพิ่มเติมอีก 1 ข้อหา โดยเป็นข้อหาที่มีเพียงแค่โทษปรับเท่านั้น
เบื้องต้นทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 29 ธ.ค. 63 ด้านพนักงานสอบสวนนัดให้ผู้ต้องหาทั้งหมดพร้อมทนายความมาพบที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ในวันที่ 7 ม.ค. 64 เพื่อส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการต่อไป
หลังจากทั้ง 8 รับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ภัสราวลีได้แถลงกับสื่อมวลชน ขอให้ตั้งคำถามถึงจุดประสงค์การนำมาตรา 112 กลับมาใช้ ด้านเบนจาขอให้ติดตามการแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 กับเพื่อนนักกิจกรรมที่สน.ชนะสงครามและสภ.เมืองนนทบุรีในวันนี้ และขอให้ทุกคนติดตามการชุมนุมในวันที่ 10 ธ.ค. 63 ที่จะถึงนี้ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112
ส่วนในตอนบ่ายที่ “บอล” ชนินทร์ วงษ์ศรี เดินทางมาถึง พนักงานสอบสวนก็ได้แจ้งพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาและข้อกล่าวหาเพิ่มเติม 2 ข้อหา ในลักษณะเดียวกับในช่วงเช้า
จนถึงวันนี้ (8 ธ.ค. 63) มีผู้ถูกดำเนินคดีและได้รับหมายเรียกจากการชุมนุมและอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 63 รวม 13 คน โดยผู้ได้รับหมายเรียก 4 คน จะเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และมาตรา 112 ในวันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค. 63) เวลา 13.00 น. สำหรับผู้ถูกดำเนินคดีในคดีนี้มีทั้งแกนนำการชุมนุม นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ และประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน
แม้แนวทางการดำเนินคดีมาตรา 112 ในครั้งนี้ ศาลไม่ได้อนุมัติหมายจับตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ แต่ก็เป็นที่น่าจับตาว่าขั้นตอนการดำเนินคดีในชั้นสอบสวนและชั้นอัยการในขั้นต่อไปจะเป็นอย่างไร
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:
ตร.แจ้งข้อหาม.116 “ครูใหญ่” เหตุปราศรัยหน้าสถานทูตเยอรมัน ขอกษัตริย์อยู่ใต้รธน.