7 นักกิจกรรมถูกแจ้งข้อหา ม.116 เหตุอ่านแถลงหน้าสถานทูตเยอรมัน ให้ตรวจสอบกษัตริย์ไทย

5 พ.ย. 63 ที่สน.ทุ่งมหาเมฆ 7 นักกิจกรรมและนักศึกษาที่ถูกออกหมายเรียกในคดีการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 63 ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 

สำหรับการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 ต.ค. จัดขึ้นโดยกลุ่มคณะราษฎร เป็นการรวมตัวเดินขบวนจากแยกสามย่านไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจําประเทศไทย พร้อมกับมีตัวแทนเข้ายื่นหนังสือกับเอกอัครราชทูตเยอรมัน โดยขอให้ทางเยอรมันตรวจสอบว่าพระมหากษัตริย์ไทยมีการใช้พระราชอำนาจบนดินแดนของเยอรมันหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยบนแผ่นดินเยอรมัน รวมทั้งขอให้มีการตรวจสอบการเสียภาษีมรดกและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ ที่มีรายงานข่าวในสื่อต่างประเทศอีกด้วย

หลังการชุมนุม พ.ต.ท.อนันท์ วงศ์คำ รองผู้กำกับสืบสวนสภ.ทุ่งมหาเมฆ ได้เป็นผู้แจ้งความกล่าวหาแกนนำการจัดชุมนุมและผู้ร่วมอ่านแถลงการณ์ในภาษาต่างๆ ในระหว่างชุมนุม 

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 63 มีรายงานว่าพ.ต.อ.พิทักษ์ สุทธิกุล รักษาการผกก.สน.ทุ่งมหาเมฆ ได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับ แกนนำการชุมนุม 5 ราย แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าทั้งหมดยังเป็นนักศึกษา ยังไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี จึงเห็นควรให้ผู้ร้องไปดำเนินการออกหมายเรียกก่อน 

ในวันเดียวกันนั้นเอง พ.ต.อ.พิทักษ์จึงได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้มารับทราบข้อกล่าวหา โดยระบุวันเวลาที่ให้ผู้ถูกออกหมายเรียกมารับทราบข้อหาแตกต่างกันไป 

 

 

แจ้งข้อหาม.116 “มายด์” เหตุปราศรัยขอให้รัฐบาลเยอรมันตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกษัตริย์ไทย

ในช่วงเช้าวันนี้ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ “มายด์” เดินทางเข้ารับทราบข้อหา พร้อมทนายความ โดยพบว่า พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ ผู้กำกับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ได้เดินทางมาร่วมติดตามคดีนี้ด้วย 

การแจ้งข้อหามี พ.ต.ท.ประจำ หนุนนาค รองผู้กำกับสอบสวนสน.ทุ่งมหาเมฆ และ พ.ต.ท.อดิศร แก้วโหมดตาด รองผู้กำกับสอบสวนสน.คลองตัน ซึ่งมีคำสั่งให้มาช่วยการสอบสวนในคดีนี้ เป็นผู้ดำเนินการ และยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบคอยติดตามถ่ายวิดีโอในห้องสอบสวนไว้ตลอดด้วย

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาภัสราวลีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) และ (3) ระบุพฤติการณ์ว่ากลุ่มคณะราษฎร 2563 ได้นัดหมายการชุมนุมบริเวณแยกสามย่าน และเดินขบวนไปยื่นข้อเรียกร้องให้สถานทูตเยอรมนี โดยผู้จัดการชุมนุมไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้ง การชุมนุมมีผู้เข้าร่วมประมาณ 30,000 คน โดยได้เดินขบวนมาตามถนนพระราม 4 ผ่านสี่แยกวิทยุ เลี้ยวเข้าถนนสาทรใต้ มายังสถานทูตเยอรมัน

ข้อกล่าวหาระบุว่าตัวแทนผู้ชุมนุม 3 คน นำโดยน.ส.ภัสราวลี ได้เข้าไปภายในสถานทูตเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง ระหว่างนั้นกลุ่มคณะราษฎร 2563 ได้อ่านแถลงการณ์ที่จัดเตรียมมา ทั้งในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน โดยแบ่งกันอ่านเรียงคนละท่อน ผ่านเครื่องขยายเสียง ให้กลุ่มผู้ชุมนุมฟัง ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวมีข้อความเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ ในลักษณะเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดการล่วงละเมิดกฎหมาย และจะก่อความไม่สงบขึ้น รวมทั้งแกนนำยังได้มีการปราศรัยหัวข้อว่า “ต้องการให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี” 

ต่อมาตัวแทนผู้ชุมนุม 3 คน ได้ออกมาจากสถานทูต และมีการกล่าวปราศรัยถึงจดหมายที่ได้ยื่นต่อเอกอัครราชทูต เรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันตรวจสอบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยเนื้อหาคำปราศรัยมีความสอดคล้องกับแถลงการณ์ของกลุ่มคณะราษฎร 2563 จึงถือได้ว่าการกระทำของนส.ภัสราวลีและพวก มีเจตนามุ่งหวังให้มวลชนที่มาร่วมชุมนุมได้ยินคำแถลงการณ์และคำปราศรัย ฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินที่บัญญัติไว้เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จนเป็นเหตุให้ประชาชนแบ่งเป็นฝักฝ่าย และจะก่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน จนถึงขนาดจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรได้ 

หลังรับทราบข้อกล่าวหา ภัสราวลีได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยพนักงานสอบสวนให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และให้ปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว และไม่มีการควบคุมตัวไว้ 

.

 

แจ้งข้อหาม.116 ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาต่างๆ หน้าสถานทูตอีก 6 ราย 

ต่อมาในช่วงบ่าย เวลา 13.00 น. นักกิจกรรมอีก 6 รายที่ได้รับหมายเรียก ได้แก่ กรกช แสงเย็นพันธ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, เบนจา อะปัญ, วัชรากร ไชยแก้ว และณวรรษ เลี้ยงวัฒนา พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ทุ่งมหาเมฆ 

ทั้ง 6 คนได้ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (2) และ (3) เช่นเดียวกัน และบรรยายพฤติการณ์ข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกับภัสราวลี 

ในส่วนของกรกช แสงเย็นพันธ์, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ชลธิศ โชติสวัสดิ์ และเบนจา อะปัญ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ของการชุมนุมเป็นภาษาไทยที่หน้าสถานทูตเยอรมัน ส่วนวัชรากร ไชยแก้ว และณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษ

ทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยพนักงานสอบสวนได้นัดหมายทั้งหมด รวมท้้งภัสราวลี รายงานตัวเพื่อส่งสำนวนให้พนักงานอัยการต่อไปในวันที่ 8 ธ.ค. 63 และให้ปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว และไม่มีการควบคุมตัวไว้ 

นักศึกษาและนักกิจกรรมผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาช่วงบ่ายนี้ ยังได้จัดเตรียมแผ่นกระดาษข้อความยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และการใช้มาตรา 116 โดยมิชอบ มาแสดงอีกด้วย

 

 

X