วันที่ 10 ส.ค. 2564 ภายหลังกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดกิจกรรมเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบออกจากแยกราชประสงค์ เพื่อทำกิจกรรมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเครือข่ายรัฐบาล
โดยมีเคลื่อนขบวนไปยังหน้าอาคารซิโน-ไทย ทาวเวอร์ ถนนอโศกมนตรี รวมถึงที่ตั้งบริษัทของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า บริเวณถนนอโศก-ดินแดง และ หน้าบริษัทคิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ โดยมีการปราศรัยและทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์บริเวณหน้าสถานที่ทั้ง 3 แห่ง ก่อนประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 17.10 น.
เวลาประมาณ 17.20 น. ภายหลังจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศยุติการชุมนุม มวลชนบางส่วนที่ยังไม่เดินทางกลับ ได้เริ่มรวมตัวกันบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เกิดการตอบโต้กับตำรวจควบคุมฝูงชนซึ่งใช้อุปกรณ์เข้าสลายการชุมนุม อาทิ รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊ส แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ในวันดังกล่าวยังมีการจับกุมประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งเข้ายึดรถจักรยานยนต์อีกด้วย ขณะที่ผู้ชุมนุมบางส่วนตอบโต้ด้วยการขว้างปาสิ่งของ ยิงประทัดและพลุ
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ได้แถลงข่าวภายหลังเหตุการณ์ ว่าทางตำรวจได้ยึดรถจักรยานยนต์เกือบ 100 คัน เจ้าหน้าที่จะสืบสวนขยายผลถึงตัวผู้กระทำความผิด พร้อมจับกุมดำเนินคดีต่อไป
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าเหตุการณ์การยึดรถในวันดังกล่าวนำมาซึ่งความเดือดร้อนของประชาชนที่สัญจรไปมาบริเวณนั้น เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ประชาชนทั่วไปใช้สัญจรเป็นปกติ แต่เมื่อมีการสลายการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนที่สัญจรไปมาเลือกที่จะวิ่งหนีเอาตัวรอด โดยมีหลายกรณีจำใจทิ้งรถจักรยานยนต์ของตนเองไว้เนื่องจากโดนแก๊สน้ำตา จนต้องวิ่งหนีออกมาจากจุดที่มีการสลายการชุมนุมและเนื่องจากเกรงว่าตำรวจจะเหมารวมว่าตนเป็นผู้ชุมนุม จึงไม่กล้ากลับไปเอารถในจุดดังกล่าว
13 ก.ค. 2564 ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยึดรถจักรยานยนต์ จำนวน 97 คัน เดินทางไปยัง สน.ดินแดงเพื่อขอคืนรถจักรยานยนต์ โดยพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเอาไว้ โดยระบุว่าบันทึกดังกล่าวใช้ในการสอบสวนได้ ทั้งนี้ตำรวจแจ้งว่ารถจักรยานยนต์ทุกคันจะต้องรอการตรวจสอบ จึงไม่สามารถคืนให้ประชาชนภายในวันนั้นได้ โดยในวันดังกล่าวมีประชาชนถูกสอบสวนในฐานะพยานแล้วกว่า 50 คน
จากวันนั้นสำหรับประชาชนบางคน นับเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้วที่ถูกยึดรถจักรยานยนต์ไป บางส่วนประสบปัญหาไม่มีรถใช้งาน จนทำให้ต้องหยุดงานหรือเกิดความไม่สะดวกในการทำงาน เนื่องจากลักษณะงานบางอย่างของพวกเขาจำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก เช่น อาชีพไรเดอร์ส่งอาหาร อาชีพจักรยานยนต์รับจ้าง หรืออาชีพที่ต้องทำงานกะกลางคืน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านเศษเสี้ยวคำบอกเล่าถึงเหตุการณ์ และบางส่วนในความเดือดร้อนของประชาชนจากการถูกยึดเครื่องมือทำมาหากินดังกล่าว
“นิธิศ” พนักงานคาร์โก้สนามบินและนักศึกษา วัย 20 ปี
วันที่ 10 ส.ค. วันที่เกิดเหตุ ผมไม่ทราบว่ามีม็อบบริเวณแยกดินแดง ได้ขับรถมอเตอร์ไซต์จากที่พักออกมารับแฟนที่สถาบันประสาทฯ โดยได้เปิดจีพีเอสมาจากลาดกระบัง หลังจากรับแฟนแล้วช่วงประมาณ 4-5 โมง ปรากฏว่าถนนถูกปิดและมีการสลายการชุมนุม ตำรวจไล่มา และมีการยิงแก๊สน้ำตาใส่ ทำให้คนที่ขับมอเตอร์ไซต์อยู่ต้องพากันวิ่งหนี โดยผมตัดสินใจทิ้งรถไว้ บริเวณเลยสามเหลี่ยมดินแดงมานิดหน่อย
ตอนนี้ผมเรียนอยู่ปี 2 ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพ และทำงานอยู่ที่คลังคาร์โก้สนามบินสุวรรณภูมิ เข้างานช่วงตี 3 จำเป็นต้องใช้รถมอเตอร์ไซต์ในการเรียนและการทำงาน แต่ปัจจุบันไม่ได้ไปทำงานเนื่องจากไม่มียานพาหนะ เลิกงานก็กลับบ้านไม่สะดวก แฟนซึ่งทำงานพิเศษเหมือนกันก็ไม่ได้ไปทำงานเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีรถขับไปรับแฟน
.
“อดุล” ช่างซ่อมรถมอเตอร์ไซต์
วันที่ 10 ส.ค. ผมกำลังขับรถกลับบ้านโดยวิ่งมาจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันนั้นไปซื้ออะไหล่มอเตอร์ไซต์ โดยคิดว่าจะกลับมาทันก่อนเขาจะชุมนุมกัน แต่ไม่ทัน ถนนปิดก่อน บ้านผมอยู่สุทธิสาร ผมต้องขับไปทางวิภาวดี แต่พอดีว่าถนนปิด ผมจึงกลับรถตรงอุโมงค์ดินแดง
ผมโดนแก๊สน้ำตาบริเวณนั้น ซึ่งไม่รู้ว่ามาจากไหน จึงจอดรถแล้วล้างตา พอลืมตามาอีกที ก็เห็นตำรวจถือกระบองมาแล้ว ผมเลยต้องวิ่งหนีและทิ้งรถไว้ ขณะนั้นยังไม่มืดประมาณ 4-5 โมง คนตรงนั้นทิ้งรถกันหมด ผมก็ทิ้งรถแล้ววิ่งตามเขา ชุลมุนมาก ตำรวจเขาไล่ตีเลยต้องทิ้งไว้ก่อน รถจอดอยู่หน้าคอนโดลุมพินี หลังจากทิ้งรถก็เดินเข้าซอยวัดสะพาน ตลาดศรีวานิช มายืนดูก็เห็นพวกตำรวจยกรถขึ้นกระบะไปหมดเลย
ปกติผมใช้รถมอเตอร์ไซต์คันนี้ทำงาน รถเพิ่งซื้อมาเลย เพิ่งซื้อวันที่ 1 ส.ค. ยังไม่ได้เล่มเลย ยังไม่ได้โอน แต่มีเอกสารใบซื้อขายหมดทุกอย่าง ตอนนี้ผมไม่มีรถใช้ ยืมรถคนอื่นทำงานอยู่ ไปทำงานก็ต้องเข้างานช้ากว่าปกติเพราะไม่มีรถส่วนตัว บ้านกับที่ทำงานไม่ไกลกัน
ผมเดือดร้อนมาก ไปสน.ดินแดงมาหลายครั้ง ไปคุยกับผู้กับกับ ไปคุยกับรองผู้กำกับ ควรจะตรวจสอบให้เสร็จได้แล้วว่าผมไปชุมนุมหรือไม่อย่างไร ถ้าเจอว่าผมไปชุมนุมก็บอกมา แต่ถ้าไม่ ก็ควรจะคืนรถให้ผมได้แล้ว ผมต้องทำมาหากิน พวกเขาโยนกันไปโยนกันมาว่าต้องไปติดต่อที่ใครกันแน่ บอกว่าไม่รู้อย่างเดียว เพราะเขาไม่ได้เป็นคนยกรถไป
คนเดือดร้อนเยอะมาก คนที่ผมรู้จักต้องไปออกรถใหม่เพื่อไปทำงาน เพราะเขาขับแกร็บ เขาจะโดนปรับออกจากงาน ถ้าเขาทำงานไม่ได้ ต้องไปกู้เงินมาดาวน์รถเพื่อให้ยังได้ทำงานต่อไป การยึดรถแบบนี้ทำให้คนที่กำลังลำบากอยู่แล้วกระทบกันไปหมด ผมไปเดินเรื่องที่ สน. ตลอด แต่ไม่มีความคืบหน้าเลย ผมก็แบบ “โหอะไรกันเนี่ย งงไปหมด”
.
“จารุเดช” วินมอเตอร์ไซต์ วัย 23 ปี
ปกติผมเป็นวินมอเตอร์ไซต์อยู่ที่แถวบางกรวย วัดจันทร์ วันที่ 10 ส.ค. ช่วงเย็นๆ ประมาณ 5 โมงกว่าๆ มีคนว่าจ้างผม ให้ไปส่งที่ม็อบ จริงๆ ผมก็ไม่อยากไปเพราะกลัวกลับลำบาก แต่ก็ตัดสินใจไปส่งเขา
ผมขับไปส่งเขาที่หน้าเซเว่น เลย ป.ป.ส. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) มาหน่อย พอผมส่งเขาซักพัก ผมจุดบุหรี่สูบบนรถ ตำรวจเริ่มปาแก๊สน้ำตา ผมไม่รู้จะทำยังไงเพราะมันแสบตามาก ก็เลยวิ่งหนี เพราะตำรวจไล่มาแล้ว
วันนั้นผมกลับสี่ทุ่ม เพราะผมไม่รู้จะกลับบ้านยังไง จะกลับเข้าไปเอารถ ก็ไม่กล้า เพราะกลัวตำรวจคิดว่าผมมาชุมนุมแล้วผมจะโดนจับไปด้วย สุดท้ายต้องโทรศัพท์ให้พี่ชายมารับกลับบ้าน
ตั้งแต่ผมโดนยึดรถมา ผมไม่ได้ขับมอเตอร์ไซต์วินเลย ผมไปเดินเรื่องทุกอย่างแล้ว แต่ยังไม่มีการติดต่อกลับจากตำรวจ เดือดร้อนมาก เพราะต้องใช้รถมอเตอร์ไซต์ทำมาหากิน
.
“น้ำ” ไลน์แมน
ปกติผมวิ่งรถไลน์แมน ส่งอาหารอยู่เส้นวิภาวดีรังสิตเป็นประจำ เพราะมีงานเด้งเข้ามาเยอะ ในวันที่ 10 ส.ค. ช่วงเวลาประมาณ 6 โมง ก็วิ่งกดรับงานตามปกติ แต่ขณะที่กำลังจะกดรับงานบริเวณวิภาวดี ก็มีการใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ผมจึงขับรถเข้าไปหลบในโชว์รูมเบนซ์ และจอดรถเพื่อล้างหน้า เนื่องจากโดนแก๊สน้ำตา แต่ขณะที่ผมล้างหน้าอยู่ ก็เห็นเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเดินเข้ามาที่โชว์รูม แต่ตรวจดูรถมอเตอร์ไซต์ที่จอดอยู่ ผมไม่กล้าออกไปแสดงตัวเพราะกลัวเขาจะหาว่าเรามาชุมนุมและจะโดนจับ จึงหลบอยู่
พอสักพักก็มีเจ้าหน้าที่มาเข็นรถที่จอดอยู่ตรงนั้นออกไปหมด รวมถึงรถของผมด้วย ผมพยายามเข้าไปแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของรถ แต่ไม่มีใครสนใจผมเลย โยนกันไปมาว่าให้ไปแสดงหลักฐานและติดตามเอาที่ สน.
ปกติผมใช้รถมอเตอร์ไซต์คันนี้ขับไปทำงานประจำและนอกเวลางาน ผมใช้ทำอาชีพเสริมขับไลน์แมน การไม่มีรถมอเตอร์ไซต์ ทำให้ผมต้องใช้รถยนต์ขับไปทำงาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิม ปัจจุบันยังไม่สามารถขอรถคืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เลย
(ภาพจากมติชนออนไลน์ )
.
ทนายความเล่าปัญหาการติดตามขอรถจักรยานยนต์คืน
นอกจากประชาชนหลายคนจะพบกับความเดือดร้อนเพราะขาดเครื่องมือทำมาหากินแล้ว ทนายความก็ประสบปัญหาและความยุ่งยากกับขั้นตอนการติดตามรถจักรยานยนต์หรืออุปกรณ์ของประชาชน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจยึดไปคืน
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่เข้าติดตามการตรวจยึดสิ่งของของเจ้าหน้าที่ บอกเล่าถึงปัญหาการติดตามขอคืนเครื่องมือสือสารของผู้ต้องหาที่ถูกยึดระหว่างถูกจับกุม และรถจักรยานยนต์ของประชาชนอีกจำนวนมาก
“ปัญหาแรกที่เจอตั้งแต่ในชั้นจับกุม ผู้ต้องหามีพฤติกรรมในการไลฟ์สดขณะจับกุม หรือการถ่ายวิดีโอต่างๆ ไว้ เพื่อให้มีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ใช้กำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม จึงจะยึดมือถือไว้ตั้งแต่ตอนนั้นเลย บางคนถูกคุมขังโดยยังไม่ถูกยึดโทรศัพท์มือถือ จึงมีการถ่ายรูปในห้องคุมขัง หรือไลฟ์วิดีโอ นี่คือสองเหตุการณ์ที่ตำรวจใช้อ้างเป็นเหตุในการยึดโทรศัพท์มือถือไว้
“ในบางกรณีหลังจากยึดเพื่อไม่ให้เผยแพร่ ของบางคนได้คืน ของบางคนไม่ได้คืน เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าโทรศัพท์เครื่องนี้ถูกบันทึกไว้เป็นของกลางในคดีแล้ว และจะต้องนำไปพิสูจน์ต่อไปว่ามือถือเครื่องนี้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด พ.ร.กฉุกเฉินฯ หรือไม่
“การที่เราจะยึดอะไรซักอย่างไว้เป็นของกลางได้ ต้องปรากฎว่าสิ่งๆ นั้น ถูกใช้ในการกระทำความผิด จากข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ที่มักถูกแจ้งกันบ่อยๆ ตั้งแต่มีการชุมนุมมา ทนายมองว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายตัวนี้ คือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค การที่ตำรวจอ้างว่าจะยึดมือถือไว้เป็นของกลางเนื่องจากมีการมาชุมนุมกัน ค่อนข้างไกลกันไปนิดหนึ่งแบบไม่เป็นสาระสำคัญที่เราจะยึดไว้เป็นของกลางในการพิสูจน์ความผิด นี่เป็นความลำบากตั้งแต่ขั้นตอนแรกที่เราพบเจอ”
“นอกจากคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะถูกยึดโทรศัพท์ไว้ ปรากฎต่อมาว่ามีการยึดรถจักรยานยนต์และรถยนต์ของผู้ที่มาชุมนุมหรือไม่ได้มาชุมนุมด้วย หากจะให้พิจารณาว่าทั้งสองอย่างเป็นของกลางในคดีจริงๆ ไหม จากมุมที่ตำรวจอ้าง ตำรวจจะบอกว่าคุณใช้รถจักรยานยนต์มาชุมนุมมามั่วสุมเกิน 5 คน ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่โรค แต่หากมองจริงๆ คือคุณต้องการแค่ยึดรถเขาไป เพื่อไม่ให้เขามาชุมนุมใช่ไหม
“เมื่อตำรวจอ้างอย่างนั้นและปรากฎว่ารถที่ถูกยึดไป บ้างอาจเป็นคนผู้ชุมนุม แต่บ้างก็เป็นของผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีหรือการชุมนุมเลย ในส่วนของผู้เกี่ยวข้องคือรถของผู้ที่ถูกจับกุม บางเคสตำรวจจะให้ทำเรื่องประกันรถ โดยให้ทนายทำหนังสือเพื่อไปยื่นกับผู้กำกับของสน. นั้นๆ ในการพิจารณามีคำสั่งอย่างไร
“ส่วนรถของผู้ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง จะมีข้อแตกต่างคือ ตำรวจจะบอกกับเราว่า ทนายต้องมาทำหนังสือขอคืนรถจักรยานยนต์และเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ว่าพฤติการณ์ของคุณที่ทำให้รถมาอยู่ในความครอบครองของตำรวจนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร ให้เขาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อที่จะนำหนังสือขอคืนรถไปพิจารณาอีกที เพื่อเทียบกับรถที่โดนยึดไว้ ขั้นตอนนี้สร้างความวุ่นวายให้ทั้งผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ที่ถูกจับกุม”
“จากข้อมูลของผู้ที่ร้องเรียนเข้ามา พบว่าลักษณะและปัญหาของรถที่ถูกยึด แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ 1. รถที่ติดไฟแนนซ์ การขอคืนรถของตัวเองที่ติดไฟแนนซ์อยู่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เนื่องจากต้องไปขอให้บริษัทไฟแนนซ์ทำหนังสือมอบอำนาจมาให้ เพื่อที่เจ้าของจะได้ไปเอารถที่โดนยึดอยู่ได้
“2. รถของญาติ ซึ่งเจ้าของอยู่ต่างจังหวัด ตรงนี้ญาติก็ต้องส่งเอกสาร ยืนยันตัวตน ยืนยันความเป็นเจ้าของพร้อมเซ็นใบมอบอำนาจมาเช่นกัน
“3. รถที่เป็นของบริษัท ตรงนี้มีความยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากรถที่โดนยึดไปอาจจะไม่ใช่รถของตนเองเลย แต่คนๆ นั้นเป็นลูกจ้างของบริษัท ซึ่งไปทำธุระบริเวณนั้นแต่ต้องทิ้งรถไว้ ต้องให้เจ้าของกิจการเป็นคนมาดำเนินเรื่องหรือต้องทำเรื่องมอบอำนาจมา
“พอแจกแจงรายละเอียดเหล่านี้ได้ แม้เอกสารครบแล้ว ก็ยังต้องรอตำรวจพิจารณา ซึ่งไม่มีเงื่อนเวลาว่าจะพิจารณาเสร็จเมื่อไหร่ ในความเห็นของทนายความ เมื่อเอกสารครบเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ควรที่จะใช้เวลานานเนื่องจากสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่จำเป็นต้องใช้รถ โดยเฉพาะประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้
“นอกจากเรื่องความยุ่งยากเกี่ยวกับเอกสารแล้ว แม้แต่เรื่องการขอลงบันทึกประจำวันว่าได้นำเอกสารมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่แล้ว ก็มีปัญหา เนื่องจากมีการโยนกันไปมาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คล้ายจะไม่อยากลงบันทึกประจำวันไว้ให้ เนื่องจากจะมีภาระผูกพันที่ต้องติดตามเรื่องการคืนรถจักรยานยนต์
“เราไป สน. เพื่อดำเนินเรื่องขอคืนโทรศัพท์และรถจักรยานยนต์วันแรก วันที่ 13 ส.ค. 2564 ความยุ่งยากข้อแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเตรียมเอกสารของแต่ละคน ซึ่งมาที่ สน. จากการบอกต่อๆ กัน โดยยังไม่เคยทราบมาก่อนต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
“ในวันที่ 13 ส.ค. มีผู้มาขอคืนรถจักรยานยนต์จำนวนมาก แต่ตำรวจสามารถสอบปากคำไปได้เพียง 50 คน ขณะเดียวกันเมื่อทนายได้เดินทางไปติดตามเรื่องรถอีกครั้งในวันที่ 15 ส.ค. และเกือบตลอดอาทิตย์หลังจากนั้น ก็มีผู้คนทยอยเดินทางมาที่ สน. และมาติดตามรถที่ถูกยึดไปในการชุมนุมครั้งต่างๆ เพิ่มอีก ทำให้มีเคสสะสมจำนวนมาก แม้ทนายความพยายามรวบรวมบุคคลที่ยังตกหล่นอยู่
“หลังจากผ่านไปกว่า 2 อาทิตย์ ตำรวจเพิ่งติดต่อมาว่ากำลังจะประชุมกันในเรื่องการคืนรถว่าทางคณะทำงานจะมีความเห็นอย่างไร แสดงให้เห็นปัญหาอีกข้อหนึ่งว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับเรื่องดุลยพินิจของตำรวจในการพิจารณาเกี่ยวกับการคืนรถด้วย”
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ไล่จับ 47 ราย เป็นเยาวชน 14 ราย! หลังยุติ #10สิงหาคาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช หลายรายบาดเจ็บ ก่อนแจ้งข้อหา พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ – ใช้เงินประกัน 7.6 แสน
.