ศาลอาญาให้ประกัน ‘ไผ่-ไมค์’ พร้อมเงื่อนไข “ห้ามกระทำการกระทบสถาบันกษัตริย์และศาลในทุกด้าน” ส่วน ‘ทวี’ ศาลยกคำร้อง

9 ก.พ. 65 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ หลังทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 3 นักกิจกรรม ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่”, ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” และทวี เที่ยงวิเศษ หรือ “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” แล้ว ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์และภาณุพงศ์ ในทุกคดีที่มีหมายขังของศาลนี้ พร้อมกำหนดเงื่อนไข 5 ประการ ทั้งเรื่องการห้ามกระทำการกระทบต่อสถาบันกษัตริย์และศาลในทุกด้าน, ให้ติด EM และห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงกลางคืน ในขณะที่ศาลยกคำร้องของทวี โดยระบุเหตุผลว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”

ในกรณีของ “ไผ่” ได้ยื่นขอประกันตัวใน 3 คดี ได้แก่ คดีจากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563, คดีชุมนุมคณะราษฎรอีสาน เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 และคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง วันที่ 3 ส.ค. 2564

ส่วนไมค์ ได้ยื่นขอประกันตัวใน 4 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563, คดี #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563, คดีชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2563 และคดีชุมนุมสาดสี-ปาไข่ หน้า ม.พัน 4 รอ. เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563

ด้านทวี ยื่นประกันตัวใน 2 คดี ได้แก่ คดี #ม็อบ3กันยา64 กรณีถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเจ้าพนักงานและหลบหนีการจับกุม และคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 

.

เปิดเหตุผลขอปล่อยตัวชั่วคราว “จำเลยมีหน้าที่ด้านการศึกษาและต้องรับผิดชอบช่วยเหลือครอบครัว ระบุพร้อมยินดีทำตามเงื่อนไขศาลทุกประการ” 

ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของจตุภัทร์ระบุส่วนหนึ่งว่า จำเลยเป็นนักศึกษาชั้นปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และอยู่ระหว่างการอบรมศึกษาเพื่อสอบขอรับใบอนุญาตว่าความในฐานะทนายความ จึงมีหน้าที่จะต้องเข้าเรียน จัดทำรายงานต่างๆ และเข้าสอบไล่ สอบปฏิบัติให้ครบตามกำหนด 

ยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้บิดาของจำเลยประสบอุบัติเหตุรถชน อยู่ระหว่างการรักษาตัว มารดาของจำเลยประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนทำให้ขาหัก บิดาและมารดาของจำเลยไม่สามารถประกอบกิจธุระส่วนตัวได้โดยสะดวก จำเลยเป็นบุตรชายคนเดียวของครอบครัว จึงมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือดูแลบิดาและมารดาในยามเจ็บป่วย

ส่วนคำร้องของภาณุพงศ์ ระบุส่วนหนึ่งว่า จําเลยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคําแหง ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาตามโครงสร้างหลักสูตรซึ่งมหาวิทยาลัยกําหนด จึงมีหน้าที่จะต้องเข้าเรียน จัดทํารายงานต่างๆ และเข้าสอบไล่ให้ครบตามกําหนดหลักสูตรของมหาวิทยาลัย การขังจําเลยไว้ต่อไปย่อมส่งผลกระทบต่อการศึกษา 

ยิ่งไปกว่านั้น ครอบครัวของจําเลยขณะนี้กําลังประสบปัญหาทางธุรกิจ ซึ่งเป็นกิจการทุเรียนทอดที่จําเลยทําร่วมกับครอบครัว โดยจําเลยเป็นผู้บริหารจัดการหลัก ประกอบกับมารดาของจําเลยมีปัญหาสุขภาพไม่สามารถบริหารจัดการกิจการ จําเลยจึงจำเป็นต้องออกมาช่วยเหรือครอบครัวเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

ทั้งนี้ ในคำร้องขอประกันของจตุภัทร์และภาณุพงศ์ระบุว่า จำเลยทั้ง 2 ถูกขังตามหมายขังของศาลนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ได้รับความยากลำบากในการใช้ชีวิตโดยปราศจากอิสรภาพเป็นอย่างมาก จึงตระหนักว่าจำเลยจะระมัดระวังไม่กระทำการใดให้ถูกฟ้องเป็นคดีขึ้นอีก 

พร้อมกันนี้ จำเลยทั้งสองขอเสนอเงื่อนไขว่า หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยจะไม่กระทำการใดอันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จำเลยยินยอมอยู่ในเคหสถานตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดเว้นแต่มีเหตุจำเป็น เช่น เพื่อการรักษาพยาบาล การศึกษา ไปติดต่อราชการที่สถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาล โดยจำเลยยินยอมติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) และหากศาลกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ประการใด จำเลยยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลทุกประการ 

ในส่วนคำร้องของทวีระบุว่า เนื่องจากจําเลยไม่ได้กระทําความผิดตามที่ถูกฟ้อง และคดีของจําเลยมีหนทางจะต่อสู้คดีได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และจําเลยประสงค์จะนําพยานบุคคลและพยานเอกสารเป็นหลักฐานเพื่อนําเสนอต่อศาลประกอบการต่อสู้คดี โดยประสงค์จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจะทําให้จําเลยไม่อาจหาหลักฐานและปรึกษาทนายความเพื่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ 

นอกจากนี้ จําเลยเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลเพื่อที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นใด และไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและการพิจารณาคดี ยิ่งไปกว่านั้น จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และประกอบอาชีพสุจริต มีภาระในการเลี้ยงดูครอบครัวและตนเอง หากจําเลยถูกคุมขังไว้ระหว่างการพิจารณาคดีจะกระทบต่อทางทํามาหาได้ของจําเลย ทําให้จําเลยไม่สามารถ ประกอบอาชีพตามปกติได้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวด้วย

อนึ่ง ในคำร้องทุกฉบับของจำเลยทั้ง 3 ราย ได้มีการหยิบยกเอากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทําผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณาให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

.

ศาลอนุญาตให้ประกันตัว “ไผ่-ไมค์” แต่ยังมีคดีที่ถูกขังในศาลอื่น ส่วนทวียกคำร้อง

ต่อมา 18.00 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์และภาณุพงศ์ ในทุกคดี พร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวในทุกคดีเช่นเดียวกันว่า

  1. ห้ามจําเลยทํากิจกรรมหรือกระทําการใดๆ ที่อาจกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทําการใดๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล 
  2. ห้ามจําเลยเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง 
  3. ห้ามจําเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร จนกว่าศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น 
  4. ห้ามจําเลยออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 18.00 น. ถึงเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 
  5. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

ศาลยังให้ตั้งแต่งตั้งผู้กํากับดูแลทั้งสองคน ได้แก่ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน ในระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว และให้มาติดกำไล EM ภายในวันที่ 14 ก.พ. 2565 นี้

ศาลยังให้วางหลักทรัพย์ประกันในกรณีของไผ่ รวม 3 คดี เป็นเงิน 270,000 บาท และกรณีของไมค์ รวม 4 คดี เป็นเงิน 435,000 บาท โดยเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์

สำหรับคำสั่งประกันตัวลงนามโดย อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

ทั้งนี้ ทั้งสองคนจะยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ เนื่องจากยังมีหมายขังของศาลอื่นอีก โดยทั้งสองคนมีหมายขังในคดีมาตรา 112 กรณีชุมนุมหน้าสภ.ภูเขียว กรณีจัดค่าย “ราษฎรออนทัวร์” ที่ศาลจังหวัดภูเขียว เช่นเดียวกัน 

เฉพาะไมค์ยังมีหมายขังในคดีมาตรา 112 กรณีชุมนุม #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนไผ่ยังมีหมายขังในคดีชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา63 หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งทนายความจะได้ยื่นประกันตัวในคดีทั้งหมดต่อไป

.

ศาลยกคำร้องไม่ให้ประกันตัว “ทวี” ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ด้านทวี เที่ยงวิเศษ ศาลอาญาได้ยกคำร้องขอประกันตัวในทั้ง 2 คดี ระบุว่าศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงทำให้ต้องถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป

อนึ่ง จนถึงวันที่ 9 ก.พ. 2565 ยังมีผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดี ในคดีที่มีเหตุจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง จำนวนอย่างน้อย 12 คน 

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในระหว่างต่อสู้คดี

X