ศาลลงโทษจำคุก 1 เดือน 3 ทะลุฟ้า ชี้ประพฤติตัวไม่เรียบร้อย ละเมิดอำนาจศาล เหตุขีดเขียนผนังในห้องพิจารณา ก่อนอนุญาตให้ประกันตัว

4 ก.พ. 2565 เวลา 10.30 น. ศาลอาญาได้อ่านคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาล  สมาชิกทะลุฟ้า 6 ราย  ได้แก่ “ยาใจ” ทรงพล สนธิรักษ์, “ไดโน่” นวพล ต้นงาม, พีรพงศ์ เพิ่มพูล, “เปา”ปวริศ แย้มยิ่ง, “ปีก” วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ และ “ออ” วิโรฌา ชัชวาลวงศ์ จากกรณีขีดเขียนฝาผนัง ขณะทั้ง 6 รายถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องเวรชี้ของศาลอาญา เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 ขณะรอฟังคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว

โดยสรุป ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้กล่าวหาและคำรับสารภาพของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 (วชิรวิชญ์, ปวริศ และ พีรพงศ์) แล้ว และไม่มีผู้ถูกกล่าวหาใดคัดค้านข้อกล่าวหาในคดีนี้ ข้อกล่าวหาดังกล่าวได้สอดคล้องกับคำให้การของผู้ถูกกล่าวหา พฤติกรรมดังกล่าวกระทำในห้องเวรชี้ 1 ถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล แต่จากหลักฐานของผู้ร้อง ไม่สามารถสันนิษฐานได้ว่าใครเป็นผู้เขียนข้อความต่างๆ อาทิ คำว่า ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ และ ‘ยกเลิก 112’ จึงยกประโยชน์ให้จำเลย

ในส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6  (วิโรฌา นวพล และ ทรงพล) ไม่ปรากฏภาพเคลื่อนไหวว่าได้เขียนข้อความหรือให้ความช่วยเหลือให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 เขียนข้อความ มีหลักฐานปรากฎเพียงการพูดคุย นั่ง นอน เดินไปมา และอ่านหนังสือ ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6 เป็นผู้ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล 

ศาลจึงมีคำสั่งลงโทษเฉพาะวชิรวิชญ์ ปวริศ และ พีรพงศ์ ในข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาล จำคุกคนละ 1 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุกคนละ 15 วัน และเมื่อพิจารณาอายุของผู้ถูกกล่าวหาและความสำนึกผิดแล้ว จึงให้ลงโทษกักขัง 15 วัน และให้ยกคำกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4-6

ภายหลังฟังคำสั่ง วชิรวิชญ์ ปวริศ และ พีรพงศ์ ซึ่งถูกคุมขังมาแล้ว 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 2565 กล่าวว่า ยอมรับผลของคำสั่ง เนื่องจากเป็นอำนาจของศาลที่จะมีตัดสินเช่นนั้น แต่ส่วนตัวพวกตนไม่ได้เห็นด้วยกับการมีอยู่ของข้อหาละเมิดอำนาจศาล 

วชิรวิชญ์และปวริศ แสดงความเห็นด้วยว่า รู้สึกงุนงงในส่วนของการโดนถอนประกันในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง เนื่องจากในคดีดังกล่าวพวกตนมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าไม่ได้กระทำผิดแต่อย่างใด และได้เสียค่าปรับในคดีดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนพีรพงศ์ ซึ่งถูกจำคุกเป็นครั้งแรก เปิดเผยว่า ตนเองยังมีกำลังใจดี ยังสู้อยู่และต้องสู้ต่อไป 

เวลา 16.27 น. หลังทนายความได้ยื่นประกันตัวกลุ่มทะลุฟ้าทั้ง 5 ราย ซึ่งถูกคุมขังจากการถอนประกันในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิม ทั้งให้ตั้งพ่อและแม่ของทั้งสามคนเป็นผู้กำกับดูแลและกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวใน 4 ข้อ ได้แก่

1. ห้ามกระทำผิดในลักษณะเดิมที่ถูกกล่าวหา

2. ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

3. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

4. ห้ามกระทำการอันก่อความวุ่นวายในศาลและการพิจารณาคดี

สำหรับ พีรพงศ์, ปวริศ และ วชิรวิชญ์  ซึ่งได้รับสารภาพและถูกลงโทษกักขังในคดีละเมิดอำนาจศาล ศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธณณ์ในคดีละเมิดอำนาจศาลนี้เช่นเดียวกัน โดยให้วางหลักประกันรายละ 1 หมื่นบาท และให้มารายงานตัวกับศาลทุก 30 วัน จนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น

ผลการให้ประกันตัวในวันนี้ ทำให้กลุ่มทะลุฟ้า 4 ราย จะถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ “ไดโน่” นวพล ต้นงาม พบว่ายังติดหมายขังในคดีสาดสีหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ซึ่งถูกฟ้องเข้ามาขณะเขาถูกควบคุมตัวในเรือนจำ และยังไม่ได้ยื่นประกันตัวในคดีดังกล่าว ทำให้เขายังคงต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำต่อไป โดยทนายความจะยื่นประกันคดีนี้ในวันพรุ่งนี้

ความเป็นมาของคดีละเมิดอำนาจศาลนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 ภายหลังชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา แจ้งให้นายประกันทราบว่าสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า จำนวน 6 ราย ซึ่งได้ไปมอบตัวต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมานั้น ขณะถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องเวรชี้ ได้ทำการขีดเขียนฝาผนังเป็นข้อความต่างๆ เช่น ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ และ ‘ยกเลิก 112’ จำนวนหลายจุดด้วยกัน อีกทั้งยังได้ขีดเขียนคำหยาบคายลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ซึ่งแขวนอยู่ด้านในห้องดังกล่าว จึงขอให้ทนายพาทั้ง 6 เข้ามารายงานตัวที่ศาลอาญา

เมื่อทั้ง 6 คนเดินทางมารายงานตัวต่อศาลอาญา ก็ได้ถูกนำตัวไปควบคุมที่ห้องเวรชี้ ก่อนถูกถอนประกันในคดีสาดสีที่ สน.ทุ่งสองห้อง โดยศาลให้เหตุผลในการถอนประกันว่า ทั้ง 6 กระทำผิดเงื่อนไขการให้ปล่อยตัวชั่วคราวในข้อกำหนดที่ว่า ‘ห้ามกระทำผิดซ้ำในลักษณะความผิดทำนองเดียวกัน’


สำหรับการไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 คน เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2565 ศาลได้วางข้อกําหนดห้ามมิให้คู่ความ ทนายความ ผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาทุกคน บันทึกภาพ เสียง ภาพและเสียง หรือถ่ายทอดภาพ เสียงหรือถ่ายทอดภาพและเสียง ไม่ว่าด้วยอุปกรณ์หรือเครื่องมือใดๆ ในระหว่างการพิจารณา หรือเหตุการณ์ในห้องพิจารณาและห้ามจดบันทึกหรือจดข้อความ คําแถลงหรือถ้อยคําของคู่ความ พยานและผู้เกี่ยวข้อง หรือบันทึกเหตุการณ์ในระหว่างพิจารณา และห้ามมิให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือคู่ความเผยแพร่ โฆษณา ในการพิจารณาคดีของศาล เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลนี้

ดูสถิติคดีละเมิดอำนาจศาลเพิ่มเติม

สถิติคดี “ละเมิดอำนาจศาล-ดูหมิ่นศาล” ปี 2564-65

X