เปิดบันทึกสืบพยานคดี 112 ติดสติกเกอร์ “กูkult” รูป ร.10 ในม็อบ19กันยา ศาลสั่งห้ามจด-ตัดพยานนักวิชาการ ก่อนนัดฟังคำพิพากษาพรุ่งนี้  

ระหว่างวันที่ 22-24 ก.พ. และ 1 มี.ค. 2565 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีของ นรินทร์ (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ซึ่งถูกฟ้องในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่า ติดสติกเกอร์ “กูkult” ลงบนรูปของรัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา ในระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ที่สนามหลวง

คดีนี้มี พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผกก.สน.ชนะสงคราม เป็นผู้กล่าวหา โดยนรินทร์ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2563 ภายหลังพนักงานอัยการยื่นฟ้องนรินทร์ต่อศาลอาญา นรินทร์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ด้วยการวางเงิน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน 

ต่อมา ศาลอาญานัดสืบพยาน โดยเดิมทีนัดสืบพยานโจทก์รวม 17 ปาก ใช้เวลาสืบ 4 นัด และนัดสืบพยานจำเลย 4 ปาก ใช้เวลา 1 นัดครึ่ง แต่เมื่อเริ่มการสืบพยานในนัดแรก ศาลมีคำสั่งให้คู่ความทั้งสองฝ่ายตัดพยานผู้เชี่ยวชาญออกทั้งหมด ท้ายที่สุดจึงดำเนินการสืบพยานโจทก์ที่เหลือรวม 11 ปาก ใน 3 นัด ด้านพยานจำเลยเหลือเพียง 1 ปาก คือ จำเลยที่อ้างตนเข้าเบิกความ 

สุดท้ายในนัดสืบพยานจำเลย จำเลยไม่ประสงค์เข้าเบิกความ เพราะเห็นว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีในครั้งนี้ เนื่องจากถูกศาลสั่งตัดพยานจำเลยซึ่งเป็นพยานนักวิชาการจนหมด ทำให้ฝ่ายจำเลยไม่มีพยานเข้าเบิกความแม้แต่ปากเดียว โดยในนัดสืบพยานจำเลยเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 4 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ซึ่งเป็นเวลาหลังดำเนินการสืบพยานจนแล้วเสร็จเพียง 3 วันเท่านั้น

ประเด็นในการต่อสู้คดีนี้ นอกจากนรินทร์จะต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้ติดสติกเกอร์ตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว ประเด็นสำคัญอีกประเด็นคือการตีความตัวบทกฎหมายว่า การกระทำดังกล่าวสามารถตีความว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 ได้หรือไม่ หากศาลตีความว่าเป็นความผิดแล้ว จะส่งผลให้ในอนาคตกฎหมายข้อนี้จะถูกนำไปบังคับใช้อย่างกว้างขวาง การกระทำต่อรูปภาพกษัตริย์ในลักษณะเดียวกันก็อาจถูกตัดสินว่าผิดตามมาตรา 112 ได้ อาทิ การขีดเขียนข้อความลงบนธนบัตรที่มีกษัตริย์ การขีดเขียนข้อความลงบนปฏิทินที่มีภาพกษัตริย์ ฯลฯ 

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายของการสืบพยานวันที่ 2 ศาลได้สั่งห้ามจดบันทึกรายละเอียดภายในห้องพิจารณาคดี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นผู้ที่เข้าสังเกตการณ์คดีสามารถจดบันทึกได้ตามปกติ โดยไม่ถูกห้ามปรามแต่อย่างใด   

นรินทร์ชวนจับตาคำพิพากษาคดี ชี้ไม่อยากให้มวลชนยึดที่ตัวบุคคล พร้อมตั้งคำถามศาลนัดตัดสินหลังสืบพยานเสร็จ 3 วัน เพราะร่างคำพิพากษาไว้ตั้งแต่ยังสืบพยานไม่เสร็จหรือไม่

นอกจากคดีนี้แล้ว นรินทร์ยังเคยถูกดำเนินคดีจากการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ “กูkult” แล้วรวมถึง 3 คดีด้วยกัน โดยอีก 2 คดี นรินทร์ถูก บก.ปอท.กล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ที่มีการโพสต์ภาพและข้อความพาดพิงสถาบันกษัตริย์ โดย 1 ใน 2 คดีถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม ม.112 อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ทั้งสองคดีดังกล่าวพนักงานอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้องต่อศาลแต่อย่างใด

หลังการสืบพยานเสร็จสิ้นลง และศาลนัดฟังคำพิพากษาหลังจากนั้นเพียง 3 วัน นรินทร์ได้เปิดเผยความรู้สึกของตนเองว่า รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ตลอดกระบวนการสืบพยานตนรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นกลางของกระบวนการยุติธรรม และตั้งคำถามต่อการที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาในเวลาที่รวดเร็วเพียงนี้ว่า ศาลมีธงคำตัดสินในใจและร่างคำพิพากษารอไว้แล้วตั้งแต่การสืบพยานยังไม่จบลงหรือไม่  

นรินทร์ยังได้กล่าวถึงคดีนี้ว่า รู้สึกไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเพื่อนร่วมขบวนการเคลื่อนไหวด้วยกันเอง นรินทร์ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเพราะ 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ อย่างแรกในช่วงนี้มีข่าวที่น่าสนใจกว่าคดีนี้อีกหลายอย่าง ข่าวการสูญเสียบุคคลในวงการบันเทิงหรือข่าวความขัดแย้งของคู่ประเทศในโลกตะวันตก และอย่างที่สองอาจเป็นไปได้ว่า เป็นเพราะเขาปกปิดตัวตนและไม่เคยเปิดเผยเรื่องส่วนตัวกับแหล่งข่าวที่ใดเลยหรือไม่ จึงทำให้คนไม่สนใจคดีนี้เท่าที่ควรจะเป็น โดยนรินทร์ได้เล่าถึงเหตุผลที่ปกปิดตัวตนว่า อยากให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นไปอย่างไม่ยึดติดกับตัวบุคคล 

พร้อมกันนี้เขาได้เชิญชวนให้ทุกคนร่วมติดตามคำพิพากษาของศาลในวันที่ 4 มี.ค. 2565 นี้ และตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า เหตุใดคนส่วนใหญ่ถึงยินดีที่จะเสี่ยงกับการเล่น “หวย” หรือสิ่งที่มีความผันผวนสูงอย่าง “คริปโต” แต่กลับกันทำไมอีกหลายคนไม่ยินดีที่จะเสี่ยงกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ปล่อยให้คนแค่ไม่กี่คน ไม่กี่กลุ่มออกมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ ทั้งๆ ที่ผลประโยชน์ที่ได้คือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเราทุกคนเอง

เมื่อถามถึงความกังวลต่อการนัดฟังคำพิพากษาในคดี นรินทร์เล่าว่า ตนเองก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่มีภาระหน้าที่ต้องทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวและใช้หนี้ โดยตอนนี้ตนมีหนี้ กยศ.ก้อนใหญ่ที่ยังใช้ไม่หมดอยู่ ปัจจุบันทำงานรับจ้างอิสระ หากศาลพิพากษาลงโทษให้จำคุกจริง ก็คงต้องเสียเวลาชีวิตไปหลายปีโดยเปล่าประโยชน์ และเมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำคงต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ทั้งหมดเพียงลำพัง

เปิดบันทึกสืบพยาน: ฝ่ายโจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน ขณะศาลไม่บันทึกในหลายประเด็นที่ทนายจำเลยถามค้าน ระบุ “ไม่ตรงประเด็น”

พยานโจทก์ปากที่ 1: พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร  

พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กล่าวหาในคดีนี้เบิกความว่า เมื่อปี 2563 รับราชการในตำแหน่ง ผู้กำกับการ สน.ชนะสงคราม มีหน้าที่ทำคดีอาญา

ในวันที่ 9 ก.ย. 2563 ทราบข่าวว่าจะมีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดูแลของ สน.ชนะสงคราม พยานจึงได้สั่งการผู้ใต้บังคับบัญชาจัดตั้งทีมเพื่อเฝ้าติดตามการชุมนุม โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกระจายตัวรอบพื้นที่ชุมนุมและเริ่มปฏิบัติการระหว่างมีการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 19-20 ก.ย. 2563 จนกระทั่งการชุมนุมยุติลง

ในวันและเวลาเกิดเหตุ วันที่ 19 ก.ย. 2563 เวลา 19.00 น. พยานติดตามดูภาพบรรยากาศการชุมนุมผ่านไลฟ์เฟซบุ๊ก และเห็นว่าภาพ ร.10 ที่ติดตั้งอยู่บริเวณประตูที่ 1 ของศาลฎีกาถูกสติกเกอร์คำว่า “กูkult” แปะคาดอยู่ที่บริเวณดวงตา ร.10 ทั้งสองข้าง พยานจึงได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาลงพื้นที่ไปเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อตามหาตัวผู้ก่อเหตุ ได้แก่ ภาพกล้องวงจรปิด และสอบถามพยานในที่เกิดเหตุ

พยานเบิกความต่ออีกว่า ต่อมาในวันที่ 20 ก.ย. 2563 พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์ (พยานโจทก์ปากที่ 2) ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่อยู่ในตำแหน่งสารวัตรสืบสวน ที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งกับพยานว่าได้พูดคุยกับผู้ก่อเหตุติดสติกเกอร์ดังกล่าว ชื่อว่า “นรินทร์” ที่ทราบเพราะว่านรินทร์ได้มาแจ้งความร้องทุกข์กับตนว่าถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ จำนวน 4-5 คน ติดตามและพยายามอุ้มหายระหว่างอยู่ในการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 ซึ่งนรินทร์คาดว่ากลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวน่าจะเป็นตำรวจ โดยนรินทร์เป็นผู้ให้การด้วยตัวเองถึงสาเหตุของการถูกติดตามครั้งนั้นว่า น่าจะเกิดมาจากการที่ตนไปติดสติกเกอร์ “กูkult” ลงบนรูป ร.10 ที่หน้าศาลฎีกา ระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 หลังทราบข้อมูลดังกล่าว พ.ต.ท.นพโรจน์ จึงได้มาแจ้งให้พยานรับทราบ 

พยานเบิกความต่อว่า พยานสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งนำโดย พ.ต.ท.นพโรจน์ ทำการสืบสวนและติดตามผู้กระทำผิด โดยตรวจสอบจากภาพกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่บริเวณแนวทางเดินหน้าศาลฎีกา หลังตรวจสอบพบภาพผู้ก่อเหตุมีลักษณะการแต่งกาย สวมเสื้อสีขาว ใส่กางเกงขายาวสีอ่อน สวมหมวกมีปีกรอบสีอ่อน ส่วนลักษณะอื่นๆ จำไม่ได้

อัยการได้นำเอกสารซึ่งมีข้อความที่นรินทร์เขียนและเซ็นลงชื่อยอมรับไว้ให้พยานดู พยานเบิกความว่า เอกสารนี้ทำโดย พ.ต.ท.นพโรจน์ เรียกว่า “รายงานชุดสืบสวน” อัยการยังนำภาพรูป ร.10 มีสติกเกอร์แปะอยู่ที่ดวงตา และภาพจากกล้องวงจรปิดในวันเกิดเหตุมาถามพยาน พร้อมกับอ้างส่งต่อศาล 

ด้านทนายจำเลยพยายามคัดค้าน เนื่องจากคดีนี้ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานไปแล้ว แต่วันนี้ฝ่ายโจทก์กลับนำพยานหลักฐานชุดใหม่เข้าเบิกความและยื่นต่อศาล ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสได้ดูและเสียโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ แต่กระนั้นศาลก็ได้รับไว้พร้อมบอกว่า “มีเหตุผลหรือไม่ไว้ค่อยว่ากัน”

ทนายจำเลยถามค้าน 

ทนายจำเลยได้ถามค้านถึงที่อยู่ของพยานในวันและเวลาเกิดเหตุ รวมถึงถามว่า ทำไมจึงต้องรอเวลานานถึง 3 เดือนจากวันที่เกิดเหตุแล้วถึงได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับนรินทร์

พยานยังไม่ทันเบิกความ ศาลก็ชิงพูดขึ้นว่า “พยานอาจจะไม่รู้ ต้องรอถามพยานอีกปากหนึ่ง” เมื่อทนายจำเลยถามต่อโดยให้พยานดูรูปภาพสัญลักษณ์ “กูKult” แล้วถามว่ารู้จักไหม พยานตอบว่า “ไม่” แต่ศาลก็ไม่ได้บันทึกเพราะมองว่าไม่มีประโยชน์ต่อการสืบพยานคดีนี้ 

ทนายจำเลยจะถามต่อว่า พยานทราบรายละเอียดเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุหรือไม่ แต่ศาลก็ท้วงว่า “ให้รอถามพยานอีกปากหนึ่ง เพราะพยานคนนี้เป็นผู้ที่ได้รับแจ้งมาอีกต่อหนึ่ง” ทนายจำเลยถามอีกว่า “พยานทราบไหมว่าศาลอื่นตัดสินว่าการกระทำเช่นเดียวกับนรินทร์ว่าเป็นการกระทำที่ทำให้เสียทรัพย์ ไม่ใช่การกระทำผิดตามมาตรา 112” ศาลก็ตำหนิว่า “ไม่ต้องเอาความเห็นจากศาลอื่นมา” โดยพยานได้ตอบว่า “ได้ศึกษาจากสำนวนคดีอื่นๆ แล้ว ขณะที่เขียนสำนวนฟ้องคดีนี้”

ทนายจำเลยพยายามพูดให้ศาลฟังว่า การกระทำตามที่โจทก์ฟ้องเข้าข่ายทำให้ทรัพย์สินเสียหายเท่านั้น แต่ศาลตอบกลับว่า “คดีนี้ฟ้องด้วยข้อหา 112 ไม่ใช่ทรัพย์สินเสียหาย” พร้อมกับมีคำสั่งให้ทนายจำเลยสืบพยานโดยเน้นข้อเท็จจริง ทนายจำเลยจึงถาม พ.ต.อ.วรศักดิ์ ต่อว่า “สติกเกอร์ถูกติดอยู่บนรูป ร.10 นานไหม” ซึ่งศาลก็ตำหนิอีกว่า คำถามนี้ไม่สำคัญและไม่บันทึกให้ เพราะศาลมองว่าการหมิ่นคือการหมิ่น จะนานกี่นาทีก็คือการหมิ่น ทำให้บรรยากาศภายในห้องพิจารณาเริ่มตึงเครียดมากขึ้น 

ทนายจำเลยถามว่า “เมื่อนรินทร์ไปแจ้งความว่ามีคนติดตาม พยานได้สืบสวนต่อหรือไม่” ศาลได้บอกกับพยานว่า “ไม่ต้องอธิบาย”

ทนายจำเลยถามว่า “มีข้อกฎหมายบังคับเรื่องการปฏิบัติต่อรูปกษัตริย์หรือไม่” ศาลก็ตำหนิว่า “สิ่งนี้เป็นข้อเท็จจริงที่รู้ได้โดยทั่วไปว่า ไม่มี ไม่ต้องถาม” 

ทนายจำเลยพยายามถามอีก แต่ศาลก็แย้งว่า ที่ทนายจำเลยถามค้านพยานปากนี้เป็นการเสียเวลา เพราะปากนี้เป็นผู้ที่ฟังคำบอกเล่ามา ไม่มีน้ำหนัก เพราะหลายอย่างศาลเห็นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องถามเพื่อให้ศาลบันทึก ก่อนถามทนายจำเลยว่า “ไม่เชื่อว่าศาลอ่านเอกสารหรืออย่างไร แล้วทนายเชื่อว่าการที่ทนายถามเพื่อให้พยานยืนยันเช่นนี้แล้วศาลจะเชื่อหรือ” ทั้งนี้ศาลยืนยันว่าตนเองทำงานอย่างตรงไปตรงมา พร้อมกำชับว่าพยานปากนี้ไม่ใช่พยานปากเอกให้ทนายจำเลยกระชับหน่อย

พยานโจทก์ปากที่ 2: พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์

พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์ ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่เป็นสารวัตรสืบสวน สน.ดินแดง พยานเบิกความว่า เมื่อปี 2563 ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่เป็นสารวัตรสืบสวน สน.ชนะสงคราม มีหน้าที่แสวงหาตัวผู้ต้องหาในคดีอาญา 

ในวันเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 พยานได้ไปหาข่าวในที่ชุมนุม เพราะมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าชุดสืบสวนหาข่าว โดยได้ทำการแฝงตัวเข้าไปปะปนกับผู้ชุมนุมตั้งแต่การชุมนุมเริ่มขึ้นจนกระทั่งยุติ ต่อมาในวันเดียวกัน เวลา 19.00 น. พยานได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่ามีผู้ก่อเหตุนำสติกเกอร์ไปติดที่ดวงตาของรูป ร.10 ที่ตั้งอยู่ที่ประตูที่ 1 ของศาลฎีกา เมื่อได้รับแจ้งแล้วพยานก็รีบทำการหาสืบสวนข่าวทันที

พ.ต.ท.นพโรจน์ เบิกความต่อว่า ร.ต.ต.นคร คงกลิ่น ซึ่งเป็นสายตรวจประจำอยู่ในบริเวณเกิดเหตุรายงานว่า มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง แต่ไม่สามารถถ่ายภาพผู้ก่อเหตุไว้ได้ แต่หลังเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมรายหนึ่งขึ้นไปแกะสติกเกอร์ดังกล่าวออก ซึ่ง ร.ต.ต.นคร ถ่ายภาพไว้ได้ ทราบว่าคนนั้นมีชื่อว่า ฉัตรมงคล วัลลี เป็นการ์ดของผู้ชุมนุมและสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

พยานเบิกความต่อว่า ได้สั่งการให้หาข่าวด้วยวิธีการสอบถาม และตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดที่อยู่บริเวณหน้าประตู 1 ของศาลฎีกา โดยตรวจสอบตั้งแต่ในวันที่เกิดเหตุ เพราะกล้องวงจรปิดของ กทม. เชื่อมต่อโดยตรงมายังห้องสืบสวนของ สน.ชนะสงคราม หลังตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดพบว่า ในวันเกิดเหตุผู้กระทำความผิดแต่งกายด้วยเสื้อสีขาว กางเกงสีอ่อน 

ศาลถามพยานว่า เหตุที่มีคนติดตามนรินทร์เกิดขึ้นที่ใดและอย่างไร พยานตอบว่า นรินทร์เดินทางไปเเจ้งความเรื่องถูกกลุ่มบุคคลคล้ายตำรวจติดตามระหว่างการชุมนุม โดยนรินทร์ได้รับว่า ตนเองเป็นผู้ติดสติกเกอร์ “กูkult” ที่รูป ร.10 ซึ่งพยานเป็นคนพิมพ์บันทึกที่นรินทร์ลงนามยอมรับ และนรินทร์ให้การเพิ่มเติมว่าสาเหตุที่ติดสติกเกอร์ เพราะมีความรู้สึกร่วมกับกิจกรรมและเป็นความคึกคะนองในขณะนั้น 

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยพยายามถามค้านพยานโจทก์ปากนี้อยู่หลายคำถาม เช่น รายงานการสืบสวนไม่มีลายเซ็นของ พ.ต.ท.นพโรจน์ อีกทั้งไม่มีวันที่จัดทำ ไม่ตรงตามแบบฟอร์มที่ควรจะเป็นของเอกสารรายงานการสืบสวน อีกทั้งไม่มีตราหน่วยงานต้นสังกัด  โดยพยานตอบว่า ข้อมูลดังกล่าวที่ทนายจำเลยถามนั้นจะเห็นได้เมื่อย้อนกลับไปดูเอกสารต้นฉบับ ส่วนที่ทนายจำเลยยกมาถามเป็นเพียงรายงานการสืบสวนที่ใช้รายงานผู้บังคับบัญชาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ศาลไม่บันทึกคำเบิกความของ พ.ต.ท.นพโรจน์ ที่ตอบทนายจำเลยและตำหนิทนายจำเลยว่า “เป็นการถามที่ไม่ตรงประเด็น” ก่อนย้ำให้ทนายจำเลยถามแต่ข้อเท็จจริงในวันเกิดเหตุ ไม่ให้ถามความเห็นพยาน

ทนายจำเลยถามพยานต่อว่า เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ สติกเกอร์ยังมีอยู่หรือไม่ พยานตอบว่า ให้ไปถามฉัตรมงคล วัลลี ซึ่งเป็นคนที่ดึงสติกเกอร์ออก เพราะเมื่อไปถึงตำรวจไม่พบสติกเกอร์ติดอยู่แล้ว 

ทนายจำเลยถามอีกว่า มีการตรวจ DNA ในที่เกิดเหตุไหม พยานตอบว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของตนเองที่เป็นพนักงานสืบสวน ทนายจำเลยถามต่อว่า แล้วหลังเกิดเหตุ หน่วยงานอื่นๆ ปฏิบัติการเพื่อสืบสวนหาตัวผู้ก่อเหตุอย่างไรบ้าง ซึ่งพยานตอบว่า “ไม่ทราบเพราะทุกฝ่ายต่างปกปิดฐานะกัน” จากนั้นทนายจำเลยก็พยายามถามเรื่องแนวทางการปฏิบัติตนต่อปฏิทินที่มีรูปกษัตริย์และราชวงศ์ ซึ่งศาลตำหนิว่า “เป็นคนละเรื่องกัน ในทัศนะของศาลมองว่า ปฏิทินที่มีรูปกษัตริย์ไม่เท่ากับพระบรมสาทิสลักษณ์” 

ทนายจำเลยพยายามถามพยานต่อในเรื่องดังกล่าวว่า พยานดำเนินการอย่างไรกับปฏิทินที่เป็นรูปกษัตริย์หรือราชวงศ์ เช่น มีการแสดงความเคารพหรือนำไปทิ้งหรือไม่เมื่อขึ้นปีใหม่ แต่ศาลก็ท้วงขึ้นว่า ให้เลิกถามอะไรที่ไม่เข้าประเด็น 

ทนายจำเลยจึงถาม  พ.ต.ท.นพโรจน์ ว่า ในวันที่เกิดเหตุ พยานมีการสอบถามคนอื่นๆ ในที่เกิดเหตุบ้างหรือไม่ มีการตรวจหาของกลางจากตัวนรินทร์ไหม พยานตอบว่า ไม่ ทนายจำเลยถามอีกว่า การติดสติกเกอร์ถือเป็นการผิด พ.ร.บ. ความสะอาดฯ ใช่ไหม ศาลก็ตำหนิอีกว่าเป็นคำถามที่ไม่ตรงประเด็น ทนายจำเลยจึงแย้งว่า ไม่ว่าจะถามอะไรศาลก็ไม่บันทึกให้ ศาลกล่าวว่า ให้ทนายจำเลยสืบเอาข้อเท็จจริงไม่ใช่ข้อคิดเห็น แม้ทนายจำเลยจะบอกว่าสิ่งที่ถามก็เพื่อไปสู่ข้อเท็จจริง แต่ศาลก็ไม่รับฟังพร้อมกับกล่าวว่าจะยุติการสืบพยาน 

ทนายจำเลยจึงถามพยานถึงความเสียหายของรูป ร.10 ซึ่งศาลก็ท้วงว่ามีรายงานอยู่ในคำฟ้องแล้ว และบอกให้ทนายจำเลยยุติการถามค้านพยานโจทก์ปากนี้

พยานโจทก์ปากที่ 3: พ.ต.อ.นิวัตน์ พึ่งอุทัยศรี 

พ.ต.อ.นิวัตน์ พึ่งอุทัยศรี กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุในปี 2563 ตนปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ในกองกำกับการสืบสวนสอบสวน ทำคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและการเคลื่อนไหวทางการเมือง 

วันเกิดเหตุ พยานได้เดินทางไปหาข่าวที่บริเวณจุดเกิดเหตุ เมื่อไปถึงพบเจอกับผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน ที่บริเวณหน้าประตู 1 ของศาลฎีกา แต่เมื่อไปถึงสติกเกอร์ที่ได้รับแจ้งว่าถูกติดคาดตาที่รูปของ ร.10 ได้หลุดออกไปแล้ว พยานจึงได้สั่งให้ศูนย์ควบคุมสั่งการ (CCOC) ตรวจสอบย้อนหลังจากภาพกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ

พยานเบิกความถึงเรื่องเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ว่ามีการโพสต์ข้อความและภาพตัดต่อเพื่อด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ และบอกว่านรินทร์ จำเลยในคดีนี้คือแอดมินของเพจ “กูkult” 

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยพยายามถามว่า “พยานเห็นด้วยไหมกับการปฏิรูปสถาบันจะเท่ากับการทำให้สถาบันกษัตริย์ดีขึ้น” แต่ถูกศาลตำหนิและบอกให้ถามใหม่ในประเด็นอื่น แต่ทนายจำเลยหมดคำถาม และอัยการก็ไม่ถามติง

พยานโจทก์ปากที่ 4: พ.ต.ต.ครรชิต สีหะรอด

พ.ต.ต.ครรชิต สีหะรอด กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 เป็นผู้ร่วมสืบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า ตนเองมีหน้าที่สืบสวนผู้กระทำความผิดต่อสถาบันกษัตริย์ และเป็นผู้ทราบว่าเมื่อปี 2562 นรินทร์เป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ที่มีการโพสต์เฟซบุ๊กเพื่อด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ 

พยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานยืนอยู่บริเวณด้านหน้าศาลฎีกา และได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่ามีเหตุการณ์ผู้นำสติกเกอร์ “กูkult” ไปติดที่รูป ร.10 ที่ติดตั้งอยู่ที่ประตู 1 ของศาลฎีกา พยานจึงประสานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลให้ติดต่อไปที่ศูนย์ควบคุมสั่งการ (CCOC) เพื่อตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่เกิดเหตุ จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องได้ส่งคลิปวิดีโอเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดที่จับภาพผู้ก่อเหตุติดสติกเกอร์ดังกล่าวเข้าไปในกลุ่มไลน์ (Line) ของตำรวจนครบาล 

พยานยังได้เบิกความเรื่องภาพถ่ายของนรินทร์ขณะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4-5 นาย ติดตามระหว่างการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายไว้ได้โดย ด.ต.สกุล บุญแต่ง เนื่องจากขณะนั้น ด.ต.สกุลก็ได้ติดตามนรินทร์อยู่เช่นกัน แต่เมื่อเห็นว่ามีผู้อื่นติดตามอยู่ด้วยจึงได้ถอยออกมา และได้ถ่ายภาพตามที่ได้นำส่งศาลเป็นพยานเอกสาร โดยภาพที่ถ่ายได้นั้นเป็นภาพขณะที่นรินทร์กำลังเดินอยู่บนถนนตะนาวมุ่งหน้าไปทางถนนข้าวสาร

ทนายจำเลยถามค้าน

ทนายจำเลยนำพยานเอกสารของโจทก์มาสอบถาม พ.ต.ต.ครรชิต ว่า เป็นโพสต์จากเพจ “กูkult” ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ แต่ศาลไม่บันทึก ทนายจำเลยถามต่อว่า ปอท. จัดทำเอกสารมาว่าจากการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” พบว่าไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กส่วนตัวของนรินทร์เลย แต่ศาลก็ไม่บันทึกอีก ระบุว่าไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นเรื่องนอกฟ้อง

ทนายจำเลยจึงถามอีกว่า คดีอื่นๆ ของนรินทร์ที่เกี่ยวข้องกับ “กูkult” พนักงานอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้องต่อศาล และพยานเองก็ไม่เคยถูกเชิญไปเป็นพยานใช่หรือไม่ ประเด็นนี้ศาลก็ไม่บันทึก โดยบอกว่าไม่เกี่ยวกับเจตนาหรือสิ่งที่จะบอกว่านรินทร์ไม่ได้เป็นคนติดสติกเกอร์ ทนายจำเลยจึงถามถึงเหตุผลว่า ทำไมพยานจึงระบุในรายงานการสืบสวนว่า นรินทร์เป็นแอดมินเพจ “กูkult” แต่พยานตอบไม่ได้ ทนายจำเลยจึงถามอีกว่า ในเอกสารของกองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 ก็ไม่ได้ระบุว่านรินทร์คือ แอดมินเพจ “กูkult” 

อัยการถามติง

อัยการถาม พ.ต.ต.ครรชิต ว่า ตามรายงานการสืบสวนระบุว่า นรินทร์มีเฟซบุ๊กหลายอัน และหนึ่งในนั้นคือ เพจ กูkult ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

พยานโจทก์ปากที่ 5: พ.ต.ต.สมพงษ์ เกตุระติ

พ.ต.ต.สมพงษ์ เกตุระติ สารวัตรกองกำกับการข่าว เบิกความว่า รับราชการที่กองวิเคราะห์ข่าวมาตั้งแต่ปี 2562 เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 เวลา 22.00 น. ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่กองกำกับการข่าว มีหน้าที่สืบสวนและทำตามคำสั่งของผู้บัญชาการ ได้รับมอบหมายให้สืบสวนหาตัวนรินทร์ ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุติดสติกเกอร์ “กูkult” บนรูป ร.10 หน้าศาลฎีกา 

โดยเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 เวลา 08.00 น. พยานได้รับข้อมูลว่านรินทร์อยู่ในการชุมนุมที่สนามหลวง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ไปตามหาตัวแล้วไม่พบแต่อย่างใด ต่อมาเวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ออกตามหาตัวนรินทร์ในการชุมนุมอีกครั้ง ขณะกำลังกระจายกำลังค้นหาอยู่ที่บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบกับชายที่มีลักษณะรูปร่างและการแต่งกายคล้ายนรินทร์ตามที่ได้รับแจ้ง โดยขณะนั้นชายคนดังกล่าวกำลังยืนรอไฟจราจรเพื่อข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นหอสมุดกรุงเทพฯ 

ต่อมาชายคนดังกล่าวเดินข้ามไปฝั่งหอสมุดกรุงเทพฯ และมุ่งหน้าไปถนนข้าวสาร ตำรวจจำนวน 4-5 นาย จึงได้เดินติดตามไปในระยะสายตา จากนั้นชายคนดังกล่าวได้หยุดซื้อขนมที่ร้านขายของแห่งหนึ่ง จากการสังเกตคาดว่าชายคนดังกล่าวน่าจะทราบแล้วว่ามีผู้เดินติดตามและพยายามหลบเลี่ยงจนหกล้มที่บริเวณร้านหนังสือใกล้กับร้านขายขนมที่หยุดซื้อก่อนหน้า

เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นดังนั้นจึงได้รีบเข้าไปแสดงตัวและแสดงบัตรประจำตัวให้ชายคนดังกล่าวทราบ ตำรวจยังได้สอบถามอีกว่า ได้รับบาดเจ็บหรือไม่และต้องการให้เรียกรถพยาบาลหรือไม่ แต่ชายคนกล่าวตอบปฏิเสธ จากนั้นตำรวจพยายามสอบถามตัวตนของชายคนดังกล่าว ก่อนชายต้องสงสัยยอมรับว่า ตนเองคือนรินทร์ จากนั้นมีเพื่อนของนรินทร์เดินมารับตัว ก่อนเดินกลับเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม

พยานจึงได้จัดทำรายงานการสืบสวนส่งผู้บังคับบัญชา โดยมีภาพนรินทร์ขณะยืนรอไฟจราจรเพื่อข้ามฝั่งถนน และภาพนรินทร์ขณะล้มลงบริเวณหน้าร้านหนังสือ หลังจากนั้นพยานได้รับเอกสารทะเบียนราษฎรของนรินทร์จากกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล และได้รับทราบว่านรินทร์คือผู้ก่อเหตุปืนขึ้นซุ้มภาพ ร.10 ที่ด้านหน้าศาลฎีกาและทำการติดสติกเกอร์ “กูkult” ลงบนภาพ ร.10 ดังกล่าว โดยหลังจัดทำรายงานส่งผู้บังคับบัญชาแล้วเสร็จ พยานก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในคดีนี้อีก

พยานโจทก์ปากที่ 6: ร.ต.อ.(หญิง) ณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์

ร.ต.อ.(หญิง) ณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. เบิกความว่า เมื่อปี 2563  พยานเคยทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่นรินทร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” และโพสต์ภาพและข้อความในลักษณะเสียดสีและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 รวม 4 โพสต์ 

พยานเบิกความว่า ในคดีดังกล่าว ปอท. ได้ติดตามสืบสวนหาตัวแอดมินของเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “กูkult” พบว่า ในช่วงเวลาขณะนั้นเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวมีการเปิดขายสินค้าเป็นเสื้อยืด “กูkult” เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท.จึงได้ทำการสั่งซื้อสินค้าดังกล่าว และพบว่าบัญชีสำหรับรับเงินค่าสินค้าดังกล่าวเป็นชื่อของจำเลย จากการตรวจสอบบัญชีดังกล่าวพบอีกว่า มีการถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มที่ด้านหน้าร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ย่านบางโพ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจสอบภาพวงจรปิดที่หน้าร้านสะดวกซื้อดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีลักษณะการแต่งกายและรูปพรรณสัณฐานตรงกับจำเลย 

พยานจึงเบิกความสรุปว่าจากข้อมูลดังกล่าวในคดีที่ตนทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนจึงเชื่อได้ว่า นรินทร์เป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ซึ่งเป็นเพจเฟซบุ๊กที่มีการโพสต์ภาพและข้อความในลักษณะโจมตีสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง

พยานโจทก์ปากที่ 7: ร.ต.อ.จิรวัชรากร พุ่มอ่ำ

ร.ต.อ.จิรวัชรากร พุ่มอ่ำ รอง สว.สส.สน.บางบอน เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุ พยานทำหน้าที่อยู่ในฝ่ายสืบสวนประจำจุดในการชุมนุมที่สนามหลวง โดยปฏิบัติการประจำจุดอยู่ที่บริเวณด้านหน้าศาลฎีกา ขณะเกิดเหตุมีผู้นำสติกเกอร์ขึ้นไปติดที่รูป ร.10 พยานไม่ได้เห็นตัวผู้ก่อเหตุแต่อย่างใด แต่ภายหลังเกิดเหตุดังกล่าว มีผู้ชุมนุมในบริเวณนั้นเข้ามามุงดู พร้อมกับพูดในทำนองว่า “ใครเป็นคนทำ” จากนั้นไม่นานมีการ์ดผู้ชุมนุม 2 คน เดินเข้ามาพูดกับกลุ่มผู้ชุมนุมในบริเวณนั้นว่า ให้แยกย้าย ก่อนการ์ดผู้ชุมนุมรายหนึ่งจะปืนขึ้นแท่นรูป ร.10 และดึงสติกเกอร์ “กูkult” ที่ติดอยู่บนรูป ร.10 ออก 

พยานโจทก์ปากที่ 8: ร.ต.ต.นคร คงกลิ่น

ร.ต.ต.นคร คงกลิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ชนะสงคราม เบิกความว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 นรินทร์ จำเลยในคดีนี้ได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์กับ พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์ พนักงานสอบสวนที่ สน.ชนะสงคราม เนื่องจากถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ติดตามและคุกคามระหว่างชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวง ตลอดกระบวนการที่นรินทร์ร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน พยานนั่งอยู่ในห้องเดียวกันนั้นด้วย โดยนรินทร์ให้การว่า สาเหตุที่ถูกชายฉกรรณ์คล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามคุกคามระหว่างชุมนุม น่าจะเกิดมาจากการที่นรินทร์ไปติดสติกเกอร์ลงบนรูป ร.10 และนรินทร์ได้ลงลายมือชื่อรับรองคำให้การดังกล่าวด้วย

พยานยังเบิกความว่า เป็นผู้ทำพยานเอกสารรวม 3 แผ่น ซึ่งเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดขณะมีผู้นำสติกเกอร์ไปติดลงบนภาพของ ร.10 ที่ติดตั้งด้านหน้าศาลฎีกา โดยเอกสารทั้ง 3 แผ่นนั้น นรินทร์ได้ลงลายมือชื่อรับรองว่า เป็นบุคคลในภาพที่ติดสติกเกอร์โลโก้ “กูkult” บนพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 ด้านหน้าศาลฎีกา เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 เวลา 19.00 น. 

พยานโจทก์ปากที่ 9: พ.ต.ต.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล

พ.ต.ต.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล พนักงานสอบสวน บก.ปอท. เข้าเบิกความในฐานะผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการกระทำความผิดและอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เบิกความว่า พยานมีหน้าที่ตรวจสอบความเชื่อมโยงของบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวของนรินทร์กับเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” โดยผลการตรวจสอบพบว่า บัญชีเฟซบุ๊กทั้งสองดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบข้อมูลในเฟซบุ๊กส่วนตัวของนรินทร์ก็ไม่ได้พบว่านรินทร์ได้เดินทางไปร่วมการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุในคดีนี้

พยานโจทก์ปากที่ 10: พ.ต.อ.นิตย์ น้อยนา

พ.ต.อ.นิตย์ น้อยนา เข้าเบิกความในฐานะพนักงานสอบสวนร่วมในคดีนี้ โดยได้ทำการสอบสวนเพื่อขอความเห็นในฐานะประชาชนจาก พรพัฒน์ ชุนชฎาธาร นักข่าวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ แต่ศาลได้กล่าวว่า พยานปากนี้ไม่มีน้ำหนักและไม่มีความเกี่ยวข้องกับคดี เนื่องจากพรพัฒน์นั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับคดีหรือมีความรู้เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อย่างถ่องแท้ โดยศาลแนะนำว่าหากอัยการโจทก์จะนำพยานในลักษณะนี้เข้าเบิกความ พยานควรไปขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามของไทยที่ทำงานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง มีความเกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ยกตัวอย่างเช่น ข้าหลวงสนองพระโอษฐ์ เป็นต้น

พยานโจทก์ปากที่ 11: พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์

พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ เข้าเบิกความในฐานะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า พยานเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้ และมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ก่อนส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการ แต่พยานไม่รับรองรายงานการสืบสวนที่นรินทร์เซ็นรับว่าได้ติดสติกเกอร์ลงบนรูป ร.10 เนื่องจากพยานไม่ได้ร่วมรับรู้และเห็นขณะที่นรินทร์ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว

ศาลสั่งตัดพยานนักวิชาการ แจงไม่รับฟังความเห็นคนนอก สุดท้ายนรินทร์พยานจำเลยเพียงปากเดียวตัดสินใจไม่เข้าเบิกความ เหตุไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดี 

ด้านการสืบพยานจำเลย เดิมทีในวันนัดตรวจพยานหลักฐานและนัดวันสืบพยาน ทนายจำเลยได้ยื่นบัญชีพยานจำเลยรวม 4 ปาก ได้แก่ จำเลยซึ่งอ้างตนเองเป็นพยาน, ผศ.ดร.ธนาวิ โชติประดิษฐ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.อิสระ ชูศรี อาจารย์สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

ภายหลังเมื่อศาลเริ่มดำเนินการสืบพยานโจทก์ในนัดแรก ศาลแสดงความไม่เห็นด้วยที่ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยจะนำพยานซึ่งเป็นนักวิชาการเข้าเบิกความด้วย โดยศาลได้นำประเด็นนี้ไปปรึกษากับผู้บริหารศาล ก่อนมีคำสั่งให้ตัดพยานที่เป็นนักวิชาการออกทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากพยานดังกล่าวจะให้ความเห็นเกี่ยวกับความหมายของคําว่า “กูKult” ซึ่งไม่ใช่ประเด็นแห่งคดี และความเห็นของนักวิชาการเป็นเพียงความเห็นของบุคคลหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ จึงมิใช่พยานที่จําเป็นต่อการวินิจฉัยคดี 

แม้ทนายจำเลยได้คัดค้านว่า ขอให้ศาลรับฟังก่อน เพราะคดีนี้เป็นเรื่องของศิลปะ และอยู่ในความสนใจของสังคมทั้งในและนอกประเทศ แต่ศาลก็แย้งว่าให้ดูเฉพาะประเทศเรา อย่าเอาไปเทียบกัน และยืนยันหนักแน่นว่าไม่ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานนักวิชาการเข้าเบิกความ นอกจากนี้ ศาลยังพูดอีกด้วยว่าตลอดกระบวนทำงานของศาลมีผู้เฝ้าติดตามดูอยู่ตลอดเวลา

ทำให้ทนายจำเลยจำเป็นต้องตัดพยานจำเลยนักวิชาการทั้งหมด รวม 3 ปาก ได้แก่ พยานนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ภาษาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ จึงทำให้เหลือพยานจำเลยที่จะเข้าเบิกความเพียง 1 ปาก คือ ตัวจำเลยที่อ้างตนเป็นพยาน 

แต่ในภายหลังนรินทร์เห็นว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรม จึงตัดสินใจไม่เข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเองในการสืบพยานนัดสุดท้าย ทำให้ฝ่ายจำเลยไม่มีพยานเข้าเบิกความ ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น. หรืออีก 3 วันหลังเสร็จการสืบพยานในคดี 

ฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “นรินทร์” ติดสติกเกอร์ “กูkult” ระหว่างชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดข้อหาคดี “ม.112” ติดสติกเกอร์ “กูkult” ระหว่างชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร

ศาลให้ประกัน ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจ “กูkult” หลังถูกฟ้อง ม.112 เหตุแปะสติกเกอร์คาดตารูป ร.10

ปอท.ค้นบ้าน-จับกุม หนุ่มวัย 31 กล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเพจ “กูkult” โพสต์เสียดสีอดีตกษัตริย์

รู้จักเพจ “กูkult” แม้ถูกปิด-ถูกจับ แต่ยังดำรงอยู่เมื่อกลายไปเป็น “มีม”

X