วันนี้ (25 มีนาคม 2564) เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดา นางสาวธีรารัตน์ บุตรโพธิ์ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สั่งฟ้องนายนรินทร์ (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปีด้วยความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาว่านรินทร์เป็นผู้ติดสติกเกอร์ “กูkult” บนรูปของรัชกาลที่ 10 ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลฎีกา ระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง
หลังศาลรับฟ้อง ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด ต่อมา ศาลอนุญาตให้ประกันตัวนรินทร์ในวงเงิน 100,000 บาท ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีข้อเท็จจริงอันควรสงสัยว่าจำเลยจะหลบหนีหรือก่อเหตุร้ายอื่น
ฟ้อง ม.112 ระบุการติดสติกเกอร์ “กูkult” ทำให้ระคายเบื้องพระยุคลบาท
ก่อนหน้านี้ นรินทร์เดินทางไปรับทราบข้อหาในคดีนี้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 63 ที่สน. ชนะสงคราม ในชั้นสอบสวน นรินทร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ต่อมา พนักงานสอบสวนนัดส่งสำนวนพร้อมตัวผู้ต้องหาในวันที่ 22 มกราคม 64 และนัดฟังคำสั่งฟ้องในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 และ 4 มีนาคม 2564 แต่อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง จนถึงนัดวันที่ 25 มีนาคม 2564 พนักงานอัยการจึงระบุว่ามีความเห็นสั่งฟ้องคดี
>> เปิดข้อหาคดี “ม.112” ติดสติกเกอร์ “กูkult” ระหว่างชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร
ในวันนี้ พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาล ในคำฟ้องระบุว่า สืบเนื่องจากขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 2 และมาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” ตามลำดับ
ต่อมา เมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 63 จําเลยได้บังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการนําสติกเกอร์ มีอักษรภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คําว่า “กูkult” ไปติดไว้ที่บริเวณพระพักตร์ตรงพระเนตรทั้งสองข้างของพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 อันเป็นการกระทำที่มิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทต่อพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
นรินทร์ให้การปฏิเสธ โดยพนักงานอัยการคัดค้านการประกันตัว โดยอ้างว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยกับ “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”
หลังศาลรับฟ้อง และนำตัวจำเลยไปควบคุมตัวที่ห้องเวรชี้ ทนายจำเลยพร้อมครอบครัวได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด เป็นหลักประกัน โดยมีพี่ชายของนรินทร์เป็นผู้ประกันตัว
ต่อมา เวลา 15.00 น. ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณคดี ศาลพิเคราะห์ไม่มีข้อเท็จจริงอันควรสงสัยว่าจำเลยจะหลบหนีหรือก่อเหตุร้ายอื่น จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้วงเงิน 100,000 บาท เป็นหลักประกัน คำสั่งนี้มี นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ เป็นผู้ลงนาม
ศาลกำหนดนัดวันตรวจสอบพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 3 พฤษภาคม 2564
ดูฐานข้อมูลคดี>> คดี 112 “นรินทร์” ติดสติกเกอร์ “กูkult” ระหว่างชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร
นรินทร์ถูกดำเนินคดีแล้ว 3 คดี ล้วนเกี่ยวข้องกับ “กูkult”
คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่อัยการยื่นฟ้องนรินทร์ในข้อหามาตรา 112 หลังเขาถูกดำเนินคดีที่สืบเนื่องกับเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” รวม 3 คดี
ในคดีแรก เจ้าหน้าที่กองบังคับปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าตรวจค้นบ้านพักของนรินทร์ในช่วงเดือนกันยายน 2563 ตามหมายค้นของศาลอาญา พร้อมกับยึดอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ ก่อนควบคุมตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 14 (2), (3), (5) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่บก.ปอท. โดยกล่าวหาว่าเขาเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ซึ่งได้เผยแพร่ข้อความเสียดสีสถาบันกษัตริย์จำนวน 3 โพสต์
นรินทร์ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้องเป็นเวลา 2 คืน ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน หลังวางเงินสดจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนนิรนาม เป็นหลักประกัน ปัจจุบัน ตำรวจยังไม่คืนอุปกรณ์ที่ถูกยึดไปตรวจค้น และพนักงานอัยการยังไม่มีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้
>> ปอท.ค้นบ้าน-จับกุม หนุ่มวัย 31 กล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเพจ “กูkult” โพสต์เสียดสีอดีตกษัตริย์
คดีล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (22 มีนาคม 2564) นรินทร์ได้เดินทางไปบก.ปอท.อีกครั้ง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และมาตรา 14 (3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “กูkult” และได้เผยแพร่ข้อความและรูปตัดต่อที่มีลักษณะต่อต้านสถาบันกษัตริย์จำนวน 12 โพสต์ นับตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน จนถึงวันที่ 11 กันยายน 2563
หลังจากการกลับมาดำเนินคดีมาตรา 112 อีกครั้ง คดีนี้นับเป็นคดีที่สามซึ่งมีเหตุมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงกลางปี 2563 เป็นต้นมา ที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องข้อหามาตรา 112 หลังจากการฟ้องคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ของ 7 แกนนำราษฎร และคดีชุมนุม #Mobfest ของพริษฐ์ ชิวารักษ์