“นรินทร์” ผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับเพจเฟซบุ๊ก กูkult ถูกบุคคลปริศนามาหาที่บ้านถึง 4 ครั้งภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี

นรินทร์ (สงวนนามสกุล) ผู้ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากความเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” จำนวน 3 คดี นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเมื่อเดือนกันยายนในคดีแรก เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่ามักมีบุคคลนิรนามมาสังเกตการณ์อยู่บริเวณบ้านของเขาอยู่จำนวนหลายครั้ง ทั้งยังมีเบอร์โทรศัพท์ของบุคคลภายนอกติดต่อเข้ามาอยู่บ่อยครั้ง 

หากไล่เลียงเหตุการณ์ บุคคลนิรนามเดินทางมาสอดส่องนรินทร์ที่บ้าน จะพบว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง ภายในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี หลังเขาถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคง” 

 

ครั้งที่ 1: มอเตอร์ไซค์ปริศนาขับติดตามมาที่บ้าน หลังได้ประกันในคดีพ.ร.บ.คอมฯ 

นรินทร์ ถูกจับกุมในคดีแรกเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “กูKult” และเผยแพร่รูปภาพพร้อมข้อความล้อเลียนกษัตริย์รัชกาลที่ 9 เขาถูกควบคุมตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้อง เป็นเวลา 2 คืน ก่อนพนักงานสอบสวนนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง และได้ประกันตัวในวงเงิน 100,000 บาท 

ระหว่างการจับกุม เจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายค้นและยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นที่พบไว้ในบ้าน รวมไปถึงคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ตของญาติอีกด้วย จนถึงปัจจุบัน นรินทร์และครอบครัวยังคงไม่ได้รับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คืนจากพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด 

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 23 กันยายน หลังนรินทร์ได้รับการปล่อยตัว ขณะเขากำลังเดินทางกลับบ้านพักย่านบางซื่อ พบชายนิรนามขี่จักรยานยนต์วนเข้ามาในซอย ญาติของนรินทร์แจ้งว่าตามปกติจะไม่มีใครขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามา เนื่องจากเป็นซอยตัน และมักมีแค่พนักงานส่งเข้ามาเท่านั้น ญาติของนรินทร์จึงตั้งข้อสังเกตว่า ชายนิรนามคนดังกล่าวจอดรถมอเตอร์ไซค์อยู่ที่บ้านหลังแรกในซอยอยู่ครู่หนึ่ง เพื่อสอดส่องว่านรินทร์อาศัยอยู่ที่บ้านหลังไหน 

นับตั้งแต่วันที่นรินทร์ได้รับการปล่อยตัว มักมีชายนิรนามไว้ทรงผมรองทรง ขี่มอเตอร์ไซค์วนเข้ามาในซอย จากนั้นจึงขี่รถออกไป เกือบทุกสัปดาห์ตั้งแต่ในเดือนกันยายนเป็นต้นมา 

 

ครั้งที่ 2: รถกระบะปริศนากับชายนิรนาม อัดคลิปวิดิโอภายในซอย 

เมื่อ 23 ธันวาคม 2563 นรินทร์ถูกดำเนินคดีอีกครั้งในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการถูกกล่าวหาว่าติดสติกเกอร์ “กูKult” บนรูปรัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา ในวันชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ครั้งนี้ นรินทร์เดินทางไปรับทราบข้อหาที่ สน.ชนะสงคราม ตามหมายเรียก และได้รับการปล่อยตัว ไม่ได้ถูกควบคุมตัวไว้ 

ทว่า นรินทร์ยังคงถูกติดตามจากบุคคลนิรนามเช่นเดิม เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2564 มีชายตัดผมรองทรงสวมเสื้อกั๊กวินจักรยานยนต์รับจ้าง ขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาในซอยบ้านของนรินทร์ประมาณ 2-3 รอบ แล้วจากไป จากนั้นในช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สน.เตาปูน เดินทางมาหานรินทร์ที่บ้าน เพื่อสอบถามว่าได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก สน.ชนะสงคราม ในคดีที่ 2 แล้วหรือไม่ พร้อมกับอัดวิดีโอ ถ่ายรูปหน้าบ้าน เพื่อนำไปรายงานผู้บังคับบัญชา 

อีก 2 วันถัดมา ในเช้าของวันที่ 19 มกราคม 2564 มารดาของนรินทร์แจ้งว่า พบรถกระบะสีบรอนซ์เงิน ไม่ทราบเลขทะเบียน ภายในรถ มีชายถือมือถืออัดวิดีโอบริเวณซอยบ้านของนรินทร์ นรินทร์เผยว่า เขามักทราบว่ารถที่เข้ามาในซอยเป็นของใครในละแวกนั้น เพราะแทบไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามา ยกเว้นพนักงานส่งของ จึงทำให้เขาสงสัยว่า รถกระบะคันดังกล่าวอาจเป็นเจ้าหน้าที่มาสอดส่องนรินทร์ที่บ้าน

นอกจากนี้ รถคันนี้พยายามถอยท้ายรถเข้าซอย และจอดพักอยู่ครู่หนึ่งก่อนขับออกไป นรินทร์เผยว่า ลักษณะการมาของรถคันนี้ คล้ายกับครั้งที่เจ้าหน้าที่บุกค้นบ้านและจับกุมภายในคดีแรก เมื่อเดือนกันยายน 

เหตุที่ทราบว่ารถดังกล่าวไม่คุ้นตา นรินทร์ระบุว่าเพราะที่บ้านเป็นซอยตัน รู้กันหมดว่ารถของใครเป็นของใคร และรถคนดังกล่าวเหมือนเข้ามาถอยหลังรถเข้ามาท้ายซอย จอดซักพัก แล้วขับออกไป คล้ายๆ กับตอนที่กลับมาที่บ้านหลังถูกจับ ซึ่งเจอรถกระบะขับถอยหลังเข้ามาช้าๆ เหมือนมาดูลาดเลา แล้วสักแป๊ปเดียวก็ขับรถพุ่งออกไป ซึ่งผิดวิสัย เพราะปกติควรจะเอารถจอดเข้าบ้าน เนื่องจากบ้านของนรินทร์อยู่ตรงกลางซอย ถ้ากลับรถก็ไม่น่าจะถอยเข้ามาจนเกือบสุดซอย และถนนซอยตรงนี้เป็นถนนส่วนบุคคล  

 

ครั้งที่ 3: รถกระบะปริศนาจอดอยู่หน้าปากซอยอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 13.15 น. มีรถกระบะสีดำยี่ห้อโตโยโต้า ติดฟิล์มกระจกสีดำทึบ ไม่มีป้ายทะเบียน ขับรถวนเข้ามาในซอยที่พักของนรินทร์อีกครั้ง ภายในรถมีชายทำท่าบันทึกภาพรอบๆ ซอย ก่อนที่จะขับออกไป 

แม่ของนรินทร์ที่พบเห็นเหตุการณ์อธิบายรูปพรรณของบุคคลในรถว่า เป็นชายมีเครา แต่มองเห็นไม่ชัดนัก เนื่องจากรถติดฟิล์มทึบสีดำ

 

ครั้งที่  4: ถูกรถกระบะติดตามอีกครั้ง หลังกลับจากนัดตรวจพยานหลักฐานคดีม. 112  

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 เวลาประมาณ 17.00 น. นรินทร์เดินทางกลับจากศาลอาญารัชดาถึงบ้านพัก หลังไปตามนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีติดสติกเกอร์ กูkult บนรูปรัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา ขณะกำลังนั่งรถจักรยานยนต์เข้าไปยังซอยหมู่บ้าน พบว่ามีรถกระบะสีดำ ไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน จอดอยู่บริเวณสามแยก ก่อนถึงหน้าปากซอยทางเข้าหมู่บ้านประมาณ 40 เมตร ภายในรถมีผู้ชายนั่งอยู่ 1 คน  และมีชายรูปร่างท้วม สวมเสื้อสีเทาเข้ม กางเกงยีนส์ และมีไฝเม็ดใหญ่บนคิ้วด้านขวา เดินถ่ายรูปอยู่บริเวณหน้าบ้านของนรินทร์ 

นรินทร์เล่าว่า รถกระบะคันนี้เป็นคันเดียวกับคันที่มาจอดถ่ายภาพในวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา เมื่อนรินทร์พบรถคันนี้อีกครั้ง จึงต้องการรีบเข้าไปสอบถามโดยตรง อย่างไรก็ตาม ชายคนดังกล่าวรีบขึ้นรถกระบะ และขับรถออกไปทันที ทำให้นรินทร์ยังคงไม่ทราบแน่ชัดว่า ชายปริศนามีวัตถุประสงค์แน่ชัดอย่างไรจากการติดตามนรินทร์ 

นอกจากกรณีมีบุคคลปริศนามาหาที่บ้าน ยังมีเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่คุ้นโทรเข้ามาหานรินทร์สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ทั้งในเดือนมกราคม และเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ทั้งที่เขาแทบไม่เคยให้เบอร์โทรกับใคร ยกเว้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีบุคคลไม่คุ้นหน้าส่งคำขอเป็นเพื่อนมาในเฟซบุ๊กด้วย โดยนรินทร์คาดเดาว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 

 

ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังตกเป็นผู้ต้องหา/จำเลยคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ – มาตรา 112

นับตั้งแต่การถูกจับกุมในเดือนกันยายน 2563 ชีวิตของนรินทร์พลิกผัน จากเดิมที่มีงานรับสอนพิเศษอยู่สม่ำเสมอ ทำให้เขาต้องงดสอนรับงานหลังถูกจับกุมในช่วง 2-3 เดือนแรก เนื่องจากมีความกังวลเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

แม้ล่าสุด เขาเริ่มกลับมาสอนพิเศษอีกครั้ง หลังหยุดสอนไปเกือบ 7 เดือน แต่ความกังวลถึงการจับกุมอีกครั้งยังคงไม่หมดไป นรินทร์เผยว่า เขาไม่ได้รู้สึกกลัว แต่รู้สึกกังวล เพราะถ้าหากถูกจับกุมอีกครั้ง อาจทำให้ตารางชีวิตที่กำลังเริ่มเข้าที่พังทลายลงอีกครั้ง 

ปัจจุบัน นรินทร์ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับ “กูkult” แล้ว 3 คดี โดยมี 1 คดีที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ได้แก่ คดีมาตรา 112 จากการติดสติกเกอร์ “กูkult” บนรูปรัชกาลที่ 10 โดยศาลกำหนดนัดสืบพยานในวันที่ 22-25 กุมภาพันธ์​ และ 1-2 มีนาคม 2565 

ส่วนอีก 2 คดีนั้นเป็นคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ได้แก่ คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์รูปตัดต่อล้อเลียนกษัตริย์รัชกาลที่ 9 จำนวน 3 โพสต์ และคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์รูปตัดต่อและเสียดสีสถาบันกษัตริย์จำนวน 12 โพสต์ โดยอัยการยังไม่มีคำสั่งในทั้งสองคดี

นอกจากกรณีของนรินทร์ ยังคงมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปหาที่บ้านนักกิจกรรม หรือผู้แชร์หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อีกจำนวนมาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามข้อมูลส่วนตัว ขอให้ไม่ออกมาเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรม หรือขอให้ลงลายมือชื่อในข้อตกลงว่า จะไม่เผยแพร่ข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในโซเชียลมีเดียอีก 

แม้ในกรณีนรินทร์ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า บุคคลที่มาหาที่บ้านถือเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหรือไม่ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปรากฎตัวของบุคคลปริศนาเหล่านั้นสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับเขาและครอบครัว

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

รู้จักเพจ “กูkult” แม้ถูกปิด-ถูกจับ แต่ยังดำรงอยู่เมื่อกลายไปเป็น “มีม”

ทำไมตำรวจถึงคุกคามคนรอบตัวผู้แสดงออกทางการเมือง: มองผ่านอาชญาวิทยา

ข้อสังเกตและคำแนะนำต่อกระบวนการนอกกฎหมาย บังคับให้ข้อมูล และทำบันทึกข้อตกลง

 

X