รู้จักเพจ “กูkult” แม้ถูกปิด-ถูกจับ แต่ยังดำรงอยู่เมื่อกลายไปเป็น “มีม”

ถ้าแอดมินโดนจับ เพจโดนฝ่ายความมั่นคงยึด แล้วทำไมยังอยู่? คำตอบก็คือ “กูkult” ไม่ใช่ “เพจ” แต่มันคือ “มีม” ที่ไม่มีวันตาย”

ข้อความจากเพจ “มิตรสหายท่านหนึ่ง

เพจ “กูkult” ดั้งเดิมนั้น เปิดขึ้นท่ามกลางบริบทการเมืองหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 คือในช่วงปี 2554 และค่อยๆ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการล้อเลียนเสียดสีสถานการณ์ทางสังคมและการเมือง

วิทยานิพนธ์สาขามานุษยวิทยาเรื่อง “การเมืองบนเฟซบุ๊ก: วัฒนธรรม-การเมืองบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ไทย พ.ศ. 2553-2555” โดย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เคยวิเคราะห์ว่าเพจ “กูkult” โดดเด่นขึ้นมาในช่วงปี 2554 คู่กันกับเพจ “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป” จากการเน้นการสื่อสารด้วยภาพกราฟิก และมีเนื้อหาวิพากษ์สังคม 

เพจอาศัยความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย (เช่น กรณีภาพดัดแปลงจากภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) พร้อมกับอารมณ์ขันในแบบล้อเลียน (parody) มาใช้ในการสื่อสาร และยังมีกิจกรรมที่เคลื่อนตัวไปยังพื้นที่ออฟไลน์ อย่างการร่วมจัดงานแสดงศิลปะในงาน “Capitalism is HERE ทุนนิยมนี่มันเหี้ยจริงๆ ” ในช่วงปี 2555 วิทยานิพนธ์ฉบับนี้บันทึกไว้ว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม 2555 เพจ “กูkult” มียอดผู้ติดตามในเฟซบุ๊กกว่า 11,000 ผู้ใช้งาน

“กูkult” ยังเริ่มกลายเป็น “มีม” หรือกระแสที่แพร่กระจาย ถูกผลิตซ้ำ ดัดแปลง และส่งต่อไปในโลกเฟซบุ๊กอย่างไม่มีเจ้าของ โดยเกิดเพจตระกูล “กู” หรือตระกูล “kult” ที่นำเสนอเนื้อหาล้อเลียนในประเด็นต่างๆ ตามมา เช่น เพจ “Mkult สำนักคัลท์ไทย” กูKuote กูคม รวมทั้งมีการนำเสนอภาพหรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสถาบันกษัตริย์อีกด้วย

ต่อมาหลังเกิดรัฐประหารของ คสช. ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 เพจเฟซบุ๊ก “กูkult” ได้ถูกทางการไทยร้องขอให้เฟซบุ๊กปิดกั้นการเข้าถึง ทำให้เฟซบุ๊กจำกัดการเข้าถึงเพจจากในประเทศไทย โดยระบุแต่เพียงว่ากฎหมายของไทยไม่อนุญาตให้เข้าถึงเนื้อหาของเพจนี้ แต่ยังสามารถเข้าได้จากในต่างประเทศ โดยการปิดกั้นดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่มีข่าวการบล็อกและจับกุมแอดมินล้อเลียนอีกเพจหนึ่งคือ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์”

หลังจากนั้น ไม่แน่ชัดว่าในช่วงเวลาใด เพจ “กูkult” หลักได้ปิดตัวไป แต่ได้มีการเปิดเพจชื่อเดียวกัน และใช้ภาพโลโก้ในลักษณะเดียวกันนี้ หรือเพจ “กูkult V2” ขึ้นมาอีกหลายเพจ ซึ่งมีตั้งแต่เพจที่มีผู้กดถูกใจหลักสิบไปจนถึงหลักหลายหมื่น โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าแอดมินเพจต่างๆ เหล่านี้เป็นคนเดียวกันหรือไม่ ยังไม่นับที่โลโก้ “กูkult” กลายร่างเป็นวัตถุสิ่งของในรูปแบบต่างๆ เช่น สติ๊กเกอร์ เสื้อยืด

จากการตรวจสอบในปัจจุบัน (ก.ย. 63) พบว่ามีเพจ “กูkult” ที่มีผู้กดถูกใจมากที่สุด คือกว่า 47,134 ผู้ใช้งาน โดยเพจใหม่นี้เริ่มเปิดในช่วงเดือนตุลาคม 2561 และจนถึงช่วงวันที่ 26 พ.ค. 2562 เพจดังกล่าวหยุดโพสต์ไปแล้ว โดยมีกระแสข่าวในช่วงวันนั้นว่าแอดมินเพจได้ถูกควบคุมตัวไปค่ายทหาร และเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงได้เข้ายึดเพจดังกล่าวแทนแล้ว ทำให้เพจดังกล่าวไม่ปลอดภัยอีก

ขณะเดียวกันจากข่าวล่าสุดกรณีในการจับกุมดำเนินคดี “นรินทร์” ผู้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเพจ “กูkult” โดยถูกกล่าวหาในข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากโพสต์ภาพพร้อมข้อความในลักษณะเสียดสีและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเดือนสิงหาคม 2562 รวม 4 โพสต์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เพจ “กูkult” ที่มีผู้กดถูกใจมากที่สุดดังกล่าวไม่ได้มีความเคลื่อนไหวแล้ว โพสต์ที่ถูกนำมาใช้กล่าวหา ถ้ามีอยู่จริง จึงน่าจะมาจากเพจ “กูkult” เพจอื่นๆ 

คำว่า “มีม” (meme) เพิ่งถูกบัญญัติโดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาในพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ในเดือนเม.ย. 63 ว่าหมายถึง “ความคิด ความเชื่อ ภูมิปัญญา และวรรคทองต่าง ๆ ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนำมาเลียนแบบ ดัดแปลง สร้างเสริม และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง อาจเป็นแนวตลกในลักษณะของข้อความ การ์ตูน สัญลักษณ์ คลิปวีดิทัศน์ แอนิเมชัน ฯลฯ”

สภาพการณ์ดังกล่าว จึงอาจสะท้อนว่า “กูkult” ได้กลายเป็นสภาพเป็น “มีม” ที่แพร่กระจายออกไปโดยไม่รู้ว่าใครเป็น “เจ้าของ” กระทั่งไม่สามารถมีใครเป็น “เจ้าของ” และมีชีวิตของมันเอง จนแม้การจับกุมดำเนินคดีที่เกิดขึ้น ก็ไม่อาจหยุดยั้งการดำรงอยู่ของ “มีม” นี้ได้ 

 

ดูข่าวการจับกุมผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจ “กูkult”

ปอท.ค้นบ้าน-จับกุม หนุ่มวัย 31 กล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเพจ “กูkult” โพสต์เสียดสีอดีตกษัตริย์

 

X