ทำไมตำรวจถึงคุกคามคนรอบตัวผู้แสดงออกทางการเมือง: มองผ่านอาชญาวิทยา

วัลย์นภัสร์ เจนร่วมจิต

นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ปรากฏการณ์การคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้แสดงออกทางการเมือง ได้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังจากการชุมนุมทางการเมืองเข้มข้นขึ้นตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 การคุกคามก็เริ่มทวีความรุนแรงและไม่ได้คุกคามแต่เฉพาะกับตัว ‘ผู้เป็นเป้าหมาย’ เท่านั้น แต่ยังมีเหตุการณ์บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐได้คุกคามไปถึงครอบครัวหรือคนรอบตัวของผู้ที่เป็นเป้าหมาย ไม่ว่าจะการเรียกปรับทัศนคติ บุกไปพูดคุยที่บ้านหรือที่โรงเรียน โทรหาคนที่รู้จัก หรือแม้แต่ถูกดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ว่าเขาจะไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองเลยก็ตาม [1]

บทความชิ้นนี้พยายามทดลองหาคำตอบเบื้องหลังของการกระทำการคุกคามคนรอบตัวผู้ตกเป็นเป้าหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้มุมมองและแนวคิดทางอาชญาวิทยามาอธิบายประกอบว่ามาตรการหรือวิธีการคุกคามเหล่านี้ใช้เพื่ออะไร หรือมีเป้าประสงค์อะไรที่อยู่เบื้องหลังการกระทำเหล่านั้นได้บ้าง

 

ปรากฏการณ์เจ้าหน้าที่รัฐคุกคามผู้เห็นต่าง จนกลายเป็น “เรื่องปกติ”

ปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐคุกคามผู้เห็นต่างทางการเมือง เริ่มเห็นชัดมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ.2557 เป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจอย่างมากตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและมีหน้าที่ควบคุมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรง ลักษณะการคุกคามในช่วงแรกเราจะเห็นการเรียกไปปรับทัศนคติตามค่ายทหาร มีทหารบุกเข้าไปพูดคุยตามบ้านหรือแม้แต่ถูกดำเนินคดีโดยทหาร [2]

ต่อมาเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติยุติบทบาทลงหลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 แต่ยังคงสืบทอดอำนาจต่อมาสู่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง และยังมีอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่สามารถควบคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้อย่างเบ็ดเสร็จ การปฏิบัติการคุกคามนักกิจกรรมหรือผู้แสดงออกทางการเมืองจึงถูกโอนย้ายจากรูปแบบของทหารมาสู่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับไม้ต่อมา

นับตั้งแต่เริ่มมีการเคลื่อนไหวการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน นักศึกษา หรือแม้แต่เด็กมัธยมที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ความไม่พอใจเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นผ่านโลกออนไลน์หรือผ่านการชุมนุมสาธารณะจำนวนนับไม่ถ้วน โดยสถานการณ์มีความเข้มข้นขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ถือเป็นการ “ดันเพดาน” ครั้งใหญ่ของกลุ่มคณะราษฎร และกลุ่มกิจกรรมต่างๆ

พร้อมๆ กับข่าวการชุมนุมเคลื่อนไหวที่เรามักได้ข่าวว่าในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะมีการรวมกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ เรามักได้เห็นปรากฏการณ์ที่มีเจ้าหน้ารัฐ โดยเฉพาะตำรวจ เข้าติดตามการเคลื่อนไหวของเหล่าเยาวชน นักศึกษา นักเคลื่อนไหว อาจารย์ในมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไป โดยการเข้าหาตัวผู้ที่ “ตกเป็นเป้าหมาย” มีเหตุการณ์นับครั้งไม่ถ้วนที่ตำรวจเข้าไปตามหาถึงสถานที่พักอาศัย โทรไปพูดคุย สอบถาม หรือการปรากฏตัวโดยมีลักษณะเป็นการติดตาม “บุคคลซึ่งถูกจับตาเป็นเป้าหมาย” ไปยังสถานที่ต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง [3]

 

ภาพตำรวจไปติดตามถามข้อมูลถึงบ้านนักกิจกรรมในจังหวัดอุดรธานี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563

 

นอกจากลักษณะของการคุกคามโดยการเข้าหาตัวผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายโดยตรงแล้ว ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังได้พยายามเข้าหาตัวหรือคุกคามไปถึง “คนรอบตัว” ของผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมบ้านโดยการเข้าไปพบและพูดคุยกับบิดามารดา เข้าพบอาจารย์หรือครูที่สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่เข้าไปพูดคุยกับเพื่อนบ้าน เพื่อพยายามกดดันไม่ให้ผู้ตกเป็นเป้าหมายแสดงความคิดเห็น หรือมีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก

เหตุการณ์นับครั้งไม่ถ้วนที่มีการคุกคามผ่านคนรอบตัวของผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย ซึ่งทวีแรงกดดันมากขึ้นเมื่อเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในยุค คสช. หลังรัฐประหาร มีทหารบุกเข้าไปบ้านของผู้เป็นเป้าหมายแต่เมื่อหาตัวไม่เจอ ทหารกลับนำคนที่มีความใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นลูกชาย ลูกเขย มาควบคุมไว้แทน จนผู้ตกเป็นเป้าหมายบางคนยินยอมเข้าเปลี่ยนตัวเข้าแทน [4] หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์การดำเนินคดีอาญากับผู้คนรอบตัว อย่างเช่นกรณี “แม่จ่านิว” ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่นับว่าเป็นการคุกคามคนรอบตัวรูปแบบหนึ่ง

ต่อมาในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ฯ 2 เหตุการณ์คุกคามเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้งช่วงกลางปี 2563 ที่ผ่านมา เช่น กรณีที่จังหวัดลำพูนมีการเตรียมจัดงานชุมนุม #คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย โดยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 ก่อนเริ่มงานกิจกรรมเพียง 4 วัน ตำรวจนอกเครื่องแบบได้ตามเด็กมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 อย่างน้อย 2 คนไปยังที่พักอาศัยและได้พูดคุยกับผู้ปกครอง มีลักษณะข่มขู่ว่าลูกจะมีรายชื่อเป็นแกนนำและจะโดนแบล็คลิสต์ ขอให้อย่าเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง จนทำให้นักเรียนตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นแกนนำจัดกิจกรรมดังกล่าว [5]

ที่จังหวัดพัทลุง มีนักเรียนมัธยมชั้นปีที่ 4 ที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมทางการเมือง แต่เขาเพียงแค่แชร์โพสต์การชุมนุมเท่านั้น ก็โดนครูที่โรงเรียนเรียกไปพบ โดยมีตำรวจ 3 นายมานั่งพูดคุยด้วยเกี่ยวกับการแชร์โพสต์และอ้างว่าอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และขอให้ลบโพสต์ออก จนทำให้นักเรียนไม่กล้าจะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอีก [6]

ที่จังหวัดสงขลา ผู้สังเกตการณ์การชุมนุมของไอลอว์ได้เข้าไปสังเกตการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 วันถัดมาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาพบยายของเขาที่บ้าน และมีคนไปตามพ่อแม่ของเขาให้มาพบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบถามข้อมูลส่วนตัวของเขา ถ่ายรูปบิดามารดา บัตรประชาชนไว้ และแจ้งว่ากำลังตามหาตัวเขาอยู่ วันหลังจะมาหาอีก ส่วนแม่ของเขาได้ขอให้ตำรวจอย่าไปที่บ้านยาย เพราะยายอยู่คนเดียว ถ้าจะมาให้มาพบแม่ที่บ้าน [7]

 

ภาพจากกล้องวงจรปิด เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามปีนรั้วถ่ายรูปภายในบ้านของนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย เมื่อเดือนกันยายน 2563

 

เหตุการณ์คุกคามเหล่านี้สร้างความกังวลและความคับข้องใจให้กับประชาชนผู้ถูกคุกคามอย่างมาก เนื่องจากการใช้อำนาจของตำรวจในการคุกคามลักษณะเช่นนี้ไม่ได้มีกฎหมายรับรองไว้ แต่เป็นการปฏิบัติ “นอกกฎหมาย” จนมาตรการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐจนเกือบจะกลายเป็นเรื่องปกตินี้ ได้แผ่ขยายกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนำไปสู่การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการชุมนุมสาธารณะฯ ตลอดจนการคุกคามในลักษณะเช่นนี้ได้ถูกกระทำซ้ำๆ จนเกือบจะกลายเป็นเรื่องปกติของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเสียแล้ว

อาจกล่าวได้ว่าการคุกคามเหล่านี้ไม่ได้เป็นแต่เพียงการพยายามปรามหรือยับยั้งพฤติกรรมบางประการของคนในสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นการพยายามแสดงอำนาจของภาครัฐให้ประชาชนเห็นเป็นที่ประจักษ์ เพื่อสร้างความหวาดระแวงให้กับประชาชนทั่วไป เป็นกลไกส่วนหนึ่งสำหรับการปราบปรามความเห็นต่าง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทำให้ภาครัฐได้เข้ามาควบคุมกิจกรรมทางเมืองอย่างเข้มข้น ซึ่งก่อให้เกิดความหวาดระแวงให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

 

ผ่านมุมมอง “ทฤษฎีทางอาชญาวิทยา”

จากเหตุการณ์คุกคามหลายครั้ง เราอาจเกิดความสงสัยว่าเพราะเหตุใดตำรวจจึงไม่เข้าหาเฉพาะแต่ตัว “ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย” เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเข้าไปพบ พูดคุย พยายามโน้มน้าวหรือรวมไปถึงการข่มขู่คนรอบตัวด้วย เพื่อส่งผลเป็นการควบคุมหรือยับยั้งไม่ให้ผู้นั้นมีส่วนร่วมการชุมนุมทางการเมืองหรือแสดงความคิดเห็นต่อต้านอย่างใดๆ อีก

หากกล่าวถึงทฤษฎีทางอาชญาวิทยา นับเป็นศาสตร์ที่พยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์และสังคม ตลอดจนทำความเข้าใจว่าทำไมคนๆ หนึ่งจึงปฏิบัติหรือมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมหรือกฎหมาย เพื่อลดปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งหาแนวทางป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และทำให้เกิดการลงโทษอย่างมีประสิทธิภาพ [8]

สำหรับกรณีคุกคามประชาชนดังที่กล่าวข้างต้น หากพิจารณาในมุมมองเชิงอาชญาวิทยา ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของตำรวจ อาจเทียบเคียงได้ว่าเป็นผู้ที่อาจจะกระทำความผิดทางอาญา หรือเพียงแต่มี “พฤติกรรมเบี่ยงเบน” จากบรรทัดฐานในสังคมที่อาจกระทำความผิดได้ หากไม่ปรามหรือหยุดยั้งไว้ (จากมุมมองของรัฐ) จนกระทั่งการปฏิบัติการคุกคามเหล่านี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสำหรับปราบปรามหรือหยุดยั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีเหตุและผล มีแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการกระทำ

พื้นฐานของทฤษฎีทางอาชญาวิทยาได้ชวนให้พิจารณาว่า “เหตุใดผู้คนถึงกระทำความผิด” หรือในทางกลับกัน “เหตุใดผู้คนถึงไม่กระทำความผิด” ในปัจจุบันมีทฤษฎีอาชญาวิทยานับร้อยซึ่งแตกต่างกันออกไป โดยเหตุการณ์คุกคามของตำรวจนี้เราสามารถอาศัยหลักทฤษฎีสายใยทางสังคม (Social Bounding Theory) และต่อมาได้พัฒนามาเป็นทฤษฎีการควบคุม (Control Theory) ซึ่งน่าสนใจจะหยิบยกขึ้นมาอธิบายเบื้องหลังของการกระทำเหล่านี้ได้

 

หนังสือ Causes of Delinquency โดย Travis Hirschi

 

ทฤษฎีสายใยทางสังคม (Social Bonding Theory) มีความคิดพื้นฐานว่า ผู้คนจะก่ออาชญากรรมก็ต่อเมื่อความผูกพันธ์หรือสายใยในสังคมของเขาอ่อนแอลงหรือสลายไป หากแต่เมื่อสายใยเหล่านี้แข็งแกร่งขึ้นจะทำให้ผู้คนไม่กระทำความผิด

Travis Hirschi ได้อธิบายถึง ทฤษฎีสายใยทางสังคม (Social Bonding Theory) ใน Element of the Social Bond [9] (องค์ประกอบของสายใยทางสังคม) เมื่อปี 1969 โจทย์สำคัญของแนวคิดนี้คือ “ทำไมผู้คนถึงยอมทำตามกฎหมาย” โดยพื้นฐานแนวคิดได้สันนิษฐานว่าเมื่อสายใยความสัมพันธ์ทางสังคมกับปัจเจกบุคคลอ่อนแอลงหรือขาดหายไปเมื่อใด การกระทำความผิดหรือการก่ออาชญากรรมก็จะเริ่มขึ้น

สิ่งสำคัญของสายใยทางสังคมประกอบ 4 องค์ประกอบคือ

1. ความแนบแน่น (Attachment) คือความรู้สึกอ่อนไหวต่อความปรารถนาและความคาดหวังของผู้อื่นต่อตัวเอง ความผูกพันธ์ต่อครอบครัว ครูอาจารย์ หรือใครก็ตามที่เรามีความห่วงใย ดังนี้เราจะพยายามทุกทางเพื่อปกป้องพวกเขาและไม่สร้างความรู้สึกเจ็บปวดหรือความไม่สบายใจให้แก่คนที่เรารัก โดยการอยู่บนบรรทัดฐานของสังคม

2. พันธะผูกพัน (Commitment) คือการมีพันธะหน้าที่ก้าวไปสู่เป้าหมายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทางการศึกษา อาชีพการงาน ชื่อเสียง หรือเกียรติยศ ซึ่งเราไม่ต้องการจะสูญเสียไปเพราะพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานเหล่านั้น

3. การมีส่วนร่วม (Involvement) คือการอยู่กับการทำงานจนไม่มีเวลาว่างไปทำพฤติกรรมเบี่ยงเบน และ

4. ความเชื่อ (Belief) การที่คนเราขาดความเห็นพ้องกับคุณค่าของบรรทัดฐานสังคม ความเชื่อหรือสิ่งที่สังคมห้ามปรามไว้ ย่อมมีโอกาสที่จะเบี่ยงเบนมากเท่านั้น

เมื่อเหตุผลของการกระทำความผิดหรือการก่ออาชญากรรมของผู้คน คือการขาดความแนบแน่น พันธะผูกพัน การมีส่วนร่วม และความเชื่อ ย่อมทำให้สายใยทางสังคมอ่อนแอลง ดังนั้นข้อสันนิษฐานของทฤษฎีนี้ ก็คือหากใครสักคนเริ่มจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน อาจเป็นไปได้ว่าผู้ปกครองหรือครูบกพร่องในการดูแลโดยสายใยสัมพันธ์ในบ้านหรือในสถาบันการศึกษาอ่อนแอลงนั่นเอง

การแก้ปัญหาโดยทฤษฎีนี้คือ ไม่ให้บุคคลกระทำสิ่งที่ ‘เบี่ยงเบน’ ด้วยการสร้างหรือกระตุ้นให้สายใยเหล่านี้กลับคืนมา ไม่ว่าจะเป็นการพยายามขัดเกลาทางสถาบันครอบครัว สถานศึกษา หรือสังคมรอบตัวของผู้นั้น

 

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบบุกไปบ้านเพื่อพูดคุยกับญาติของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จังหวัดแพร่ เมื่อเดือนกันยายน 2563

 

จากสายใยสู่ทฤษฎีควบคุม (Control Theory) [10] ทฤษฎีที่พัฒนาต่อมาจากทฤษฎีสายใยทางสังคม แม้ว่าโจทย์หลักและเป้าหมายของทฤษฎีนี้ก็มีความใกล้เคียงกันคือ “ทำอย่างไรให้คน ๆ หนึ่งยอมทำตามกฎและไม่กระทำความผิด” อยู่ในความเชื่อที่ว่าความดี-เลวของมนุษย์นั้นถูกกำหนดโดยบรรทัดฐานและค่านิยมของสังคม และตัวสังคมเองก็พยายามที่จะทำให้คนทุกคนในสังคมอยู่ในขอบเขตของบรรทัดฐานนั้น

Walter C. Rackless นักทฤษฎีการควบคุมได้ให้ความสนใจกับกุญแจดอกสำคัญที่ว่า “อะไรที่จะสามารถยับยั้งไม่ให้คนกระทำความผิด” ซึ่งเขาได้อธิบายไว้ว่า ก็เพราะคนเรามีกลไกการควบคุม อย่างแรก กลไกควบคุมภายใน (Internal Control) คือความสามารถจัดการและควบคุมภายในของการกระทำหรือพฤติกรรมตนเองได้ ซึ่งรวมถึงความรู้สึกผิดบาปและความไม่ต้องการทำให้ผู้ที่อยู่รอบตัวเรารู้สึกผิดหวังในตัวเรา เพราะเหตุนี้เราจึงพยายามคิดถึงตัวเองในแบบที่ดีและพยายามจะปฏิบัติตัวเองให้อยู่ในขอบเขตนั้น ซึ่งปัจจัยที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการสร้างการควบคุมตนเองนี้คือพ่อแม่ โดยสถาบันครอบครัวมีความผูกพันธ์ในการอบรมสั่งสอนลูกที่ใกล้ชิดที่สุด และตามมาด้วยปัจจัยด้านชุมชนหรือสังคม รวมถึงโรงเรียน สถาบันการศึกษา ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมตนเองรองลงมา

อย่างที่สอง กลไกควบคุมภายนอก (External Control) คือการปัจจัยต่างๆ ที่ควบคุมภายนอกตัวเรา และต้องเข้ามามีส่วนรับผิดไม่ให้บุคคลใดกระทำความผิด ตัวควบคุมเหล่านี้ เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือแม้แต่เจ้าหน้าตำรวจ ฯลฯ เราอาจเรียกได้ว่าเป็นการควบคุมทางสังคม (Social Control) เป็นโครงสร้างระหว่างตัวตนของเรากับสังคมที่เรามีความผูกพันธ์อยู่ กลไกเหล่านี้มีพลังอย่างมากในการเหนี่ยวรั้งเราไว้ให้อยู่ในขอบเขตและบรรทัดฐานของสังคม

ดังนี้ จึงพิจารณาได้ว่าเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐต้องการควบคุมประชาชนไม่ให้กระทำความผิดหรือเกิดพฤติกรรม “เบี่ยงเบน” (ในมุมมองของรัฐ) นั้น จะต้องอาศัยกลไกควบคุมทั้งภายในและกระตุ้นการควบคุมภายนอก โดยอาศัยสายใยความสัมพันธ์ทางสังคมมาเป็นกลไกร่วม จึงเกิดเหตุการณ์คุกคามโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปพูดคุยกับพ่อแม่ของผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายอยู่บ่อยครั้ง

 

ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเข้าติดตามนักเรียนในจังหวัดกระบี่ถึงในโรงเรียน เพื่อสอบถามเรื่องการไปชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายน 2563

 

สายใยที่ไม่อาจสูญเสีย สู่การ ‘กดดัน’

เมื่อความพยายามกดดัน โดยการข่มขู่-คุกคามผู้เห็นต่างทางการเมืองโดยตรง เช่น การโทรหา การเรียกไปปรับทัศนคติ การติดตามผู้ตกเป็นเป้าหมายไปยังสถานที่ต่างๆ นั้นไม่ได้สร้างความกังวลหรือความกลัวได้อย่างเพียงพอ

หากเมื่อปัจจัยที่เป็นจุดอ่อนสำคัญของคนๆ หนึ่ง คือสายใยสัมพันธ์ที่ฝังรากลึกในครอบครัว สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่ชุมชนที่เขามีความคุ้นเคยด้วย เป็นธรรมดาที่คนทั่วไปจะต้องเกิดความหวาดกลัว หากจะต้องสูญเสียความสัมพันธ์เหล่านี้ไป ดังนี้การควบคุมให้บุคคลอยู่ในขอบเขตบรรทัดฐานโดยอาศัยสายสัมพันธ์ของคน จึงเป็นเรื่องง่ายหากเข้าถึงครอบครัวหรือพ่อแม่ของผู้ที่เป็นเป้าหมาย เพื่อสร้างแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น

สถาบันครอบครัวเป็นปัจจัยหลักในการป้องกันพฤติกรรมเบี่ยงเบนเป็นลำดับต้น แน่นอนว่าคนเราย่อมไม่ต้องการสร้างความเจ็บปวดหรือลำบากใจให้ครอบครัวของตนเอง หากเราต้องการถูกจับกุมหรือถูกดำเนินคดี ซึ่งขัดกับความคาดหวังของครอบครัวอย่างยิ่ง เนื่องจากครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อความต้องการทางสังคมและความจำเป็นในชีวิตของบุคคลได้ เช่น ครอบครัวที่พร้อมจะสนับสนุนให้เขาประสบความสำเร็จ รวมถึงการมีหน้าที่การงานที่ดีในอนาคต [11] แต่เมื่อครอบครัวเขาต้องพบกับความหวาดระแวงจากการถูกคุกคาม อาจทำให้เกิดความตึงเครียด ความเข้มงวดภายในครอบครัว นอกจากนี้ครอบครัวยังสามารถ ‘ลงโทษ’ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลได้เป็นสถาบันแรก

แม้แต่การคุกคามผ่านสถาบันการศึกษา กลุ่มเพื่อน หรือชุมชนที่อาศัยอยู่ ก็ย่อมมีบทบาทในการเป็นกลไกควบคุมเช่นกัน ถึงแรงกดดันจะน้อยกว่าครอบครัว แต่การกดดันนี้ไม่ได้สร้างแต่เพียงความหวาดระแวง แต่ยังสามารถ “ลงโทษ” ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายได้ผ่านกลไกวิธีการเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของนักเรียนในหลายโรงเรียนที่ถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าห้องปกครอง ขู่จะตัดคะแนน ตัดสิทธิต่างๆ ไม่ยอมให้เข้าสอบ หรือแม้แต่ถูกครูทำร้ายจิตใจ [12]

เป็นที่แน่นอนว่าคนปกติทั่วไปย่อมมีความกลัวจะถูกคุกคาม เนื่องจากเป็นปกติของความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่จะหาปัจจัยสำคัญต่างๆ มาเติมเต็มในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ชื่อเสียง เกียรติยศและความก้าวหน้า ดังนั้นหากเขากระทำสิ่งที่เป็นความเบี่ยงเบนและสังคมที่เขาอยู่ไม่ยอมรับการเบี่ยงเบนนั้น อาจทำให้เขาจะต้องสูญเสียสิ่งที่เขาพยายามสั่งสมมาตลอด นั่นทำให้เขาเกิดความหวาดระแวงว่าการคุกคามนั้น จะส่งผลกระทบต่อชีวิต และทำให้เขาหยุดการกระทำใดๆ ที่ถูกสั่งมา

ด้วยเหตุผลนี้ มาตรการที่เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจใช้ในการข่มขู่-คุกคามผ่านคนรอบตัวของผู้ตกเป็นเป้าหมายเหล่านี้ จึงอาจทำให้เขาได้รับผลกระทบที่หนักกว่าการคุกคามเพียงเฉพาะแต่ตัวบุคคลนั้นๆ โดยตรงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะหากการกดดันนั้นได้เข้าไปถึงคนรอบตัวที่มีสายใยสัมพันธ์กับเขา มีความเป็นไปได้มากกว่าที่ผู้ตกเป็นเป้าหมายจะยอมทำตามคำสั่งแต่โดยดี โดยเฉพาะเมื่อกดดันผ่านพ่อแม่ ผู้ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่น หรือผู้ที่อาจสร้างผลกระทบกับชีวิตผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายได้

 

———————————–

อ้างอิงท้ายบทความ

[1] ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน, “รายงานพิเศษ: เมื่อ ‘การคุกคามญาติพี่น้อง’ เป็นรูปแบบหนึ่งในปฏิบัติการละเมิดสิทธิของคสช.,” 30 มิถุนายน 2559, สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564, https://tlhr2014.com/archives/782.

[2] เพิ่งอ้าง

[3] ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน, “ร.10 เสด็จเชียงใหม่: ตร.บุกถึงที่พัก-โทรเช็คติดตามน.ศ. อาจารย์ นักกิจกรรม ไม่น้อยกว่า 30 ราย,” 11 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564, https://tlhr2014.com/archives/2394.

[4] อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 1.

[5] ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน, “ก่อนจะถึง 14 ตุลา: ภาพรวม “การคุกคามประชาชน” หลังเยาวชนเริ่มปลดแอก,” 13 ตุลาคม 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564, https://tlhr2014.com/archives/22039.

[6] อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 5.

[7] ilaw, “การคุกคามที่สืบเนื่องจากการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก,” 7 สิงหาคม 2563, สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564, https://freedom.ilaw.or.th/node/836.

[8] อุทัย อาทิเวช, ทฤษฎีอาชญาวิทยากับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (กรุงเทพ: วี.เจ.พริ้นติ้ง, 2557)

[9] Travis Hirschi, Causes of Delinquency (Berkeley: University of California Press, 1969). ใน ไทพีศรีนิวัติ ภักดีกุล, อาชญาวิทยาขั้นสูง, (เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ม.ป.ป.) หน้า 82-98.

[10] ไทพีศรีนิวัติ ภักดีกุล, อาชญาวิทยาขั้นสูง, (เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ม.ป.ป.) หน้า 82-98.

[11] Nye, F. Ivan. “Family relationships and delinquent behavior,” (Beverly Hill, CA: Sage, 1958) ใน ไทพีศรีนิวัติ ภักดีกุล, อาชญาวิทยาขั้นสูง, (เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ม.ป.ป.) หน้า 86.

[12] ประชาไท “เยาวชนนักเคลื่อนไหวชี้ถูกคุกคามต่อเนื่อง จี้รัฐมีหน้าที่คุ้มครองไม่ใช่คุกคาม,” 18 ธันวาคม 2563, สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2564, https://prachatai.com/journal/2020/12/90871.

 

 

X