สถานการณ์ติดตามคุกคามโดยจนท.รัฐ อย่างน้อย 13 กรณีในรอบสองเดือนและพบกิจกรรมในมหาลัยถูกปิดกั้น 2 กรณี

ในรอบสองเดือนที่ผ่านมา ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566 สถานการณ์ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบกรณีการติดตามคุกคามประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างน้อย 13 กรณี นอกจากนั้น ยังพบกรณีที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้นกิจกรรมในพื้นที่มหาวิทยาลัยอย่างน้อย 2 กรณี

การใช้อำนาจรัฐเข้าติดตามคุกคามประชาชน ที่ดำเนินสืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารนั้น ยังต้องติดตามต่อไปถึงสถานการณ์หลังการตั้งรัฐบาลใหม่

นักกิจกรรมกลุ่มเฝ้าระวังพิเศษถูกตำรวจติดตามต่อเนื่อง โดยเฉพาะวันที่มีขบวนเสด็จ

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา กลุ่มนักกิจกรรมอิสระหลายคน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จัดเป็นกลุ่ม “เฝ้าระวังพิเศษ” พบว่าได้ถูกตำรวจติดตามสอดส่องความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวันที่จะมีขบวนเสด็จไปยังพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ อาทิ กรณีของ “มานี” เงินตา คำแสน ประชาชนหญิงวัย 43 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ได้ถูกตำรวจเดินทางมาพบที่บ้านแทบทุกวัน 

ปฏิบัติการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทั้งเข้ามาพูดคุยสอบถามความเคลื่อนไหวของมานีที่บ้าน หรือโทรศัพท์มาสอบถามข้อมูล หรือมาด้อมๆ มองๆ พร้อมถ่ายภาพที่หน้าบ้าน กระทั่งคอยสอดแนมติดตามเมื่อเธอออกไปนอกบ้าน 

นักกิจกรรมที่พบเจอปฏิบัติการในลักษณะนี้ เท่าที่ทราบอาทิ “แก๊ป จิรภาส” กลุ่มทะลุแก๊ส ที่ถูกตำรวจมาพบที่บ้านอย่างต่อเนื่อง, “ออย สิทธิชัย” “สายน้ำ” หรือ “เอียร์” ก็ถูกตำรวจคอยติดตามสอดแนมความเคลื่อนไหวเช่นกัน รวมทั้ง “บุ๊ค” ธนายุทธ นักกิจกรรม-แรปเปอร์วงอีเลฟเว่นฟิงเกอร์ ก็มีรายงานข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบคอยมาติดตามที่บ้าน โดยอ้างว่าผู้บังคับบัญชาสั่งมา เพราะเกรงว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ จึงไม่อยากให้ออกไปทำกิจกรรม

กรณีดังกล่าว เป็นเพียงกรณีที่ทราบข้อมูลเท่านั้น อาจมีนักกิจกรรมที่เคยเคลื่อนไหวมาก่อน ยังคงถูกติดตามในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย

การติดตามคุกคามทีมงานสำนักพิมพ์จากสามจังหวัดชายแดนใต้ และเพื่อนหยก

นอกจากกลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกติดตามคุกคามเป็นประจำอย่างต่อเนื่องแล้ว ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ยังมีสถานการณ์การติดตามคุกคามที่เกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไป ที่เกี่ยวข้องกับกรณีบอร์ดเกมส์ของพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ และกรณีของเพื่อนหยก เยาวชนที่ถูกคุมขังจากมาตรา 112 อีกด้วย

กรณีแรก ได้แก่ กรณีสมาชิกของสำนักพิมพ์โกปี (KOPI) ซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ได้ร้องเรียนไปทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประจำจังหวัดสงขลา ถึงกรณีการถูกติดตามจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน. และตำรวจท้องที่

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2566 ซึ่งคณะสำนักพิมพ์ KOPI เดินทางไปยัง จ.นครราชสีมา เพื่อร่วมค่ายถอดบทเรียนนวัตกรรมสร้างสรรค์กับโครงการ Tadika Lerning Board Game By KOPI PRO แต่ปรากฏว่าได้มีบุคคลนอกเครื่องแบบเข้าสอบถามพนักงานโรงแรม ถึงรายชื่อผู้เข้าร่วม และพยายามเข้ามาสอบถามทีมงาน พร้อมอ้างถึงกรณีการทำบอร์ดเกมส์ โดยที่ก่อนหน้านี้มีกรณีการทำบอร์ดเกมส์ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อาณาจักรปาตานี ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและยึดมาแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทีมงานกังวลถึงความไม่ปลอดภัยจากการติดตามที่เกิดขึ้น

อีกกรณีหนึ่ง ได้แก่ กรณีเพื่อนนักเรียนของ “หยก” ที่ออกมาทำกิจกรรมยืนหยุดขังหน้าโรงเรียนหรือติดป้ายในโรงเรียน ระหว่างที่หยกถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ในช่วงที่ผ่านมา มีรายงานว่าทางโรงเรียนได้พยายามติดตามนักเรียนอย่างน้อย 2 ราย พร้อมเรียกผู้ปกครองมาพูดคุยอีกด้วย แต่เท่าที่มีรายงานไม่ได้มีการหักคะแนนหรือลงโทษทางวินัยใดๆ แต่เป็นการพูดคุยกับนักเรียนและผู้ปกครองถึงเหตุที่เกิดขึ้น

ควรบันทึกไว้ด้วยว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีกรณีที่ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่ข้อมูลการคุกคามย้อนหลังไปในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ได้แก่ กรณีของ “เอ” ประชาชนผู้ประกอบอาชีพด้านการศึกษา ซึ่งถูกกลุ่มบุคคลอ้างเป็น “กองทัพมินเนี่ยน” เดินทางไปพบ โดยมีนายทหารเกี่ยวข้องด้วย โดยมีการพูดคุยเชิงข่มขู่ว่าจะไม่แจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากภาพข้อความที่เคยไปคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กเพจหนึ่งเมื่อช่วงเดือนเม.ย. 66 พร้อมกับให้เอลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ที่เป็นเรื่องการไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ถูกกดดัน จนต้องปิดกั้นกิจกรรมในมหาลัยอย่างน้อย 2 กรณี โดยเฉพาะกิจกรรมที่มี “เพนกวิน” ร่วม อีกทั้ง มช. ออกประกาศให้ขออนุญาตชุมนุม

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ยังมีสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางวิชาการภายในมหาวิทยาลัย ถึง 2 กรณี โดยมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือกรณีกลุ่มปกป้องสถาบันฯ พยายามเคลื่อนไหวคัดค้านและกดดันการจัดกิจกรรมทางวิชาการ ซึ่งมีนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เข้าร่วม ทำให้ผู้จัดต้องยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดกิจกรรม

กรณีแรกเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยนเรศวร เดิมมีการจัดประชุมวิชาการของภาควิชาประวัติศาสตร์ ในวาระครบรอบ 55 ปี ของภาควิชาในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม โดยหลังมีการเผยแพร่กำหนดการ มีชื่อของพริษฐ์ ชิวารักษ์ ในฐานะนักวิชาการอิสระร่วมกล่าวปาฐกกถา ทำให้ถูกกลุ่มที่เคลื่อนไหวปกป้องสถาบันฯ คัดค้าน อ้างว่าเป็น “นักโทษ” คดีมาตรา 112 และเข้ายื่นหนังสือต่อมหาวิทยาลัย ทำให้ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2566 ทางภาควิชาต้องแถลงยกเลิกโครงการประชุมดังกล่าว โดยระบุว่า เกรงว่าจะมีเหตุขัดแย้งเกิดขึ้นในอนาคต

อีกกรณีเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในช่วงวันที่ 23 มิ.ย. 2566 ทางกลุ่มล้านนาใหม่มีกำหนดจัดเวทีเสวนาเรื่องจังหวัดจัดการตนเองที่คณะนิติศาสตร์ โดยในงานเสวนามีทั้งธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพริษฐ์ ชิวารักษ์ มาร่วมเป็นวิทยากรด้วย ก่อนกิจกรรม ทางกลุ่มเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันฯ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านกิจกรรมดังกล่าว โดยอ้างว่ากลุ่มบุคคลผู้จัดมุ่งประสงค์ที่จะให้มีการแบ่งแยก และมีกลุ่มบุคคลที่เคยต้องคดีชุมนุมเข้าร่วม

แรงกดดันดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยประสานงานมาทางคณบดีคณะนิติศาสตร์ แสดงความกังวลว่าจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ จึงได้เสนอให้เปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานไปยังโรงแรมใกล้มหาวิทยาลัยแทน โดยมีการออกค่าใช้จ่ายในการจัดงานให้

นอกจากนั้น ยังมีกรณีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกประกาศฉบับใหม่ เรื่องการขออนุญาตใช้พื้นที่จัดกิจกรรมการชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีการกำหนดให้นักศึกษาที่จะจัดการชุมนุมซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการเรียนการสอน ต้องขออนุญาตจากทางมหาวิทยาลัย ทั้งที่ตามกฎหมายโดยปกติ ได้แก่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ นั้น กำหนดให้งดเว้นการบังคับใช้ในสถานศึกษา และยังกำหนดให้ผู้จัดชุมนุมไป “แจ้งการชุมนุม” ต่อเจ้าพนักงาน ไม่ใช่เรื่องที่ต้อง “ขออนุญาต” แต่อย่างใด

ขณะเดียวกันประกาศฉบับนี้ ยังมีการกำหนดแนวทางการจัดชุมนุมต่างๆ อย่างค่อนข้างกว้างขวาง เช่น “เป็นกิจกรรมที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการนำไปสู่ความขัดแย้ง” หรือเป็นกิจกรรมที่ไม่มีบุคคลภายนอกเข้าร่วม ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้เสรีภาพของการในการชุมนุมของนักศึกษาได้ ทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวรณรงค์คัดค้านประกาศดังกล่าว

สถานการณ์ดังกล่าว ดูจะสะท้อนปัญหาการพยายามจำกัดควบคุมใช้สิทธิเสรีภาพทั้งการชุมนุมและการแสดงออกภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

.

X