สุปรียา ใจแก้ว หรือ “แซน” อดีตนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย เปิดเผยข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2565 ได้รับแจ้งจากเพื่อนบ้านว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในเครื่องแบบ-นอกเครื่องแบบ ประมาณ 4-5 นาย เดินทางมาด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล 2 คัน เข้าไปจอดและตรวจค้นบ้านตามภูมิลำเนาของเธอในจังหวัดเชียงราย พร้อมถ่ายภาพบ้านของเธอ โดยไม่มีการแสดงหมายค้นหรือหมายจับ หรือแจ้งสาเหตุใดๆ ในการเข้าไปตรวจดูในบริเวณบ้าน
สุปรียาเปิดเผยว่า เนื่องจากเธอเคยมีบทบาทเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง สมาชิกกลุ่มเชียงรายปลดแอก จึงมักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปยังบ้านตามภูมิลำเนาอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ก่อนที่เธอจะถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมชุมนุม #คนเจียงฮายก้ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2563 โดยคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการรอการสืบพยานในชั้นศาล
ต่อมาการติดตามคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐหนักยิ่งขึ้นอีก หลังจากที่เธอถูกตำรวจบุกเข้าจับกุมตามหมายจับในคดีมาตรา 112 เหตุจากการติดป้ายข้อความ “งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยลักษณะการคุกคามมักจะเข้มข้นขึ้นในช่วงเวลาที่มีบุคคลสำคัญเดินทางมาในจังหวัดเชียงราย โดยจะมีตำรวจเข้ามาหาที่บ้านบ่อยครั้ง เช่น ช่วงเวลาที่มีขบวนเสด็จ หรือบุคคลในรัฐบาลเดินทางมายังจังหวัดเชียงราย
ลักษณะการคุกคามที่เกิดขึ้นคือ มักจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปถามหาสุปรียาจากปู่และย่าที่อาศัยอยู่ที่บ้านตามภูมิลำเนาของเธออยู่เสมอ หรือบางครั้งเข้าไปถ่ายภาพ ประมาณเดือนละ 3-4 ครั้ง จนปัจจุบันก็เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว แม้ตำรวจไม่เคยเจอสุปรียาที่บ้านหลังดังกล่าวเลยสักครั้งเดียว แต่ก็ยังคงกระทำการในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
“ไม่เข้าใจเหมือนกัน ตำรวจเขาก็รู้ว่าแซนไม่อยู่บ้านหลังนั้น เขามีเบอร์โทร ตอนจับแซนก็ไปจับตามที่อยู่หอพัก”
สุปรียากล่าวด้วยความคับข้องใจว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเข้าไปถามหาเธอที่บ้าน แม้จะตำรวจจะทราบดีว่าเธอไม่ได้อาศัยอยู่บ้านหลังดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากเธอย้ายไปอยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว เพียงแต่มีชื่อตามทะเบียนบ้านเท่านั้น
ลักษณะบ้านตามภูมิลำเนาของสุปรียามีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวยกสูง ด้านล่างเป็นห้องครัว ส่วนชั้นบนมีบริเวณระเบียงกว้าง ในวันเกิดเหตุช่วงกลางเดือนเมษายน ไม่ได้มีใครอยู่บ้าน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินเข้าไปในบริเวณบ้าน ตรวจค้นทั้งชั้นแรกและชั้นสองที่เป็นบริเวณเปิดโล่ง โดยไม่แสดงเหตุในการเข้าค้นบ้านสร้างความกังวลแก่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยโดยรอบที่มาพบเห็น
“ย่าไปเดินตลาด ชาวบ้านก็มาพูดกัน มาทักว่าหลานไปทำอะไรผิดมาอีกแล้ว เป็นพวกล้มเจ้าใช่ไหม”
ปฏิบัติการดังกล่าว ยังทำให้ปู่และย่าของสุปรียา ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังดังกล่าวมาเป็นเวลานาน เกิดรู้สึกหวาดกลัวและกังวลทุกครั้งเมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาถามหาสุปรียา และถ่ายภาพบ้านบ่อยครั้ง จนกระทั่งอยู่บ้านอย่างไม่มีความสุข ขาดความเป็นส่วนตัว ยังทำให้สังคมที่อยู่อาศัยและเพื่อนบ้านมักจะพูดถึงบ่อยครั้ง สร้างแรงกดดัน จนกระทั่งปู่และย่าตัดสินใจย้ายบ้านไปอยู่ต่างจังหวัดแล้วในที่สุด
อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาปู่และย่าของสุปรียาถูกตำรวจเข้าติดตามนี้ ไม่เคยทราบว่าเข้ามาพบด้วยสาเหตุใด ไม่เคยแสดงหมายค้น แต่ถ่ายภาพไว้เพื่อรายงาน ‘นาย’ เป็นระยะ แม้ปู่และย่าจะย้ายบ้านแล้วก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็ยังเข้ามาตรวจค้นภายในบริเวณบ้าน ซึ่งการกระทำของตำรวจ ทำให้สุปรียาและครอบครัวรู้สึกไม่ปลอดภัย วิตกกังวล ต้องรับแรงกดดันจากสังคมโดยรอบ
.