เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 “มานี” เงินตา คำแสน ประชาชนหญิงวัย 43 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองรวม 7 คดี ทั้งในข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ดูหมิ่นศาล รวมทั้งคดีตามมาตรา 112 เปิดเผยข้อมูลว่าตนได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อ้างว่ามาจาก สน.ลาดพร้าว และชุดสืบสวนของกองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ผลัดเปลี่ยนกันมาพบที่บ้านต่อเนื่องกันเป็นเวลาร่วม 1 เดือนครึ่ง โดยไม่ชัดเจนว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายใด
มานีเล่าว่านับตั้งแต่เมื่อวันจักรี (6 เม.ย.) ที่ผ่านมา มีตำรวจนอกเครื่องแบบหลายกลุ่มผลัดเปลี่ยนกันมาที่บ้านอยู่บ่อยๆ โดยจะขับขี่รถมอเตอร์ไซค์มาคราวละ 2 – 4 นาย เมื่อมาถึงแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะถ่ายรูปมานีและบ้านของเธอไป พร้อมกับสอบถามข้อมูลการทำกิจกรรมและความเคลื่อนไหวทั้งของมานีเอง และนักกิจกรรมคนอื่นๆ
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามว่ามาจากหน่วยงานใด ทางตำรวจกลุ่มหนึ่งก็จะตอบว่ามาจาก สน.ลาดพร้าว บ้างก็ตอบว่ามาจาก “สืบ 4” แต่ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานหรือเอกสารใด ขณะที่เจ้าหน้าที่บางกลุ่มก็ไม่ตอบคำถามดังกล่าว
.
ภาพเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาที่บ้านของมานี
.
มานีเล่าต่อว่าบางครั้งเธอก็ได้เจอกับตำรวจเอง บางครั้งก็ไม่เจอ และมีครั้งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่มาหา แต่เธอไม่อยู่บ้าน ในตอนหลังเพื่อนบ้านก็มาบอกว่าช่วงที่มานีไม่อยู่บ้านนั้น มีเจ้าหน้าที่มาด้อมๆ มองๆ ที่หน้าบ้าน จากนั้นก็ถ่ายรูปและพากันกลับไป
นอกเหนือจากการมาที่บ้านแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรติดต่อมานีอยู่หลายครั้ง เพื่อจะสอบถามว่ามานีและเพื่อนนักกิจกรรมคนอื่นๆ มีแผนจะทำกิจกรรม ทำการเคลื่อนไหวใดๆ หรือไม่ เช่น เมื่อวันพืชมงคลวันที่ 17 พ.ค. 2566 ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรมาสอบถามว่าเธอและเพื่อนๆ นักกิจกรรมคนอื่นจะจัดกิจกรรม หรือทำการเคลื่อนไหวอะไรในวันดังกล่าวหรือไม่
ทั้งนี้ มานียืนยันว่าไม่เคยให้เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนใดมาก่อน และไม่รู้ด้วยว่าทางเจ้าหน้าที่ทราบเบอร์ติดต่อเธอได้อย่างไร
สำหรับสาเหตุของการถูกคุกคาม มานีระบุว่าเธอเองก็ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายใดที่มาดำเนินการติดตามเธออย่างต่อเนื่องในลักษณะนี้ แต่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับการมีขบวนเสด็จ เพราะมีข้อสังเกตว่าแทบทุกครั้งที่มีเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้าน มักใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่จะมีขบวนเสด็จของสมาชิกราชวงศ์
นอกจากนี้ มานียังระบุสาเหตุการถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐอีกประการหนึ่ง อาจเป็นเพราะเธอเป็นผู้มีชื่อและมีสถานะ “กลุ่มบุคคลเฝ้าระวังพิเศษ” ในเอกสารของเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นได้
.