2 เดือน ผู้ถูกคุกคามโดยจนท.รัฐ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 66 ราย เหตุจากมีขบวนเสด็จยังเป็นปัจจัยสำคัญ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในช่วงระหว่าง มี.ค. – เม.ย. 2565 พบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยวิธีการใช้อำนาจนอกกฎหมายคุกคาม – ติดตามถึงบ้าน ตลอดจนจัดทำข้อมูลส่วนตัวของประชาชน เพื่อควบคุมการแสดงออกทางการเมืองยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นยิ่งกว่าสถานการณ์ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ 

สถิติพุ่งขึ้นอย่างน้อย 66 ราย แต่ช่วงอายุของผู้ถูกคุกคามลดต่ำลง

จากข้อมูล ณ วันที่ 25 เม.ย. 2565 จำนวนผู้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามถึงบ้าน หรือคุกคามในรูปแบบต่างๆ นอกกฎหมาย อันเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมือง ยังทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขในช่วงระหว่างเดือน มี.ค. – เม.ย. นี้ มีรายงานผู้ถูกละเมิดสิทธิอย่างน้อย 66 ราย ในจำนวนนี้ เป็นเยาวชน 8 ราย ซึ่ง 1 ใน 8 รายนั้นเป็นเด็กหญิงอายุเพียง 13 ปี 

รวมให้ยอดรวมประชาชนผู้ถูกคุกคามติดตามโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 149 ราย นับเป็นเยาวชนจำนวน 15 ราย ตลอดปีนี้ บางรายยังถูกติดตามคุกคามหลายรอบ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามรายภูมิภาคแล้วเห็นว่าพื้นที่ภาคกลางยังคงมีจำนวนผู้ถูกติดตาม-คุกคามเพิ่มขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง คือเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 38 ราย ขณะที่ภาคเหนือมีอย่างน้อย 11 ราย ภาคอีสานอย่างน้อย 10 ราย และภาคใต้อย่างน้อย 7 ราย 

จำนวนการคุกคามจำแนกตามภาค เดือนมีนาคม – เมษายน 2565
(เท่าที่ทราบข้อมูล)

อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลที่ทางศูนย์ทนายความฯ ได้รับแจ้งหรือทราบข้อมูลเท่านั้น และยังไม่นับรวมถึงกรณีเจ้าหน้าที่นำหมายเรียกไปส่งหรือการเข้าจับกุมเพื่อดำเนินคดีต่างๆ 

ติดตาม-คุกคามด้วยการไปหาถึงบ้าน อ้างว่าเพื่อ “ตรวจตราและดูแลความปลอดภัย”

โดยส่วนใหญ่รูปแบบของการละเมิดสิทธิฯ ยังคงเป็นการไปหาถึงที่พักอาศัย เพื่อที่จะพูดคุยกับ “บุคคลเป้าหมาย” ในมุมมองของรัฐ รวมถึงสอบถามข้อมูลจากครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน และเพื่อจับตาเฝ้าระวัง การกระทำดังกล่าวมักจะเป็นการไปโดยไม่มีหมายเรียกหรือหมายค้นใดๆ 

อาทิเช่น กรณีชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการที่มีบทบาทแสดงความีคิดเห็นทางการเมือง ถูกชายนิรนามจำนวน 4 คนที่อ้างตัวเป็นตำรวจติดตามคุกคามจนถึงหน้าห้องพักภายในคอนโดมิเนียม นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่ง (Harassment-stalking) ในกรณีนี้ได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนถึง ผบ.ตร. แล้ว แต่ยังไม่มีคำชี้แจ้งหรือการติดตามเรื่องใดๆ จากฝ่ายเจ้าหน้าที่

ในช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. มีจำนวนผู้ถูกละเมิดด้วยรูปแบบดังกล่าวอย่างน้อย 40 ราย โดยที่บางรายได้ถูกเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้านต่อเนื่องเป็นเวลานาน แม้ไม่ได้ทำหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วก็ตาม เช่น กรณีของ “สุปรียา” อดีตนักกิจกรรมทางการเมืองจังหวัดเชียงราย ที่ได้รับผลกระทบจนญาติต้องย้ายที่อยู่เพื่อหลีกหนีการรบกวนของเจ้าหน้าที่ และ “ณรงค์” ที่แม้จะยุติบทบาทแล้ว แต่ก็ยังคงถูกเจ้าหน้าที่ติดตามสอดแนม 

นักกิจกรรมหลายคนยังถูกเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านหรือร้านของตน โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด หรือเป็นการมาสอดส่องและสอบถามข้อมูลเพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวด้วย เช่น กรณีของอินทิรา เจริญปุระ, นันทพงศ์ ปานมาศ, พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง เป็นต้น

ทั้งยังมีการละเมิดสิทธิฯ อีกรูปแบบอื่นๆ ด้วยอาทิ การโทรศัพท์ติดต่อสอบถามข้อมูล เข้าติดตามสอดแนมระหว่างบุคคลใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงกรณีอย่างตำรวจรถไฟเข้าติดตามบูธของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันในงานหนังสือแห่งชาติ เพื่อให้ปลดป้ายผ้ารวมแฮชแท็ก (#) ทางการเมืองที่ใช้ตกแต่งบูธลง ก็มีลักษณะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก

ผู้ถูกละเมิดฯ จำนวนหนึ่งให้ข้อมูลว่า ถูกตำรวจมาหาที่บ้านโดยอ้างว่ามา “ตรวจตราความเรียบร้อย” และ “ดูแลความปลอดภัย” โดยผู้ถูกละเมิดฯ รายหนึ่งระบุว่า นอกจากจะโดนติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนหลายครั้งแล้ว ยังเคยถูกเข้าเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งเข้าประชิดตัวขณะที่กำลังรับประทานอาหารในพื้นที่สาธารณะ โดยอ้างว่าไม่ใช่การอุ้ม แต่เป็นการ “เชิญตัว” ให้ไปพูดคุยกัน

การลงพื้นที่ของสมาชิกราชวงศ์: (ยังคงเป็น) หัวใจสำคัญของการคุกคาม

บริบทสำคัญซึ่งพบว่า ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ต่างๆ ทวีความถี่และการติดตามอย่างรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ บริบทที่มีแกนนำรัฐบาลลงพื้นที่ หรือในช่วงเวลาที่มีขบวนเสด็จของกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ 

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา เยาวชน อายุ 13 ปี และเพื่อนอีก 2 คน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จ, กองร้อยน้ำหวาน และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมีจำนวนรวมกันกว่า 40 คน บุกเข้าประชิด กล่าวหา และข่มขู่ ก่อนควบคุมตัว ขณะที่ทั้งหมดกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ในร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  โดยในวันเกิดเหตุ เยาวชนทั้ง 3 ถูกพาไปควบคุมตัวไว้ที่ พม. ต่อด้วยสโมสรตำรวจฯ รวมเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมง ทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิดใด

ทางกลุ่มเจ้าหน้าที่อ้างว่า เหตุที่ต้องควบคุมตัวเพราะเยาวชนกลุ่มดังกล่าวมีพฤติการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการก่อความปั่นป่วนวุ่นวาย แต่อย่างไรก็ตาม คาดได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมรอรับ #ขบวนเสด็จ จัดโดยกลุ่ม #มังกรปฏิวัติ ที่จะจัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว 

การกระทำดังกล่าวนับเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ ซึ่งจากเหตุการณ์นี้เครือข่ายภาคประชาสังคมคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้เข้ายื่นหนังสือถึง พม. ให้หยุดคุกคามเด็กพร้อมกับทบทวนบทบาทหน้าที่ของตนเอง

นอกเหนือจากนี้แล้ว ในช่วงระหว่างเดือน มี.ค. – เม.ย. เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการติดตาม-คุกคามประชาชนอย่างขะมักเขม้นในอีกหลายกรณี เป็นต้นว่า การติดตามกลุ่มนักศึกษาในจังหวัดพิษณุโลกก่อนมีขบวนเสด็จในช่วงก่อนสงกรานต์, กรณีตำรวจไปบ้านนักกิจกรรมและเยาวชนกลุ่ม “ราษฎรชัยภูมิ”, การบุกไปบ้านพักของศิลปินขอนแก่นโดยปราศจากหมายเรียก/หมายจับ, การติดตาม – คุกคามถึงที่พักส่วนตัว และใช้ถ้อยคำวาจาเชิงดูหมิ่นคุกคามสิทธิเสรีภาพของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตลอดจนการไปเฝ้าและติดตามบุคคลเป้าหมายและครอบครัว ในช่วงมีพิธีรับปริญญา  

ขณะเดียวกัน ยังมีการเปิดเผยถึงกรณีของสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ผู้ถูกบังคับสูญหาย กับนักกิจกรรมในจังหวัดอุบลราชธานีอีกรายหนึ่ง ที่ถูกเจ้าหน้าที่จัดประเภทในเอกสารของตำรวจว่าเป็น “บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ (ระดับแดง)” บ่งชี้ถึงการติดตามทำข้อมูลส่วนบุคคล และจับจ้องสอดแนมความเคลื่อนไหวของประชาชนในสังคมโดยรัฐ

โดยภาพรวมของสถานการณ์การติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐตลอดช่วงเวลาตั้งแต่เดือน ม.ค. – เม.ย. จึงยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ดังแนวโน้มที่เห็นได้ตั้งแต่ในช่วงต้นปี ทำให้ยังต้องติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนนี้ในเดือนต่อๆ ไปของปีนี้

ทั้งนี้ ประชาชนที่ถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากการแสดงออกทางการเมือง สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในทุกช่องทาง

.

X