ทหารพร้อมบุคคลอ้างเป็น “กองทัพมินเนี่ยน” บุกถึงสถานที่ทำงานประชาชน อ้างคอมเมนต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถาบันฯ ข่มขู่ดำเนินคดี พร้อมให้เซ็นบันทึกข้อตกลง

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลจาก “เอ” (นามสมมติ) ประชาชนผู้ประกอบอาชีพด้านการศึกษา อายุ 28 ปี  เกี่ยวกับประสบการณ์การเซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกลุ่มบุคคลที่อ้างตนว่าเป็น “กองทัพมินเนี่ยน” โดยมีนายทหารเกี่ยวข้องด้วย เพื่อแลกกับการไม่เข้าแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 ภายหลังตนเองถูกแคปภาพที่เคยไปคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กเพจหนึ่งเมื่อช่วงเดือนเม.ย. 66 โดยเอได้เล่าถึงเหตุการณ์และความรู้สึกภายหลังการที่ได้เซ็น MOU ไปแล้ว


“เอ” ทำงานด้านการศึกษาของเด็กมาประมาณ 3 ปี โดยปกติเธอมักจะใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวในการคอมเมนต์ แสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามเพจและกลุ่มเฟซบุ๊กที่ติดตามอยู่ และแม้ว่าเอใช้ชื่อสมมติในเฟซบุ๊ก แต่ข้อมูลส่วนตัว รวมถึงรูปถ่ายในเฟซบุ๊กดังกล่าว เป็นข้อมูลตามจริงและเปิดเป็นสาธารณะ ทำให้คาดว่าเป็นที่มาให้สามารถสืบค้นข้อมูลของเธอได้ นำมาสู่การถูกข่มขู่เรื่องการดำเนินคดี

เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มจากประมาณวันที่ 28 เม.ย. 2566 มีทหารนายหนึ่งใช้เฟซบุ๊กติดต่อมาทางเฟซบุ๊กส่วนตัวของเอ แต่เธอรู้สึกไม่ชอบมาพากล จึงบล็อกนายทหารคนดังกล่าวไปโดยยังไม่ได้มีการพูดคุยอะไรกัน อย่างไรก็ตามในวันรุ่งขึ้น หัวหน้าของเอได้เรียกมาคุยเป็นการส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องที่มีนายทหารส่งอีเมล์มาร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมของเธอ และแจ้งว่าจะมีการดำเนินคดีมาตรา 112 รวมถึงร้องเรียนเรื่องการกระทำผิดต่อองค์กร

หัวหน้าของเธอได้โทรไปสอบถามนายทหารดังกล่าวเกี่ยวกับรายละเอียดที่มาที่ไป และได้ทำข้อตกลงคล้ายกับเป็นตัวเลือกให้ โดยให้เอเลือกระหว่างการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ที่เป็นเรื่องการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ หรือการเลือกที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดยนายทหารคนดังกล่าวแจ้งว่าจะนำมวลชนจำนวนมากมากดดันที่ทำงานของเอ ซึ่งจะทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเดือดร้อนไปด้วย เมื่อได้ฟังดังนั้นเธอจึงตัดสินใจเลือกทำ MOU เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อตนเองและเพื่อนร่วมงาน

หลังจากตัดสินใจแล้ว หัวหน้างานได้เดินทางไปคุยกับทหารนายดังกล่าวอีกครั้งที่กองบัญชาการกองทัพไทยจนนำไปสู่การนัดหมายมาคุยกันที่ที่ทำงานของเอ โดยมีหัวหน้าร่วมเป็นพยานในการทำบันทึกข้อตกลงด้วย  

“เราทำงานอยู่ในนนทบุรี แต่ตอนแรกทางทหารบอกว่าจะต้องไปคุยที่จังหวัดพัทลุง ทำให้เรากังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับความปลอดภัย เราไปหาว่าที่พัทลุงมีค่ายทหารที่ไหนบ้าง ก็พบว่ามีหลายที่ หัวหน้าจึงขอให้มาคุยที่ที่ทำงานได้หรือเปล่า” เอพูดถึงความกังวลเกี่ยวกับการต้องเดินทางไปพูดคุยกับทหารไกลจากที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ซึ่งเธอไม่คุ้นเคยทั้งพื้นที่และคนที่ต้องคุยด้วย

“มีคนเคยถูกอุ้มหาย เราเคยเห็นข่าวมากมาย อะไรก็เกิดขึ้นได้ และคงมีคนโดนขู่เหมือนเราจริงๆ แต่ไม่มีใครกล้าออกมาพูดเพราะกลัว” เธอกล่าวเสริม  

ในวันที่ 2 พ.ค. 2566 หญิงซึ่งอ้างตนเองว่าเป็น “กองทัพมินเนี่ยน”และบุคคลซึ่งคาดว่าเป็นนายทหาร 3 คน โดยทั้งหมดแต่งกายนอกเครื่องแบบ ตัดผมสั้นเกรียน 3 ด้าน เดินทางมาที่สำนักงานของเธอเพื่อบังคับให้เซ็นข้อตกลง

“เขาข่มขู่ว่าเอาคนเข้าคุกเพราะคดีหมิ่นกษัตริย์มาหลายรายแล้ว รวมถึงทำให้ถูกออกจากงาน เพราะทำผิดวินัยก็เคยทำ การพูดคุยครั้งนี้ มีพี่ของเราและหัวหน้าอยู่ในห้องด้วย เขาเข้ามาด้วยท่าทีเหยียดหยามเรามาก เรารู้สึกไม่ยุติธรรมและถูกคุกคาม รู้สึกถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพและกลืนไม่เข้าคายไม่ออก กลัวว่าที่ทำงานจะต้องเดือดร้อนไปด้วย”

เอเล่าให้ฟังว่าการพูดคุยทั้งหมดเกือบ 1 ชั่วโมงมีการถ่ายภาพและถ่ายวิดีโอไว้โดยบุคคลที่อ้างเป็นกองทัพมินเนี่ยน 

“เขาเปิดบทสนทนาด้วยการบอกว่า เราไม่ได้มีสิทธิ์เลือกเพราะนี่คือการให้โอกาสจากเขาและให้โอกาสแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องก็จะดำเนินคดี อย่าทำให้รู้สึกว่าที่เราให้โอกาสคุณ เราเสียเวลาเปล่า ถ้าเขาเจอว่าเราโพสต์อะไรอีก เราจะเจอเรื่องใหญ่ ไม่แน่ใจว่าจะไปถูกแจ้งความที่จังหวัดใด และแน่นอนว่าระหว่างนั้นก็อาจจะถูกพักราชการ ถ้าคิดว่าการแจ้งความนี้เป็นการกลั่นแกล้งก็ไปฟ้องศาล ฟ้องอัยการเอา ถ้ายังมั่นใจว่าตัวเองไม่ผิดก็แล้วแต่”

แอดมินเพจนั้นถามเราว่า ทำไมถึงคิดว่าจะแตะต้องสถาบันได้ ทีเราไปเถียงกับคนในคอมเมนต์ เรายังโกรธและคิดว่าตัวเองแตะต้องไม่ได้เลย เพราะสถาบันแตะต้องไม่ได้ มันเลยต้องมีคนอย่างเขา คนธรรมดาลุกขึ้นมาปกป้องสถาบัน ที่วันนี้เราได้โอกาสในการอภัย เขาให้เราขอบคุณในหลวงเพราะท่านสอนให้รักและสามัคคีกัน เขาจึงต้องการให้โอกาสและให้อภัยเราในการที่จะไม่ดำเนินคดี เพราะมองเห็นว่าเราน่าจะได้รับโอกาสมีชีวิตที่ปกติต่อไป”

“เขาถามเราว่า ให้โอกาสแบบนี้แล้ว เราพอจะทำอะไรที่เป็นการแสดงออกได้บ้าง ไม่ได้บังคับ ให้เราทำเพราะอยากทำ ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ทำเพื่อสาธารณะ โดยเขาถามว่าเราชอบทำกิจกรรมไหม เขาต้องการให้เราไปร่วมทำกิจกรรมรับเสด็จ โดยบอกว่าปีหนึ่งก็มีงานพิธีไม่กี่ครั้ง ให้เราไปร่วมรับเสด็จ แจกอาหาร และทำความสะอาดพื้นที่เมื่อจบงาน ต้องรับเสด็จไปตลอดปี 2566”

แต่กิจกรรมรับเสด็จไม่ใช่สิ่งเดียวที่เอต้องทำ โดยในข้อตกลงระบุเงื่อนไขหลายอย่าง ได้แก่ การต้องจัดทํารายงานเกี่ยวกับสถาบันฯ โดยให้บรรยายถึงคุณูปการของสถาบันกษัตริย์ต่อประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นต้องอธิบายถึงความจําเป็นในการดํารงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย และให้จัดสอนพิเศษแก่เยาวชนไม่ต่ำกว่า 100 คน โดยให้เธอเป็นผู้สอนและบันทึกวิดีโอไว้เป็นหลักฐานส่งให้ “กองทัพมินเนี่ยน” ดู 

“เขาบอกว่า เขาแค่ต้องการจะดูความตั้งใจของเรา ว่าเราจะตั้งใจแก้ไขปรับปรุงตัวมากแค่ไหน”

บันทึกข้อตกลงยังระบุว่าการทําบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ เป็นข้อตกลงโดยสมัครใจทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นการให้โอกาสในการแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งกองทัพมินเนี่ยนมีความหวังว่าจะไม่เกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต และหากมีการกระทําความผิดในลักษณะเดิมอีก กองทัพมินเนี่ยนขอสงวนสิทธิ์ในการแจ้งความเอาผิด เพื่อดําเนินคดี โดยไม่ให้โอกาสในการแก้ไขความผิดในครั้งต่อไป 

ในสัญญา “เอ” ได้เขียนระบุว่ายอมรับข้อตกลง แลกกับการที่จะไม่ถูกข่มขู่ คุกคามหรือใช้ถ้อยคำดูถูก ทั้งกาย วาใจต่อตนเองหรือครอบครัว

“เขาทิ้งท้ายการสนทนาว่า เขารู้ว่าที่เราตกลงเพราะกลัวและไม่อยากมีความผิด ไม่อยากโดนคดี เขาไม่ได้ต้องการจะให้มารักเหมือนเขาหรือต้องการจะเปลี่ยนใคร ทุกคนที่เขายอมเพราะเขากลัว แต่ยืนยันว่าตัวเองไม่ได้มาขู่ แค่มาอยากให้โอกาสเรา และไม่ได้มากลั่นแกล้ง”

เอเข้าใจว่าการเซ็น MOU ลักษณะนี้ไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ และไม่ได้เป็นการรับประกันว่าเธอจะไม่ถูกแจ้งความดำเนินคดี โดยตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นเธอรู้สึกหวาดวิตกในการใช้โซเชียลมีเดีย  ไม่ว่าจะเป็นการสนทนากับเพื่อนหรือการเข้าดูเพจต่างๆ โดยไม่แน่ใจว่าจะมีใครมาติดตามหรือไม่และไม่ทราบได้ว่าตัวเองถูกแจ้งความไปแล้วหรือยัง  

“เราติดตามการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ประมาณ ป.5 ติดตามมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 พ่อแม่เป็นพ่อค้า ในช่วงเวลานั้นมีการแวะเวียนไปชุมนุมกับกลุ่ม นปช. อยู่บ้าง เรายังเคยไปร่วมแสดงความเห็นในรายการวิทยุที่แถวลาดพร้าว แต่ตอนหลังสถานีวิทยุก็ถูกปิดไป วันที่มีการสลายการชุมนุมพ่อออกจากที่ชุมนุมไม่นาน ก็มีการสลายการชุมนุม เพื่อนของพ่อเสียชีวิตในที่ชุมนุม เป็นสิ่งที่เรารับรู้มาตลอด เรารู้สึกโกรธมากที่มีการแถลงข่าวว่าไม่มีการใช้กระสุนจริง ไม่มีคนตาย เราเห็นความเน่าเฟะของระบบข้าราชการ จึงเป็นคนที่มีความคิดวิพากษ์วิจารณ์และสนใจการเมือง”

“เราไม่อยากจะให้ใครโดนอะไรแบบนี้อีก ไม่ควรมีใครมีสิทธิ์มาดูถูก เหยียดหยาม ริดรอนสิทธิ ข่มขู่คุกคามเรา จากการแค่แสดงความคิดเห็น” เธอกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ตัวละคร “มินเนี่ยน” มาจากภาพยนตร์อนิเมชั่นชุด Despicable Me และ Minions มีร่างกายเป็นสีเหลือง โดยคำว่า “มินเนี่ยน” ถูกนำมาใช้ทางการเมืองโดยฝ่ายผู้ชุมนุมต่อรัฐบาลในช่วงเดือนตุลาคม 2563 หลังจากมีกลุ่มประชาชนที่ใส่เสื้อเหลืองออกมาแสดงออกในลักษณะปกป้องสถาบันฯ  จากนั้นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวเองได้นำตัวละครนี้ไปใช้ในการเคลื่อนไหวของตน โดยการแต่งกายด้วยชุดมินเนียน และเรียกตนเองเป็น “กองทัพมินเนี่ยน” เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112  

นอกจากนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ายังมีการใช้แอคเคาท์เฟซบุ๊กปลอมรวบรวมข้อมูลส่วนตัว อ้างตนเป็น “กองทัพมินเนี่ยน” และส่งข้อความมาข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีบุคคลที่แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์จำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงปี 2564 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน แต่ยังไม่เคยมีรายงานการเข้าติดตามถึงสถานที่ทำงานและให้เซ็นข้อตกลงในลักษณะนี้มาก่อน

X