วันที่ 23 พ.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ “ปาฏิหาริย์” (สงวนนามสกุล) พ่อลูกอ่อน วัย 26 ปี เหตุแสดงความคิดเห็นบนโพสต์เฟซบุ๊กของ Somsak Jeamteerasakul เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องการประชวรของรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564
ย้อนไปเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 ปาฏิหาริย์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมจากบ้านพัก ตามหมายจับออกโดยศาลอาญาลงวันที่ 15 พ.ย. 2564 นำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยอ้างว่าก่อนหน้านี้เคยส่งหมายเรียกมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ปาฏิหาริย์ไม่ได้ไปรายงานตัวตามหมายเรียก แต่เขายืนยันว่าหลังตรวจสอบกล้องวงจรปิดแล้ว พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการมาติดหมายเรียกที่หน้าบ้านเขาอย่างที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 สั่งฟ้องคดีต่อศาล ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ระบุว่า ข้อความดังกล่าวทําให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็นเข้าใจได้ว่าเป็นการสาปแช่ง และรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นบุคคลไม่ดี หากสวรรคตคนในประเทศไทยจะอยู่รอดกันหมด อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม แสดงความอามาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุข
วันที่ 11 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานครั้งแรก ปาฏิหาริย์ได้แถลงขอกลับคำให้การเดิมจากปฏิเสธ เป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลจึงให้งดการสืบพยาน และมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย ก่อนมีคำพิพากษา
วันนี้ (23 พ.ค. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 708 ปาฏิหาริย์เดินทางมาศาลพร้อมมารดา ภรรยา และลูกสาววัย 1 ขวบเศษ ก่อนเจ้าหน้าที่ศาลจะนำรายงานการสืบเสาะของเจ้าพนักงานคุมประพฤติมาให้อ่านเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง
ในรายงานการสืบเสาะระบุถึงประวัติทั่วไปของจำเลย ประวัติการกระทำความผิด และความเห็นของเจ้าพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งกรณีนี้ เจ้าพนักงานคุมประพฤติเห็นควรคุมประพฤติจำเลยและระบุมาตรการคุมประพฤติที่เห็นว่าเหมาะสมมาในช่วงท้ายของรายงาน
ปาฏิหาริย์เล่าว่า วันนี้เขาขับรถจักรยานยนต์มาจากนนทบุรีเพื่อมาฟังคำพิพากษา ก่อนหน้านี้เขาทำงานเป็นไรเดอร์ของแพลตฟอร์มส่งพัสดุแห่งหนึ่ง แต่ปัจจุบันเขาทำงานส่งของให้กับลูกค้าเก่าและคนรู้จัก
ปาฏิหาริย์เปิดเผยว่า หากต้องเข้าเรือนจำ เขาเป็นกังวลเรื่องลูกสาวมากที่สุด เนื่องจากเขาเป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว และปัจจุบันลูกสาวของเขาอยู่ในวัยเพิ่งหัดพูดเท่านั้น
เวลา 9.35 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี อ่านรายงานสืบเสาะให้จำเลยฟังอีกครั้ง ก่อนอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ มีรายละเอียดดังนี้
เห็นว่า สภาพพฤติการณ์ความผิดและคำให้การของจำเลย ปรากฏว่า จำเลยใช้เพจเฟซบุ๊กของตัวเอง ในวันเกิดเหตุขณะกำลังดูเฟซบุ๊ก มีฟีดข่าวของ Somsak Jeamteerasakul ซึ่งเป็นบุคคลที่จำเลยไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นมาก่อน โพสต์ข่าวลือเรื่องการประชวรของรัชกาลที่ 10 จำเลยรู้สึกสนใจเนื่องจากเห็นข้อความผ่านหน้าฟีดข่าว 2-3 ครั้ง เป็นข่าวที่โด่งดัง มีผู้กดไลค์และคอมเมนต์จำนวนมาก จำเลยจึงเข้าไปดูและคอมเมนต์อย่างคนอื่นบ้าง
หลังจากผ่านไป 5 วัน มารดาเห็นคอมเมนต์ของจำเลย จึงต่อว่าและร้องไห้ จำเลยรู้สึกผิดจะเข้าไปลบคอมเมนต์ดังกล่าว แต่จำเลยหาไม่เจอ จึงโกหกมารดาว่าลบคอมเมนต์ไปแล้ว
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามป.อ. มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยมีความร้ายแรง กระทบต่อประมุขของประเทศ แม้จำเลยประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงดูครอบครัว ไม่ใช่เหตุพอให้รอการลงโทษได้
ต่อมาหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์คดี ในเวลา 15.20 น. ทนายความแจ้งว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางเงินหลักประกันจำนวน 100,000 บาท เท่ากับที่เคยวางในขณะสั่งฟ้องคดี ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม