อัยการฟ้อง ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ “หนุ่มนนทบุรี” เหตุคอมเมนต์ในโพสต์ของสมศักดิ์ เจียมฯ เรื่องข่าวลือ ร.10 ประชวร 

28 ก.พ. 2565 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ปาฏิหาริย์ (สงวนนามสกุล) หนุ่มนนทบุรี วัย 25 ปี เดินทางไปรายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกันในชั้นฝากขัง ในคดีที่เขาถูกออกหมายจับ โดยถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุแสดงความคิดเห็นบนโพสต์เฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งโพสต์เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องการประชวรของรัชกาลที่ 10

>>>เผย “หนุ่มนนทบุรี” ถูกตร.บุกจับถึงบ้าน คดี ม.112 เหตุคอมเมนต์สมศักดิ์ เจียมฯ ก่อนศาลให้ประกัน

ก่อนทราบว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ยื่นฟ้องคดีแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 หลังทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปาฏิหาริย์ระหว่างพิจารณาคดี ศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยให้ใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมชั้นสอบสวน เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท พร้อมทั้งกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น. 

.

เปิดคำฟ้องอัยการระบุ “ข้อความที่จำเลยนำเข้าเป็นการปลุกปั่น-จูงใจประชาชนให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ จนนํามาซึ่งความเกลียดชัง”

อานนท์ ปราการรัตน์ พนักงานอัยการ บรรยายคำฟ้อง โดยเกริ่นว่า ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 พระมหากษัตริย์ดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ 

ในส่วนพฤติการณ์คดี คำฟ้องได้บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ผู้ใช้บัญชีเพจเฟซบุ๊กชื่อ “Somsak Jeamteerasakul” ได้โพสต์ข้อความว่า “มีข่าวลือว่า วชิราลงกรณ์ป่วยอยู่ศิริราช มีใครยืนยันข่าวนี้ได้บ้าง?” โดยมีการตั้งค่าข้อความเป็นสาธารณะ 

ต่อมา จำเลยได้ไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ดังกล่าว โดยโพสต์รูปภาพของรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความประกอบ และมีการตั้งค่าข้อความแสดงความคิดเห็นเป็นสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปพบเห็นข้อความและรูปภาพดังกล่าวได้

พนักงานอัยการระบุว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทําให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็นเข้าใจได้ว่าเป็นการสาปแช่ง และรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นบุคคลไม่ดี หากสวรรคตคนในประเทศไทยจะอยู่รอดกันหมด อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยาม แสดงความอามาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุข โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง รวมถึงเป็นการปลุกปั่นให้ประชาชนเข้าใจผิดและจูงใจให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ จนอาจนํามาซึ่งความเกลียดชัง ก่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดออกมาละเมิดกฎหมาย

ทั้งนี้ อัยการได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีมาในท้ายคำฟ้อง อ้างเหตุว่า เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งริบโทรศัพท์มือถือของจำเลยซึ่งถูกตำรวจยึดเป็นของกลางในระหว่างการถูกจับกุมด้วย 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นอกจากคดีของปาฏิหาริย์ ยังมีคดีมาตรา 112 อย่างน้อยอีก 3 คดี ที่พบว่าเหตุแห่งการกล่าวหาเกิดจากการเข้าไปแสดงความคิดเห็นในโพสต์เฟซบุ๊กลักษณะดังกล่าวของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้แก่ คดีของ “นันท์” (นามสมมติ), คดีของ “ภู” (นามสมมติ) และคดีของลักขณา (นามสมมติ) ทั้งหมดถูกดำเนินคดีที่ บก.ปอท. เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 173 คน ใน 185 คดี

.

ฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “ปาฎิหาริย์” ชาวนนทบุรี เหตุคอมเมนต์ใต้โพสต์สมศักดิ์ เจียมฯ เรื่องข่าวลือ ร.10 ประชวร

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X