เรื่องราวของ “ไวรัส” ในกระบวนการยุติธรรม: รปภ. ผู้ตกเป็นจำเลยในคดี 112 จากการโพสต์ 5 ข้อความเกี่ยวกับ ร.9 และ ร.10

“ผมอยากดัง แต่ไม่ใช่ด้านนี้นะ” 

คำพูดเจือเสียงหัวเราะดังออกมาจากปากของ “ไวรัส” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย วัย 34 ปี ขอใช้เป็นนามสมมติในการเล่าเรื่องราวของเขา ไวรัสถูกกล่าวหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถึง 5 กรรม จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 3 ข้อความ และติ๊กต็อก 2 ข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 และ 10 ระหว่างวันที่ 30 เม.ย. ถึง 7 พ.ค. 2564 

คดีของเขามีการสืบพยานในระหว่างวันที่ 7-9 ก.พ. 2566 ในวันแรกของการสืบพยาน ไวรัสรับสารภาพตามข้อกล่าวหาใน 2 กรรม แต่ในอีก 3 กรรมนั้น เขาต่อสู้ว่าการกระทำไม่เป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 โดยมี 2 โพสต์ซึ่งเป็นการตั้งคำถามกับประชาชนเกี่ยวกับการนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาท และอีก 1 โพสต์เป็นภาพตัดต่อรัชกาลที่ 10 ถือถุงเฉาก๊วยประกอบข้อความ

ไวรัสแนะนำตัวเองว่า เขาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เมื่อพ่อและแม่แยกทางกัน ประกอบกับฐานะที่ยากจน ทำให้ในวัย 16 ปี เขาต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาและเริ่มต้นชีวิตวัยทำงานก่อนกำหนดโดยการเป็นช่างฝีมือในโรงกลึงและโรงเหล็ก เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว

“พ่อแม่แยกทางกัน ผมอยู่กับฝ่ายคุณพ่อ ต้องทำงานเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงคุณพ่อด้วย เลี้ยงน้องด้วย ต้องเอาเงินมาแบ่งเค้าทุกเดือน ก็เลยปากกัดตีนถีบมาตั้งแต่เด็ก”

ไวรัสเล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยสนใจหรือเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ จนกระทั่งเขาเริ่มเข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับธนาคาร ในเวลาว่างระหว่างการทำงานเขามักใส่หูฟังและเข้าไปฟังข่าวสารและเรื่องราวต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย จนกระทั่งได้ฟังเรื่องราวจากวงไฟเย็น ทำให้เขาเริ่มติดตามสถานการณ์การเมืองและตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

หลังจากนั้นไวรัสจึงเริ่มโพสต์และแชร์เรื่องราวของสถาบันกษัตริย์บนเฟซบุ๊กและติ๊กต็อกด้วยบัญชีที่เขาสร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่และติดตามข่าวสารบ้านเมืองโดยเฉพาะ

“ครอบครัว เพื่อน และคนรอบข้างก็มีแนวคิดทางการเมืองไปในแนวทางเดียวกันกับเรา แค่เขาไม่ได้โพสต์หรือแชร์อะไร” ไวรัสเล่าให้ฟัง “หลังจากเริ่มโพสต์เริ่มแชร์ก็มีคนรอบข้างมาเตือนให้ลบด้วยความเป็นห่วง บางทีก็มีเพื่อนในติ๊กต็อกมาเตือนให้ลบ แต่ผมดูแล้ว ถ้าบางโพสต์บางรูปไม่ได้มีคำหยาบอะไร ผมก็ไม่ได้ลบ ไม่คิดว่าจะโดนคดี 112”

จุดเริ่มต้นของการถูกดำเนินคดีของไวรัสมาจากเหตุความขัดแย้งส่วนตัวของเขากับขนิษฐา งาเจือ ซึ่งกล่าวหาว่าไวรัสได้นำคลิปวิดีโอในติ๊กต็อกของเธอซึ่งกล่าวถึง “สามกีบ” ไปโพสต์ต่อในบัญชีเฟซบุ๊กของเขา ทำให้เธอได้รับความเสียหาย เมื่อเธอเข้าไปดูในบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่ามีโพสต์และข้อความที่อาจเข้าข่ายมาตรา 112 เธอจึงได้พูดคุยกับ อิสกันต์ ศรีอุบล สมาชิกกลุ่มอนุชนคนรักสถาบันและเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้

ไวรัสเล่าว่า ในวันที่ 7 พ.ค. 2564 มีกลุ่มบุคคลอ้างว่าเป็นกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ทั้งกลุ่มใส่เสื้อสีเหลืองบุกมาที่ทำงานของเขาประมาณ 6-7 คน มีคนที่ทำท่าจะเข้ามาทำร้ายร่างกายเขาแต่ถูกพรรคพวกห้ามไว้ กล่าวหาว่าเขาแชร์โพสต์หมิ่นกษัตริย์ ทั้งพยายามข่มขู่ถามว่าทำไมไม่รักในหลวง ให้สำนึกในบุญคุณ และพยายามให้เขาขอโทษ ทำให้เกิดการถกเถียงกันขึ้น และในขณะนั้นก็มีการถ่ายคลิปวิดีโอด้วย 

ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูเหตุการณ์ และเชิญทั้งหมดไปพูดคุยที่ สน.โชคชัย เมื่อไปยังสถานีตำรวจแล้ว กลุ่มคนดังกล่าวได้แจ้งความกล่าวหาว่าเขากระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยมีการนำภาพโพสต์ต่างๆ ยื่นต่อตำรวจ 

“มึงใช้เงินรูปใคร มึงสำนึกบ้างมั้ย” 

“แผ่นดินนี้อยู่ได้เพราะใคร”

ข้อความในข้างต้นเป็นสองประโยคที่ไวรัสพอจะจำได้ในเหตุการณ์วุ่นวายดังกล่าว โดยในตอนนั้นเขาเปิดเผยว่าเขาทั้งหวาดกลัวและตกใจจากการถูกคุกคามในระหว่างการทำงานอย่างไม่คาดคิด 

ความหวาดกลัวของไวรัสต่อเนื่องมาจนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ เมื่อในวันแรกของการสืบพยาน ผู้กล่าวหาในคดีซึ่งเคยมีข้อขัดแย้งกันมาก่อนมาเบิกความเป็นพยาน และวันรุ่งขึ้นก็มีสมาชิกจากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) 2 คน เดินทางมาสังเกตการณ์คดี ทำให้ไวรัสไม่กล้าลงไปทานอาหารที่โรงอาหารศาลแม้แต่วันเดียว เนื่องจากกลัวว่าจะพบกับบุคคลข้างต้น

ไวรัสเล่าว่า หลังเกิดเหตุ เขายังได้รับผลกระทบต่อหน้าที่การงาน โดยทางธนาคารที่เขาทำงานอยู่ เมื่อทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ก็ได้ให้เขาเขียนใบลาออก โดยไม่ได้มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ 

ไวรัสตกงานอยู่นานถึง 3 เดือน ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาจุนเจือค่าใช้จ่ายในครอบครัว ก่อนได้รับโอกาสทำให้ได้งานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ธนาคารอีกแห่งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

“ไม่มีเงิน จนมาก หลังจากตกงาน 3 เดือน ผมติดหนี้กระจายเลยครับ” ไวรัสเล่าถึงความยากลำบากในตอนนั้น

“ไม่มีใครรับทำงาน เพราะไม่ว่าจะเป็นบริษัทไหน ถ้าตรวจดูพบว่าผมโดนคดี 112 เกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เค้าก็ไม่ให้ทำงานเลย จนต้องไปขอร้องหลายธนาคาร เค้าถึงจะเห็นใจ” 

แน่นอนว่าเมื่อถูกถามถึงความคาดหวังสูงสุดของผู้ถูกกล่าวหาที่รับสารภาพในคดี 112 ทุกคนมักตอบไปในแนวทางเดียวกันว่าขอให้ศาลรอลงอาญาไว้ เพื่อให้เขาได้กลับไปใช้ชีวิตปกติของตนเองอีกครั้ง ไวรัสก็เช่นกัน 

“ใช่ครับ ผมหวังว่าศาลจะรอลงอาญา เพราะว่าจะได้กลับไปทำงานเหมือนคนปกติ”

“ผมต้องเลี้ยงดูครอบครัว ดูแลพ่อแม่ ถ้าถูกลงโทษจำคุก ก็กังวลเรื่องครอบครัวจะอยู่ลำบาก” 

“แล้วมีหลายๆ เกมส์ที่ยังไม่ได้เล่นเลยครับ” ไวรัสตอบอย่างคนอารมณ์ดี “ผมชอบเล่นพวกเกมส์เพลย์ อย่างนินเทนโด้ สวิตช์”

“ที่สำคัญคืออยากดูหนังหลายๆ เรื่องที่จะเข้าในปีนี้” ทุกสิ่งที่ไวรัสคาดหวังล้วนเป็นเรื่องการกลับไปใช้ชีวิตธรรมดาๆ อย่างที่เคยเป็นมา

“ผมอยากดัง แต่ไม่ใช่ด้านนี้นะ” ไวรัสตอบติดตลกเมื่อถูกถามว่าหากไม่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 เขามีความฝันหรือวางแผนอนาคตไว้ว่าอย่างไร 

“ผมอาจจะไปทำเพจแชร์พวกข่าวสารบ้านเมือง เรื่องบันเทิงๆ คือแต่ก่อนผมก็ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ผมทำเพจ แล้วก็มีช่องยูทูป ผู้ติดตามเกือบแสนเลยนะ” ไวรัสอวด อย่างไรก็ตามตั้งแต่ถูกดำเนินคดี เขาได้ลบช่องทางโซเชียลมีเดียทั้งหมดไป แต่ก็ไม่ยอมแพ้เรื่องการกลับมาทำเพจให้โด่งดังตามความฝันอีกครั้ง “ตอนนี้ผมเริ่มใหม่หมด ยูทูปเลยมีผู้ติดตามแค่ 1,000 คน ติ๊กต็อก 2,000 คน และเฟซบุ๊ก 4,000 คน” 

“เวลามีหน้าตาหรือชื่อเสียงในสังคม เป็นเพจดังหรืออะไรประมาณนี้ ถ้าใครเดือดร้อน เค้าก็สามารถมาติดต่อให้ช่วยแชร์หรืออะไร มันช่วยเหลือสังคมได้ ผมคิดแบบนั้นนะ” ไวรัสให้เหตุผลที่ตนเองอยากทำเพจให้โด่งดัง “แล้วเวลาเจอคลิปอะไรดีๆ เห็นว่าตลกดีแล้วแชร์ ก็เหมือนมีเพื่อนทั้งประเทศมาร่วมดูด้วยกัน ดีกว่าผมมาโพสต์แล้วดูอยู่คนเดียว มีเพื่อนแค่ประมาณ 6-7 คนมาคอมเมนต์ ไม่เอาแบบนั้น” 

“หลังจากนี้ผมคงจะไม่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์แล้ว แต่เรื่องการเมืองอาจจะยังมีอยู่ เพราะมันเป็นสิทธิของประชาชน เราพูดได้ถ้ามันไม่ดี” ไวรัสตัดสินใจว่าเนื้อหาในเพจของเขาหลังจากนี้คงไม่มีเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีกแล้ว

เป็นธรรมดาที่ในกระบวนการยุติธรรมย่อมมีโครงสร้างเชิงอำนาจแฝงอยู่อย่างเข้มข้นโดยเฉพาะกับผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 เมื่อเป็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และศาลเองก็ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธย ผู้ถูกกล่าวหาจึงมักรู้สึกว่าตัวเอง “ตัวเล็ก” เมื่อยืนอยู่ต่อหน้าบัลลังก์ศาล 

“รู้สึกว่าเราต้องยอมเค้า ถึงแม้เราต้องการสู้ว่าเรามีสิทธิที่จะพูด แต่พอไปอยู่หน้าบัลลังก์ศาลเราไม่สามารถทำตรงนั้นได้ ก็ต้องไหลไปตามน้ำ” ไวรัสค้นพบว่าวิธีการเอาตัวรอดในศาลคือการทำตัวไม่มีปากมีเสียงไม่ว่าผู้พิพากษาจะพูดอะไรกับเขา “เป็นการที่ทำให้ตัวเรารอดด้วย เพราะชีวิตเราต้องเดินหน้าต่อไป อย่างน้อยก็ดีกว่าต้องไปสู้ในคุก” 

“กฎหมายข้อนี้หนักเหมือนฆ่าคนตาย โทษ 3-15 ปี แล้วคิดเป็นกรรม ถ้า 5 โพสต์ก็บวกว่าเท่าไหร่  มันหนักกว่าการฆ่าคนอีก จะโพสต์จะแชร์อะไรให้ระวัง” ไวรัสกล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีของไวรัสในวันที่ 25 เม.ย. 2566 เวลา 9.00 น. ซึ่งจะตัดสินว่าเขาจะได้กลับไปใช้ชีวิตธรรมดา หรือต้องสู้ต่อไปให้ถึงที่สุดในกระบวนการยุติธรรม

.

X