9 ก.ค. 64 เวลา 9.00 น. ที่ สน.โชคชัย ไวรัส (นามสมมติ) อายุ 33 ปี อดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของธนาคารแห่งหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อเรียกไปพูดคุยที่สถานีตำรวจ แต่ได้มีการแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยไม่ได้มีหมายเรียกมาก่อน และเขายังถูกนำตัวไปขอฝากขัง ก่อนศาลจะให้ประกันตัว ในคดีที่มีกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ไปร้องทุกข์กล่าวโทษเขาไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 64 เหตุกล่าวหาว่าได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกษัตริย์ 5 ข้อความ
สำหรับที่มาที่ไปของคดี ไวรัสเปิดเผยว่าก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 64 ได้มีกลุ่มบุคคลอ้างว่าเป็นกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ ทั้งกลุ่มใส่เสื้อสีเหลืองบุกมาที่ทำงานของเขาประมาณ 6-7 คน โดยเขาไม่รู้จักผู้ใดในกลุ่มเลย กล่าวหาว่าเขาแชร์โพสต์หมิ่นกษัตริย์ ทั้งพยายามข่มขู่ถามว่าทำไมไม่รักในหลวง และพยายามให้เขาขอโทษ ทำให้เกิดการถกเถียงกันขึ้น
ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูเหตุการณ์ และเชิญทั้งหมดไปพูดคุยที่ สน.โชคชัย เมื่อไปยังสถานีตำรวจแล้ว กลุ่มคนดังกล่าวได้แจ้งความกล่าวหาว่าเขากระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยมีการนำภาพโพสต์ต่างๆ ยื่นต่อตำรวจ
จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอตรวจยึดโทรศัพท์และเครื่องคอมพิวเตอร์ของเขา โดยแจ้งว่าจะขอนำไปตรวจสอบ ถ้าไม่มีอะไร ก็จะคืนให้ต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการจัดทำบันทึกการตรวจยึดเอาไว้ และให้เขาลงชื่อในเอกสารต่างๆ ไว้ ก่อนปล่อยตัวเขากลับไป พร้อมแจ้งว่าจะติดต่อเขามาอีกครั้ง
หลังเกิดเหตุ ไวรัสยังได้รับผลกระทบต่อหน้าที่การงาน โดยทางธนาคารที่เขาทำงานอยู่ เมื่อทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ได้ให้เขาเขียนใบลาออก โดยไม่ได้มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ
ต่อมา วานนี้ (8 ก.ค. 64) ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อมาทางโทรศัพท์ แจ้งให้เขาไปพบที่ สน.โชคชัย โดยนายตำรวจที่โทรมา เพียงแต่บอกว่าได้รับคำสั่งให้ติดต่อนัดหมายมาเท่านั้น ไม่ได้ทราบเรื่องนี้ เพียงแต่บอกว่าให้มาพูดคุยให้ข้อมูลกับทางตำรวจ ไม่ได้มีอะไรมาก ขณะเดียวกัน เขาก็ยังไม่เคยได้รับหมายเรียกใดๆ มาก่อน
เนื่องจากเขาอยากให้เรื่องจบโดยเร็ว หากพูดคุยกันได้ จึงตัดสินใจเดินทางไปตามนัดหมายกับตำรวจ แต่เมื่อไปถึงในช่วงเช้าวันนี้ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับเขา ทำให้เขาประสานงานมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อแจ้งขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย
พ.ต.ท.ไตรพงษ์ วงศ์อมรอัครพันธ์ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.โชคชัย ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหากับไวรัสใน 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3)
เจ้าหน้าที่ระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 64 เวลาประมาณ 15.00 น. นายอิสกันต์ ศรีอุบล ผู้กล่าวหา ได้พูดคุยกับนางขนิษฐา งาเจือ พยาน ทำให้ทราบว่ามีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กนำคลิปที่นางขนิษฐาเล่นแอพติ๊กต๊อก ไปโพสต์ต่อ ทำให้นางขนิษฐาได้รับความเสียหาย ผู้กล่าวหาจึงได้เข้าไปดูเฟซบุ๊กดังกล่าว พบว่าผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว โพสต์ภาพและข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี
พนักงานสอบสวนได้ระบุโพสต์ที่ผู้กล่าวหาดังกล่าวกล่าวหาไวรัส รวมทั้งหมด 5 โพสต์ ซึ่งเป็นโพสต์ระหว่างวันที่ 30 เมษายน ถึง 7 พฤษภาคม 2564 โดยมีกรณีที่แชร์และโพสต์เกี่ยวกับกษัตริย์รัชกาลที่ 9 จำนวน 2 ข้อความ แชร์และโพสต์ข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์รัชกาลที่ 10 จำนวน 3 ข้อความ
ข้อกล่าวหาระบุว่าในวันเดียวกัน ผู้กล่าวหาได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่าผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งไม่ได้ใช้ชื่อสกุลจริง คือตัวผู้ต้องหา
ในวันที่ 7 พ.ค. 64 เวลา 14.00 น. ผู้กล่าวหากับพวกได้นัดหมายกันเดินทางไปพบที่ทำงานของไวรัส เมื่อไปถึงพบไวรัสยืนโบกรถอยู่ตรงที่จอดรถ จึงได้แจ้งตำรวจ สน.โชคชัย ไปที่ทำงานดังกล่าว พร้อมเข้าไปพบและสอบถามไวรัส ไวรัสได้ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง และเจ้าหน้าที่จึงเชิญตัวไวรัสไปที่สถานีตำรวจ พร้อมผู้กล่าวหาได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีเพื่อให้รับโทษตามกฎหมาย
หลังรับทราบข้อกล่าวหา ไวรัสได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป ก่อนตำรวจจะให้พิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวันไว้
หลังจากกระบวนการสอบสวนดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้แจ้งว่าจะนำตัวไวรัสไปขอฝากขัง ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก แม้เขาจะเดินทางมาพบตำรวจด้วยตนเองก็ตาม
ในช่วงบ่าย หลังจากการพูดคุย ทางตำรวจได้แจ้งว่าจะยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากห้องสอบสวน ต่อมาศาลได้อนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นระยะเวลา 12 วัน ก่อนที่ทนายความจะได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไวรัส โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
เวลา 16.40 น. ศาลอาญาได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยให้วางหลักทรัพย์ 200,000 บาท พร้อมกำหนดนัดให้มารายงานตัวต่อศาลอีกครั้ง ในวันที่ 26 ส.ค. 64
ไวรัสเปิดเผยว่า เหตุเกิดที่เกิดขึ้นสร้างความลำบากต่ออาชีพของเขา หลังจากถูกออกจากงาน เขาไปทำงานขายของในบูธ แต่ยอดขายในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดระบาด ก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้า และมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย จึงอาจจะต้องหางานใหม่ในช่วงต่อไป นอกจากนั้น อุปกรณ์ที่ถูกยึดไป ยังไม่รู้ว่าจะได้คืนเมื่อไรอีกด้วย
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 106 ราย ใน 103 คดี โดยมีจำนวน 49 คดีแล้ว ที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหานี้ โดยแนวโน้มพบว่าเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในลักษณะ “ปกป้องสถาบันกษัตริย์”
>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64
.