ศาลพิพากษาจำคุก 15 ปี ลดกึ่งหนึ่งเหลือ 5 ปี 30 เดือน “ไวรัส” รปภ. ผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 จากการโพสต์ 5 ข้อความเกี่ยวกับ ร.9 และ ร.10 ก่อนให้รอการลงโทษ

วันที่ 11 พ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ไวรัส” (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย วัย 34 ปี ผู้ถูกกล่าวหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) รวม 5 กรรม จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 3 ข้อความ และติ๊กต็อก 2 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 และ 10 ระหว่างวันที่ 30 เม.ย. ถึง 7 พ.ค. 2564

ก่อนหน้านี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 25 เม.ย. 2566 โดยไวรัสตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาฟังคำพิพากษา อย่างไรก็ตามเนื่องจากอธิบดีศาลอาญาประสงค์จะทำความเห็นแย้งคำพิพากษาของศาลเจ้าของสำนวน ศาลจึงขอเลื่อนนัดฟังคำพิพากษามาเป็นวันนี้

คดีนี้มีการสืบพยานในระหว่างวันที่ 7-9 ก.พ. 2566 ในวันแรกของการสืบพยาน ไวรัสรับสารภาพตามข้อกล่าวหาใน 2 กรรม แต่ในอีก 3 กรรมนั้น เขาต่อสู้ว่าการกระทำไม่เป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112

โพสต์ที่ไวรัสให้การรับสารภาพมี 2 โพสต์ ดังนี้

โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 ซึ่งจำเลยได้แชร์โพสต์ภาพและข้อความจากบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “Tito Barthélemy” ปรากฏภาพของรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ประกอบข้อความเนื้อเพลงเป็นภาษาคาราโอเกะว่า “ไม่รักระวังติดคุกนะ” “รู้สึกอยากฟังเพลงขึ้นมาทันที” และจำเลยได้พิมพ์ข้อความประกอบการแชร์โพสต์ว่า “มาๆๆร้องเพลงคาราโอเกะกันนะ” ปรากฎตามคำฟ้องในข้อ 1.1

โพสต์ติ๊กต็อกเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564 ซึ่งจำเลยได้แชร์ภาพและข้อความจากโพสต์ของบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “คณะราษฎรไทย ฝรั่งเศส Free Thai Movement in France” ปรากฏภาพรัชกาลที่ 10 ประกอบข้อความ “[…]พระราชทาน” ปรากฎตามคำฟ้องในข้อ 1.3

โพสต์ที่ไวรัสให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีมี 3 โพสต์ ดังนี้

โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2564 ซึ่งจำเลยลงวิดีโอปรากฏภาพตัดต่อรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วยไว้ในพระหัตถ์ซ้าย กำลังตรัสกับประชาชนที่มารับเสด็จคนหนึ่ง ประกอบข้อความโฆษณาเฉาก๊วย และจำเลยได้พิมพ์ข้อความทำนองว่าตนจะไม่กินเฉาก๊วยยี่ห้อดังกล่าว โดยจำเลยต่อสู้ว่าตนไม่ได้เป็นผู้ตัดต่อภาพดังกล่าวและข้อความในโพสต์ก็ไม่มีส่วนใดเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ปรากฎตามคำฟ้องในข้อ 1.2

โพสต์ในเฟซบุ๊กและติ๊กต็อกเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 จำนวน 2 โพสต์ ปรากฏภาพและข้อความในลักษณะเดียวกัน คือเป็นการตั้งคำถามกับประชาชนเกี่ยวกับการนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาทเป็นที่แรก โดยจำเลยต่อสู้ว่า บทบัญญัติ มาตรา 112 คุ้มครองเพียงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน คือ รัชกาลที่ 10 เท่านั้น ไม่คุ้มครองรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นอดีตพระมหากษัตริย์ และภาพประกอบข้อความดังกล่าวก็เป็นเพียงการตั้งคำถามและตัดพ้อว่าหากเป็นคนธรรมดาผูกเชือกรองเท้าก็คงไม่มีใครมาสนใจ ไม่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ปรากฎตามคำฟ้องในข้อ 1.4 และ 1.5 ตามลำดับ

.

เวลา 9.00 น. หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 807 ไวรัสเปิดเผยว่าเขาได้ขอกลับไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเดิมแล้ว และในวันนี้เขาไม่ได้ลาออกจากงาน ทั้งยังขับรถจักรยานยนต์มาศาลพร้อมภรรยาด้วย เนื่องจากยังมีความหวังว่าวันนี้จะได้กลับบ้าน

ต่อมาเวลา 9.35 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี อ่านคำพิพากษาและความเห็นแย้งของอธิบดีศาลอาญาให้ฟัง สามารถสรุปได้ดังนี้

พิเคราะห์พยานของโจทก์และจำเลย ในขณะเกิดเหตุประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน มีสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ เป็นพระราชินี พระราชบิดาของรัชกาลที่ 10 คือ รัชกาลที่ 9

จำเลยรับสารภาพตามฟ้องข้อ 1.1 และ 1.3 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องโดยไม่ต้องมีการสืบพยาน

พยานโจทก์มี อิสกันต์ ศรีอุบล และ ขนิษฐา งาเจือ เบิกความว่า โพสต์ภาพตัดต่อรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วยนั้น ข้อความดังกล่าวมีลักษณะไม่เหมาะสม และไม่เป็นความจริง ส่วนโพสต์เกี่ยวกับประชาชนนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาทนั้น มีข้อความตำหนิติติง ไม่เหมาะสม เป็นการดูหมิ่น

พยานโจทก์ปาก ตรีดาว อภัยวงศ์ เบิกความว่า โพสต์ภาพตัดต่อรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วยนั้น ข้อความของจำเลยเป็นการเน้นว่าจะไม่กินยี่ห้อนี้ เป็นการล้อเลียนเสียดสี แสดงให้เห็นถึงความโกรธ เกลียดชัง และไม่พอใจ ส่วนโพสต์เกี่ยวกับประชาชนนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาทนั้น อ่านโดยรวมแล้วเข้าใจได้ว่าเป็นการบังคับให้ประชาชนลงขันสร้างศาลาดังกล่าว ศาลาที่ใหญ่ก็ย่อมใช้งบประมาณที่สูง ไม่ควรใช้งบขนาดนี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบ ไม่พอใจสถาบันพระมหากษัตริย์

พยานโจทก์ปาก อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เบิกความว่า การนำภาพตัดต่อรัชกาลที่ 10 ถือถุงเฉาก๊วยมาแสดงโฆษณาสินค้า ถือว่าเป็นการไม่เคารพ ส่วนโพสต์เกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 เคยมีคำพิพากษาฎีกาให้คุ้มครองหมายรวมถึงอดีตพระมหากษัตริย์ เนื่องจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นแล้วย่อมเป็นตลอดไป ต่างจากตำแหน่งราชการทั่วไป ข้อความของจำเลยแสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ 9 ทรงไม่มีวุฒิภาวะ ไม่สามารถผูกเชือกรองเท้าด้วยตนเองได้ เป็นการดูหมิ่น

เห็นว่า โจทก์มี ตรีดาว อภัยวงศ์ พยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา เบิกความว่า ข้อความต้องอาศัยการตีความ โดยพิจารณาจากเจตนาของจำเลย จำเลยทราบอยู่แล้วว่าภาพรัชกาลที่ 10 ถือถุงเฉาก๊วยมีการตัดต่อ ไม่ตรงกับความจริง แต่ยังเผยแพร่ภาพทางโซเชียลมีเดีย บุคคลที่ไม่เคยศึกษาหรือติดตามพระจริยวัตรอาจเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงพอพระทัยบุคคลที่มีความเห็นตรงข้ามกับจำเลย ซึ่งได้ความว่าบุคคลที่รัชกาล 10 ยื่นถุงเฉาก๊วยให้คือบุคคลที่ทรงมีพระราชดำรัสด้วยว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ”

ประกอบกับจำเลยรับว่าการแสดงข้อความดังกล่าวเป็นการลบหลู่สถาบันฯ พยานโจทก์สอดคล้องกัน สามารถรับฟังได้

จำเลยเบิกความว่า จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ติดตามดูโซเชียลมีเดียของวงดนตรีไฟเย็น และนำมาเผยแพร่ต่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลังถูกจับกุมได้ลบโพสต์ออกในทันที และจำเลยโพสต์ข้อความเนื่องจากไม่พอใจชายเสื้อเหลืองในภาพตัดต่อรัชกาลที่ 10 ทรงถือถุงเฉาก๊วย

พยานจำเลย เบิกความว่า ข้อความของจำเลยที่จะไม่กินเฉาก๊วยยี่ห้อดังกล่าว ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดในมาตรา 112 ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เปรียบเทียบว่าหากเปลี่ยนเป็นดารานักแสดงถือสินค้าดังกล่าวก็ไม่เป็นความผิด

แม้พยานและจำเลยจะเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่การพิจารณาความผิดต้องใช้ความรู้สึกของวิญญูชนทั่วไป 

รัฐธรรมนูญไทยระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ พระมหากษัตริย์จึงไม่ใช่บุคคลสาธารณะอย่างที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ พยานหลักฐานเท่านี้ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามฟ้อง

ส่วนโพสต์เกี่ยวกับประชาชนนำเงินของหมู่บ้านมาบำรุงรักษาศาลาที่รัชกาลที่ 9 ผูกเชือกฉลองพระบาท มีความหมายในทางที่ทำให้เข้าใจว่า บุคคลในภาพสร้างภาพ ไม่มีวุฒิภาวะ เป็นการดูหมิ่น แม้จำเลยจะไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงใด 

จำเลยต่อสู้ว่ากฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด แต่ประเด็นนี้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยแล้วว่า การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ย่อมกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน หากไม่หมายความรวมถึงอดีตกษัตริย์ย่อมเป็นการเปิดช่องให้พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันถูกดูหมิ่นได้ แม้อดีตพระมหากษัตริย์สวรรคตไปแล้วก็ยังคงมีประชาชนเคารพสักการะ จึงกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ส่งผลต่อความมั่นคงราชอาณาจักร

เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตามคำฟ้องโจทก์ข้อ 1.2, 1.4 และ 1.5 จำเลยการกระทำความผิดตามฟ้อง

จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) (5) หลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เนื่องจากเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 5 ปี 30 เดือน

พิเคราะห์พฤติการณ์จำเลย จำเลยติดตามฟังสื่อสังคมออนไลน์ ประกอบกับจำเลยจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำให้จำเลยเกิดคล้อยตามจนก่อเหตุในคดีนี้ขึ้น เมื่อจำเลยรู้ถึงความผิดก็รีบแก้ไข ลบโพสต์ด้วยตนเอง ไม่ได้ก่อเหตุซ้ำอีก เมื่อพิจารณาความรู้สึก การศึกษา ผลกระทบต่อหน้าที่การงาน จำเลยได้รับบทลงโทษเพียงพอแล้ว จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี พร้อมให้ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง

องค์คณะผู้ทำคำพิพากษาได้แก่ นภาวรรณ ขุนอักษร (หัวหน้าองค์คณะ), ปริยนันท์ แก้วเชิด และ เฉลิมศักดิ์ พิกุลศรี

องค์คณะผู้อ่านคำพิพากษาในวันนี้ได้แก่ นภาวรรณ ขุนอักษร (หัวหน้าองค์คณะ), สุวนัย ตุลยภักดิ์ และ ชาญวิทย์ เนติรังษีวัชรา

.

อย่างไรก็ตาม ศักดิ์ชัย รังษีวงศ์ อธิบดีศาลอาญา ได้ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

จำเลยเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จ เมื่อรับฟังได้ว่าการกระทำเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) (5) โดยเฉพาะถ้อยคำ “[…] พระราชทาน” เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อย่างร้ายแรง จำเลยกระทำความผิดรวม 5 กระทง เห็นว่าพฤติการณ์มีความร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษ การที่พิพากษาให้รอการลงโทษ ไม่เห็นพ้องด้วย สมควรจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ

หลังอ่านคำพิพากษาในคดีนี้เสร็จสิ้น ผู้พิพากษาได้กล่าวกับไวรัสว่า คดีนี้พนักงานอัยการยังคงอุทธรณ์ได้อยู่ ปกติคดีมาตรา 112 เป็นคดีร้ายแรง ไม่สามารถรอการลงโทษได้ แต่ศาลเชื่อว่าจำเลยสามารถปรับปรุงตัวได้ หลังจากนี้ขอให้ไปศึกษาข้อมูลและใช้วิจารณญาณให้ดี

ไวรัสเปิดเผยความรู้สึกหลังฟังคำพิพากษาว่า หลังจากนี้ก็คงกลับไปทำงาน และคงไม่ยุ่งเกี่ยวการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อีก แต่ก็ยังดีใจได้ไม่สุด เพราะยังคงต้องลุ้นว่าพนักงานอัยการจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งอาจทำให้เขาต้องกลับไปต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต่อจนถึงที่สุด

.

.

อ่านบันทึกสืบพยานในคดีนี้ >>> ประมวลการต่อสู้คดีของ “ไวรัส” รปภ. ผู้ตกเป็นจำเลยคดี 112 จากการโพสต์ 5 ข้อความเกี่ยวกับ ร.9 และ ร.10

อ่านบทสัมภาษณ์ของไวรัส >>> เรื่องราวของ “ไวรัส” ในกระบวนการยุติธรรม: รปภ. ผู้ตกเป็นจำเลยในคดี 112 จากการโพสต์ 5 ข้อความเกี่ยวกับ ร.9 และ ร.10

X