สถานการณ์ติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐรอบสองเดือน พบไม่น้อยกว่า 23 กรณี แม้เปลี่ยนรัฐบาล แต่ตำรวจยังไปบ้านนักกิจกรรม

ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2566 หลังตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย แต่สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจไปติดตามคุกคามประชาชนหรือนักกิจกรรม จากการแสดงออกทางการเมืองหรือในขณะที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ยังเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากยุครัฐบาลประยุทธ์ ดูเหมือนจะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าว โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในรอบสองเดือนที่ผ่านมา พบกรณีไม่น้อยกว่า 23 กรณี

ในจำนวนนี้แยกเป็นกรณีที่เป็นลักษณะการติดตามโดยเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงที่มีบุคคลสำคัญ อาทิ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ลงพื้นที่ จำนวนอย่างน้อย 12 กรณี, กรณีติดตามเนื่องจากทำกิจกรรมทางการเมือง 3 กรณี, การติดตามคุกคามในประเด็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จำนวน 3 กรณี, การติดตามคุกคามจากการจัดกิจกรรมของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จำนวน 2 กรณี, การติดตามคุกคามกรณีเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน 2 กรณี และกรณีอื่น ๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด 1 กรณี

โดยภาพรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 ศูนย์ทนายฯ บันทึกสถิติการติดตามคุกคามประชาชนที่ส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงออก และความเป็นส่วนตัวแล้ว ไม่น้อยกว่า 123 กรณี โดยนักกิจกรรมบางรายถูกติดตามหลายครั้งตามวาระสำคัญหรือการมีบุคคลลงพื้นที่ต่าง ๆ

.

.

ตำรวจยังติดตามนักกิจกรรมขณะนายกฯ หรือสมาชิกราชวงศ์ลงพื้นที่ต่างจังหวัด

สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐมักไปติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมหรือประชาชนที่เคยมีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในขณะที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล และเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีแล้ว กลับเป็นสิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นสืบเนื่องต่อมา โดยไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการปฏิบัติการลักษณะนี้แต่อย่างใด

ในรอบสองเดือนที่ผ่านมา มีรายงานในช่วงขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปลงพื้นที่ตรวจราชการในต่างจังหวัด ได้มีเจ้าหน้าที่รัฐตำรวจเข้าไปติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมและประชาชนในสองพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย และอุบราชธานี

ที่จังหวัดเชียงรายนั้น เช้าวันที่เศรษฐาจะลงพื้นที่ ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 5-6 นาย ไปติดตามสมาชิกกลุ่มกลุ่มราษฎรเชียงรายไม่ต่ำกว่า 3 คน โดยทั้งสอบถามความเคลื่อนไหว รายละเอียดกิจกรรมที่จะไปยื่นหนังสือ รวมทั้งมีการนั่งเฝ้าระวังแกนนำไว้ อ้างว่ามีรายงานจากสายสืบว่าทางกลุ่มจะไปเคลื่อนไหว ‘ก่อกวน’ ระหว่างการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี แต่ทางเจ้าหน้าที่ยังได้อนุญาตให้ทางกลุ่มเดินทางไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องในประเด็นผู้ต้องขังทางการเมือง ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ส่วนที่อุบลราชธานี พบว่ามีนักกิจกรรมหรือประชาชนที่เคยเคลื่อนไหวทั้งในประเด็นการเมืองและสังคม ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวไม่น้อยกว่า 5 ราย โดยทั้งหมดไม่ได้มีการทำกิจกรรมหรือแสดงออกในช่วงนายกฯ ลงพื้นที่ บางรายยังไม่ได้เคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองโดยตรง แต่เป็นสื่อมวลชนท้องถิ่นที่ทำประเด็นการต่อสู้ของชุมชน

การติดตามของเจ้าหน้าที่ มีทั้งลักษณะโทรศัพท์มาสอบถามเป็นระยะตลอดหลายวันว่าจะไปที่ไหน ทำอะไร และมีกิจกรรมอะไรหรือเปล่า, การส่งเจ้าหน้าที่มาคอยเฝ้าดูที่หน้าบ้านตลอดช่วงการลงพื้นที่, การมีชายหัวเกรียนขับรถติดตามโดยไม่ได้มีการแสดงตัว หรือการขอให้ถ่ายรูปยืนยันที่อยู่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่แน่ใจว่าไม่ได้เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรม

นอกจากนั้น ยังมีสถานการณ์การเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 ก่อนการเสด็จ มีรายงานกรณีของพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักเขียน-นักแปลอิสระ และผู้ร่วมกิจกรรมยืนหยุดทรราช ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่สันกำแพงติดต่อขอไปพบถึงบ้าน เพื่อสอบถามข้อมูลว่าจะมีกิจกรรมอะไรในช่วงที่มีเสด็จหรือไม่ และแจ้งขอไม่ให้มีการเคลื่อนไหวใด รวมทั้งมีการขอถ่ายภาพพิภพ และพื้นที่โดยรอบบ้านด้วย

อีกทั้ง ช่วงปลายเดือนตุลาคม ยังมีรายงานกรณีนักกิจกรรมในจังหวัดบุรีรัมย์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามหาตัว เนื่องจากมีกำหนดการเสด็จของเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ และวันถัดมายังมีชายนอกเครื่องแบบมาติดตามถ่ายรูปบริเวณบ้านด้วย

รวมทั้งมีรายงานบ้านนักกิจกรรมในกรุงเทพฯ รายหนึ่ง ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาและติดตามในช่วงวันครบรอบการวันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 และจะมีการเสด็จของรัชกาลที่ 10

.

กลุ่มเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่มาสังเกตการณ์กิจกรรมของนักศึกษาที่ มธ.ศูนย์รังสิต วันที่ 6 ก.ย. 2566

.

การติดตาม-สอดแนมผู้ทำกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งในมหาวิทยาลัย

สถานการณ์การติดตาม-สอดแนมผู้ทำหรือจัดกิจกรรมทางการเมือง โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมา โดยแม้แต่ในพื้นที่ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ก็ยังมีการจับตาอย่างเข้มข้น อย่างกรณีของกลุ่ม Thammasat Democratic Study Group (TUDS) ที่ได้จัดเสวนาในเรื่อง “การล้มลงของเผด็จการ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยและการทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่น” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน ก็พบกับปัญหาและอุปสรรค ทั้งกรณีมีตำรวจสันติบาลเข้ามาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย จนมหาวิทยาลัยแจ้งยกเลิกการใช้ห้อง จนผู้จัดต้องปรับการจัดงาน และยังมีตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 7 นาย เข้ามาสังเกตการณ์ในวันจัดสัมมนาอีกด้วย

ส่วนในกรณีของ “หยก” เยาวชนที่แสดงออกทางการเมือง หลังได้ทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ลานเสาชิงหน้า ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่ตนถูกดำเนินคดี 112 จากเหตุในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีการเขียนชื่อผู้ต้องขังทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ก็ได้ถูกบุคคลคาดว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบขับมอเตอร์ไซค์คอยติดตามเธอ ไปจนถึงที่พัก

นอกจากนั้นยังมีกรณีของ อาร์ฟาน วัฒนะ นักกิจกรรมจากกลุ่ม The Patani และเป็นผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 กรณีไปคัดค้านการขุดศพในพื้นที่นราธิวาส ก็ได้โพสต์ระบุว่าเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สภ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ไปติดตามหาตัวเขาถึงบ้าน ก่อนจะมาพบที่ร้านกาแฟ โดยแจ้งว่ามีคำสั่งให้มาพูดคุย และหากจะทำกิจกรรมทางการเมืองใดก็ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อน พร้อมถ่ายรูปรายงานต่อผู้บังคับบัญชา

.

การติดตามประชาชนที่แสดงออกในประเด็นสถาบันกษัตริย์

การแสดงความคิดเห็นในประเด็นสถาบันกษัตริย์ ยังเป็นประเด็นสำคัญหนึ่ง ที่เป็นที่มาทำให้เจ้าหน้าที่รัฐติดตาม

ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีรายงานกรณีผู้ที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองรายหนึ่ง ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ส่วนปกครองท้องถิ่นเดินทางมาที่บ้าน อ้างว่ามีคำสั่งจากทางตำรวจให้มาติดตามกรณีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยพบว่าเป็นการแชร์ข้อความจากโพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และขอให้ลบโพสต์ดังกล่าวออก

ทิวากร วิถีตน ผู้สวมใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว” และถูกดำเนินคดีมาตรา 112-116 โพสต์ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. โทรศัพท์ติดต่อมาหาพี่ชายของตน แจ้งขอให้โพสต์เฟซบุ๊กเบา ๆ ลงหน่อย 

ขณะเดียวกันยังมีรายงานที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปติดตามญาติของผู้ลี้ภัยทางการเมือง จากวงไฟเย็น ซึ่งถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย แต่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

นอกจากนั้น ในเดือนตุลาคม ยังมีสถานการณ์ที่น่ากังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ อย่างกลุ่ม ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ที่ได้เข้าเคลื่อนไหวในลักษณะที่มีการใช้ความรุนแรงและข่มขู่คุกคามต่อผู้ทำกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองอยู่ที่หน้าศาลอาญา รวมทั้งมีการคุกคามผู้สื่อข่าวที่ติดตามถ่ายทอดสถานการณ์ดังกล่าวอีกด้วย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ไม่สามารถจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

.

ภาพเจ้าหน้าที่เข้ามาติดตามกิจกรรมของพรรคก้าวไกลที่จังหวัดอุตรดิตถ์ (ภาพจาก Sirivich Thongkum)

.

การติดตาม-สอดแนมกิจกรรมของพรรคก้าวไกล

การใช้เจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามสอดแนมกิจกรรมทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้าน ก็ยังเป็นสิ่งที่มีรายงานในรอบสองเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะกิจกรรมของพรรคก้าวไกล

ที่จังหวัดบุรีรัมย์ กรณีสาขาพรรคได้จัดกิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ในเขตเลือกตั้งที่ 5 ในประเด็นสุราพื้นบ้าน เมื่อช่วงวันที่ 24 ก.ย. 2566 นั้น มีรายงานว่าเจ้าของพื้นที่จัดกิจกรรมได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามไปหาถึงบ้านถึง 3 ครั้ง โดยเป็นทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองท้องถิ่น กระทั่งตำรวจฝ่ายสืบสวน โดยเข้ามาพูดคุยทั้งในลักษณะสอบถามข้อมูล ถ่ายภาพสถานที่ รวมทั้งข่มขู่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจรู้ข้อมูลหมดแล้ว จนผู้ประสานงานพรรคต้องเดินทางไปชี้แจงถึงสถานีตำรวจ และขอไม่ให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปบ้านผู้ให้ใช้สถานที่อีก

ขณะที่มีรายงานว่ากิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ของพรรคก้าวไกล ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนเช่นกัน ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไปเฝ้าติดตามกิจกรรม โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบแฝงตัวเข้าไปนั่งฟัง และคอยถ่ายรูปรายงานผู้บังคับบัญชา

.

การติดตามหรือคุกคามผู้ชุมนุมในประเด็นสิทธิชุมชน

ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ยังมีสถานการณ์การชุมนุมของเครือข่ายประชาชนในประเด็นฐานทรัพยากรและสิทธิชุมชน ทั้งขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ และสมัชชาคนจน นอกจากประเด็นการพยายามปิดกั้นการเดินขบวนและการใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะของตำรวจแล้ว ยังมีรายงานการติดตามของเจ้าหน้าที่ ทั้งกรณีการมีเจ้าหน้าที่ไปที่สำนักงานของบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ทั้งที่ทราบว่าตัวเขาอยู่ในพื้นที่ชุมนุมอยู่แล้ว ก็สามารถมาพบพูดคุยได้ แต่กลับมีการไปหาที่สำนักงาน

หรือกรณีที่สมัชชาคนจนทำเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนหลังเริ่มชุมนุม และพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งที่เข้ามาติดตามการชุมนุม ได้คุกคามโดยใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพผู้ชุมนุมท์ราว 10 กว่าคน ที่กำลังอาบน้ำ ซึ่งมีผู้ชุมนุมหญิงอยู่ด้วย บริเวณจุดปักหลักชุมนุมของสมัชชาคนจน โดยไม่มีการแจ้งหรือขออนุญาต ต่อมาหลังทีมการ์ดเข้าพูดคุย เจ้าหน้าที่จึงได้ลบภาพดังกล่าวออก

.

X