นายกฯ ไม่ใช่ประยุทธ์แล้ว! ชาวอุบลฯ สงสัย เหตุใด ‘เศรษฐา’ ลงพื้นที่  ตร.ยังตามความเคลื่อนไหวนักกิจกรรมอยู่

ระหว่างวันที่ 6-7 ต.ค. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามสถานการณ์อุทกภัย  ที่ จ.อุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง แต่ก่อนหน้านั้นกลับมีรายงานสถานการณ์ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลไม่ทราบสังกัดโทรศัพท์สอบถามความเคลื่อนไหว และขอติดตามนักกิจกรรม ตลอดจนประชาชนใน จ.อุบลราชธานี จนกลายเป็นคำถามของผู้ถูกติดตามว่า ในเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ทำไมเหตุการณ์คุกคามลักษณะที่เกิดตั้งแต่ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงมีอยู่ 

“ออฟ” วิศรุต สวัสดิ์วร อดีตผู้สมัคร สส. พรรคก้าวไกล เขต 1 จ.อุบลฯ ให้ข้อมูลว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีตำรวจ ทั้งจาก สภ.เมืองอุบลฯ และตำรวจภูธรจังหวัดอุบลฯ โทรมาถามตลอดว่า จะไปไหน หรือทำอะไร โดยโทรมาทุกวันตั้งแต่วันที่ 4-6 ต.ค. 2566 พร้อมทั้งบอกว่า ขอเลี้ยงข้าว เลี้ยงกาแฟ และถ่ายภาพด้วย 

ออฟเล่าอีกว่า ในวันที่ 5 ต.ค. ซึ่งตนมีนัดสืบพยานที่ศาลจังหวัดอุบลฯ ในคดีมาตรา 116 จากการชุมนุมเมื่อปี 2563 ตำรวจก็ยังมาติดตามอยู่ ทั้งพยายามย้ำสอบถามว่า จะทำกิจกรรมหรือไม่ ส่วนชุดสืบสวน สภ.เมืองอุบลฯ ก็โทรบอกกับออฟตรง ๆ เลยว่า ขอมาติดตาม เท่าที่สังเกตออฟคาดว่ามีตำรวจมาเฝ้าที่บ้านเขาตลอดช่วง 2-3 วันนั้น “รู้สึกว่า ไม่ใช่รัฐบาลประยุทธ์แล้วนะที่ตำรวจจะมาคุกคามแบบนี้ หรือว่าคุณก็ไม่ต่างจากประยุทธ์เลย” ออฟกล่าวสะท้อนความรู้สึก 

.

ส่วน “ฟลุค” กิตติพล (สงวนนามสกุล) กราฟิคดีไซเนอร์ ที่ถูกดำเนินคดี 112 จากการชูรูป ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10 เล่าว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 ตำรวจ สภ.เมืองอุบลฯ ที่เคยติดตามตัวเขาก่อนหน้านี้ โทรมาถามว่า วันที่ 6 ต.ค. 2566 ที่เศรษฐา ทวีสิน จะมาอุบลฯ เขาจะทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ ฟลุคกล่าวว่าเขาเพิ่งมาจากกรุงเทพฯ อย่างกะทันหัน เพราะยายป่วยเข้าโรงพยาบาล ไม่มีเวลาคิดเรื่องใครทั้งนั้น จึงบอกตำรวจไปว่า ตอนนี้ไม่ใช่รัฐบาลประยุทธ์แล้ว เขาเปลี่ยนรัฐบาลกันแล้ว ทำไมถึงยังปฏิบัติกับตนแบบนี้อยู่ “เศรษฐาจะเป็นยังไงไม่รู้ แต่ตอนนี้ยายผมป่วย ผมกลับมาจากกรุงเทพฯ เพราะว่ายายป่วย” ตำรวจจึงตัดสายไป 

ฟลุคให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่จำเป็นต้องมาติดตามตนอีก เพราะคดีของตนอยู่ในชั้นศาล อยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีเป็นปกติอยู่แล้ว แล้วมีปัญหาส่วนตัวเรื่องสุขภาพของคนในครอบครัว กลับมาอุบลฯ เพราะมีธุระส่วนตัว ส่วนที่นายกฯ จะมาอุบลฯ นั้น ตนก็เพิ่งรู้ข้อมูล และคงไม่ออกไปทำอะไร “ผมไม่คาดหวังให้รัฐบาลปัจจุบันช่วยเหลืออะไรอยู่แล้ว เพียงแต่อย่ามาซ้ำเติมกัน ทั้งมองประชาชนเป็นภัยคุกคามนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น” ฟลุคกล่าวอีกว่า “ถ้าอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งหรือมาจากระบอบประชาธิปไตยต้องไม่มีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว คุณไปรวมตัวกับพรรคอำนาจเดิม ก็ไม่ต้องไปทำตามแบบสิ่งที่กลุ่มอำนาจเดิมทำไว้ก็ได้” 

.

ณัฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) อาชีพไรเดอร์ เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2566 ว่า เวลาประมาณ 09.00 น. เขาจอดรถซื้อกาแฟที่ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งใน อ.วารินชำราบ ระหว่างเดินออกจากร้าน เห็นรถกระบะคันหนึ่งมาจอดเทียบ แต่ไม่ได้เอะใจว่าเป็นเรื่องผิดปกติ กระทั่งมีชายหัวเกรียนคนหนึ่งเดินลงจากรถเข้ามาถามเขาในลักษณะว่า “จะไปไหนลูกพี่” ณัฐจึงเงยหน้าขึ้นมามอง และสงสัยว่าเป็นใครทำไมมาทักแบบนี้ เพราะไม่รู้จักกันมาก่อน  

ก่อนจะออกรถไปส่งอาหารให้ลูกค้า ณัฐมองเข้าไปในร้านสะดวกซื้อจึงเห็นว่าชายคนดังกล่าวก็ยังจ้องมาที่เขาอยู่ และเมื่อณัฐขับมอเตอร์ไซค์ออกจากหน้าร้านไปได้ราว 500 เมตร เขาก็หยุดรถหันกลับไปดูอีกครั้งจึงพบว่า รถกระบะคันดังกล่าวขับตามมา และหยุดรถตาม ผ่านไปราวสองนาทีจึงขับผ่านหน้าณัฐไป 

เช่นเดียวกับนักกิจกรรมในอุบลฯ คนอื่น ๆ ณัฐเข้าใจว่า ชายคนดังกล่าวคงมาตรวจสอบว่าเขาทำอะไร อยู่ที่ไหน แต่ครั้งนี้ไม่ได้มีการแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ หรือไม่ได้โทรมาสอบถามอะไร และณัฐก็ไม่แน่ใจด้วยว่าชายคนนั้นมาเจอเขาโดยบังเอิญหรือไม่ 

ทั้งนี้ ณัฐทราบว่านายกฯ จะเดินทางมาที่อุบลฯ แต่ไม่รู้ว่าจะมีใครทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ เพราะระยะหลังเขาห่างจากการร่วมกิจกรรมทางการเมืองแล้ว โดยปกติขับไรเดอร์วันละ 12-15 ชั่วโมง “ผมคิดว่าน่าจะเลิกติดตามแบบนี้ได้แล้ว เพราะไม่มีใครออกมาม็อบหรือเคลื่อนไหวต่อต้านแล้ว ตอนนี้น่าจะเป็นการจัดวงพูดคุยหารือกันมากกว่า ไม่มีความจำเป็นต้องมาติดตามอะไรถึงขนาดนี้อีก” ณัฐกล่าวย้ำ

.

ขณะที่ “สหายเขียว” ภานุภพ ยุตกิจ สื่อมวลชนท้องถิ่นที่ทำประเด็นเครือข่ายต่อสู้ในชุมชน ให้ภาพว่า ตั้งแต่ยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมามีอำนาจ ถ้าบุคคลสำคัญมาที่อุบลฯ หรือมีขบวนเสด็จครั้งใด ก็จะมีตำรวจไปหาเขาที่บ้านอยู่ตลอด 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2566 ตำรวจ สภ.ช่องเม็ก โทรติดต่อเขามาหลายครั้ง เพราะไปที่บ้านแล้วไม่เจอตัว สหายเขียวจึงให้ข้อมูลว่า ช่วงนี้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ เพราะติดภารกิจที่กรุงเทพฯ แต่ตำรวจก็ให้ถ่ายภาพยืนยันว่า ตนไม่ได้อยู่ในพื้นที่จริง ๆ และไม่ได้ไปเคลื่อนไหวที่ไหน ก่อนที่ตำรวจจะถามว่า นายกฯ จะเดินทางไปที่อุบลฯ จะพาประชาชนไปพบนายกฯ หรือไม่ หรือมีการเคลื่อนไหวไหม เขาจึงบอกตำรวจไปว่า ไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ 

“มันเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า การควบคุมของรัฐยังใช้วิธีการเก่า ๆ ถ้าย้อนไปก่อนรัฐประหาร 2557 ไม่เคยเป็นแบบนี้ มาสู่ยุคประยุทธ์จึงเริ่มเป็นมาตลอด น่าตกใจที่พอถึงรัฐบาลเพื่อไทยกระบวนการเหล่านี้ยังคงอยู่” 

อย่างไรก็ตาม สหายเขียวที่ทำงานกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยยอดมน และผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรเห็นว่า เป็นปกติที่เวลานายกฯ ลงพื้นที่ในจังหวัดนั้น ๆ จะมีกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุต่าง ๆ ไปยื่นหนังสือขอให้นายกฯ ช่วยเหลือหรือตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

.

แม้แต่ ปรีดี พันทิวา เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งใน อ.สิรินธร และเคยถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมคาร์ม็อบอุบลฯ ก็ให้ข้อมูลว่า ระหว่างวันที่ 5-6 ต.ค. 2566 มีตำรวจจากตำรวจภูธรจังหวัดอุบลฯ โทรติดตามเขาถึง 4 ครั้ง สอบถามในลักษณะว่า จะทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ในระหว่างที่นายกฯ เดินทางมาที่อุบลฯ ซึ่งปรีดีก็ยืนยันว่า ไม่ได้จะทำอะไร ทั้งนี้ ทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญมาที่อุบลฯ ปรีดีก็ถูกติดตามสอบถามเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่เสมอ

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ไม่อยากให้ไปรับนาย’  ตร. ตามหา-เค้นขอข้อมูล นศ.ม.อุบลฯ ถึงหอพัก ขณะประวิตรไปดูน้ำท่วมศรีสะเกษ

หวั่นความไม่สงบ ขณะ ร.10 เสด็จอุบลฯ นักกิจกรรมถูกคุกคาม-จับกุม แม้ไม่มีใครประกาศเคลื่อนไหว 

เฝ้าถึงบ้าน-ขู่ถอนประกัน-กดดันครอบครัว นักกิจกรรมและประชาชนอุบลฯ ถูก จนท.คุกคามหนักก่อนประยุทธ์ลงพื้นที่

.

X