คุยบทเรียนเสรีภาพชุมนุมอีสาน: หวังรัฐนิรโทษกรรม – เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง – เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

วันที่ 26 ก.ย. 2566 ที่ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดวงเสวนาหัวข้อ “ย้อนถอดบทเรียนเสรีภาพในการชุมนุมภาคอีสาน ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่ออย่างไร” เป็นการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับวิทยากรทั้ง 4 คน ที่ได้มานำเสนอมุมมองการเมืองในปัจจุบัน รวมถึงประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิมนุษยชน 

วิทยากรได้แก่ เฝาซี ล่าเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กับภาพรวมสถานการณ์การชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 และมุมมองต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมหลังเลือกตั้ง, อนุวัฒน์ พรหมมา อาสาสมัคร Mob Data Thailand กับภาพการเคลื่อนไหวในภาคอีสาน การชุมนุม การคุกคาม การดำเนินคดี และข้อเสนอแนะต่อรัฐในประเด็นสิทธิมนุษยชน, ผศ.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กับทัศนะทางวิชาการต่อมุมมองการเคลื่อนไหวในภาคอีสาน และวิวัฒนาการการเมืองไทยต่อสิทธิมนุษยชน และณัชปกร นามเมือง ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ กับปรากฏการณ์หนึ่งในข้อเรียกร้องของการแก้รัฐธรรมนูญ และหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

เมื่อเริ่มเสวนา เฝาซี ล่าเต๊ะ กล่าวว่า ต้นปี 2563 เริ่มมีการชุมนุมรูปแบบใหม่อย่างวิ่งไล่ลุง ซึ่งรัฐใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะเป็นจำนวนมาก มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับผู้ชุมนุมอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิด Mob Data Thailand ขึ้น เพื่อเสนอถึงการแก้ไขกฎหมายผ่านการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายจากการเก็บข้อมูล

กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2563 เกิดแฟลชม็อบในที่ต่าง ๆ เกิดแฮชแท็คต่าง ๆ ขึ้นอย่างแพร่หลาย จุดเปลี่ยนคือการอุ้มหายนักกิจกรรม “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ส่งผลให้ในวันครบรอบ 24 มิถุนา ได้เกิดข้อเรียกร้องคือ ยุบสภา แก้รัฐธรรมนูญ และหยุดคุกคามประชาชน

จนกระทั่งการปราศรัยของทนายอานนท์ ทำให้กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีการเปลี่ยน 3 ข้อเรียกร้อง โดยมีเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพิ่มเข้ามา และมี 10 ข้อย่อย คนกล้าพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในเชิงวิชาการมากขึ้น ฝ่ายรัฐเริ่มมีการกวาดจับแกนนำ มีการปิดกั้นการชุมนุมโดยมองว่าเป็นภัยความมั่นคง โดยรัฐลืมไปว่าสิทธิมนุษยชนต่างหากคือความมั่นคงของรัฐ

จากนั้นมีกลุ่มใหม่ ๆ เกิดขึ้น และเกิดกลุ่ม REDEM ที่ไม่มีแกนนำ ซึ่งรัฐรับมือไม่ทัน ทำให้มีการใช้อาวุธควบคุมการชุมนุมมากขึ้น คือ เริ่มมีการใช้กระสุนยางในวันที่ 28 ก.พ. 2564 ที่หน้าราบ 1 และใช้โดยไม่เลือกเป้าหมาย ทำให้เยาวชนอายุ 15 ถูกยิงด้วย หลังจากนั้นมีการปราบปรามขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดกลุ่มทะลุแก๊ส ซึ่งเดิมทีไม่มีความรุนแรง แต่มีการสกัดการชุมนุมก่อนที่จะมีการเริ่มการชุมนุม ทำให้เกิดการปะทะ แต่รัฐพยายามช่วงชิงวาทกรรมว่า การชุมนุมมีความรุนแรง มีการข่มขู่ผู้สังเกตการณ์ชุมนุม มีการจับแกนนำเข้าคุก จนกระทั่งในปี 2566 ก็ยังมีการชุมนุม แต่ปรับเปลี่ยนจากการชุมนุมขนาดใหญ่เป็นขนาดเล็กและชุมนุมถี่ขึ้นแทน เนื่องจากแกนนำต่างโดนดำเนินคดีหลายคดี

อนุวัฒน์ พรหมมา กับภาพการเคลื่อนไหวในภาคอีสาน กล่าวว่า จุดสำคัญคือการชุมนุมในกรุงเทพฯ ช่วงปี 2563 ซึ่งมีการยื่นข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดเวทีลักษณะเดียวกันในอีสานมากขึ้น มีการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและพูดถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พร้อมกับพูดถึงประเด็นในพื้นที่ ปัญหาทรัพยากร ปากท้อง ความหลากหลายทางเพศ การกระจายอำนาจ รวมถึงเมื่อมีการจับกุมนักกิจกรรมไม่ให้สิทธิประกันตัว หรือตัดสินจำคุก ก็จะมีการชุมนุมในอีสานเพื่อแสดงความไม่พอใจสอดรับการเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ

รูปแบบการชุมนุมก็ค่อนข้างหลากหลาย ได้แก่ ตั้งเวทีปราศรัย ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง, เคลื่อนขบวนไปตามถนน หรือ Car mob และแฟลชม็อบ รวมถึงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อย่าง พ่นสี เผารูป

อนุวัฒน์เล่าถึงที่มาของแกนนำการชุมนุมในช่วงดังกล่าวคือตั้งแต่ปี 63 ว่า ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและประชาชนที่ไม่มีประสบการณ์จัดการชุมนุมมาก่อน แต่อยากแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล แสดงให้เห็นถึงความคับแค้นใจที่อยากจะสื่อสารออกมา 

ก่อนอนุวัฒน์จะฉายภาพถึงการคุกคามการชุมนุมใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่เกิดขึ้นในภาคอีสานว่า

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างหนักหน่วง รูปแบบของการคุกคามตั้งแต่ผู้กำกับหรือรองผู้กำกับเข้าพูดคุยกับแกนนำว่า การชุมนุมสุ่มเสี่ยงมีความผิดข้อหาต่าง ๆ, ใช้รถขยายเสียงเข้ามาประกาศข้อกฎหมายเพื่อสกัดกั้นการชุมนุม, ส่งเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาถ่ายรูปและวิดีโอทั้งแกนนำและผู้เข้าร่วม โดยเฉพาะถ่ายเจาะเข้าไปที่ใบหน้า, หลายจังหวัดจะมีการติดกล้องวงจรปิดในพื้นที่ชุมนุมก่อนการชุมนุม เป็นการติดตั้งในลักษณะเฉพาะกิจเพื่อบันทึกภาพในพื้นที่ชุมนุม

นอกจากนี้ นอกพื้นที่ชุมนุมก็มีการคุกคามด้วยเช่นกัน เช่น มีการจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปเฝ้าที่บ้านของนักกิจกรรม ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าหน้าที่ยังเข้าไปคุยกับครอบครัวหรือผู้นำชุมชนเพื่อให้ห้ามปราม ที่โคราช, ขอนแก่น, อุดรฯ มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดตรงข้ามกับบ้านของนักกิจกรรม และมีทั้งขอนัดพูดคุยตามร้านกาแฟ ทำนองปรารถนาดีแต่ข่มขู่ว่า ถ้าไม่เลิกเคลื่อนไหวจะเดือดร้อน 

หลายคนถูกดำเนินคดี ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ บ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บ้าง หรือ พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

รวมไปถึงมีการทำร้ายร่างกายในเชิงกายภาพในระหว่างที่มีการปะทะระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชนกับนักกิจกรรม ยกตัวอย่างกรณี การชุมนุมที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อ ไนท์ ดาวดิน ถูกชกที่ใบหน้าระหว่าง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่ 

ก่อนวิทยากรจะถามถึง วิธีการที่ใช้กับผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนและที่เป็นผู้ใหญ่ต่างกันหรือไม่ อนุวัฒน์ตอบว่า

เปรียบเทียบกับม็อบชาวบ้านแล้วค่อนข้างต่าง วิธีการที่ใช้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่จะเน้นไปที่การข่มขู่ ซึ่งบางส่วนก็ได้ผล หลายคนก็กังวล หวาดกลัวไปเลย ยิ่งถูกไปเฝ้าที่บ้าน หรือโทรไปขอข้อมูลส่วนตัวกับโรงเรียน และเจ้าหน้าที่มีพัฒนาการบางอย่าง คือเมื่อมีการชุมนุมหลายครั้งจะมีรถดับเพลิงมาจอดตามจุดชุมนุม คล้ายกับการนำรถจีโน่มาจอดรอในจุดที่มีการชุมนุมในกรุงเทพฯ

ผศ.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ ชวนย้อนกลับมามองอดีตตั้งแต่ปี 2549 ว่า จุดเริ่มของการเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมือง มาจากความไม่พอใจ ความขัดแย้ง แต่ความขัดแย้งไม่ได้ถูกแก้ไขตามครรลองประชาธิปไตย กลับถูกแทรกแซงโดยทหาร โดยการทำรัฐประหาร ซึ่งยิ่งเพิ่มความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ มีการประท้วง เกิดตุลาการภิวัฒน์ นำไปสู่การยุบพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง เกิดรัฐบาลที่ประชาชนมองว่าไม่สง่างาม ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นำไปสู่การประท้วงเสียเลือดเสียเนื้อ แล้วก็กลับไปสู่การเลือกตั้งอีก 

ที่ชวนย้อนไปมองเพราะมันเหมือนมีแพทเทิร์นวนเวียนเหมือน ๆ เดิม เกิดความขัดแย้ง ทหารแทรกแซง และทุกครั้งต้องกลับไปที่การเลือกตั้ง แล้วก็มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ล่าสุดคือความขัดแย้งในปี 2563 ซึ่งกระจายลุกลามไปถึงคนอายุน้อยลง ๆ

ก่อนที่เสาวนีย์จะกล่าวถึงผลพวงที่ตามมาจากการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีที่เขาออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุม ทำให้เขาไม่มีทางรู้เลยว่าจะโดนกี่คดี ซึ่งเป็นผลพวงของการเคลื่อนไหว ในเชิงวิชาการได้ข้อสรุปว่า ต่อให้หยุดเคลื่อนไหวก็ไม่ใช่ว่ามันจะจบลง สิ่งเหล่านี้จะตามไปเรื่อย ๆ และมันทำให้การเคลื่อนไหวอ่อนล้า ไม่ได้หมายถึงทิ้งอุดมการณ์ ความคิดความเชื่อยังไปต่อ แต่เปลี่ยนรูปแบบไปสู่ออนไลน์ และเราจะเห็นว่า คนอยากกลับไปที่หีบบัตร อยากกลับไปที่การเลือกตั้ง 

แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา แม้กระแสประชาธิปไตยจะสูง แต่ไม่มีพรรคไหนชนะขาด และพรรคที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามของฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งเขาลงเลือกตั้งก็ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเช่นกัน สภาพเช่นนี้จึงเหมือนการต่อสู้ในท้องถนน แต่เปลี่ยนเวทีมาเป็นการต่อสู้ในสภาแทน แต่พอไม่มีพรรคไหนแลนด์สไลด์ มันจึงเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนของสองพรรคใหญ่ฝั่งประชาธิปไตย   

เสาวนีย์ได้ให้ความคิดเห็นว่า ถ้าเราสนับสนุนประชาธิปไตยเราไม่ควรรู้สึกท้อ เพราะความขัดแย้งในฝ่ายประชาธิปไตยตอนนี้คือการเลือกให้ความสำคัญต่างกัน แนวทางการต่อสู้ต่างกัน ทำให้ฝ่ายหนึ่งรับได้กับรัฐบาลปัจจุบัน แต่ฝ่ายที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในทันทีก็อาจจะยังไม่พอใจ ซึ่งนี่เป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายควรจะได้ถอดบทเรียนการเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา คำถามที่ยังเหลืออยู่คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ไม่ใช่ทหารจะอยู่ได้นานแค่ไหน จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหรือไม่ และในรูปแบบใด แต่ความขัดแย้งก็จะยังอยู่ต่อไป สิ่งที่เราทุกคนทำได้คือการผลักทุกอย่างกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ให้รัฐบาลอยู่ได้ครบ 4 ปี และต้องไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก  

ณัชปกร นามเมือง กล่าวถึงคำถามสำคัญคือว่า สุดท้ายมองในรอบ 4-5 ปี พลังประชาชนหายไปหรือไม่ ซึ่งพบว่ามันไม่ได้หายไป แต่เปลี่ยนรูปไปให้สัมพันธ์กับสถานการณ์ที่เผชิญหน้า ย้อนไปช่วงใกล้เลือกตั้งปี 2562 มีการทยอยยกเลิกคำสั่ง คสช. มีการออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น จนคนคิดว่าเลือกตั้ง 2562 จะเป็นการเลือกตั้งเพื่อล้มเผด็จการ แต่คนยังไม่รู้ถึงฤทธิ์เดชของ สว. ซึ่งเป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจของ คสช. ผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 หลังเลือกตั้งเราได้รัฐบาลประยุทธ์ 1 ซึ่งคนไม่พอใจจึงออกไปเคลื่อนไหว “วิ่งไล่ลุง” โดยหลายคนยังไม่ทันรู้ถึง พ.ร.บ. ชุมนุมฯ จนกระทั่งหลังจัดกิจกรรมก็มีคดีความขึ้นมา 

จนกระทั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่มีการออกมาเคลื่อนไหว มีการชุมนุมจำนวนมาก โดยยังไม่มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะความไม่พอใจ พอเกิดกรณีอุ้มหายวันเฉลิม ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงโควิดระบาด คนเริ่มรู้สึกว่า กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดูเข้มข้น มากกว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อย่างมีนัยยะ แม้ว่าจะควบคุมโควิดได้ระดับหนึ่งแล้ว ทำให้ผู้คนเริ่มออกมาลงถนน เริ่มตั้งแต่เรียกร้องความเป็นธรรมให้วันเฉลิม ตั้งข้อคำถามกับการบริหารจัดการโควิดของรัฐบาล จนขยายไปสู่การชุมนุมใหญ่ โดยมี 3 ข้อเรียกร้อง คือ ยุบสภา แก้รัฐธรรมนูญ หยุดคุกคามประชาชน

จากนั้นข้อเรียกร้องก็มีการพัฒนาเป็น พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพลาออก, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน และหลังทนายอานนท์ปราศรัยในม็อบแฮรี่ พอตเตอร์ ก็เกิดข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต่อมา มีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 รัฐก็มีการตอบโต้ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และเริ่มใช้รถฉีดน้ำเข้าสลายการชุมนุม ในความเห็นของณัชปกรความรุนแรงของการสลายชุมนุมช่วงหลัง 14 ต.ค. 2563 เป็นจุดสำคัญที่ใช้หยุดยั้งการพัฒนาข้อเสนอของผู้ชุมนุม

ณัชปกรพูดถึงที่มาของกลุ่มทะลุแก๊สที่ตั้งคำถามว่า ในเมื่อรวมกลุ่มไปชุมนุมโดยสันติยังถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงโดยรัฐมาตลอด โดยการฉีดน้ำจากรถจีโน่ หรือทุบตี แล้วทำไมประชาชนต้องอยู่ในสถานะผู้ถูกกระทำโดยตลอด เกิดการใช้ประทัด ใช้พลุตอบโต้ ซึ่งรัฐก็ตอบโต้กลับด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง 

ณัชปกรชี้ให้เห็นว่า เมื่อเคลื่อนไปข้างหน้ามักถูกปราบปรามหนักขึ้นจนต้นทุนในการออกไปเคลื่อนไหวมันสูงขึ้น ข้อเรียกร้องต่าง ๆ จึงหยุดนิ่ง แต่มันไม่ได้หายไปไหน และกลายเป็นแรงกดดันไปสู่สภาให้ทำหน้าที่มากขึ้น แม้ว่าสุดท้าย 4 ปี ของการเคลื่อนไหว ข้อเสนอเรื่องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จะไม่สำเร็จและถูกปัดตกในวาระสาม แต่ท้ายที่สุดมีการยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า รัฐสภามีอำนาจในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญตอบมาว่า ได้ แต่ต้องทำประชามติก่อน จึงกลายเป็นโจทก์หลังการเลือกตั้ง 66 ว่า ถ้าจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ก็ต้องมีการทำประชามติก่อน

.

ก่อนณัชปกรจะเสนอมุมมองว่า การยอมให้เกิดรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยที่ประชาชนคาดหวังเป็นสิ่งที่ฝ่ายชนชั้นนำนั้นไม่ยอม แต่ขณะเดียวกันจะให้ประยุทธ์นำก็ไม่รอด ประวิตรก็เสียงไม่พอ สุดท้ายจึงไปตกที่การนำเพื่อไทยร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพราะศัตรูของศัตรูคือมิตร แต่ด้วยสภาวะการเป็นรัฐบาลที่มีหลายพรรคและมีขั้วเดิมอยู่ด้วย ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถพูดหรือทำอะไรในเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญได้เต็มที่อย่างที่หาเสียงไว้ว่า ในการประชุม ครม.นัดแรกจะมีมติให้ทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

อีกโจทก์หนึ่งก็คือ วันนี้บรรดาคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองกำลังเดินหน้าเข้าสู่การดำเนินคดี และมีแนวโน้มที่ศาลจะตีความเกินเลยเพื่อเอาผิดให้ได้ ดังนั้น เรื่องที่ต้องทำคู่ขนานกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่คือ การนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าจะต้องมีการพูดคุยกันจริง ๆ จัง ๆ

ในช่วงท้ายผู้ดำเนินรายการ ถามวิทยากรทั้งสี่ว่า หลังจากนี้ฝันถึงอะไร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เฝาซีเสนอว่า สำคัญที่สุดคือ การเยียวยา สถานการณ์ตอนนี้มีคนเข้าไปอยู่ในเรือนจำ 24 คนแล้ว มีคนที่ประท้วงจากในเรือนจำอย่างวารุณีและเวหา การเยียวยาโดยการเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีหรือนิรโทษกรรมเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งปัจจุบันไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดต้องรับผิดทางอาญาจากการกระทำที่ทำเกินขอบเขตและหน้าที่, การเรียกร้องให้ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุม ตลอดจนเรียกร้องสิทธิประกันตัวและสิทธิในการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง สุดท้าย ภาพฝันใหญ่ของแอมเนสตี้คือ อยากให้รัฐบาลนี้ขับเคลื่อนนโยบายโดยเคารพสิทธิมนุษยชน

อนุวัฒน์เสนอว่า กลับไปซัพพอร์ตนักกิจกรรมและคนที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงขาลงของการเคลื่อนไหว ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาชีวิต รวมไปถึงสภาพจิตใจ พร้อมทั้งต้องสร้างเสริมทักษะในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยให้นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ ส่วนงานที่แอมเนสตี้ก็จะมีการทำห้องเรียนสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปด้วย 

ในภาพใหญ่อนุวัฒน์เห็นด้วยกับการยุติการดำเนินคดีคนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม และนิรโทษกรรมคนที่อยู่ในเรือนจำ อนุวัฒน์เสนออีกว่า ต้องกลับมาดู พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่หลายเรื่องถูกนำมาปิดกั้นการใช้เสรีภาพ ส่วนในเรื่องสิทธิมนุษยชนต้องระบุให้ชัดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิทางการเมือง

เสาวนีย์กล่าวเสริมข้อเสนอของทั้งสองวิทยากรก่อนหน้าว่า ความฝันที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากฝั่งเดียวไม่ได้ ถามว่าฝันนี้ไกลตัวไปไหม ไม่ไกล แต่ยากไหม ยาก ถ้าเราเชื่อว่าประชาธิปไตยมันคือการเคารพเสียง เราต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่า ทุกคนมีสิทธิเลือกตั้ง 1 เสียงเท่ากัน ถ้าเรายังไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศคิดเหมือนเรา ไม่ว่าในสภาหรือท้องถนน เราต้องทำใจและยอมรับว่า จะมีคนที่คิดต่างจากเราเสมอ ต่อให้เราแชร์อุดมการณ์เดียวกันก็ตาม ก็จะมีคนที่มีข้อจำกัดเสมอ 

เสาวนีย์กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า เพราะฉะนั้น ความฝันเดียวที่มีและจะช่วยให้เราค่อย ๆ เดินไป กระโดดไม่ได้ ก็คือ การเข้าใจคนอื่น ซึ่งมันมาสู่ความร่วมมือ จะมากจะน้อย เดินไปข้างหน้า ขอให้เข้าใจคนอื่น การเดินไปข้างหน้าจึงจะมีเพื่อนร่วมทางเพิ่มมากขึ้น ไม่มีใครหล่นหายไป

สุดท้าย ณัชปกรฝันว่า ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจริง ๆ สักที เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของทุกคนที่กล่าวมา สิ่งที่เราควรจะคาดหมายกับรัฐบาลใหม่คือ สิ่งที่เคยเกิดในรัฐบาลประยุทธ์ไม่ควรเกิดขึ้นอีกภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทั้งการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ยกตัวอย่างม็อบราษฎรที่จะเข้าหาประยุทธ์แล้วถูกปิดกั้นด้วยกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ

ประเด็นที่สอง ต้องเรียกร้องไปที่รัฐสภาให้ผลักดันการแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิหรือเป็นมรดกของคณะรัฐประหาร รวมถึงเรื่องนิรโทษกรรมที่ต้องอาศัยทั้งอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เบื้องต้นฝ่ายบริหารควรอำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องหาคดีการเมืองเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานคือสิทธิในการประกันตัว ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติอะไรที่ควรก็แก้ อะไรจำเป็นต้องยกเลิกก็ยกเลิก อะไรที่ควรออกใหม่เพื่อคุ้มครองสิทธิก็ทำ 

ส่วนรัฐธรรมนูญยังไงก็ต้องเขียนใหม่ และควรให้ประชาชนมีโอกาสจะฝันว่าอยากอยู่ในประเทศแบบไหน สุดท้ายฝากความหวังกับพี่น้องประชาชน ผมรู้สึกว่า ปาฏิหาริย์เดียวของประเทศนี้คือ ประชาชน การเปลี่ยนแปลงเกิดจากพลังประชาชน จำเป็นที่จะต้องรักษาขบวน ถ้าต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงสิ่งสำคัญคือการสร้างความร่วมมือ อาจจะไม่ได้เห็นด้วยกันทุกเรื่อง เราอาจจะไม่ได้ชอบรัฐบาลเศรษฐา แต่เราต้องการความร่วมมือ พอเราคิดว่าเราต้องการความร่วมมือ เราต้องการการเปลี่ยนแปลง มันจะนำไปสู่การออกแบบการสื่อสารที่ไม่ลดทอนกัน ไม่ทำร้ายจิตใจกัน มันจะทำให้ยิ่งเดินเราจะยิ่งมีเพื่อน ถ้ายิ่งเดินยิ่งไม่มีเพื่อน การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิด 

X