สถานการณ์ติดตาม-คุกคาม-ปิดกั้นการแสดงทางการเมืองรอบสองเดือนขณะจัดตั้งรัฐบาล ยังพบไม่น้อยกว่า 18 กรณี

ระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 ในช่วงการรอคอยการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง สถานการณ์การติดตามคุกคาม หรือปิดกั้นกิจกรรมและการแสดงออกของประชาชน ยังคงมีอยู่เป็นระยะ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในรอบสองเดือนที่ผ่านมา มีกรณีไม่น้อยกว่า 18 กรณี

ในจำนวนนี้แยกเป็นกรณีที่เป็นลักษณะการติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 10 กรณี เป็นกรณีการข่มขู่คุกคามที่ไม่สามารถระบุผู้กระทำได้ จำนวน 2 กรณี และเป็นกรณีที่เป็นการปิดกั้นกิจกรรมหรือการแสดงออกจำนวน 6 กรณี (โดยในจำนวนนี้เกี่ยวพันกับการปิดกั้นโดยมหาวิทยาลัยจำนวน 3 กรณี)

โดยภาพรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 ศูนย์ทนายฯ บันทึกสถิติการติดตามคุกคามประชาชนที่ส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงออก และความเป็นส่วนตัวแล้ว ไม่น้อยกว่า 102 กรณี โดยนักกิจกรรมบางรายถูกติดตามและคุกคามอย่างต่อเนื่องหลายครั้งในแต่ละช่วงอีกด้วย

.

การติดตาม-ปิดกั้นขณะประชาชนทำกิจกรรมช่วงโหวตนายกฯ

สถานการณ์การติดตาม สอดแนม หรือเข้าเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ยังคงมีอยู่ภายใต้ช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยพบว่านักกิจกรรมที่เคยถูกติดตาม หรืออยู่ในรายชื่อ “เฝ้าระวังพิเศษ” ของเจ้าหน้าที่ ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะเมื่อมีสถานการณ์ชุมนุม

ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ที่มีการนัดหมายชุมนุมติดตามการโหวตนายกรัฐมนตรี หรือเรียกร้องต่อวุฒิสภาให้เคารพเสียงประชาชน มีนักกิจกรรมบางส่วนถูกเจ้าหน้าที่ติดตามไปถ่ายรูปและสอบถามความเคลื่อนไหว เช่น “ดิว” สมชาย หรือ “แก๊ป” จิรภาส ผู้ร่วมชุมนุมกับทะลุแก๊ส ซึ่งมักถูกติดตามอย่างต่อเนื่องมาก่อนแล้ว 

.

.

หรือผู้เคยทำกิจกรรมในพื้นที่ต่างจังหวัด อย่างที่อุบลราชธานี มีรายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรสอบถามเรื่องการไปชุมนุมกับนักกิจกรรมกลุ่มคณะอุบลปลดแอก

ระหว่างการโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ภายใต้ความพยายามจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ยังทำให้เกิดการแสดงออกและจัดกิจกรรมในหลายจังหวัด และมีบางพื้นที่ถูกปิดกั้นหรือติดตามการทำกิจกรรม เช่น ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลได้ไปทำกิจกรรมสนับสนุนการโหวตเลือกพิธาเป็นนายกฯ ที่ลานอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก แต่ถูกเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) นำโซ่และกุญแจมาล็อกประตูทางเข้า ไม่ให้เข้าไปทำกิจกรรม ทั้งที่โดยปกติพื้นที่ดังกล่าวเปิดให้ประชาชนเข้าออกได้ตลอด

.

ประตูลานอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักถูกปิด ก่อนกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลไปทำกิจกรรม (ภาพจากมติชนออนไลน์)

.

ส่วนที่จังหวัดพิจิตร กลุ่มพิจิตรปลดแอกจัดกิจกรรมเขียนป้ายไว้อาลัยให้ กกต. และเรียกร้อง ส.ส.-ส.ว. ฟังเสียงประชาชน ที่บริเวณบึงสีไฟ ได้มีเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานจำนวนมากกว่า 20 นาย เข้ามาติดตามถ่ายรูปกิจกรรม และถ่ายรูปทะเบียนรถของผู้เข้าร่วม

รวมถึงที่จังหวัดกระบี่ ที่มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าไปติดตามสังเกตการณ์ภายในสำนักงานของพรรคก้าวไกล ระหว่างมีสมาชิกและประชาชนติดตามผลการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

ด้านที่จังหวัดชลบุรี วันที่ 23 ก.ค. 2566 มีกลุ่มประชาชนจัดกิจกรรม “ชูป้ายไว้อาลัยให้กับเสียง 25 ล้านเสียง ของประชาชนไม่มีควาหมาย” ณ สวนสาธารณะเทศบาลศรีราชา โดยก่อนจัดกิจกรรมหนึ่งวัน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเดินทางไปที่บ้านของผู้จัด เพื่อสอบถามถึงกิจกรรมที่กำลังจะจัดขึ้น 

.

ภาพเจ้าหน้าที่มาบ้านผู้ประกาศจัดกิจกรรมที่ชลบุรี เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2566 (ภาพจากเพจเฮียหมา ค้าผลไม้)

.

ขณะเดียวกันในช่วงเดือนสิงหาคม ที่ภาคประชาสังคมร่วมกันเปิดให้ประชาชนลงชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีการตั้งจุดลงชื่อในหลายพื้นที่นั้น ก็มีรายงานจากบางพื้นที่ เช่น จังหวัดชัยนาท ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบพยายามติดตามถ่ายรูป และเข้าสอบถามข้อมูลผู้ตั้งจุดลงชื่อด้วย

นอกจากนั้น ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ทางพรรคก้าวไกลในจังหวัดกระบี่ ยังแถลงข่าวเรื่องการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าติดตามสอดแนมจากการจัดกิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมมีการแอบถ่ายภาพข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงทะเบียนร่วมงาน แล้วนำไปเผยแพร่ในไลน์กลุ่มตำรวจด้วย

รวมทั้งยังมีกรณีของ สส. พรรคก้าวไกลที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนัดหมายทำกิจกรรมพบปะประชาชน-พูดคุยปัญหาในพื้นที่ลานเนินนุ่ม ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทางเจ้าหน้าที่ทหารดูแล ปกติเปิดเป็นร้านอาหารและสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ แต่กรณีนี้ ได้อ้างว่ามีการปิดปรับปรุงพื้นที่ ไม่สามารถใช้ได้ และมีการตั้งด่าน 3-4 ด่านบนถนนทางเข้า พร้อมสอบถามประชาชนที่ใช้รถสัญจรว่ามาเข้าร่วมกิจกรรมหรือไม่ ทำให้ทาง สส. ต้องไปจัดกิจกรรมภายนอกแทน

.

การข่มขู่คุกคามที่ไม่ทราบผู้กระทำ: ตะวันถูกลอบปาหินใส่รถ – พิมถูกโทรขู่คนในครอบครัว

นอกจากสถานการณ์คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ยังมีกรณีของนักกิจกรรมทางการเมืองอย่างน้อย 2 ราย ถูกข่มขู่คุกคาม โดยไม่ทราบผู้กระทำการชัดเจน

กรณี ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2566 เวลา 3.50 น. โดยประมาณ ได้ถูกบุคคล 2 ราย ขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งนำแผ่นป้ายทะเบียนออก และยังสวมหมวกกันน็อคปกปิดใบหน้า มาหยุดที่บริเวณรั้วกำแพงข้างบ้านพัก จากนั้น บุคคลดังกล่าวได้ใช้ก้อนหินขนาดใหญ่โยนทุ่มเข้ามาใส่รถที่จอดอยู่บริเวณรั้วภายในบ้าน ทำให้กระจกแตกได้รับความเสียหาย แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าติดตามสถานการณ์แล้ว แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการติดตามตัวผู้ก่อเหตุได้

.

.

อีกกรณีหนึ่ง ได้แก่ “พิม” แทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และภาคี Saveบางกลอย ซึ่งเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 เป็นคดีแรก จากการปราศรัยในกิจกรรม ‘Respect My Vote’ ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 

พิมได้ระบุกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า หลังปราศรัย และถูกดำเนินคดี ก่อนจะเข้ารับทราบข้อหา ได้มีบุคคลไม่ทราบข้อมูลโทรศัพท์ไปหาแม่ของเธอ พร้อมกล่าวข่มขู่ในเชิงว่า “ระวังลูกจะติดคุกหัวโตนะ” ทั้งเธอยังถูกคุกคามทางออนไลน์ โดยมีการนำรูปไปโพสต์แขวนบนพื้นที่ของโซเชียลมีเดีย และให้คนมาคอมเมนต์ในเชิงโจมตีด้วย

.

สถานการณ์การแสดงออกในมหาลัยภายใต้การควบคุม ขณะตำรวจใช้อำนาจ พ.ร.บ.การพิมพ์ ห้ามนำเข้าหนังสือ

นอกจากการชุมนุม ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ยังมีการแสดงออกทางการเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย ผ่านการติดป้ายข้อความต่างๆ และพบว่ามักถูกเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยนำออกอย่างรวดเร็ว 

กรณีที่มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 กลุ่มนิสิตได้แขวนป้ายข้อความ ‘อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน’ ภายในมหาวิทยาลัย ได้ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าถ่ายรูปและนำออกทันที ทั้งยังพยายามไม่ให้ผู้สื่อข่าวออนไลน์ถ่ายรูปป้ายด้วย

.

ภาพป้ายถูกปลดที่มหาวิทยาลัยบูรพา (ภาพจากเพจ Dot easterners)

.

กรณีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2566 มีนักศึกษาแขวนป้ายข้อความ 3 จุดรอบมหาวิทยาลัย แสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งคำว่า  “หยุดใช้อำนาจไร้สำนึก” “ประสิตธิปไตย”  “Respect Our Vote สว. หค.” แต่ป้ายก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยปลดออกเช่นกัน

นอกจากนั้น ยังมีกรณีการจัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยในวันที่ 17 ก.ค. 2566 ‘พรรคนักศึกษากิจประชา’ เตรียมจัดเสวนาหัวข้อ “ตกลงอำนาจอธิปไตยนี้เป็นของใคร?” แม้ในตอนแรกทางมหาวิทยาลัยอนุญาตให้จัดเสวนาแล้ว แต่ต่อมามหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งระงับกิจกรรม โดยไม่ทราบเหตุแน่ชัด ทำให้ทางกลุ่มนักศึกษาไม่สามารถจัดกิจกรรมดังกล่าวได้

สถานการณ์อีกประการหนึ่ง ที่เกี่ยวพันกับเสรีภาพในทางวิชาการ คือ กรณีที่ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าหนังสือ “Rama X : The Thai Monarchy under King Vajiralongkorn” ซึ่งบรรณาธิการโดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร โดยอ้างอำนาจตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550

น่าสนใจว่าหนังสือเล่มดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการจัดพิมพ์โดย Yale Southeast Asia Studies สาธารณะยังไม่ได้อ่านเนื้อหาภายใน แต่ทางตำรวจกลับอ้างเพียงลักษณะของภาพปกหนังสือที่ประชาสัมพันธ์ออกมา ว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคง แห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

สถานการณ์โดยรวมดังกล่าว สะท้อนถึงปัญหาเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาในพื้นที่มหาวิทยาลัย และเสรีภาพในทางวิชาการในการศึกษาและนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของไทย แม้แต่ในภาษาอังกฤษก็ตาม

.

ย้อนอ่านรายงานสอบสองเดือนก่อนหน้า

สถานการณ์ติดตามคุกคามโดยจนท.รัฐ อย่างน้อย 13 กรณีในรอบสองเดือนและพบกิจกรรมในมหาลัยถูกปิดกั้น 2 กรณี

.

X