‘พิมพ์ แทนฤทัย’ เข้ารับทราบข้อหาคดี ม.112 คดีแรก หลังขึ้นปราศรัยกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ ใน #ม็อบ14กรกฎา66

วันที่ 7 ส.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ สน.ปทุมวัน ‘พิมพ์’ แทนฤทัย แท่นรัตน์ นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ได้เดินทางไปเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีร่วมปราศรัยในเวทีเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เคารพเสียงของประชาชนในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในการชุมนุม ‘Respect My Vote’ ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ  เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 

คดีนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2566  อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้าแจ้งความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ สน.ปทุมวัน โดยอ้างว่าได้พบคลิปวีดิโอ ที่มีการเผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชนนัดรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม  โดยมีแทนฤทัยหนึ่งในผู้เข้าร่วมปราศรัยที่มีเนื้อหากล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในทางที่เสื่อมเสียพระเกียรติ

ต่อมาแทนฤทัยได้รับการติดต่อจากตำรวจ สน.ปทุมวัน ว่าได้ออกหมายเรียกให้เธอมาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว แม้เธอยังไม่ได้รับหมายเรียกดังกล่าว แต่ก็นัดหมายเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน

เวลา 09.40 น. ที่บริเวณหน้า สน.ปทุมวัน พบการตั้งจุดตรวจคนเข้าสถานีอย่างเข้มงวด โดยประชาชนผู้เข้าใช้บริการจะต้องลงชื่อก่อนเข้าไปในตัวอาคาร นอกจากนี้ยังมีการตั้งรั้วกั้นในบริเวณโดยรอบของสถานีตำรวจ และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินตรวจตรา และถ่ายภาพตลอดบริเวณสถานีตำรวจ

ต่อมาเวลา 10.15 น. แทนฤทัย ได้เดินทางมาพร้อมกับทนายความเพื่อเข้าพบ พ.ต.ท.แดนชัย ทูลอ่อง รองผู้กำกับการสอบสวน สน.ปทุมวัน 

เบื้องต้น ตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ระบุพฤติการณ์แห่งคดีว่า ในวันที่ 14 ก.ค. 2566 ผู้ต้องหาได้ขึ้นปราศรัยโดยกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในทำนองว่าไม่มีสถาบันใดอยู่เหนือสถาบันประชาชน และกล่าวเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเคารพเสียงของประชาชนและการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ก่อนที่ผู้ต้องหาจะเซ็นรับทราบข้อกล่าวหา แทนฤทัยได้ขอให้พนักงานสอบสวนแก้ไขบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาในส่วนของอานนท์ที่เข้ามากล่าวโทษเธอในคดีนี้ โดยเปลี่ยนจากข้อความว่าผู้กล่าวหาไม่ได้มีเหตุโกรธเคืองกับผู้ต้องหาในคดีนี้มาก่อน เป็นผู้กล่าวหาเป็นกลุ่มคนที่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ต้องหาและเพื่อนๆ โดยมีการพยายามหาเรื่อง และข่มขู่เธอบนโซเชียลมีเดียมาก่อน ตลอดจนการแจ้งความในคดีนี้ก็สืบเนื่องมาจากผู้กล่าวหาเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง

นอกจากนั้น พบว่าในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนระบุว่าอานนท์ กลิ่นแก้ว เป็น “ผู้เสียหาย” ในคดีนี้อีกด้วย

ทั้งนี้ แทนฤทัย ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา โดยภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ แทนฤทัยได้เปิดเผยความรู้สึกว่า “คดีนี้เป็น 112 คดีแรกของเรา จริงๆ คิดว่าน่าจะคดีจะมาไวกว่านี้นานแล้ว แต่ก็เตรียมใจไว้แล้วค่ะ” 

นอกจากนี้เธอยังได้กล่าวถึงกิจกรรมชุมนุมในวันที่ 14 ก.ค. ว่าไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามข้อกล่าวหา ในการปราศรัยครั้งนั้น เป็นเพียงการเรียกร้องต่อรัฐบาลและผู้มีอำนาจให้ฟังเสียงของประชาชนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ เธอเคยถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมทางการเมืองมาแล้ว 4 คดี แต่ไม่เคยถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 มาก่อน

การชุมนุมซึ่งเป็นเหตุในคดีนี้ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในวันที่ 14 ก.ค. 2566 หรือม็อบ ‘Respect My Vote’ ซึ่งเป็นการนัดหมายของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเคารพเสียงของประชาชน  ภายหลังวันที่ 13 ก.ค. 2566 พิธา ลิ้มเจิรญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมกันในรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จากการประชุมในวันดังกล่าว

.

ย้อนอ่านเหตุการณ์ชุมนุม >>> iLaw – #ม็อบ14กรกฎา66 #RespectMyVote วันที่ 14 กรกฎาคม… | Facebook

X