27 ต.ค. 2566 เวลา 10.00 น. พนักงานอัยการนัดหมาย “บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ อายุ 23 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมทนายความ ไปที่ศาลอาญา เพื่อส่งฟ้องคดีที่ถูกกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีปราศรัยในงานรำลึก “45 ปี 6 ตุลา 2519” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์จำนวน 90,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
คดีนี้มี พ.ต.ท.ยุทธนา รัตนแพทย์ เป็นผู้กล่าวหา โดยเข้าแจ้งความไว้ที่ สน.ชนะสงคราม ก่อนที่เกียรติชัยจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2565 และตำรวจได้ส่งสำนวนให้กับอัยการไปเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2566 ก่อนอัยการจะนัดเกียรติชัยมารายงานตัวและฟังคำสั่งราวเดือนละหนึ่งครั้งในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้องในที่สุด
เปิดคำฟ้อง ม.112 “บิ๊ก” ปราศรัยเหตุการณ์ 6 ตุลา เชื่อมโยงกองทัพ-สถาบันฯ อัยการระบุเป็นการบิดเบือนใส่ร้ายกษัตริย์
นายสารสิทธิ์ พวงไพบูลย์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นผู้เรียงฟ้องคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ในคำฟ้องพนักงานอัยการได้กล่าวเกริ่นถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 1, 2, 3 และ 6 ก่อนบรรยายโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 ช่วงเวลาเย็น เกียรติชัยได้เข้าร่วมกิจกรรมปาฐกถาพิเศษรำลึก 45 ปี 6 ตุลาคม 2519 และนิทรรศการ “หนี้เลือด 6 ตุลา 2519 ถึงเวลาชำระ” โดยจำเลยได้แต่งกายสวมใส่เสื้อซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 อยู่ที่หน้าอก พร้อมมีข้อความว่า “ปกป้องสถาบัน” และได้กล่าวเวทีปราศรัย
อัยการบรรยายฟ้องโดยยกคำปราศรัยของเกียรติชัยในวันดังกล่าวมา ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปกล่าวถึงประเด็น เหตุการณ์ 6 ตุลาที่ผู้กระทำผิดยังลอยนวล, “สื่อดาวสยาม” ที่มีเนื้อหายุยงปลุกปั่นใส่ร้ายนักศึกษา การรัฐประหาร, สถาบันกษัตริย์ที่มีความเชื่อมกับกองทัพทั้งในอดีตและปัจจุบัน, การเปลี่ยนกฎหมายอาญาจากมาตรา 97 เป็นมาตรา 112 เพื่อปิดปากผู้เห็นต่างให้ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตได้, กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาจัด เช่น ลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มนวพล ที่มีส่วนร่วมในการฆ่านักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา รวมไปถึงสถาบันตุลาการของประเทศไทย
คำฟ้องระบุว่า คำปราศรัยดังกล่าวมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยมีเจตนาอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำลายสถาบันกษัตริย์ และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา
พนักงานอัยการยังคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และยังขอให้นับโทษต่อในคดีที่จำเลยถูกฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตและศาลอาญากรุงเทพใต้
ทั้งนี้ เกียรติชัยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมทั้งหมด 4 คดี โดยคดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 ที่อัยการมีคำสั่งฟ้องต่อศาล โดยก่อนหน้านี้มีคดีปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน บริเวณสกายวอล์คปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ที่เขาถูกฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ร่วมกับเบนจา อะปัญ และตี้ วรรณวลี โดยคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการสืบพยาน ส่วนอีกสองคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน
นอกจากนั้นเกียรติชัยยังถูกกล่าวหาในคดีชุมนุมอื่น ๆ จากกิจกรรมช่วงปี 2563-64 อีก 6 คดี โดยจนถึงปัจจุบันสิ้นสุดไปเพียง 1 คดี และเขายังต้องใช้เวลาในการเรียนไปต่อสู้คดีต่าง ๆ เหล่านี้ต่อไป รวมทั้งเคยได้รับผลกระทบเป็นบาดแผลที่เท้าในช่วงที่ถูกศาลสั่งให้ติดกำไล EM ในระหว่างประกันตัว
.