เสียงจาก “ธนพร” แม่ลูกอ่อนวัย 23 ปี กับการต่อสู้คดี 112 ครั้งสุดท้ายในชั้นฎีกา เพื่อคว้าโอกาสกลับไปเลี้ยงดูลูก

“นี่ลูกหนู น่ารักมั้ย” เธอเอ่ยพร้อมชูโทรศัพท์ซึ่งปรากฏภาพของเด็กน้อยวัย 8 เดือนให้ดู

“น่ารัก น่ารักมาก” ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเด็กน้อยที่กำลังส่งยิ้มแป้นแล้นให้จากในโทรศัพท์ดูน่ารักมากจริงๆ เนื่องจากไม่เคยมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับเด็กทารกมาก่อน เราจึงถามกลับไปว่าเด็กในวัยนี้มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

“ตอนนี้กำลังหัดยืนเกาะเลย ต้องช่วยพยุงอยู่ข้างๆ” เธอตอบพร้อมรอยยิ้ม “ลูกหนูแข็งแรงและเลี้ยงง่ายมาก แต่บางทีถ้าหนูไม่อยู่ในสายตานะ ร้องไห้จ้า”

หญิงสาวที่เรากำลังสนทนาด้วยคือ “ธนพร” แม่ลูกอ่อนจากจังหวัดอุทัยธานีวัย 23 ปี ผู้ถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์เฟซบุ๊กของเพจซึ่งเผยแพร่ภาพตัดต่อของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 8 เมื่อช่วงปี 2564 ซึ่งเธอเล่าว่านั่นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เธอเคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์บนโซเชียลมีเดีย

ธนพรจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในขณะเกิดเหตุเธอมีอายุเพียง 21 ปีเศษ เธอเล่าว่าครอบครัวของเธอมีฐานะยากจน ตั้งแต่รู้ความเธอก็ต้องทำงานหาเงินมาตลอด ในขณะที่ถูกดำเนินคดีเธอทำงานอยู่ในโรงงานรองเท้าจนกระทั่งอายุครรภ์ 7 เดือน จึงลาคลอดและออกมาเลี้ยงลูกจนถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแสดงหมายจับในขณะที่ธนพรอยู่ที่บ้านพัก เธอถูกนำตัวเข้ากรุงเทพฯ ไปสอบสวนที่ สน.บางพลัด และให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยไม่มีทนายความ หลังจากถูกขังอยู่ที่สถานีตำรวจ 1 วัน ตำรวจนำตัวเธอไปขอฝากขัง ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ยืมมาจากญาติ และศาลยังมีเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) 

“ก่อนหน้านี้ตำรวจไปตามตัวที่โรงงานที่ทำงาน แต่วันนั้นหนูหยุดงานพอดี เค้าก็เลยมาตามที่บ้าน แล้ววันนั้นก็ถูกเอาตัวมาที่ สน.บางพลัด เลย” 

ในศาลชั้นต้น ธนพรให้การรับสารภาพตามฟ้องด้วยเช่นกัน เธอเล่าว่าตนเองไม่มีทนายความทั้งในชั้นสอบสวนและศาลชั้นต้น ในวันที่เธอมาขึ้นศาลจึงมีเพียงทนายความที่ศาลแต่งตั้งให้ในชั้นพิจารณา

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกธนพร 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากให้การรับสารภาพ คงจำคุก 2 ปี และให้รอการลงโทษไว้ อย่างไรก็ตามอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชันในขณะนั้น ได้ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาดังกล่าว โดยเห็นว่าควรลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ และพนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลอุทธรณ์ ทำให้เธอต้องเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 14 ก.พ. 2566 และติดต่อแจ้งเรื่องของเธอมายังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

บทสนทนาระหว่างเราและธนพรในระหว่างรอฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นอกจากเรื่องเกี่ยวกับคดี 112 ที่เธอตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาแล้ว เรื่องลูกของธนพรเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่พวกเราคุยกันเยอะที่สุด 

ในระหว่างเล่าเรื่องราวของลูก ธนพรเหมือนลืมเรื่องทุกข์ใจเกี่ยวกับคดี ดวงตาของเธอเป็นประกาย และดูท่าแล้วเธอจะสามารถเล่าเรื่องลูกออกมาได้อย่างไม่รู้จบ อาจเป็นเพราะเธอรู้ว่าตนเองถูกดำเนินคดีตั้งแต่ก่อนที่จะรู้ว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ ทำให้เธอพยายามเก็บเกี่ยวทุกช่วงเวลาที่อยู่กับลูกไว้ให้มากที่สุด

“ตอนที่มีคดีก็ไม่คิดว่าจะมีลูก ไม่คิดว่าจะตั้งท้องในช่วงนั้น เพราะตอนที่ได้ประกันตัวออกไป เราก็คิดว่าเราจะต้องคุมกำเนิด เราจะไม่ปล่อยให้มีลูกต่อไปในอนาคตเพราะไม่รู้ว่าคดีจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่พอนึกไปนึกมา ประจำเดือนเราขาดมาสองเดือนแล้วก็เลยตรวจดูก่อน สรุปเราท้องมาประมาณ 3 เดือน แต่เราไม่รู้เลยว่าเค้าอยู่ในท้อง”

“หลังจากโดนคดีก็มีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ บางคนก็บอกว่าไปทำไปทำไม ไม่สงสารลูกเหรอ มองว่าเราเป็นคนเลว” ธนพรเล่าให้ฟัง “บางคนก็สมน้ำหน้าตอนที่หนูใส่ EM ไปโรงงาน แต่ก็มีคนเข้าใจเรานะ เค้าบอกว่าเราแค่แสดงออกผิดวิธีเท่านั้นเอง”

ธนพรบอกว่าการถูกดำเนินคดีส่งผลกระทบต่อเธอและครอบครัวทั้งในด้านการเงินและการวางแผนอนาคตของลูก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากบ้านพักที่จังหวัดอุทัยธานี มายังศาลอาญาตลิ่งชันในกรุงเทพฯ

“เกิดผลกระทบมากเลยค่ะ ทั้งเรื่องการเงินและอนาคตของลูก เหมือนตอนนี้ค่าเดินทางมาศาลก็ประมาณ 2,000 บาทขึ้นไป แทนที่จะได้เอาเงินไปซื้อนมลูกหรือเอาไปใช้จ่ายอย่างอื่น”

“ในช่วงที่เราตั้งท้อง พอได้ประกันตัวออกไปเราก็ดีใจ แต่ก็ต้องเสียค่ารถมารายงานตัวตลอด ซึ่งตอนนั้นหนูก็ท้องอยู่ ต้องนำเงินไปฝากครรภ์ ทุกอย่างประเดประดังกันมาหมดเลย”

“เหมือนตอนนี้ถ้าศาลกลับคำพิพากษา ก็จะมีผลกระทบอย่างมาก ทั้งตัวหนู ลูกหนู และคนรอบข้าง” ธนพรกล่าวถึงผลกระทบหากศาลอุทธรณ์ไม่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

เดิมทีฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวเธอก็ไม่ดีนัก ถึงแม้ธนพรจะใช้เวลาส่วนมากไปกับการเลี้ยงลูก แต่ลำพังแค่รายได้ของสามีไม่เพียงพอต่อการจุนเจือครอบครัว ทำให้ในช่วงเวลาว่าง เธอก็หารายได้เสริมโดยการปลูกผักขายและขายของออนไลน์ 

“คาดหวังว่าศาลอุทธรณ์จะพิพากษาเหมือนศาลชั้นต้น ถ้าถามว่าเตรียมใจไว้มั้ย ก็เตรียมใจไว้บ้าง แต่ก็คงทำใจไม่ได้อยู่แล้ว” ธนพรตอบเมื่อถูกถามถึงความคาดหวังสูงสุดต่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้ และเปิดเผยว่าสิ่งที่เธอหวาดกลัวมากที่สุดไม่ใช่การต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ แต่เป็นการที่เธอจะไม่ได้อยู่กับลูกในวัยเจริญเติบโต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด และไม่อาจย้อนคืนกลับมาได้

เราสอบถามธนพรเพิ่มเติมว่า เธอวางแผนในอนาคตไว้อย่างไร ทั้งในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และกรณีที่ไม่รอลงอาญา

“ในกรณีที่ต้องเข้าเรือนจำ คิดว่าต้องประกันออกไปดูแลลูกและขอยื่นฎีกา” ธนพรกล่าวย้ำเตือนกับตัวเอง “ติดคุกไม่ได้นะ ลูกยังไม่โต” 

“ถ้าประกันไม่ได้ หรือฎีกาไม่ได้ ก็คงต้องปล่อยตามที่เป็นไป” เธอกล่าวตามความเป็นจริง “ลูกก็คงต้องไม่มีแม่ ก็ต้องอยู่กับปู่กับย่า” 

“ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นก็จะตั้งใจเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุด จนเค้าเข้าโรงเรียน ก็จะทำงานหาเงินให้ได้เยอะๆ เอามาสนับสนุนเค้า เพราะลูกโตไปก็ต้องเข้าโรงเรียน ไหนจะเจ็บป่วย มันต้องใช้เงินในทุกๆ อย่าง ก็วางแผนไว้แบบนั้น” แผนระยะยาวของธนพรล้วนเกี่ยวพันกับลูก

“ในชีวิตนี้มีแต่ลูก ตัวเราเองนั้นยังไงก็ได้ แต่สำหรับลูก เราทำให้ลูกเกิดมาแล้วก็ต้องเลี้ยงเค้าให้ดี” เธอกล่าว “หากวันใดวันหนึ่งไม่ได้อยู่กับลูกหรือไม่ได้เจอกันก็คงทำใจไม่ได้”

คำถามสุดท้ายที่เราถามธนพรก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีเพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คือความเห็นของเธอที่มีต่อมาตรา 112

“มันรุนแรงเกินไป” เธอตอบในทันที “จากที่เคยอ่านเรื่องของคนที่โดนคดีเหมือนกัน คิดว่าโทษหนักเกินไป ขั้นต่ำกรรมละ 3 ปี โทษมันร้ายแรงมาก”

สุดท้ายในวันนั้น (14 ก.พ. 2566) ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกธนพร 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ ก่อนที่เธอจะได้รับการประกันตัวในระหว่างฎีกา 

การต่อสู้คดีในศาลสุดท้ายนี้ ยังเป็นโอกาสสุดท้ายที่ตัดสินว่าธนพรจะได้กลับบ้านไปเลี้ยงดูลูกในวัยเจริญเติบโตให้ดีที่สุดอย่างที่ตั้งใจไว้ หรือจะถูกพรากช่วงเวลาดังกล่าวไปตลอดกาล

X