ศาลอุทธรณ์แก้โทษคดี 112 “ธนพร” แม่ลูกอ่อน ให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เหตุคอมเมนต์ใต้โพสต์เฟซบุ๊กที่เผยแพร่ภาพตัดต่อ ร.8 – ร.9 ระบุจำเลยมีวุฒิภาวะเพียงพอ แต่ยังกระทำการ ‘จาบจ้วงสถาบันฯ’

วันที่ 14 ก.พ. 2566 ที่ ศาลอาญาตลิ่งชัน มีนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) ของ “ธนพร (สงวนนามสกุล)” แม่ลูกอ่อนจากจังหวัดอุทัยธานีวัย 23 ปี ผู้ถูกฟ้องจากการใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์เฟซบุ๊กของเพจซึ่งเผยแพร่ภาพตัดต่อของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 8 เมื่อช่วงปี 2564

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 ธนพรถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแสดงหมายจับในขณะอยู่ที่บ้านพัก และถูกนำตัวไปที่สอบสวนที่ สน.บางพลัด ธนพรเล่าว่า เธอถูกขังอยู่ที่สถานีตำรวจ 1 วัน หลังจากตำรวจนำตัวเธอไปขอฝากขังในชั้นสอบสวน ศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ซึ่งยืมมาจากญาติ และมีเงื่อนไขให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) 

ในชั้นสอบสวน ธนพรให้การรับสารภาพ โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วยในขณะให้การต่อพนักงานสอบสวน และต่อมาธนพรก็ให้การรับสารภาพตามฟ้องในชั้นศาล โดยมีทนายความที่ศาลแต่งตั้งให้ในชั้นพิจารณานี้ ศาลได้มีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ก.พ. 2565

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 

พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยยังอายุน้อย ไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยกระทำการในระบบคอมพิวเตอร์ลักษณะเดียวกันมาก่อนหรือกระทำซ้ำหลังภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยได้รับการศึกษาสำเร็จเพียงระดับชั้นมัธยมต้น เชื่อว่าจำเลยกระทำไปโดยความคึกคะนองเพราะถูกชักจูงจากการเข้าถึงข้อมูลเท็จในสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศได้ง่าย จึงขาดสามัญสำนึกหรือความยั้งคิดชั่วขณะจนไม่ได้ไตร่ตรองผลกระทบที่จะตามมา 

ปัจจุบันจำเลยประกอบอาชีพสุจริต มีครอบครัวที่ห่วงใยที่น่าจะเหนี่ยวรั้งห้ามปรามไม่ให้เกิดการกระทำความผิดลักษณะเดียวกันอีก จำเลยให้การรับสารภาพด้วยตนเองแสดงถึงความรู้สึกความผิด โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยโดยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง ภายในกำหนด 2 ปี และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติจัดให้กระทำ 24 ชั่วโมง 

อย่างไรก็ตาม ชวลิต อิศรเดช รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชันในขณะนั้น ได้ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาดังกล่าว โดยเห็นว่าจำเลยแสดงความเห็นเป็นข้อความเปรียบเทียบหยาบคายก้าวล่วงไปถึงราชวงศ์จักรี อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ย่อมมีผลกระทบเกิดความเสียหายต่อราชวงศ์จักรีและสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งต่างให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล 

เมื่อคำนึงถึงลักษณะการกระทำของจำเลยดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมีเวลาและโอกาสคิดไตร่ตรองก่อนแล้ว แต่ยังกระทำประกอบกับขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 21 ปีเศษ รู้จักผิดชอบชั่วดีแล้ว จำเลยได้รับการศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ย่อมรู้ถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อสังคมไทย เข้าใจถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทยและสังคมไทยเป็นอย่างดี การที่จำเลยยังบังอาจกล้ากระทำการอันไม่บังควรอย่างยิ่งเช่นนี้ จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่ควรลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ เพื่อให้จำเลยหลาบจำไม่กล้ากระทำอีก อีกทั้งจะเป็นการป้องกันมิให้บุคคลอื่นกระทำการลักษณะนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคต ตลอดจนความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรได้

ต่อมาวันที่ 9 มิ.ย. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1) ได้อุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลอุทธรณ์ โดยเห็นว่าไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย โดยอ้างเหตุผลในลักษณะเดียวกันกับความเห็นแย้งในข้างต้น 

ในชั้นพิจารณานี้ ธนพรได้ประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนเดิมที่ยืมมาจากญาติ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม เธอจึงได้ถอดกำไล EM  ต่อมาหลังมีอัยการยื่นอุทธรณ์คดี เธอได้ติดต่อมายังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อให้ช่วยให้ความเห็นในคดีเพิ่มเติม และขอความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันตัวจากกองทุนราษฎรประสงค์ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน

วันนี้ (14 ก.พ. 2566) ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 305 ธนพรเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับแฟนและครอบครัว โดยฝากลูกซึ่งอายุเพียง 8 เดือนไว้กับมารดา เธอเดินทางออกจากบ้านที่จังหวัดอุทัยธานี ตั้งแต่ 4.00 น. เพื่อมาฟังคำพิพากษา

ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี ธนพรกล่าวว่าความคาดหวังสูงสุดในวันนี้คือขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และเปิดเผยว่าสิ่งที่เธอหวาดกลัวมากที่สุดไม่ใช่การต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ แต่เป็นการที่เธอจะไม่ได้อยู่กับลูกในวัยเจริญเติบโต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด และไม่อาจย้อนคืนกลับมาได้

เวลา 9.35 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี และอ่านคำพิพากษาโดยย่อให้ฟัง สามารถสรุปได้ดังนี้

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันหลักเคียงคู่กับประเทศไทย การที่จำเลยใช้ข้อความหยาบคายก้าวล่วง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชวงศ์จักรีและสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งกระทบต่อความรู้สึกประชาชนไทยซึ่งให้ความเคารพสักการะสถาบันพระมหากษัตริย์

แม้จำเลยจะจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 21 ปีเศษ มีวุฒิภาวะเพียงพอ แต่ยังกระทำการจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่รอการลงโทษจำคุก และไม่ต้องคุมประพฤติจำเลย

หลังจากฟังคำพิพากษา ธนพรถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปคุมขังไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาลอาญาตลิ่งชันทันที โดยสามารถนำโทรศัพท์มือถือติดตัวเข้าไปได้ เธอได้โทรศัพท์เพื่อสอบถามรายละเอียดและขั้นตอนกับทนายความ พร้อมร้องไห้ไปด้วยในขณะเดียวกัน

ต่อมาหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างฎีกาคดี ในเวลา 14.00 น. ทนายความแจ้งว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวธนพร ด้วยหลักประกันเป็นจำนวน 100,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม

ธนพรยังต้องต่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป

X