ตร.แจ้ง ม.112  “บิ๊ก” เกียรติชัย คดีที่ 3 เหตุปราศรัยงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 2519 ใน มธ.

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2565 เวลาประมาณ 13.00 น. “บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่สน.ชนะสงคราม จากกรณีปราศรัยในงานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 2519 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

ก่อนหน้านี้เกียรติชัยได้รับหมายเรียกครั้งที่ 1 จาก สน.ชนะสงคราม ลงวันที่ 6 ม.ค. 2565 ​โดยคดีมี พ.ต.ท.ยุทธนา รัตนแพทย์ เป็นผู้กล่าวหา 

พ.ต.ท.ประเสริฐ จันทร์แดง รองผู้กำกับสอบสวน ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อเกียรติชัย ข้อกล่าวหาระบุว่าเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 เวลาประมาณ 06.00 น.- 20.00 น. ได้มีกลุ่มมวลชนและกลุ่มบุคคลต่างๆ ได้นัดหมายกันมาจัดกิจกรรม งานรําลึก 45 ปี 6 ตุลา 2519 ที่บริเวณภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ 

จนเวลา 18.40-19.00 น. ได้มีนายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ ได้พูดปราศรัยต่อหน้าบุคคลจํานวนมากที่มาร่วมกิจกรรมดังกล่าว มีเนื้อหาถ้อยคําปราศรัยอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวน สน.ชนะสงคราม ได้มีการบันทึกภาพนิ่งและวิดีโอหรือภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นหลักฐาน แล้วได้นํามาทําการถอดเทปคําปราศรัยไว้

คำปราศรัย ซึ่งมีการถอดเทปโดยสรุป กล่าวถึงที่มาที่ไปของมาตรา 112 โดยเกียรติชัยเห็นว่ามาตราดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร 2490 ซึ่งมีการการแก้ไขกฎหมายมาตรา 97 ในขณะนั้นให้กลายเป็นมาตรา 112 ในปัจจุบัน และในปี 2499 ได้แก้ไขให้ทุกคนสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหานี้ได้ และยังมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอีกครั้งในช่วงหลัง 6 ต.ค. 2519 ซึ่งได้เพิ่มโทษสูงสุดของมาตรา 112 จากไม่เกิน 7 ปี มาเป็น 3-15 ปี

เกียรติชัยเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดที่ชนชั้นนำสร้างขึ้นเพื่อปิดปากผู้เห็นต่างทางการเมืองมาตั้งแต่อดีต เกียรติชัยได้ยกตัวอย่างว่าตนเองซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยมาตราดังกล่าว อย่างไรก็ตามเขาเห็นว่าสิ่งที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับเขาคือการติดคุก แต่สำหรับผู้เห็นต่างในปี 2519 นั้นหมายถึงความตาย โดยเฉพาะนักศึกษาซึ่งถูกเข่นฆ่าในช่วงเวลาดังกล่าว และยังไม่มีผู้รับผิดชอบจนถึงปัจจุบัน 

นอกจากนี้เขาได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของฝ่ายขวา เช่น กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มลูกเสือชาวบ้านกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งภายหลังกลุ่มดังกล่าวได้ออกเข่นฆ่านักศึกษาที่ในช่วงเวลานั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก่อนจะจบการปราศรัยด้วยการยืนยันว่าตนกำลังปกป้องสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้ล้มล้างแต่อย่างใด

พ.ต.ท.ยุทธนา รัตนแพทย์ ผู้กล่าวหา อ้างว่าถ้อยคำปราศรัยดังกล่าว มีลักษณะของการกระทำที่มิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน หรือกระทำให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาท ต่อองค์พระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน

ภายหลังรับทราบข้อกล่าวหา เกียรติชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยได้ให้การกับพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น ระบุ

1. ตนเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันที่รัฐใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมนักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2519 และร่วมปราศรัยในเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อให้เป็นระบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และเป็นสากล 

การที่ตนพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ก็เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตนเพียงแต่กล่าวถึงการปฏิรูปสถาบันฯ โดยสุจริต ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทแต่อย่างใด  การปราศรัยของข้าเป็นไปได้ซึ่งความตั้งใจและสุจริตที่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์ปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ และเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 และเป็นไปตามกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

2.  การที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหา โดยนำคำพูดเพียงบางประโยคและบางข้อความมา โดยมิได้นำข้อความคำปราศรัยทั้งหมดมาพิเคราะห์ถึงเจตจำนงโดยถ่องแท้ และด่วนสรุปว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 จึงมิชอบ 

ทั้งที่สาธารณชนโดยทั่วไปก็เข้าใจว่าผู้มีอำนาจรัฐในชุดปัจจุบัน เป็นรัฐบาลที่ได้อำนาจมาโดยไม่ชอบธรรม ต้องการหยุดความเคลื่อนไหวของประชาชนไม่ให้ออกมาเรียกร้องซึ่งสิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรม ดังนั้นการตั้งข้อกล่าวหาต่อตนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม เป็นวิธีการที่รัฐใช้อำนาจทางกฎหมายมาปิดปาก หยุดความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อรักษาอำนาจของตนเองไว้ ตนจึงไม่อาจยอมรับการตั้งข้อหาในวันนี้ได้


เกียรติชัยยังปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำให้พนักงานสอบสวนแจ้งว่าจะนัดเกียรติชัยมาแจ้งข้อกล่าวหาจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานอีกครั้งหนึ่ง

เกียรติชัยยังระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวภายหลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาว่า “พื้นที่มหาลัยที่ควรจะเป็นพื้นที่เสรีในการแสดงความคิดเห็นและสิ่งที่ตนปราศรัยเป็นข้อมูลที่มีบันทึกอย่างเป็นทางการ การปราศรัยดังกล่าวเป็นเพียงการรำลึกและย้ำเตือนให้คนเห็นถึงความสำคัญของเหตุการณ์ 6 ตุลาที่เป็นการสังหารหมู่ (massacre) โดยรัฐและได้สร้างมรดกเลือดไว้คือมาตรา 112 นอกจากนี้ คดีดังกล่าวยังเป็นการตอกย้ำความรุนแรงโดยรัฐในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง แม้เหตุการณ์จะผ่านแล้วกว่า 46 ปี แต่รัฐก็ยังใช้ความรุนแรงผ่านกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว” 

คดีนี้นับเป็นคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ คดีที่ 3 ซึ่งเกียรติชัยถูกแจ้งข้อกล่าวหา โดยก่อนหน้านี้ เขาถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #ไปสภาไล่ขี้ข้าศักดินา ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 และ #ม็อบ24มิถุนา #ราษฎรยืนยันดันเพดาน บริเวณสกายวอล์คปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65
“เกียรติชัย” ถูกแจ้งข้อหา ม.112 ปราศรัยม็อบ24มิถุนา วิจารณ์อดีตกษัตริย์และสถานะสถาบันฯ
ตร.บางโพแจ้งม.112 ห้านักกิจกรรม ปราศรัยถึงอำนาจกษัตริย์หน้ารัฐสภา

X