บันทึกจากห้องพิจารณาคดีที่ 707 : ห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีของ “เก็ท โสภณ” เหตุ #ทัวร์มูล่าผัว

วันที่ 5 มี.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดีของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ผู้ถูกกล่าวหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565

เวลา 9.26 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 707 โสภณถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อมาฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ โดยถูกพันธนาการด้วยกำไลข้อเท้า และถูกใส่กำไลข้อมือคู่กับผู้ต้องขังในคดีอื่น ก่อนภายหลังผู้ที่มาสังเกตการณ์คดีโต้แย้งว่าการพันธนาการข้อมือเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพมากเกินไป เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงปลดกำไลข้อมือของโสภณ

ในห้องพิจารณามีผู้เดินทางมาพบและให้กำลังใจโสภณจำนวนมากเต็มที่นั่งในห้องพิจารณาคดี ทำให้มีประชาชนบางส่วนยืนและนั่งบนพื้นห้องพิจารณาคดี โดยมีทั้งครอบครัว, เพื่อน, นักกิจกรรม, ประชาชนทั่วไป และมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, เจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และเจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เข้าร่วมสังเกตการณ์ 

ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี และเรียกจำเลยในคดีอื่นลุกขึ้นยืนเพื่อระบุตัวตนก่อนอ่านคำสั่ง อย่างไรก็ตามประชาชนที่รอฟังคำสั่งในกรณีของโสภณไม่ได้ยินถ้อยคำของผู้พิพากษา บิดาของโสภณจึงลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า ไม่ได้ยินคำพูดของผู้พิพากษา ขอให้พูดเสียงดังขึ้น หรือใช้ไมโครโฟนได้หรือไม่ 

ผู้พิพากษาถามว่า บิดาของโสภณมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับคดี บิดาของโสภณจึงแจ้งว่า เป็นบิดาของจำเลย แต่ผู้พิพากษาแจ้งว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับจำเลยในคดีอื่นที่เรียกให้ลุกขึ้นใช่หรือไม่ บิดาโสภณจึงแจ้งว่า ใช่ แต่เมื่อไม่ได้ยินคำพูดของผู้พิพากษาชัดเจน จึงทำให้ไม่แน่ใจว่าผู้พิพากษากล่าวถึงเรื่องใดอยู่ ผู้พิพากษาระบุว่า จำเลยในคดีดังกล่าวได้ยินและลุกขึ้น ส่วนบุคคลอื่นไม่เกี่ยวข้องกับคดี

ในระหว่างนั้น ผู้พิพากษายังเรียกให้ เอกชัย หงส์กังวาน ลุกขึ้น หลังจากที่เอกชัยพยายามช่วยบิดาของโสภณตอบคำถามผู้พิพากษา โดยสอบถามว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับคดี เอกชัยจึงแถลงตอบว่า เป็นเพื่อนของจำเลย ผู้พิพากษาจึงแจ้งว่า เมื่อไม่เกี่ยวข้องกับคดีก็ให้ออกไปนอกห้องพิจารณา อย่างไรก็ตามเอกชัยโต้แย้งว่า เมื่อเป็นการพิจารณาคดีแบบเปิดก็ควรมีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ และยืนยันที่จะอยู่ในห้องพิจารณาต่อไป

ต่อมาผู้พิพากษาถามผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งที่ยืนจดบันทึกสังเกตการณ์ว่า เป็นใคร เป็นนักข่าวหรือไม่ และมีความเกี่ยวข้องกับคดีอย่างไร ผู้สังเกตการณ์คนดังกล่าวแจ้งว่า เป็นทนายความ ผู้พิพากษาระบุว่า ห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดี และขอเรียกดูสมุดจดบันทึก พร้อมเรียกทนายความคนดังกล่าวไปที่บริเวณหน้าห้องใกล้กับที่นั่งของผู้พิพากษาเพื่อสอบถาม

ทนายความคนดังกล่าวแจ้งว่า หากต่อจากนี้ศาลสั่งห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีก็จะปฏิบัติตาม ผู้พิพากษาจึงกล่าวว่า การจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีต้องขออนุญาตก่อน และกล่าวว่าไม่เข้าใจกระบวนพิจารณา พร้อมกล่าวถึงกาลเทศะ การเคารพสถานที่ และเปรียบเปรยในทำนองว่า หากไปเข้าบ้านใคร ก็ต้องเคารพเจ้าของบ้าน 

หลังจากคดีอื่นเสร็จสิ้นการพิจารณา ผู้พิพากษาอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ ระบุว่า กรณีที่โสภณเคยยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 เกี่ยวกับการแก้ไขเงื่อนไขการประกันตัวของศาลชั้นต้น โดยขอออกนอกเคหสถานเพื่อไปประกอบอาชีพ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต ต่อมาโสภณอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จึงอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์

ในวันนี้ (5 มี.ค. 2567) ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่จำเป็นต้องพิจารณาในประเด็นดังกล่าว

.

ในคดีอาญา การมีบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี ตลอดจนถึงผู้สื่อข่าว และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าไปนั่งรับรู้กระบวนการพิจารณาคดีของศาล และอาจมีการจดบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย (Public Trial) แล้ว ยังเป็นหลักประกันสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญามิให้ถูกล่วงละเมิดโดยไม่จำเป็นหรือไม่มีเหตุอันสมควรจากการใช้อำนาจในการค้นหาความจริงของเจ้าพนักงานหรือแม้กระทั่งศาลเอง โดยการให้สาธารณะสามารถตรวจสอบได้ว่าการกระทำของผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ เป็นไปอย่างสอดคล้องกับหลักกฎหมายและคำนึงถึงสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to Fair Trial) หรือไม่

ปัญหาห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีเคยเกิดขึ้นกับหลายคดีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยเฉพาะในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. ซึ่งมีการดำเนินคดีพลเรือนบางฐานความผิดในศาลทหาร จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังมีคดีในศาลยุติธรรมที่สั่งห้ามจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีอยู่เนือง ๆ

ผู้พิพากษามักอ้างฐานอำนาจในการสั่งห้ามจดบันทึกว่า เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 ซึ่งให้อำนาจศาลออกข้อกำหนดใด ๆ ตามที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว โดยในกรณีของศาลอาญาก็มีการออกข้อกำหนดศาลอาญา ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 และมีการติดป้ายประกาศข้อปฏิบัติในห้องพิจารณาคดีที่หน้าห้องพิจารณาคดีแทบทุกห้อง  

ผลจากการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวอาจทำให้บุคคลนั้นมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) ซึ่งมีโทษตั้งแต่ไล่ออกจากบริเวณศาล ปรับไม่เกิน 500 บาท ไปจนถึงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน 

อย่างไรก็ตาม ทั้งในข้อกำหนดและข้อปฏิบัติของศาลอาญาดังกล่าวก็ไม่ได้มีการระบุข้อห้ามเรื่องการจดบันทึกในห้องพิจารณาคดีแต่อย่างใด การสั่งห้ามจดบันทึกจึงเป็นการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาที่รับผิดชอบคดีเป็นรายกรณีไป หากสั่งแล้วยังไม่ปฏิบัติตามจึงจะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่เนื่องจากกฎหมายเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางจึงยากที่ผู้ที่อยู่ในห้องพิจารณาจะคาดเดาได้ว่าคดีไหนให้จดหรือไม่ และคำสั่งไหนเป็นไปโดยเหมาะสม จำเป็น และได้สัดส่วนหรือไม่

ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาในคดีมีคำสั่งห้ามจดบันทึกหรือห้ามเผยแพร่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรย่อมเป็นการละเมิดหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย ทำให้การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายในกระบวนการพิจารณาคดีของสาธารณชนเป็นไปโดยไม่มีประสิทธิภาพ กระทบต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและอย่างเป็นธรรมของจำเลย

(แก้ไขข้อมูล) วันนี้ (5 มี.ค. 2567) ศาลอาญานัดฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ของโสภณ ในกรณีคำร้องตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. 2565 ไม่ใช่นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด จึงต้องติดตามต่อไปว่าศาลจะนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้เมื่อใด

X